ในสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ เราอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่การแสดงออกความโกรธด้วยการด่าทอกันเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการสาปแช่งด้วยความเกลียดชัง ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและสะดวกทันใจ ในบทความนี้ เราจะมาทบทวนกันว่า การแสดงออกด้วยความรุนแรงจะสามารถช่วยให้หายโกรธได้จริงหรือไม่? ซึ่งผมจะพยายามนำเสนอข้อมูลให้คุณผู้อ่านเลือกตัดสินใจเอง เพราะผมเชื่อใจว่าคุณสามารถคิดและตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่มีประโยชน์ได้ด้วยตนเอง ผนวกกับงานวิจัยทางจิตวิทยาเหล่านี้อาจไม่สอดคล้อง หรือครอบคลุมกับบริบทชีวิตของทุกคน
.
เมื่อพูดถึงความโกรธ (anger) หลายคนอาจมีความเข้าใจว่าหากเราได้แหกปาก, ต่อยกระสอบทราย หรือได้แสดงความเกรี้ยวกราด (aggression) ออกมาแล้วจะช่วยให้ความโกรธหายไป ซึ่งความเข้าใจนี้ก็ถูกผลิตซ้ำกันมาในรูปแบบของหนังสือ self-help ที่แนะนำให้คนโกรธไประบายออกด้วยความรุนแรง (violence) กับสิ่งของ ซึ่งความเข้าใจนี้ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อบันเทิงอยู่บ่อยครั้ง ว่าเมื่อโกรธก็ต้องระบายออกด้วยความรุนแรงจึงจะช่วยให้ความโกรธเบาบางลงจนหายไป
.
แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมคนที่แสดงออกอย่างรุนแรง ลองทั้งทางกายก็แล้ว ทางวาจาก็แล้ว ทำไมเขาถึงไม่หายโกรธเสียที? นั่นก็เพราะความเชื่อที่ส่งต่อผ่านกันมานี้อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด และหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทดลองทางจิตวิทยาก็เริ่มพิสูจน์ว่า การระเบิดความเกรี้ยวกราดใส่วัตถุ (violence towards inanimate object) และการระเบิดความเกรี้ยวกราดทางถ้อยคำ (verbal aggression) นั้น ไม่ได้ช่วยให้ความโกรธหายไปแต่อย่างใด (Geen&Quanty, 1977)
.
ก่อนหน้า Geen และ Quanty จะได้ข้อสรุปนี้ หากย้อนกลับไปในปีค.ศ.1959 ก็เคยมีการทดลองของ Hornberger ในเรื่องนี้ โดยนักวิจัยแยกคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้งสองกลุ่มจะถูกด่าโดยทีมวิจัยที่ปลอมตัวปะปนไปอยู่ในกลุ่มด้วย (โดยไม่บอกว่านี่คือการทดลอง) และให้จัดการกับความโกรธต่างกัน ดังนี้
1. กลุ่มแรกให้ไปตอกตะปูเป็นเวลา 10 นาทีหลังถูกด่า
2. กลุ่มที่สองไม่ต้องตอกตะปู
และผลที่ออกมาหลังเวลา 10 นาทีก็คือ กลุ่มที่ตอกตะปู (ซึ่งตามความเชื่อของ “การระบายด้วยการระเบิด” นั้น ควรจะหายโกรธหรือโกรธน้อยลง) กลับโกรธกว่าเดิม และแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อผู้วิจัยมากกว่ากลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายฉบับทีเดียวที่ยืนยันว่า การใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและคำพูด ไม่ได้ทำให้ความดันเลือดต่ำลงเลย
.
หากพวกคุณเคยดูละครกำลังภายในทางช่อง 3 เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว (บ่งบอกอายุของผู้เขียน) อาจเคยได้ยินประโยค คลาสสิคที่ว่า “การแก้แค้น ไม่ใช่คำตอบของเจ้า!” หรือคุณอาจจะไปดู Birds of Prey มาและได้ยินประโยคของ Harley Quinn ที่ว่า “Revenge rarely brings the catharsis that we hope for.” ซึ่งประโยคสองประโยคนี้ หากมองผ่านงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเกรี้ยวกราดแล้ว ถือว่ามีส่วนจริงครับ หากเราระบาย (venting) ด้วยการใช้ความรุนแรงมันมักจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และสารความเครียดหลั่งออกมามากขึ้น
.
ในทางจิตบำบัด (psychotherapy) นั้น นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดมักเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนได้สัมผัสความ โกรธและพูดถึงความโกรธที่ตนกำลังมีอยู่ แม้การแสดงออกด้วยการพูดออกมาเป็นคำ (verbalize) กับการระบาย (venting) เป็นเรื่องที่ดูผิวเผินแล้วอาจไม่ต่างกัน แต่มันแตกต่างกันมากระหว่างการพูดถึงความโกรธของตนว่า “ตอนนี้เราโกรธมากเลยที่คุณทำแบบนี้” กับ “คุณมันแย่มากที่มาทำกับฉันแบบนี้” หรือ “สังคมมันเน่าเฟะมากที่ทำกับฉันแบบนี้” เพราะในประโยคแรก ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่าผู้พูดกำลังโกรธ ส่วนประโยคหลังนั้นไม่สามารถสื่อสารอะไรเกี่ยวกับตัวเองออกไปได้เลย ผู้ฟังอาจรับ (introject) มารู้สึกถูกกล่าวโทษ และรู้สึกโกรธตามไปเสียด้วยซ้ำ
.
การพูดความโกรธออกมาเป็นคำ (verbalize anger), ทำความเข้าใจกับความโกรธของตน และยอมรับว่าตัวเรา กำลังโกรธ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ตัวเองมากขึ้นเวลาเกิดความโกรธ และจัดการอารมณ์ได้ทันท่วงที และวิธีการ “พูดถึงความโกรธ” กับคนอื่นนี้เองเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้ผล แม้กระทั่งในกลุ่มวัยรุ่นที่เติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เห็นความรุนแรงตั้งแต่เด็ก (Margolin &Youga & Ballou, 2002)
ปัจจัยหนึ่งที่วัยรุ่นเหล่านั้นหายโกรธ ไม่ได้มาจากการระเบิดความโกรธใส่ผู้ฟัง แต่เป็นการ “พูดถึง” (talk about) และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือวัยรุ่นเหล่านั้นรู้สึกถูกเข้าใจจากการพูดมันออกมา ซึ่งการจะรู้สึก “ถูกเข้าใจ” ได้นั้น ผู้ฟังก็จำเป็นจะต้องแสดงออกถึงความเข้าใจ และไม่รับอารมณ์เหล่านั้นมาเป็นของตนเอง
.
ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ผมก็เหลือบไปเห็นข้อความที่แสดงออกถึงความโกรธแค้นบนเฟซบุ๊ค และข้อความนั้นก็ถูกตอบโดยอีกคนที่แสดงออกความโกรธแค้นกลับมาโจมตีกัน ต่างฝ่ายต่างโมโหมากขึ้นและไม่เข้าใจกัน และโกรธมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อบทสนทนาดำเนินไป
.
อนึ่ง ผมไม่มีเจตนาจะลดทอนสิทธิในการ free speech ของใคร และผมทราบดีว่า ทุกคนไม่ได้มีจรรยาบรรณของนักบุญ หรือมีจริยธรรมของเทวดา เราเป็นเพียงมนุษย์ที่โกรธขึ้นมาทุกคร้ังที่รู้สึกไร้อำนาจ บทความนี้เป็นการทบทวนหาทางใช้ free speech อย่างไร ที่จะแสดงออกความโกรธได้โดยไม่ทำลายสุขภาพจิตของตัวเราเอง และไม่ให้ความโกรธเหล่านั้นลุกลามไปเป็นความโกรธของสังคม
.
เราแทบทุกคนเกิดมาพร้อมกับความโกรธและความรุนแรง แต่เราเรียนรู้จากมันมาตลอดในวัยเด็ก เราเรียนรู้ที่จะ ห่วงผู้อื่น (capacity to concern for others) ได้ก็ตอนที่เราเล่นแรงเกินไปจนอีกฝ่ายเจ็บ เรารู้สึกผิดที่ทำเช่นนั้น และเรียนรู้ที่จะไม่ทำมันอีก (Winnicott, 2016) ซึ่งในท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ผู้อ่านทุกท่านสามารถเลือกเรียนรู้จากบทความนี้และสามารถเรียนรู้ความโกรธของตนได้ หากเรายังอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุย บนฐานของความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในแง่นี้เอง การเรียนรู้จากความโกรธก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางจิตใจ (Dennis, 2005)
.
Erich Fromm นักจิตวิเคราะห์ชาวเยอรมัน ก็เคยเขียนถึงความโกรธไว้ว่า ในแง่หนึ่ง ความโกรธเป็นเพียงพื้นผิวของความเจ็บปวดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ความโกรธอาจเป็นปฏิกิริยาที่เรามีเพื่อต่อสู้กับความละอาย, ความรู้สึกผิด, ความกังวล หรือ ความรู้สึกถูกปฏิเสธก็ได้ เมื่อเราเข้าใจว่าความโกรธมีรากที่ลึกซึ้งกว่านั้น เราจะมองเห็นมนุษย์อีกคนอย่างเป็นจริงมากขึ้น (Fromm, 1963)
.
ในหลายครั้ง เราล้มเหลวที่จะรัก เพราะไม่เข้าใจในความโกรธของตนเองเสียก่อน และใช้ความโกรธทำลายสิ่งที่เรารัก
.
เราสามารถเข้าใจความโกรธได้ด้วยการพูดถึง (talk about/ verbalize) มัน ก่อนมันจะกลายร่างเป็นความเกลียดชังที่เราไม่เข้าใจ และสร้างความเจ็บปวดให้ตัวเรา ให้ผู้อื่น ให้สังคมอยู่เรื่อยไป
.
เก้าอี้ตัว KK
กวิน ก้อนทอง
.
.
Reference
Dennen, J.M.G.V.D. (2005). Theories of Aggression: Psychoanalytic theories of aggression. Default journal.
Fromm, E. (1963). The art of loving. New York: Bantam Books.
Margolin, A., Youga, J., & Ballou, M. (2002). Voices of Violence: A Study of Male Adolescent Aggression. The Journal of Humanistic Counseling, Education and Development, 41(2), 215–231. doi: 10.1002/j.2164-490x.2002.tb00144.x
Olatunji, B. O., Lohr, J. M., & Bushman, B. J. (2007). The pseudopsychology of venting in the treatment of anger: Implications and alternatives for mental health practice. In T. A. Cavell & K. T. Malcolm (Eds.), Anger, aggression and interventions for interpersonal violence (p. 119–141). Lawrence Erlbaum Associates Publishers.
Winnicott, D. W. (2016). Psycho-Analysis and the Sense of Guilt. The Collected Works of D. W. Winnicott, 135–148. doi: 10.1093/med:psych/9780190271374.003.0030.
Kommentare