top of page
ค้นหา

เมื่อมองเรื่องความเจ็บป่วยทางใจบนฐานของความรู้ด้านสุขภาพจิตบางทีนี่อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

ผมคาดว่าหลายคนคงเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพจิตมากขึ้น และในโอกาสนี้ผมอยากจะเขียนบทความเล็กน้อยเพื่อขยายมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพจิตในปัจจุบันของหลายๆ คนเพิ่มมากขึ้น

.

ในสมัยก่อนคงเป็นภาพติดตามของการแยกระหว่างคนที่มี “สุขภาพจิตดี” และคนที่ “ป่วยจิต” ออกจากกัน และจาการศึกษาก็พบว่านี่มักทำให้เกิดปัญหาในการแยกแยะระหว่าง “ความปกติ” และ “ความผิดปกติ” ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง รวมถึงนำไปสู่การตีตราคนที่มีความผิดปกติทางจิตด้วยเช่นกัน

.

แต่การศึกษาในปัจจุบัน เราจะเห็นได้มากขึ้นว่าการมีสุขภาพจิตที่ดีและการเจ็บป่วยทางจิตคงไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิงอีกต่อไป เมื่อความรู้มากมายในปัจจุบันเริ่มสนับสนุนมากขึ้นว่า สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนหรือที่ทำงาน การถูกกลั่นแกล้งรังแก การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ฯลฯ สัมพันธ์กับโอกาสเกิดอาการทางจิตเวชพอๆ กันกับปัจจัยทางชีวภาพอย่างเรื่องของพันธุกรรมและระบบประสาทหรือสมอง

.

ในปัจจุบันแม้เราอาจไม่ได้เห็นการแบ่งแยกในเรื่องของความเจ็บป่วยทางจิต (mental illness) และสุขภาพจิต (mental health) ออกจากกันอย่างแต่ก่อน แต่ผมคิดว่าทัศนคติเหล่านี้อาจยังแฝงอยู่ในรูปของความเข้าใจเกี่ยวกับอาการทางจิตที่คลาดเคลื่อนไปพอสมควรในเมื่อหลายๆ ยังคงเชื่อว่าอาการทางจิตเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองหรือสารสื่อประสาทเพียงอย่างเดียว

.

“ซึมเศร้า” เป็นคำที่เราคงเริ่มได้ยินกันบ่อยขึ้น และหลายครั้งมันดูเหมือนจะเป็นคำพูดติดปากกันไปแล้วเพื่ออธิบายถึงความรู้สึกเศร้า ซึม อ่อนเพลีย และไม่อยากทำอะไร เป็นต้น แม้นี่ดูอาจเป็นความมักง่ายด้วยการใช้คำศัพท์เพื่อนิยามปรากฏการณ์อย่างคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมที่อ้างถึง “โรคซึมเศร้า” ที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับผมเองกลับมองเห็นว่าเรื่องนี้อาจไม่สำคัญเท่าไรนัก (เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่เราใช้คำศัพท์อย่าง “อีโก้” ในการอ้างถึงความเห็นแก่ตัวหรือมีอัตตาสูง ซึ่งต่างจากความหมายดั้งเดิมแบบที่นักจิตวิเคราะห์พยายามอธิบาย)

.

สมภพ แจ่มจันทร์ ได้กล่าวถึงเรื่องมุมมองที่มีต่อประเด็นเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจในบทความชื่อ “Deconstruct Depression มองโรคซึมเศร้าในมุมใหม่” (https://themomentum.co/deconstruct-depression/?fbclid=IwAR32WztzssuDgRSJmT38lNuIMSyXdpgAfSWF73k5GF-p5tBU8sI1J950jfc) โดยเขาได้แสดงให้เห็นทัศนะของการที่เราทุกคนสามารถมีอาการทางจิตเวชได้ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องถูกวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคทางจิตซะทีเดียว

.

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในบทความดังกล่าวคือการกล่าวถึงว่า อาการทางจิตเวชอาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของร่างกายหรือไม่ก็ได้ และเราอาจรู้ได้ยากมากว่าสาเหตุที่แท้จริงของอาการนั้นคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดเห็นว่าเกี่ยวข้องกับมุมมองที่เรามีต่ออาการทางจิตเวชในปัจจุบันอย่างมาก เพราะหลายคนอาจจะยังคงเชื่อว่าอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้านั้นเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว

.

การพยายามอธิบายว่าอาการทางจิตเวชนั้นเกี่ยวข้องกันกับความผิดปกติของสมองอาจเป็นเหมือนสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้มีความผิดปกติทางจิตจากการถูกทำร้ายหรือซ้ำเติมมากกว่าเดิม แต่ในการศึกษาที่ผ่านมากลับพบว่าการมีความเชื่อเช่นนี้อาจส่งเสียขึ้นมาพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแล้ว นี่อาจแฝงการตีตรา (stigma) ผู้ที่มีอาการทางจิตโดยที่เราไม่รู้ตัว

.

เนื่องจากการที่เชื่อว่าอาการทางจิตนั้นสัมพันธ์กับสรีระเพียงอย่างเดียวส่งผลให้เกิดการรับรู้ความแตกต่างทางกายภาพขึ้นมา ซึ่งสามารถนำไปสู่การรับรู้ความเป็นอื่น (sense of othering) หรือก็คือ ผู้ที่มีความเชื่อดังกล่าวจะมองว่าคนเหล่านั้นแตกต่างจากตัวเองตั้งแต่ในแง่ชีวภาพ และนั่นทำให้ยากต่อการเข้าอกเข้าใจบุคคลเหล่านั้นเพราะพวกเขาไม่เหมือนพวกเดียวกัน นอกจากนี้ การที่มีความเชื่อเช่นนี้อาจทำให้เรามีมุมมองต่อการที่จะหายจากอาการในแง่ลบด้วย

.

ในการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของอาการทางจิตเวชที่สัมพันธ์กับความผิดปกติทางสมองนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังคงมีการศึกษากันอยู่จริงและสามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่นั่นก็ยังคงเป็นเพียงการค้นพบสิ่งที่เรียกว่า “ปัจจัยที่เป็นไปได้” เท่านั้น สาเหตุของอาการทางจิตเวชที่แท้จริงยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

.

ในการศึกษาของเรื่องประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (ACE) ก็พบเช่นกันว่าส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสมอง เนื่องจากความเครียดเรื้อรังจะส่งผลต่อการอักเสบของสมองและภูมิคุ้มกันที่ลดต่ำลง จึงเพิ่มโอกาสเกิดความเจ็บป่วยได้ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ประสบพบเจอสถานการณ์เดียวกันจะมีความเสี่ยงเท่ากันหรือมีความเครียดเท่ากัน เพราะแต่ละคนอาจมีความไวต่อการถูกกระตุ้นในด้านความเครียดและวิตกกังวลแตกต่างกันอันเป็นผลเนื่องมาจากยีนส์ เพราะงั้นจึงอาจบอกได้ว่า ในขณะเดียวกันนี้ทุกคนก็มีความแตกต่างกันในระดับของปัจเจกอย่างมากแม้แต่ในเรื่องของความหลากหลายทางประสาทวิทยา (neurodiversity)

.

ความเข้าใจจากเดิมที่ว่าอาการทางจิตเวชนั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางสมองเพียงอย่างเดียวจึงถือได้ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป และอาจนำไปสู่การดูแลรักษาหรือการปฏิบัติต่อผู้ที่มีอาการเหล่านี้เสมือนว่าไม่ใช่มนุษย์กลุ่มเดียวกันได้ หากเรามองในความเข้าใจที่เปิดกว้างมากขึ้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของสุขภาพจิตที่ดีและความเจ็บป่วยทางจิตเป็นสิ่งที่อยู่บนเส้นทางเดียวกันของความปกติที่ไม่มีอยู่จริง เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับอาการทางจิตเวชเหล่านี้อาจบอกได้ว่าทุกคนมีโอกาสเกิดอาการทางจิตเวชบางอย่างได้หากได้รับการกระทบกระทั่งจากเหตุการณ์บางอย่างที่รุนแรงพอ (ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เราไม่มีแนวทางการรับมือมาก่อน)

.

ทางที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพจิตของเราจึงควรตระหนักถึงการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่แข็งแรง และมองหาแนวทางการช่วยเหลือจากมืออาชีพอย่างเหมาะสม เช่น จิตแพทย์และนักจิตวิทยา เนื่องจากแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดยังคงต้องอาศัยการดูแลในรอบด้านทั้งร่างกายและจิตใจ (การรักษาด้วยยาและจิตบำบัดควบคู่กัน)

.

.

.

(หาอ่านเพิ่มเติมเรื่องประสบการณ์วัยเด็กกับความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติในปัจจุบันได้จากหนังสือ Childhood Disrupted: How your biography becomes yours biology, and how you can heal >> https://www.facebook.com/psychologistschairs/photos/a.2021402508133075/2228815260725131/?type=3&theater&__xts__[0]=68.ARA6GiAri7VaCO44eE-iiJQWZRTBjQvmx6nltmZ5mFUPr_CCSo_GlYoJRGF8aYJsgDRsSlDsSNMUSKYgwVPLcLvlW4coYttMlipjA4kRFNDsMae6Y71i6Tf5D-AzdOLeGlltD8Ot_MXbzy6H6CceUSGInwEFKVrp9cfJvjUduSSXhj2h9lQKT_h2FYVF44wLOyqQBJqtRjtYS2K64dmhIEvvHg0Uq_qdFFyoxs3dAItXdwBqQ2nuxO0yLtEf_4L1FlNFtA2AkRAf-cwBSrO2WLtJrFo_i4GPQpQh4tj64GpLAamIHpgiGjmi2w1L-tXvS-S2IjoBlQWWXCshlaoi2efu&__tn__=-UK-R)

.

Reference

มุทิตา เชื้อชั่ง. (2019, ตุลาคม 7). Deconstruct depression มองโรคซึมเศร้าในมุมใหม่. The Momentum. Retrieved from https://themomentum.co/deconstruct-depression/?fbclid=IwAR32WztzssuDgRSJmT38lNuIMSyXdpgAfSWF73k5GF-p5tBU8sI1J950jfc

aan het Rot, M., Mathew, S. J., & Charney, D. S. (2009). Neurobiological mechanisms in major depressive disorder. Cmaj, 180(3), 305-313.

Rathje, S. (2018, August 9). Don't say that depression is caused by a chemical imbalance: The most popular way of talking about mental illness may be misguided. Psychology Today. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/words-matter/201808/dont-say-depression-is-caused-chemical-imbalance

Havard Health Publishing. (2019, June 24). What causes depression?: Onset of depression more complex than a brain chemical imbalance. Havard Medical School. Retrieved from https://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/what-causes-depression

ดู 17 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page