top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

เมื่อเราอยู่กันคนละโลก แล้วเราจะเข้าใจกันได้อย่างไร

จริงๆ ค่อนข้างยากที่จะเขียนเรื่องนี้ออกมา เพราะต่้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียบเรียงเรื่องราวที่ดูจะเป็นนามธรรม ในการเดินทางไปกับบทความนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการคิดตามสิ่งท่ีผมกำลังจะพูดถึง นั่นคือ “โลกภายใน” (internal world) ของแต่ละคน . ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ผมมักพบเห็นความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของผู้คนต่างๆ ทั้งในครอบครัว หมู่เพื่อน คนรัก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่พบเห็นบ่อยหน่อยอาจจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างเด็กและผู้ปกครองซะมากกว่า ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะผมเองก็อยู่ในช่วงที่ไม่ได้ห่างจากเด็กวัยรุ่นมากนัก และก็อาจจะไม่ได้ห่างจากวัยผู้ใหญ่ที่มีลูกมากเช่นกัน แต่เอาจริงๆ ที่ผ่านมาผมค่อนข้างเอนเอียงไปทางความคิดของเด็กวัยรุ่นทั้งหลายมากกว่า (ฮา) และบางครั้งก็ทำให้เผลอมองว่าผู้ปกครองทั้งหลายดูไม่มีเหตุผลเช่นเดียวกัน . หากนึกถึงเวลาที่เด็กเถียงผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เถียงกันเอง เรามักเคยชินกับการมองหาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาถกเถียงกันเป็นเหตุผลสนับสนุนออกมาเป็นข้อๆ หรือหาวิธีการว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือเปลี่ยนคนตรงหน้าให้มาคิดเหมือนเราได้ยังไง พูดง่ายๆ ว่าเรามักมองหาสิ่งที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมหรือสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมาช่วยในการคิดวิเคราะห์แบบเหตุและผล แต่นั่นไม่ได้ทำให้แต่ละคนพูดคุยกันรู้เรื่องเลยถึงแม้ว่าเหตุผลของใครคนหนึ่งจะถูกต้องตามหลักความเป็นจริงก็ตาม และสุดท้ายเราก็อาจจบการสนทนาด้วยการตัดสินอีกฝ่ายด้วยคำถามว่า “ทำไมเธอถึงไม่เข้าใจฉัน?” . มาถึงตรงนี้แล้วถ้าคุณเกิดคำถามว่า “แล้วจะต้องทำยังไงล่ะ?” หรือ “แล้วการใช้เหตุผลคุยกันมันไม่ดีตรงไหน?” ก็ขอให้หยุดไว้ก่อน เพราะว่าเรายังไม่ถึงจุดที่จะบอกได้เลยว่าการใช้เหตุผลแบบที่คุณเข้าใจนั้นมีส่วนเล็กๆ ของความเข้าใจในเรื่อง “โลกภายใน” อยู่ด้วยรึเปล่า? .

“โลกภายใน” ที่ผมพูดถึงอาจเรียกได้ว่ามันก็คือ “โลกแห่งจินตนาการ” หรือ “โลกของจิตใจ” นั่นแหละ นี่เป็นความสามารถอันน่าอัศจรรย์ของมนุษย์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ด้วยจินตนาการที่ซับซ้อนภายใต้โลกแห่งความจริงที่มีข้อจำกัดอยู่มากมาย

. การพูดถึง “โลกภายใน” (internal world) และ “โลกภายนอก” (external world) มักพบเห็นได้บ่อยๆ ในแนวคิดของนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลาย โดยที่โลกของจิตใจนี้มักถูกมองว่า เป็นสมรภูมิของตัวตนของเราที่กระจัดกระจายอยู่ภายในและต่อล้อต่อเถียงกันไปมา (ลองศึกษาเรื่อง Id, Ego และ Superego เพิ่มเติม) หรือบ้างก็ว่าเป็นภาพสะท้อนของตัวเราเองในจินตนาการที่กำลังพูดคุยกับภาพสะท้อนของคนอื่นๆ ในจินตนาการของเราเช่นกัน (ลองศึกษา Attachment Theory เพิ่มเติม) . ตั้งแต่เด็ก เราเคยชินกับการคาดการณ์พฤติกรรมของคนอื่นๆ ผ่านโลกภายในของเรามาอย่างยาวนานเพื่อให้เราสามารถปรับตัวในสังคมได้ และการคาดการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับโลกแห่งความจริงหรือโลกภายนอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเรารับรู้โลกภายนอกผ่านเลนส์โลกภายในของตัวเราเอง และสร้างภาพแห่งความเป็นจริงขึ้นมาภายในจิตใจของเรา เพราะงั้นนี่คงบอกได้ว่า แต่ละคนก็จะมี “โลกภายในของตัวเอง” อยู่ตลอดเวลา . แล้วโลกภายในเหล่านี้มันส่งผลยังไงกับการใช้ชีวิตของเราได้บ้าง? . อย่างที่บอกว่าการสร้างภาพความเป็นจริงของเราเองนี้เป็นความสามารถที่พิเศษของมนุษย์ในการตอบสนองความต้องการของตัวเอง นั่นเป็นเพราะโลกแห่งความจริงในบางครั้งก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา เช่นในเรื่องของค่านิยมทางสังคมบางอย่างที่เข้ามาจำกัดการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา ที่บ้างก็ว่าเป็นสัญชาตญาณที่เหมือนกับสัตว์ หรือบางส่วนก็มองว่านั่นอาจเป็นความปรารถนา ความฝัน ความเชื่อ ทัศนคติ หรือต่างๆ นาๆ ที่ไร้ซึ่งรูปร่างอย่างชัดเจน และรอวันปลดปล่อยหรือได้รับการเติมเต็ม . ค่านิยมต่างๆ ภายนอกตัวเราที่กดดันได้ถูกฉายภาพเข้ามาในโลกภายในของเรา ทำให้เราต้องต่อสู้ดิ้นรนและรักษาโลกของตัวเราเอาไว้ ถ้าหากว่าความขัดแย้งนั้นมากเกินจะรับไว้ก็อาจจะรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบได้แตกสลายลงไป และนั่นก็คือโลกภายในจิตใจของเราเอง . การต่อสู้ดิ้นรนในการจัดระเบียบโลกภายในของตัวเรายังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะโลกแห่งความจริงภายนอกนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาจากโลกภายนอก ทั้งค่านิยม ความเชื่อ ตำรา บทเรียน หรือแม้แต่คำสอนจากคนอื่นๆ จะถูกฉายภาพมายังโลกภายในของตัวเราเสมอ . แต่แล้วทำไมเวลาเราพูดอะไรกลับไปบ้าง คนอื่นถึงไม่เข้าใจ สิ่งที่เราพูดไปมันไม่ได้เข้าไปในโลกของเขาบ้างเลยหรอ? . ให้ลองย้อนกลับไปที่ว่าตัวเราเองก็กำลังรับเอาการสื่อสารจากโลกภายนอกเข้ามาในตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน แบบนั้นอาจจะเห็นได้ว่าสิ่งที่มันขัดแย้งกับโลกของเราหรือความเชื่อของเรานั้นมันไม่น่ายินดีเลย จิตใจของเราเลยพยายามที่จะหาทางออกอย่างเช่น การปฏิเสธหรือไม่อยากจะรับรู้สิ่งที่จะเข้ามาทำลายโลกทั้งใบของเราเช่นกัน เพราะงั้นการที่คนเราจะปฏิเสธ ไม่รับรู้ ไม่อยากเข้าใจโลกของคนอื่นที่ขัดกับโลกของตัวเองนั่นอาจเป็นเพราะเขาก็พยายามที่จะรักษาโลกทั้งใบของตัวเองไว้อยู่เช่นเดียวกัน . ถ้ากลับมาที่การต่อล้อต่อเถียงกับคนอื่นๆ เถียงกับพ่อแม่ เถียงกับญาติ เถียงกับแฟน เถียงกับนู่นนี่นั่น แล้วเราควรจะทำยังไง? . ถ้านี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับคุณผมคงต้องขอให้คุณลองคิดพิจารณาด้วยตัวเองว่า “คุณจะทำให้โลกภายในของคุณและคนอื่นๆ ค่อยๆ ผสานกันได้อย่างไร?” ในบทความนี้ผมเพียงชวนให้คุณลองหันมามองโลกภายในของตัวเองและเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีโลกของตัวเองอยู่เหมือนกันเท่านั้น สิ่งเดียวที่อาจจะพอแนะแนวทางได้คงเป็นคำถามที่ว่า “แล้วคุณทำอะไรได้บ้างด้วยโลกของคุณเอง?” เพราะคุณอาจจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงทั้งหมดไม่ได้ แต่คุณอาจจะมีสิ่งที่ยังพอทำได้เพื่อให้รู้สึกสบายใจได้ในโลกที่แตกต่างกันเหล่านี้ นี่อาจเป็นคำแนะนำที่ดูเหมือนจะยอมจำนนต่อสภาพแวดล้อมทั้งหลาย แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการยอมถอยออกมาซักก้าว เพื่อให้ตัวเองได้ลองเข้าไปในโลกของคนอื่นๆ ซักเล็กน้อย แล้วจากนั้นคุณค่อยคิดด้วยตัวเองว่า โลกของเราที่ต่างกันนี้จะพอมีส่วนที่ผสานกันได้บ้างหรือไม่ . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล

.

. Reference Barnes, H. (2018, Feb 23). Your strength is your ability to control your internal world. Harrison Barne. Retrieved from https://www.hb.org/your-strength-is-your-ability-to-control-your-internal-world/

Clarke, S. (1999). Splitting difference: Psychoanalysis, hatred and exclusion. Journal for the Theory of Social Behaviour, 29(1), 21-35.

Lemma, A. (2003). Defences and resistance. In Introduction to the practice of psychoanalytic psychotherapy (pp. 200-229). John Wiley & Sons. Mitchell, S. A., & Black, M. J. (2016). Freud and beyond: A history of modern psychoanalytic thought. Hachette UK.

Pietromonaco, P. R., & Barrett, L. F. (2000). The internal working models concept: What do we really know about the self in relation to others?. Review of general psychology, 4(2), 155.

Sharma, R. (2016, August 26). What is External Reality and What is Internal Reality?. Modern Age Spirituality. Retrieved from https://www.modernagespirituality.com/what-is-external-reality-and-what-is-internal-reality/

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


bottom of page