top of page
ค้นหา

เราต่างต้องการที่ปลอดภัยสักที่เพื่อใช้ชีวิตต่อไปบนโลกที่แสนอันตรายเช่นนี้

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

ในห้องบำบัดก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่งทำให้ความรู้สึกแบบนั้น นักจิตบำบัดบางคนเทียบห้องบำบัดว่าเป็น 'sanctuary' (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ที่หลบภัย) แต่เราต่างก็หนีความจริงไม่พ้นว่าโลกภายนอกอันตรายแค่ไหน . Jule Nydes (as cited in McWilliam, 2011) เล่าถึงการบำบัดคนไข้หวาดระแวงที่พูดถึงจินตนาการของเขาว่า เครื่องบินที่เขาจะนั่งไปเที่ยวพักร้อนแถบยุโรปจะต้องตกแน่ๆ แต่เมื่อ Nydes พูดว่า "คุณคิดว่าพระเจ้าใจร้ายมั้ย เพราะเขาจะต้องเสียสละคนเป็นร้อยชีวิตเพียงเพื่อจะเอาชีวิตคุณคนเดียว?" คนไข้คนนี้ก็รู้สึกตัวและผ่อนคลายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในอีกกรณีนึง คนไข้ของ Nydes ที่กำลังจะแต่งงานในเร็ววันกลับกลัวขึ้นมาว่าจะต้องมีมือวางระเบิดมาก่อการร้ายในรถไฟใต้ดินแน่ๆ ซึ่งทำให้คนไข้เลี่ยงการขึ้นรถไฟใต้ดิน โดยเมื่อคนไข้ถาม Nydes ว่า "คุณกลัวพวกมือระเบิดมั้ย?" ตามด้วยการจะแซะเล็กๆ ว่า "แน่นอนว่าคงไม่ คุณคงนั่งแต่รถแท็กซี่สินะ" Nydes กลับบอกกับคนไข้คนนี้ว่าเขาเองก็นั่งรถไฟใต้ดินเหมือนกัน แต่เขาไม่กลัวหรอกเพราะเขารู้ว่ามือวางระเบิดต้องการตัวคนไข้ไม่ใช่เขา . กรณีตัวอย่างของ Nydes ถูกกล่าวถึงในหนังสือของ McWilliam เพื่อสนับสนุนเรื่องอารมณ์ขันของนักบำบัดที่จะช่วยให้คนไข้อาการหวาดระแวงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น (ไม่รู้สึกถูกคุกคามขณะอยู่กับนักบำบัด) แต่ในขณะเดียวกัน McWilliam ก็กล่าวว่าทุกคนสามารถมีอาการหวาดระแวงในชีวิตได้อยู่แล้ว ถ้าดูจากตัวอย่างของ Nydes จะพบว่าเรื่องที่คนไข้เหล่านี้กังวลก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะอุบัติเหตุพวกนี้ก็เกิดขึ้นได้เสมอ มุกตลกร้ายของ Nydes จึงไม่ได้ทำให้คนไข้หายกังวลหรือหายกลัวไปซะทั้งหมด แต่มันกลับทำให้คนไข้เห็นว่าทุกคนก็ต้องเผชิญอันตรายเหล่านี้ไปพร้อมกันและก็ยังใช้ชีวิตต่อไปได้ (คุณไม่ได้ตัวคนเดียวและพระเจ้าไม่ได้โฟกัสแค่ตัวคุณ) . เราบังคับให้คนที่เชื่อว่าโลกนี้น่ากลัวหันมารู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่โดยง่ายไม่ได้ เราไม่รู้ว่าชีวิตพวกเขาต้องเผชิญอะไรมาบ้าง และบางสิ่งที่พวกเขากลัวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย สิ่งสำคัญนอกจากความรู้สึกปลอดภัยทางกายยังคงเป็นความปลอดภัยทางใจที่จะรู้สึก 'กลัว' ได้อย่างอิสระและไม่แปลกแยก เราทุกคนมีสิ่งที่กลัวและหาวิธีรับมือเพื่ออยู่กับมัน บางครั้งนักจิตบำบัดต้องสอนให้ผู้รับบริการสร้างที่หลบภัยในใจของตัวเองเมื่อหาที่เหล่านั้นไม่เจอในโลกแห่งความจริง การจินตนาการถึงห้องเล็กๆ แสนปลอดภัยของตัวเองเป็นสิ่งที่ผมก็ได้เรียนรู้มาจากรุ่นพี่นักจิตบำบัดคนหนึ่ง แต่ผมคงแย้งได้เช่นเดียวกันว่าหากเราไม่พบคนที่สนับสนุนให้เราทำแบบนั้น (คนที่เข้าใจ อยู่กับเรา และไม่คิดว่านี่คือสิ่งที่ผิดปกติ) ความรู้สึกปลอดภัยในใจก็คงไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับคนไข้ของ Nydes ที่คงจะรู้สึกผ่อนคลายไม่ได้หากไม่พบว่ามีคนที่ยังยิ้มเยาะไปกับความเสี่ยงอันตรายของชีวิตได้เช่นนี้ . เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาการปรึกษา McWilliam, N. (2011). Psychoanalytic diagnosis: Understanding personality structure in the clinical process (2nd ed.). Guilford press.




ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page