top of page
ค้นหา

“เด็กน้อยซอมบี้”: การตั้งคำถามเกี่ยวกับการตีความนิทานและการทำความเข้าใจเด็กจากมุมมองของผู้ใหญ่

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

(เขียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563)

.



ผมเพิ่งเริ่มดูซีรี่ย์เรื่อง “It’s okay to not be okay” เมื่อไม่กี่วันก่อน และเพิ่งดูไปได้ถึงตอนที่ 4 ซึ่งถือว่าน่าประทับใจกว่าที่คาดหวังไว้ในตอนแรกมาก เพราะตอนที่ผมดูตัวอย่างซีรี่ย์ก็ไม่ได้มีความน่าสนใจ และสิ่งที่ถูกพูดถึงมักเป็นเรื่องของนักแสดงมากกว่าเนื้อเรื่อง (ผมมักจะไม่ได้ดูหนังหรือซีรี่ย์เพราะนักแสดงจึงไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของแฟนคลับได้)

.


ในตอนที่ 4 ของซีรี่ย์เรื่องนี้เป็นการเน้นย้ำไปที่ประเด็นของการตีความนิทานสำหรับเด็กในมุมมองที่แตกต่างออกไป โดย "โกมุนยอง” นางเอกของเรื่องนี้เป็นนักเขียนนิทานสำหรับเด็ก แต่นิทานของเธอนั้นแทบจะดูไม่ได้เหมือนนิทานสำหรับเด็กเท่าไรเลย ซึ่งเรื่องราวของ “เด็กน้อยซอมบี้” หรือ “Zombie kid” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เธอแต่งขึ้น

.


“เด็กชายคนหนึ่ง เกิดในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง เค้าเป็นเด็กผิวขาวซีดและลูกตาโตมาก เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น แม่ของเขารู้ได้เองว่าเด็กคนนี้ไม่มีความรู้สึกใดๆ เป็นซอมบี้ที่ต้องการเพียงอาหารเท่านั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทุกคนในหมู่บ้านรู้ แม่จึงเอาเขาไปไว้ในห้องใต้ดิน และทุกคืน เธอก็จะไปแอบขโมยสัตว์เลี้ยงบ้านอื่นมาให้ลูกกิน และแอบเลี้ยงเขาไว้เช่นนั้น


วันหนึ่งไก่ อีกวันหมู ผ่านไปหลายปี จนอยู่มาวันหนึ่ง โรคระบาดมาเยือนหมู่บ้าน สัตว์เลี้ยงที่เหลืออยู่พากันตายหมด ผู้คนก็ตายไปมากเช่นกัน ส่วนคนที่เหลือรอดออกจากหมู่บ้านไปกันหมด


แม่ไม่สามารถทิ้งลูกไปได้ ในที่สุดก็ตัดขาข้างหนึ่งของตัวเองให้ลูกที่ร้องด้วยความหิวกิน วันต่อมาก็ตัดแขนอีกหนึ่งข้าง ตัดทุกอย่างให้ไปจนหมด ในที่สุดเมื่อเธอเหลือเพียงลำตัว เธอก็โฝเข้าสู่อ้อมกอดของลูกน้อยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อมอบร่างกายที่เหลือของตัวเองให้


ลูกน้อยกอดแม่ที่เหลือแต่ลำตัวไว้แน่นด้วยแขนทั้งสองข้าง และพูดออกมาเป็นครั้งแรก


‘แม่... ช่าง... อบอุ่นเหลือเกิน’”


.

.

.


ผมคิดว่านิทานเรื่องนี้หากเราดูเผินๆ แล้วคงเหมือนการพยายามสื่อให้เห็นถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างมากจนยอมเสียสละชีวิตของตัวเองให้ลูกได้เพื่อให้ลูกได้อิ่มท้อง แต่สิ่งที่โกมุนยองทิ้งท้ายเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้กลับเป็นประโยคที่ว่า “สิ่งที่ลูกต้องการคือการกินให้หายหิว หรือโหยหาความอบอุ่นจากแม่กันแน่?” กลับสะท้อนให้เราเห็นว่าการตีความนิทานแบบแรกนั้นอาจเป็นเพียงการตีความนิทานจากมุมมองของผู้ใหญ่มากจนเกินไป

.


ในเรื่องราวของ “เด็กน้อยซอมบี้” ทำให้เราตั้งคำถามกันว่าการตีความนิทานของเรานั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และผมอดคิดไม่ได้ว่านิทานเรื่องนี้กำลังนำเสนอว่ามีการทำความเข้าใจเด็กจากมุมมองของผู้ใหญ่

.

การตีความแบบแรกที่ว่าเป็นเรื่องราวความรักของแม่ เป็นเหมือนการตีความจากมุมมองของผู้ใหญ่ที่ว่า แม่เป็นผู้มีพระคุณที่ให้กำเนิดลูก แม่ไม่ทิ้งลูกไปแม้ลูกจะมีหน้าตาอย่างไร และแม่ยอมเสียสละทุกอย่างให้กับลูกได้แม้แต่ชีวิตของตัวเอง ในการตีความลักษณะนี้สัมพันธ์กับความเป็นจริงที่ว่าลูกที่กินเนื้อแม่ของตัวเองนั้นมีอยู่จริง แต่การกินเนื้อของแม่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของความกระหาย ความหิว ความตะกละ หรือความโลภที่ลูกทุกคนมีอยู่ และนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมากมายที่พ่อแม่ต้องรับภาระกันจนเรียกได้ว่า “เข้าเนื้อ”

.

เด็กน้อยซอมบี้จึงไม่เพียงแต่เป็นเด็กน้อยที่เกิดมามีความพิเศษ แต่กลับเป็นตัวแทนของเด็กทุกคนในมุมมองของพ่อแม่ได้ พ่อแม่อาจมีมุมมองต่อลูกตนเองได้คล้ายคลึงกันกับแม่ของเด็กน้อยซอมบี้ที่ว่า “เด็กคนนี้ต้องการเพียงอาหารเท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่แม่ของเด็กน้อยซอมบี้นิยามลูกของตนเองยังรวมไปถึงการบอกว่า “เด็กคนนี้ไม่มีความรู้สึกใดๆ” ซึ่งคล้ายคลึงกันกับในความเป็นจริงที่ผู้ใหญ่มักเชื่อกันว่า “เด็กไม่รู้เรื่อง” หรือ “ใสซื่อ” เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกับเด็กนั้นเด็กจะลืมไปเองได้ในอนาคต และเด็กคงไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้

.

แต่เด็กไม่มีความรู้สึกใดๆ จริงหรือไม่ ในเมื่อท้ายที่สุดแล้วเด็กน้อยซอมบี้กลับรู้สึกถึง “ความอบอุ่น” ได้จากอ้อมกอดของแม่ นี่เป็นสิ่งที่กำลังสื่อให้เราเห็นว่ามุมมองของแม่ที่มีต่อลูกของตนเองนั้นอาจผิดไปจากความเป็นจริง

.


เรื่องราวของเด็กน้อยซอมบี้กับแม่ของเขากำลังสื่อให้เห็นว่านี่เป็นการตีความจิตใจของเด็กที่บิดเบือนไปโดยใช้มุมมองของผู้ใหญ่ตั้งแต่แรก โดยแม่ของเด็กน้อยซอมบี้นั้นมองว่าเขาเป็นซอมบี้ และจับเขาขังไว้ในห้องใต้ดินมาโดยตลอดเพราะว่าเธอ “รู้ได้เอง” ว่าเขาเป็นซอมบี้

.

แต่เขาเป็นซอมบี้จริงๆ หรือเพียงเพราะแม่ของเขาคิดว่าเขาเป็นซอมบี้เขาจึงถูกเรียกว่าเด็กน้อยซอมบี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วเขาก็มีความรู้สึกได้ว่าอ้อมกอดของแม่นั้นอบอุ่นเพียงใด และเราไม่ได้เห็นกันว่าเด็กน้อยคนนี้ต้องการเพียงอาหารอย่างที่แม่ของเธอเชื่อหรือเปล่า? ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพียงเพราะแม่ของเขาต้องเผชิญกับความหิวกระหายและความตะกละของเด็กที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงคิดไปเองว่าเด็กคนนี้เกิดมาเพื่อ “ขูดรีดขูดเนื้อ” เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพัฒนาการของเด็กจะได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้ที่จะชะลอความปรารถนาของตนเองเมื่อพวกเขาเริ่มโตขึ้น และต้องอาศัยความเข้าใจจากพ่อแม่ที่คอยสนับสนุนพัฒนาการของพวกเขาด้วย


.

.

.


ในงานเขียนของนักจิตวิเคราะห์อย่าง Sandor Ferenczi ที่ชื่อ “Confusion of the Tongues Between the Adults and the Child—(The Language of Tenderness and of Passion)” ได้ทำให้เราต้องตั้งข้อสังเกตกันว่า เด็กนั้นอาจจะดูใสซื่อจริงๆ แต่มันไม่ใช่ว่าเด็กนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ เลย

.

Ferenczi ได้นำเสนอว่าความใสซื่อของเด็กนั้นเป็นผลมาจากการที่พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทางกายภาพและยังขาดความเข้าใจทางศีลธรรม แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนตัวเด็กนั้นเต็มไปด้วยความรักใคร่ (tenderness) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นภายในของความรู้สึกรัก ความรู้สึกอบอุ่น และความห่วงใยที่เด็กมีกับพ่อแม่ Ferenczi จึงมองว่าเด็กนั้นพยายามที่จะเข้าใจพ่อแม่ของตัวเองโดยใช้แฟนตาซีของเขาเพื่อเล่นบทบาทสลับกันว่าเขาเป็นคนที่ดูแลพ่อแม่ของตนเอง และเลียนแบบท่าทีของพ่อแม่ของตน

.


แต่ในขณะเดียวกัน Ferenczi ได้บอกว่ามันเกิดความสับสนกับเด็กขึ้นเมื่อสิ่งที่ขับเคลื่อนการกระทำของผู้ใหญ่นั้นสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้นภายนอกมากกว่า ซึ่ง Ferenczi ได้เรียกสิ่งที่ขับเคลื่อนผู้ใหญ่คือ passion (ซึ่งในความหมายของของเขาผมคิดว่ามันสัมพันธ์กับการแปลว่า ‘กิเลส’ ในบริบทนี้ เช่น ความตะกละ ความกระหาย ความอยาก ฯลฯ ซึ่งสัมพันธ์กับวัตถุหรือค่านิยมภายนอก) เด็กจึงต้องเผชิญกับความสับสนระหว่างความใสซื่อภายในตนเองกับการที่ตนเองสามารถถูกตำหนิได้จากมุมมองหรือค่านิยมของผู้ใหญ่ ก่อนจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเลียนแบบผู้ใหญ่เพื่อทำความเข้าใจพวกเขา และนั่นส่งผลให้เด็กค่อยๆ รับเอาความโกรธ ความเกลียด ความรู้สึกผิด และความละอายใจมาด้วย

.


แนวคิดของ Ferenczi กับเรื่องราวของเด็กน้อยซอมบี้คือการบอกเราว่า ผู้ใหญ่นั้นอาจถูกขับเคลื่อนด้วย Passion มากกว่าและมันส่งผลต่อการทำความเข้าใจเด็กด้วย อย่างเช่นแม่ของเด็กน้อยซอมบี้ที่เธอมองว่าลูกของตนเองเป็นซอมบี้เพราะเขาหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา เธอจึงคิดว่าสิ่งที่เธอจะมอบให้กับเด็กคนนี้ได้มีแค่อาหารเท่านั้น และไม่คิดว่าเด็กคนนี้จะมีความรู้สึกหรือแรงขับเคลื่อนใดๆ ภายในเลยนอกจากความหิวกระหาย แต่นั่นเป็นมุมมองของแม่ที่เป็นผู้ใหญ่และเชื่อว่าความหิวกระหายของเด็กนั้นสัมพันพธ์กับอาหารซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นภายนอกเท่านั้น แต่ในความหิวกระหายของเด็กน้อยซอมบี้กลับมีสิ่งที่มากกว่านั้น นั่นคือเขายังต้องการความรักความอบอุ่นจากแม่ของเขาที่คอยดูแลเขาด้วย เมื่อเขาได้กอดแม่เพื่อสัมผัสความอบอุ่นจากอ้อมอกแม่ในท้ายที่สุด เขาจึงได้พูดออกมาเป็นครั้งแรกว่าแม่ของเขา “ช่างอบอุ่นเหลือเกิน”

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 117 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page