top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

“ในการเอาใจใส่ก็มีราคาของมัน”

นี่เป็นคำกล่าวของ Figley C.R. ที่ผมดึงมาจากคำเกริ่นในหนังสือ Compassion Fatigue: Toward a new understanding of the costs of caring. . ข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่น่าสนใจว่า ในการที่เราจะใส่ใจในเรื่องราวของคนอื่น ราคาที่เราต้องจ่ายคืออะไร? และมันเป็นยังไง? โดย Figley ได้กล่าวถึงตัวแปรตัวหนึ่งของราคาที่เราต้องจ่ายในการใส่ใจ คือ “ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ” .

“ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ” (Compassion Fatigue) คือ อาการเหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจและทางกายที่จะต้องแสดงถึงความใส่ใจให้กับบุคคลอื่น ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแสดงออกถึงความใส่ใจน้อยลงหรือไม่สามารถทำได้

. จากการศึกษาของ Figley ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจและได้เริ่มกล่าวถึงวิชาชีพที่จำเป็นจะต้องมีการใช้ความเห็นอกเห็นใจในการทำงาน โดยได้ให้นิยามของคำว่า ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) หมายถึง การที่บุคคลมีความรู้สึกร่วมกับการรับรู้อารมณ์และความทุกข์ของผู้อื่น ดังนั้น ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจจึงเป็นการที่บุคคลเกิดความอ่อนล้ากับการที่จะต้องรับรู้อารมณ์และความทุกข์ ของผู้อื่น ส่งผลให้ความสามารถและความสนใจในการรับรู้อารมณ์กับความรู้สึกของผู้อื่นลดน้อยลง . ผมจะลองอธิบายให้ลองได้เห็นภาพมากกว่านี้นะครับในเรื่องความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ให้ลองจินตนาการถึงการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ยกเวท หรืออื่น ๆ โดยการที่เราออกกำลังกายนั้นไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะทำให้เรามีความเก่งขึ้น อึดขึ้น แต่ในเวลาที่ถึงจุด ๆ หนึ่ง ร่างกายเราจะรู้สึกเหนื่อยล้าถึงแม้ว่าเราจะยังรู้สึกอยากจะออกกำลังกายอยู่ ทำให้ไม่สามารถที่จะทำการออกกำลังกายเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เพียงร่างกายเท่านั้น มันหมายถึงจิตใจด้วย อาจจะมีการขี้เกียจ การเบื่อ หรือรู้สึกว่าเราทำมันไม่ไหว ซึ่งมันก็คล้ายกันแหละครับ กับการแสดงออกถึงความใส่ใจในคนอื่น ซึ่งก็สามารถเหนื่อยล้าได้เหมือนกันทั้งทางกายและใจ . ในส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจนั้น Branch และ Klinkberg ได้กล่าวว่าเกิดจากความต้องการที่เราอยากจะช่วยเหลือบุคคลอื่น ๆ ที่เจอกับเรื่องราวความเครียดต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยเราต้องใช้การรับรู้ การใส่ใจ และสมาธิเรื่อย ๆ จึงเริ่มเกิดอาการเหนื่อยล้าได้ แม้ความเหนื่อยล้านี้ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะยังอยากช่วยเหลืออยู่ แต่ก็เหมือนดังที่ผมยกตัวอย่างไปเหมือนการออกกำลังกาย เราเริ่มเหนื่อยล้า แต่ก็ยังอยากที่จะออกกำลังกาย ผลที่ออกมาคือ เราอาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร คล้ายกันกับการใส่ใจ เราอาจจะแสดงออกถึงความใส่ใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะชินชากับเรื่องราวของบุคคลอื่น หรืออาจจะแสดงออกถึงความใส่ใจไม่ได้เลย . ผลกระทบของการเกิดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ จะทำให้การแสดงออกถึงการใส่ใจได้น้อยลง หรืออาจจะแสดงออกไม่ได้เลย ทำให้เกิดการชินชากับเรื่องราวของคนอื่น แต่คุณก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ ใส่ใจคนอื่น แต่คุณไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นจะทำให้เราเกิดความเครียด ใส่ใจในความรู้สึกของตัวเองได้น้อยลง และมันยิ่งทำให้เกิดความเหนื่อยล้าที่มากขึ้น . ถึงแม้ว่าความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้ มีผลระยะยาว และเกิดผลกระทบได้มาก แต่ในการรับมือกับมันนั้นไม่ยากและ ใช้เวลาไม่นาน ในการที่จะรับมือกับมันสามารถทำได้โดย 1.ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น คุณไม่ได้เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้โดยลำพัง 2.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย แต่หมายถึงจิตใจด้วย 3.หาพื้นที่ให้ตัวเองได้ระบาย ให้คนอื่นได้รับรู้ว่าคุณกำลังเจอสิ่งเหล่านี้อยู่ ได้มีพื้นที่ให้ตัวเองบ้าง 4.หยุด และไปพักผ่อนซะ! .

. Reference Figley, C. R. (1995). Compassion fatigue: Toward a new understanding of the costs of caring. Figley, C. R. (2002). Compassion fatigue: Psychotherapists chronic lack of self care. Journal of Clinical Psychology,58(11) Branch, C., & Klinkenberg, D. (2015). Compassion Fatigue Among Pediatric Healthcare Providers. MCN, The American Journal of Maternal/Child Nursing,40(3), 160-166.

ดู 73 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page