(เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2565)
.
เรื่อง Juvenile Justice เป็นซีรี่ย์เกาหลีของทาง netflix ที่ผมกำลังดูอยู่ในช่วงนี้และรู้สึกชอบมากครับ
ตัวซีรี่ย์เป็นเรื่องราวของ ชิมอึนซอก ผู้พิพากษาหญิงที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในศาลเยาวชนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องมาตัดสินคดี (+ไขคดี) ของเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน เธอก็ได้พบกับเพื่อนร่วมงานผู้พิพากษาชายที่อยู่มาก่อนชื่อ ชาแทจู ซึ่งเป็นผู้พิพากษานิสัยใจดีและเห็นอกเห็นใจเด็กผู้กระทำความผิด ต่างจากชิมอึนซอกที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเธอเกลียดเด็กเหล่านี้
ในตอนที่ 3 เป็นคดีของเด็กหญิงวัยรุ่นที่ชื่อ ซอยูรี ซึ่งเป็นเด็กที่มีคดีกระทำผิดมาก่อนและได้รับความช่วยเหลือจนได้ไปทำงานที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง แต่แล้วก็เกิดเรื่องที่ทำให้พบว่าพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของซอยูรีนั่นเกี่ยวข้องกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วย
พอถึงช่วงท้ายตอนที่ 3 และช่วงต้นของตอนที่ 4 เราจึงได้รู้ว่าผู้พิพากษา ชาแทจู เองก็มีประวัติถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อเช่นเดียวกัน นัานจึงทำให้เขาเห็นใจเด็กเหล่านี้ และก็เป็นสาเหตุให้เขาพยายามยุ่มยามคดีของซอยูรีที่ชิมอึนซอกเป็นคนรับผิดชอบ
.
"เด็กๆ ที่มีแผลใจจากความรุนแรงในครอบครัวน่ะ เด็กพวกนั้นจะไม่เติบโตไปกว่านี้แล้วครับ ไม่ว่าอีก 10 ปี หรือ 20 ปี มีแค่เวลาเท่านั้นที่ผ่านไปครับ แต่เด็กพวกนั้นถูกขังอยู่ในห้วงเวลานั้นเพียงลำพัง"
เป็นคำที่ชาแทจูพูดกับชิมอึนซอกในฉากที่ทั้งคู่ยืนเถียงกัน และกลายเป็นประโยคสำคัญสำหรับคดีนี้ นั่นเพราะมันกลายเป็นคำพูดที่ชิมอึนซอกเอาไปใช้บอกกับย่าของซอยูรีเพื่อให้ช่วยเป็นนำพยานหลักฐานเอาผิดพ่อของซอยูรีก่อนวันพิจารณาคดีมาถึง
.
เมื่อเราพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำส่วนมากมักเป็นเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าเด็กอาจจะจำไม่ได้แล้วเมื่อโตขึ้น แต่แท้จริงแล้ว คนที่ลืมง่ายกว่าอาจเป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่เด็กจะไม่มีทางลืมสิ่งที่เกิดขึ้นจนหมด และถึงแม้จะจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ผลกระทบของบาดแผลทางใจในวัยเด็กนั้นกลับส่งผลกระทบในระยะยาว
บาดแผลทางใจสำหรับเด็กที่ชัดเจนอาจเป็นได้ทั้งในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียน หรือ เรื่องการทารุณกรรมทางเพศ แต่บางครั้งสำหรับเด็กแล้ว
มันแทบไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องเป็นผู้ถูกกระทำโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพียงการมองดูสถานการณ์นั้นๆ กำลังเกิดขึ้นก็ได้ เช่น การเห็นพ่อและแม่ทะเลาะกันอย่างรุนแรง เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น บาดแผลทางใจในวัยเด็กยังเกี่ยวข้องกับเรื่องความผูกพันกับคนใกล้ชิดหรือ attachment ด้วย โดยหากเด็กรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวไม่ปลอดภัยเพียงพอที่จะคอยซัพพอร์ตให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางใจได้ ก็จะยิ่งส่งผลให้เด็กอาจพบว่าการถูกละเลยหรือไม่ได้รับความสนใจเมื่อเจอเรื่องร้ายกลายเป็นบาดแผลทางใจที่หนักขึ้นเช่นเดียวกัน และอาจเรียกได้ว่าเป็น 'บาดแผลทางใจลำดับที่สอง'
(ในกรณีของซอยูรีเราจะเห็นได้ว่าย่าของเธอก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอไม่สามารถผ่านประสบการณ์นี้ไปได้โดยง่าย เพราะย่าของเธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือมากพอและยิ่งทำให้ซอยูรีหวาดกลัวเกินกว่าจะแจ้งความพ่อของตน)
.
เด็กที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางใจเราอาจสามารถสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสัปดาห์หรือเดือน เช่น การมีปัญหาการควบคุมอารมณ์โกรธ ปัญหาด้านการมีสมาธิจดจ่อ ความอยากอาหารลดลง มีความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่เคยกลัว มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายหรือความปลอดภัย ฉุนเฉียว มีปัญหาการนอน เศร้าซึม โดดเรียน มีอาการปวดหัวปวดท้อง เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสถานการณ์ที่เด็กเผชิญเริ่มกลายเป็นบาดแผลทางใจขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดการพัฒนาปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย ได้แก่ มีพฤติกรรมก้าวร้าว โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ยากที่จะไว้ใจผู้อื่น หวาดกลัวหรือตื่นตระหนกง่าย รู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัว ความมั่นใจในตนเองตกต่ำ รวมทั้งอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่แม้กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ
.
สิ่งที่ผู้พิพากษาชาแทจูพูดจึงแทบไม่ใช่สิ่งที่ผิดไปจากกระบวนการทางจิตที่เกิดขึ้นจริงของคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กเกือบทุกคน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดซะทีเดียว
คนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กอาจรู้สึกเหมือนตัวเองยังคงติดอยู่ในประสบการณ์นั้นแบบไปไหนไม่ได้ แม้ร่างกายของพวกเขาจะเติบโตมากแค่ไหนแต่จิตใจของพวกเขาอาจไม่ได้เดินห่างออกไปจากช่วงเวลาเดิมๆ เลย
ในความคิดห้วงคำนึงของพวกเขาอาจยังคงห้วนนึกถึงประสบการณ์เหล่านั้นแบบเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเวลาที่เจอตัวกระตุ้นบางอย่างให้นึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นอีกครั้ง เช่น ภาพ เสียง กลิ่น หรือการสัมผัส เป็นต้น และในบางกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นคือการมีความฝันที่มองเห็นภาพเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำๆ
ยังไงก็ตาม สิ่งที่ชาแทจูพูดถึงคือเฉพาะในกรณีของคนที่ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่านั้น การ 'ถูกขังอยู่ในห้วงนั้นเพียงลำพัง' คือกุญแจสำคัญที่บอกเราว่านั่นคือความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ประสบการณ์ของซอยูรีอาจแตกต่างไปจากชาแทจูหลังจากนี้ นั่นเพราะซอยูรีได้รับความช่วยเหลือจากชิมอึนซอก และที่สำคัญไปกว่านั้น ย่าของเธอก็ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเธอด้วยในท้ายที่สุด
.
การเดินก้าวข้ามผ่านจากบาดแผลทางใจไม่ใช่สิ่งที่คนคนหนึ่งจะสามารถทำด้วยตัวเองทั้งหมดได้ง่ายขนาดนั้น ส่งนหนึ่งที่สำคัญยังคงเป็นคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งแบ่งปันความรู้สึกทุกข์ใจจากประสบการณ์เหล่านั้นด้วย
หลายคนอาจคิดว่าการเล่าถึงประสบการณ์เหล่านี้ให้คนอื่นฟังอาจเป็นสิ่งที่ช่วยอะไรไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นผ่านพ้นไปแล้ว แต่เพื่อเยียวยาความรู้สึกโดดเดี่ยวที่สอดแทรกอยู่นั้น การที่เราสามารถพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจได้ในเรื่องความรู้สึกของเราแบบตรงไปตรงมาที่สุดกลับเป็นสิ่งสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เล่าสามารถพูดถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้อีกครั้งอย่างตรงไปตรงมายังมีส่วนช่วยให้มองเห็นภาพของสถานการณ์ชัดขึ้น รู้สึกถึงการควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ และอาจมองเห็นได้ถึงชีวิตที่เดินไปข้างหน้าพร้อมกับช่วงเวลาที่เดินไปมากขึ้นกว่าเดิม
.
เช่นเดียวกัน ในการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเช่นจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยาก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากการรับประทานยาทางจิตเวชด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ทำงานกับประเด็นเหล่านี้ แต่กลับเป็นการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่จะมีส่วนช่วยได้มากกว่า
อย่างที่บอกว่าบาดแผลทางใจในวัยเด็กมักเกี่ยวข้องกับเรื่องความผูกพันหรือปมผูกพัน การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพระหว่างนักจิตบำบัดกับผู้รับบริการจึงสามารถช่วยเยียวยาแง่มุมดังกล่าวได้อย่างน่าอัศจรรย์ในหลายครั้ง และเราเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า 'สัมพันธภาพเชิงรักษา' (therapeutic relationship)
(มิติหนึ่งของสัมพันธภาพเชิงรักษาคือความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่นักจิตบำบัดสามารถมอบให้กับผู้รับบริการเพื่อซ่อมแซมหรือเติมเต็มประสบการณ์ในอดีตของผู้รับบริการ - reparative or developmentally needed relationship)
ทั้งนี้ การได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญยังคงรวมไปถึงเทคนิคและวิธีการอื่นๆ ที่ผู้รับบริการสามารถเรียนรู้เพื่อนำไปใช้รับมือกับประสบการณ์ของตัวเองได้อีกด้วยครับ
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
อ้างอิง
Morin, A. (2020, June 30). Treating the effects of childhood trauma. Verywellmind. https://www.verywellmind.com/what-are-the-effects-of...
Nuttall, J. (2002). Modes of therapeutic relationship in brief dynamic psychotherapy: A case study. Psychodynamic practice, 8(4), 505-523.
และ
ข้อมูลบางส่วนจากคอร์สของ National Institute for the clinical application of behavioral medicine. http://www.nicabm.com
Comments