: ความสามารถในการอยู่อย่างสันโดษที่ย้อนแย้ง
.
ในช่วงเวลานี้ หลายคนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องออกห่างจากผู้คน และยิ่งเวลาผ่านไปยาวนานเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าบางคนเริ่มทุกข์ร้อนใจกับการไม่ได้พบเจอผู้คนในชีวิตประจำวัน นั่นเพราะเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม”
.
แต่เวลาแห่งการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้นถือเป็นส่วนเสี้ยวทั้งหมดของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน เมื่อบางครั้งมนุษย์เรายังสามารถเกิดความทุกข์ร้อนใจได้เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างมาก บางครั้งเราอาจต้องการที่จะพบเจอครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก หรือคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่บางครั้งเรากลับปรารถนาที่จะอยู่ตัวคนเดียว มันเป็นเหมือนความขัดแย้งกันของความปรารถนาในตัวเรา และกลายเป็นว่าหลายคนเริ่มเอนเอียงไปทางที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ และเราไม่สามารถขาดจากมันได้แม้แต่วินาทีเดียว
.
ในวันนี้ผมได้มานำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียว” (the capacity to be alone) หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็นความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างสันโดษของมนุษย์
.
จิตแพทย์เด็กและนักจิตวิเคราะห์ชื่อ D. W. Winnicott เขาได้นำเสนอว่า “ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียว” นั้นเป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของชีวิตหรือแสดงถึงการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (emotional maturity)
โดยเขาได้ใช้การสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างแม่และเด็กที่พบว่า พัฒนาการของเด็กนั้นต้องการพื้นที่ในการแสดงออกหรือกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองคนเดียวโดยไม่ต้องการให้คนอื่นมาคอยชี้แนะว่าต้องทำอย่างไร
.
Winnicott ใช้สิ่งที่เขาพบเห็นนี้บวกกับประสบการณ์ในการทำจิตบำบัดกับคนไข้ของเขาเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของคนเรานั้นเกี่ยวข้องกับความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียว
.
ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียวนั้นเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่มีคนคอยช่วยเหลือได้ ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกขาด หรือความตึงเครียดเนื่องจากความปรารถนาตามสัญชาตญาณในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ (id-tension)
.
แต่ Winnicott ก็ได้นำเสนอเช่นกันว่า ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียวนั้นมี ‘ความย้อนแย้ง’ อยู่ภายในตัวมัน (paradox) เพราะในการสังเกตความสัมพันธ์ของแม่และเด็กแล้วดังกล่าวแล้ว พบว่าเด็กจะไม่สามารถเล่นได้อย่างสบายใจด้วยตัวคนเดียวได้ ถ้าเกิดไม่สามารถแน่ใจได้ว่าแม่ของตนเองยังอยู่ตรงนั้นแม้ในขณะที่มองไม่เห็น เช่น การที่เด็กเล่นในบ้านของเล่นหรืออยู่ในรถเข็นเด็กซึ่งเด็กจะมองเห็นแม่ของตัวเองได้แค่แว็บเดียวหรืออาจได้ยินเพียงแค่เสียงเท่านั้น แต่เด็กก็สามารถเล่นได้อย่างสบายใจได้เพราะรู้ว่าแม่ยังอยู่กับตนเอง
.
การที่เราเกิดรู้สึกว่ามีใครบางคนอยู่ตรงนั้นด้วยกลายเป็นสิ่งสำคัญ นั่นเพราะการอยู่ตัวคนเดียวทำให้เราเกิดความรู้สึกสับสน และต้องตะเกียกตะกายด้วยตนเองเมื่อไม่มีคนมากำหนดทิศทางว่าต้องทำอะไร นี่เป็นการเผชิญหน้ากับประสบการณ์ ประสาทสัมผัส และแรงขับตามสัญชาตญาณของตัวเราเองที่มีอยู่ การรู้สึกว่ามีใครบางคนอยู่ตรงนั้นด้วยกันจึงทำให้รู้สึกปลอดภัยในการสำรวจ และรู้สึกถึงประสบการณ์ที่เป็นจริงเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์
.
Winnicott ได้ใช้การสังเกตนี้และการทำจิตบำบัดกับคนไข้ของเขาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียวนั้นจึงยังเป็นการที่ยังมีความสัมพันธ์อยู่ โดยเป็นความสัมพันธ์กันของอีโก้ (ego-relatedness) แทนที่จะเป็นความความสัมพันธ์ของอิด (id-relationship) หรือถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียวนั้นคือการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นช่วงเวลาของการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของแต่ละคน เฝ้ารอคอยการกลับมาบรรจบกันของแรงปรารถนาทั้งสองฝ่ายตามกาลเวลา และมีความสุขอยู่กับช่วงเวลาสันโดษที่ต่างก็มีเหมือนกัน (สามารถอยู่ได้โดยไม่ถูกทำร้ายจากความปรารถนาในการมีปฏิสัมพันธ์)
.
ความสามารถในการอยู่ตัวคนเดียวอาจเปรียบได้กับการอยู่กับความรู้สึกคิดถึงได้เป็นอย่างดี เพราะในการเริ่มต้นของการพัฒนาความสามารถในการอยู่ด้วยตัวคนเดียวแล้ว มันกลับเริ่มต้นด้วยการมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และปลอดภัย ก่อนที่ความสัมพันธ์นั้นหรือคนๆ นั้นจะเข้ามาอยู่ในใจของเรา กลายเป็นสิ่งแวดล้อมภายใน (internal envirionment) ที่ทำให้เราเกิดความมั่นใจเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตของตัวเราได้ แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้อยู่ตรงหน้าหรือมีเพียงสิ่งที่เป็นของต่างหน้าเท่านั้น (transitional object)
.
แต่การที่คนเรามีความสามารถในการอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกถึง “ความเหงา”
.
Hämäläinen ได้เสนอว่าคนที่มีความสามารถในการอยู่คนเดียวนั้นสามารถรู้สึกเหงาได้เมื่อต้องอยู่คนเดียว เราอาจรู้สึกได้ถึงความต้องการใครซักคน เช่นเดียวกับการมีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น แต่คนที่มีความสามารถในการอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวเพียงพอ จะไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง รู้สึกถึงความห่วงใยต่อตัวเอง อีกทั้ง ยอมรับการแยกจากกัน และมองเห็นว่า ภาพลวงของการเชื่อว่าคนคนนึงจะอยู่กับเราตลอดเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทุกคนมีเหมือนๆ กัน
.
.
Reference
Hämäläinen, O. (1999). Some considerations on the capacity to be alone. The Scandinavian Psychoanalytic Review, 22(1), 33-47.
Winnicott, D. W. (1958). The capacity to be alone. International Journal of Psycho-Analysis, 39, 416-420.
Komentáre