top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

เรื่องของจิตใจไม่ใช่แค่เรื่องของสมอง มันยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว

เมื่อวันก่อนผมได้เข้าไปฟังคอร์สออนไลน์ของนักจิตบำบัดสายเยียวยาบาดแผลทางใจ (trauma treament) มาครับ


สำหรับตอนแรกเป็นการพูดถึงเรื่องสมองของเราว่า เมื่อคนเราประสบกับบาดแผลทางใจ สมองจะมีการทำงานอย่างไร


เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่แปลกใหม่เท่าไร เพราะเป็นการพูดถึงเรื่องสารเคมีในสมองที่หลั่งฮอร์โมนความเครียดและฮอร์โมนความตื่นตัวมากเกินไป รวมถึงพูดเรื่องการ shut down ของสมองบางส่วนเวลาเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้นึกถึงบาดแผลทางใจในอดีต

.


ที่ผมบอกว่า 'ไม่แปลกใหม่เท่าไร' เพราะการพูดถึงประเด็นด้านสุขภาพจิตและอาการทางจิตเวชในแง่ความผิดปกติของสารเคมีในสมองเป็นอะไรที่หลายคนคุ้นหู

ผมขอเลือกยกตัวอย่างจาก โรคซึมเศร้า ที่คงถูกเข้าใจกันมากที่สุดผ่านคำอธิบายว่า มันเป็นเรื่องของความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และการกินยาจิตเวชเป็นสิ่งที่ช่วยได้ในเรื่องนี้


แต่เอาเข้าจริง...


ในมุมของนักจิตบำบัดและนักจิตวิทยาส่วนมากกลับไม่ได้เชื่อมั่นในคำอธิบายนี้ทั้งหมด


เพราะจากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพต้องมีทั้งการกินยาและการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป


โรคซึมเศร้าจึงไม่ได้ 'เป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง' แต่ 'มันเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง'

(ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เกี่ยวข้อง)

.


คราวนี้ย้อนกลับมาที่คอร์สที่ผมได้ฟังเมื่อวันก่อน


นักจิตบำบัดท่านหนึ่งในคอร์สออนไลน์นั้นบอกว่า



"เรื่องของจิตใจ ไม่ใช่แค่เรื่องของสมอง มันยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว ดังนั้นคุณจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้!"


เขาพูดถึงประเด็นนี้ไปพร้อมกับการอธิบายว่าสมองของคนไข้ที่มีบาดแผลทางใจทำงานอย่างไร


เมื่อนักจิตบำบัดเหล่านี้บอกว่าแทบทุกคนต่างก็มีบาดแผลทางใจของตัวเอง และการพัฒนาจากบาดแผลทางใจไปสู่อาการทางจิตเวชต่างๆ นั้นก็อาจมีการทำงานของสมองที่ไม่ต่างกันมากนัก


คำพูดของนักจิตบำบัดท่านนั้นที่ผมยกมาจึงสรุปได้ง่ายๆ ว่า


'ต่อให้เรารู้ว่าบาดแผลทางใจหรืออาการทางจิตใดๆ จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ระบบการทำงานของสมอง ระบบประสาท และร่างกาย แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะแก้ไขมันไม่ได้'

.


ผมมักพบว่าหลายคนยังคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชในแง่มุมของเรื่องสารเคมีในสมองเท่านั้น


ซึ่งในมุมมองของผมเองพบว่า ความเข้าใจเพียงเท่านี้อาจทำให้มันยิ่งยากที่เราจะโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการทำจิตบำบัดก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยเช่นกัน


เมื่อเราย้อนกลับไปที่คำพูดของนักจิตบำบัดคนนั้นที่ว่า 'เรื่องของจิตใจไม่ใช่แค่เรื่องของสมอง' เราอาจพบได้ว่ามันไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย


หลายครั้งเราอาจพบได้ว่าโรคซึมเศร้าแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในเรื่องปัญหาความสัมพันธ์


นักจิตบำบัดสาย Interpersonal therapy (IPT) ได้สรุปไว้ว่าการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าสามารถทำได้ผ่านการทำความเข้าใจปัญหาด้านสัมพันธภาพที่จำแนกได้ 4 แง่มุม คือ


1. การสูญเสีย (grief)


2. ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ (role disputes)


3. บทบาทใหม่ของชีวิต (role transitions)


4. การขาดสังคม (interpersonal deficits)

.


การทำจิตบำบัดแบบ IPT ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการทำจิตบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าพอๆ กับ CBT (cognitive behavioral therapy)

*ถูกระบุไว้ในคู่มือการทำจิตบำบัดทางคลินิกของ APA


จากที่ผมได้ลองศึกษาแนวทางของ IPT มาบ้างก็พบว่าจริงๆ แล้วนักจิตบำบัดและนักจิตวิทยาการปรึกษาสายอื่นๆ ก็อาจจะทำงานในประเด็นนี้กันอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว


นั่นเพราะมันเป็นเรื่องที่ผู้รับบริการจะหยิบยกมาเล่าตั้งแต่แรกก่อนที่พวกเขาจะคิดว่าตัวเองมีความผิดปกติของสารเคมีในสมองด้วยซ้ำ!


น่าแปลกที่เรากลับละเลยประเด็นเหล่านี้ไป (ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม) จนเหลือเพียงเรื่องความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ทำให้บางคนรู้สึกสิ้นหวังยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่เข้าใจอีกว่าเราจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของมันอย่างไรถ้าไม่ใช่การกินยา

.


คราวนี้เมื่อเราย้อนกลับมาลองฟังในมุมของนักจิตบำบัดที่ศึกษาว่าการทำจิตบำบัดสามารถช่วยเหลือผู้รับบริการจากปัญหาของพวกเขาอย่างไรจะพบว่า...

(ก่อนหน้านี้เราต่างรู้ว่าจิตบำบัดได้ผล แต่เราไม่รู้ว่าทำไม)


การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการกระตุ้นสมองในทางอ้อม โดยเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนคิดและสมองส่วนอารมณ์ไปพร้อมกัน รวมทั้งประสานการทำงานของสมอง 2 ซีก (ซ้าย-ขวา) ผ่านเทคนิคต่างๆ บนฐานของการสร้างความผูกพันแบบปลอดภัย (secure attachment)

การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาไม่ใช่แค่การพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักจิตบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีหลักการ เทคนิค และวิธีการต่างๆ ที่สามารถช่วยแนะนำให้ผู้รับบริการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับร่างกายของตัวเองได้อีกด้วย


เรื่องของจิตใจจึงเป็นทั้งเรื่องของสมองและเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนเรากับสิ่งรอบๆ ตัว ทั้งความสัมพันธ์กับผู้คน สภาพแวดล้อม รวมถึงความคิด อารมณ์ และร่างกายของเราเอง

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล




ดู 16 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page