top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

แปรเปลี่ยนพลังงานลบให้สร้างสรรค์ กระบวนการผ่านการช่วยเหลือของคนรอบข้าง และการฝึกฝนจนชำนาญ

เมื่อพูดถึง “ความรู้สึกไม่ว่าจะเชิงบวกหรือทางลบล้วนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้” นั่นดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การทำได้จริงกลับเป็นเรื่องยากอย่างสูง โดยเฉพาะในการแสดงออกถึงความรู้สึกที่ถูกตัดสินว่าเป็นพลังงานด้านลบแล้วนั้น ไม่ง่ายนักที่จะถูกยอมรับให้แสดงออกมาในสภาพแวดล้อมที่พยายามลดทอนความสำคัญของความรู้สึกเหล่านี้

.

การแสดงออกหรือระบายพลังงานด้านลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความฉุนเฉียว ความเกลียดชัง ความเศร้่าโศรกเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกทางเพศ ฯลฯ ล้วนยากในการเปิดเผยออกมา และยิ่งยากต่อการเผชิญหน้าความรู้สึกเหล่านี้เมื่อเราต่างต้องพบว่าหลายครั้งเราอาจต้องเผชิญมันอย่างโดดเดี่ยว

.

ในหลายวันก่อน ผมได้มีโอกาสดูซีรี่ย์ที่ชื่อ 13 Reasoned Why จริงๆ เป็นซีรี่ย์ที่โด่งดังพอสมควร โดยเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายและทิ้งเทปเสียงไว้จำนวน 13 ม้วน หากใครสนใจลองสามารถรับชมได้ทาง Netflix เพราะหลังจากนี้จะเป็นการสปอยล์เนื้อหาหลัก และที่ผมอยากจะเขียนถึงคือเนื้อหาใน season 3 ของซีรี่ย์ชุดนี้

.

สิ่งที่ผมจะเขียนถึงคือตัวละครหลักในเรื่องนี้ 2 ตัว ซึ่งในซีซั่น 3 เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาอย่างมากจนน่าตกตะลึง

.

ตัวละครแรกคือ Jessica Davis, หากคุณได้ดูแล้วเราจะรู้กันดีตั้งแต่ซีซั่นแรกว่าเธอเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืน เป็นเรื่องสะเทือนใจอย่างมากกับทั้งตัวละครหลักหลายคนในเรื่อง และคนที่ได้ดูซีรี่ย์ชุดนี้ ในซีซั่นที่ 2 เธอต้องเผชิญความยากลำบากในการตัดสินใจเผชิญหน้ากับความเป็นจริงว่าตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อเมื่อกลายเป็นคดีในชั้นศาล และในซีซั่นที่ 3 นี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเธออย่างมากในการใช้ชีวิตต่อไปในฐานะของคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมทางเพศ

.

ในซีซั่น 3 นี้ Jessica ได้กลายเป็นประธานนักเรียน และขับเคลื่อนกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหล่าเหยื่อของการทารุณกรรมทางเพศ และที่น่าประทับใจคือในตอนท้ายของซีซั่นนี้ที่เธอเรียนรู้การแสดงออกที่น่ายกย่องด้วยการประกาศตัวเองอย่างชัดเจนว่าเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากการทารุณกรรมทางเพศต่อหน้าคนจำนวนมาก และพร้อมช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อโดยไม่พยายามสร้างความกดดันจนส่งผลเสียให้ยิ่งเกิดความรู้สึกอับอายเช่นในช่วงแรก

.

อีกหนึ่งตัวละครซึ่งผมเองค่อนข้างชอบมากในซีซั่น 3 นี้คือ Tyler Down, เขาเป็นเด็กชายชมรมถ่ายภาพที่อ่อนแอและถูกแกล้งมาตลอด ในซีซั่นแรกเขาเคยทำผิดพลาดจากการใช้ประโยชน์ในความสามารถของตัวเองเพื่อการแอบถ่ายคนอื่นจึงถูกเอาคืนโดย Clay จนเขาต้องอับอาย และในซีซั่นที่ 2 เขาก็ถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงมากในห้องน้ำโดยไม่มีใครรู้ และทำให้เขาคิดก่อการกราดยิงในโรงเรียน แต่แล้วก็กลายเป็นว่าเขาได้รับการช่วยเหลือจาก Clay แทนในตอนนั้น เขาจึงยกเลิกไป

.

ในซีซั่นที่ 3 Tyler มีความเปลี่ยนแปลงมากจนผมเองยังต้องรู้สึกตกตะลึงและหลงรักในตัวละครตัวนี้ เขาถูกช่วยเหลือโดย Clay และคนอื่นๆ ที่คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมของเขาเนื่องจากเหตุการณ์ตั้งใจกราดยิงในโรงเรียนนั้น ทุกคนต้องคอยช่วยเขาทั้งความห่วงใยพร้อมความหวาดระแวงในตัวเขาเพราะไม่มีใครรู้ว่าเหตุผลที่เขาตัดสินใจแบบนั้นคืออะไร (เขาเองก็ไม่กล้าบอกใครเพราะอับอายกับเรื่องที่เกิดขึ้น) Tony ได้สอนให้เขาชกมวยเพื่อระบายความโกรธแค้นและความเจ็บปวดที่เขาได้รับมาโดยตลอด เขาเริ่มฝึกฝนการชกมวยจนเป็นกิจวัตร และในท้ายที่สุดเขาตัดสินใจล้มเลิกการตั้งใจปลิดชีพตัวเองด้วยปืนพกที่ซ่อนไว้ และนำมันมาให้กับ Clay และ Tony เพื่อเอาไปทิ้งเช่นปืนกระบอกอื่นๆ ในตอนแรก

.

การเปลี่ยนแปลงของ Jessica และ Tyler เป็นสิ่งที่น่าประทับใจสำหรับผมในการดูซีซั่นที่ 3 นี้ มันสะท้อนถึงการก้าวผ่านความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และพลังงานด้านลบภายในของตัวพวกเขาเอง ออกมาเป็นสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อใคร หรือสร้างความเสียหายที่มากกว่าเดิม

.

สำหรับ Tyler จะได้เห็นชัดถึงการแปรเปลี่ยนพลังงานทางลบอย่างความเจ็บปวดและความมุ่งร้ายต่อคนที่รังแกเขาไปเป็นความก้าวร้าวที่ยอมรับได้อย่างการชกมวย ในขณะเดียวกัน Jessica เธอถูกข่มขืนในขณะที่ไม่ได้สติและไม่สามารถขัดขืน เธอจึงดูเหมือนพยายามดิ้นรนและมุ่งหวังในการกลับมาควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อีกครั้ง เธอเรียนรู้การเป็นผู้ควบคุมใน sex เพื่อสัมผัสถึงความสามารถและสิทธิ์ในการควบคุมร่างกายของตัวเองอีกครั้ง และเธอก็พยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างถึงที่สุดด้วยการลงสมัครประธานนักเรียนและตั้งกลุ่มช่วยเหลือเรียกร้องสิทธิ์ของเหยื่อการทารุณกรรมทางเพศเช่นเดียวกับตัวเธอเอง

.

ยังไงก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของทั้งสองตัวละครนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนรอบข้างของพวกเขา และนั่นเป็นจุดที่อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่ต้องเผชิญหน้าความทุกข์ทรมานในจิตใจอย่างโดดเดี่ยวจนเกินไป

.

สำหรับ Jessica ดูเหมือนว่าเธอจะกลับมารู้สึกมีชีวิตชีวาในการควบคุมที่เธอตั้งใจได้อีกครั้งด้วยการกลับมาคบหากับ Justin ทั้งคู่เหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ร่วมกันของพวกเขาที่ Justine เองก็เคยเป็นเหยื่อในการถูกลวนลามเมื่อยังเป็นเด็ก เขาจึงดูเหมือนจะเข้าใจ Jessica อย่างที่สุด และไม่ได้ตัดสินว่าการกระทำหลายๆ อย่างของเธอนั้นช่างไร้เหตุผล

.

ในส่วนของ Tyler ผมพบว่าเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุดถึงการสนับสนุนจากคนรอบข้างที่มีความเชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะดูเป็นความไว้วางใจที่กระท่อนกระแท่นไปบ้างเนื่องจากทุกคนต่างหวาดกลัวในสิ่งที่เขาเคยทำก็ตาม

.

ในตอนท้ายที่ถึงแม้ Tyler จะพบว่าไม่มีใครเชื่อใจเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะ Clay ที่เขาคิดมาตลอดว่าเป็นคนที่เชื่อใจตัวเขาเองมากที่สุดกลับหวาดระแวงในตัวเขาเมื่อเขาบอกกับ Clay ว่าตนเองมีปืนซ่อนอยู่ Tyler ไม่ได้ผิดหวังใดๆ เสมือนเขาก็ไว้วางใจ Clay เช่นเดียวกับที่ Clay ไว้วางใจเขา เขาอาจรู้ดีอยู่แล้วว่า Clay เองก็เป็นคนที่มีปัญหาของตัวเองอยู่พอตัว เขาเข้าใจถึงความไม่สมบูรณ์แบบนี้ของ Clay และนี่อาจสะท้อนถึงความจริงแท้ของความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นกัน เนื่องจากความไว้วางใจก็ยังคงมีความหวาดระแวงเล็กๆ ปะปน เนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ทุกคนที่ยังคงระมัดระวังตัว

.

ผมไม่คิดว่าบทความนี้จะยืดยาวขนาดนี้ แต่อาจเป็นเพราะผมอยากเรียบเรียงเรื่องราวตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนมากที่สุดก่อนว่าการแปรเปลี่ยนพลังงานลบเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างไร และคนรอบข้างมีส่วนช่วยในการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

.

การแปรเปลี่ยนพลังงานทางลบเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์หมายถึงการแปรเปลี่ยนความรู้สึกหรือความต้องการที่ไม่ถูกยอมรับออกมาอยู่ในรูปของสิ่งที่ส่งเสริมพัฒนาของบุคคลและไม่ได้ส่งผลร้ายต่อใครจนเกินไป มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการระบายเพื่อลดระดับของความตึงเครียดหรือความทุกข์ทางใจ และขณะเดียวกันก็อาจเป็นการยกระดับจิตใจของศักยภาพความเป็นมนุษย์

(เช่นเดียวกับการแปรเปลี่ยนจากการกระทำสู่คำพูดในบทความก่อนหน้า >> https://www.facebook.com/psychologistschairs/posts/2331709800435676?__tn__=K-R)

.

การแปรเปลี่ยนพลังงานเหล่านี้จริงๆ แล้วสามารถทำได้หลากหลายวิธีอย่างมาก เช่น การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบ Tyler, การแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดในระดับลึกสู่การเข้าอกเข้าใจและช่วยเหลือคนอื่นๆ แบบ Jessica, การเขียนบันทึก, การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เป็นต้น ยังไงก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ยังคงเป็นคนรอบข้างที่คอยสนับสนุน เนื่องจากคนรอบข้างจะแรงเสริมทางบวกจากภายนอกให้เกิดส่วนสำคัญที่สองตามมา นั่นคือ การฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและคุ้นชินกับวิธีการดังกล่าว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้แบบปุปปัป แต่ต้องอาศัยการอดทนอดกลั้น การฝึกฝน และระยะเวลาอยู่พอสมควร พร้อมๆ กันกับการสนับสนุนจากคนรอบข้างที่เชื่อมั่น

.

.

.

Reference

Ghazvini, S. D., Khajehpour, M., Rahmani, M., & Memari, E. (2010). Sublimation, as a technique for treatment. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 5, 1811-1817.

Solc, V. (2013, August 15). Concept of Sublimation in Psychology of Sigmund Freud and Carl Gustav Jung. Therapy Vlado. Retrieved from https://therapyvlado.com/english/concept-of-sublimation-in-psychology-of-sigmund-freud-and-carl-gustav-jung/

The book of life. (n.d.). Freud on Sublimation. The school of life. Retrieved from https://www.theschooloflife.com/thebookoflife/freud-on-sublimation/

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page