เชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักคำว่า “สุขภาวะทางจิต” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่าสุขภาวะทางจิต คือการที่เรายิ้ม หัวเราะ มีความสุข แต่นั่นอาจจะเป็นเพียงแค่ความเข้าใจอย่างกว้างๆสำหรับการมีสุขภาวะทางจิตเท่านั้น ลองมาทำความเข้าใจความสุขอย่างลึกซึ้งขึ้นด้วยการทำความรู้จักกับ “สุขภาวะทางจิต (Psychological Well-Being)”
.
สุขภาวะทางจิต คืออะไร?
.
มีนักจิตวิทยาหลายท่านได้ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิต และได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลที่มาจากการได้พัฒนาศักยภาพที่ตัวเองมีอย่างเต็มที่ สามารถแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองและความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม “เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากภายใน (Eudaimonic Well-Being)” (Waterman et al., 2010) ที่บุคคลรับรู้ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองในด้านบวก (Ryff, 1989) พร้อมทั้งจัดการความรู้สึกด้านลบได้อย่างสมดุล (Ryff & Keyes, 1995) ทำให้บุคคลมองเห็นเป้าหมายและเกิดความพึงพอใจในชีวิต (Waterman, 2008)
.
แตกต่างจากแนวคิด สุขภาวะเชิงอัตวิสัย (Subjective Well-Being) ที่เชื่อว่าความสุขเป็นสิ่งที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก (Hedonic) (Deiner, 1984; Diener, Lucas, & Scollon, 2009) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 มิติ คือความพึงพอใจในชีวิต ความรู้สึกทางบวก และความรู้สึกทางลบ (Diener, 1984) เป็นการที่บุคคลเชื่อในตัวเองว่าชีวิตของตนน่าพึงพอใจ รื่นรมย์ และเป็นชีวิตที่ดี (Diener, 2009) สุขภาวะเชิงอัตวิสัย หรือความสุขที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกนี้จึงให้ความสำคัญที่การมีความรู้สึกทางบวก และการตัดสินว่าตนมีความพึงพอใจในชีวิตหรือไม่จากกระบวนการคิดและประสบการณ์ของตนเองที่ผูกกับสภาพแวดล้อมภายนอก
.
จะเห็นได้ว่า
สุขภาวะทางจิต เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และการแสดงออกความรู้สึกอย่างเหมาะสม เป็นกระบวนการคิดที่บุคคลได้ทบทวนไตร่ตรองถึงชีวิตของตัวเองอย่างถี่ถ้วน ได้รับรู้ถึงคุณภาพชีวิตของตนเองและเป้าหมายในชีวิต ทำให้บุคคลเกิดความสุขและเห็นถึงความหมายของชีวิตโดยไม่ได้เกิดจากการเปรียบเทียบตัวเองกับสภาพแวดล้อมภายนอก
.
นักจิตวิทยา Waterman และคณะ (2010) ได้แบ่ง องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตออกเป็น 6 ด้าน คือ
.
1.การค้นพบตัวเอง (Self-discovery) เป็นศูนย์กลางของความสุขที่เกิดขึ้นจากภายใน คือการที่เรารู้จักตัวเอง และเลือกที่จะเป็นสิ่งที่ตัวเองเป็น ผ่านกระบวนการของการสำรวจ ยอมรับ และตัดสินใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมไปถึงความต้องการและเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การตระหนักรู้ในตัวเอง (self-realization)
2.การรับรู้ศักยภาพที่ดีที่สุดของตัวเอง (Perceived development one’s best potential) คือศักยภาพอันเป็นเอกลักษณ์ที่แทนตัวตนหนึ่งที่ดีที่สุดที่เราจะเป็นได้ และเราต้องมีความพยายามในการที่จะพัฒนาตัวเองให้บรรลุศักยภาพนั้น
3.การรับรู้ถึงเป้าหมายและความหมายในชีวิต (A sense of purpose and meaning in life) เป็นการที่เรารู้ว่าทักษะและความสามารถพิเศษที่เราถนัดคืออะไร นำไปสู่การตัดสินใจว่าเป้าหมายในชีวิตของเราที่สอดคล้องกับทักษะและความสามารถพิเศษที่เรามีคืออะไร เพื่อให้สามารถไปให้ถึงเป้าหมายและความหมายในชีวิตของตนเองได้
4.การลงทุนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไปให้ถึงความเป็นเลิศ (Investment of significant effort in pursuit of excellence) คือการที่เราต้องใช้ความพยายามทั้งทักษะและความสามารถพิเศษอย่างเต็มที่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายและความหมายในชีวิตที่ตั้งไว้มากกว่าจะนำทักษะและความสามารถของตนไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
5.การมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในการกระทำของตน (Intense involvement in activities) คือการที่เรารู้สึกมีผูกพันในกิจกรรมที่มีความหมายของเราที่ได้ใช้ทักษะและความสามารถที่เรามี เป็นความรู้สึกผูกพันที่มากกว่าการทำกิจกรรมอย่างอื่น เป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขและทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน รู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นมีความหมายและสามารถทำกิจกรรมนั้นได้ต่อเนื่องโดยไม่เหนื่อย
6.ความสุขของการได้ทำกิจกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตน (Enjoyment of activities as personally expressive) คือการที่เรายอมรับและอยู่กับตัวตนของตัวเองได้อย่างมีความสุข โดยสบายใจที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เป็นประสบการณ์ตรงของการมีความสุขที่เกิดจากภายใน โดยบุคคลที่มีสุขภาวะทางจิตดีจะแสดงความเป็นตัวเองอยู่เสมอ
.
การมีสุขภาวะทางจิตสำคัญอย่างไร?
.
แน่นอนว่าการมีสุขภาวะทางจิต ไม่ใช่การมีความสุขทั่วไปในชีวิต (ที่เป็นสิ่งที่ดี) แต่เป็นการมีความสุขที่เกิดขึ้นจากข้างในใจของเรา ที่ไม่นำความสุขของตัวเองไปผูกติดกับคนอื่น สภาพแวดล้อม หรือวัตถุต่างๆ และอาจจะทำให้เรามีความสุขที่ยั่งยืนมากกว่าความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายนอก
.
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความหมายในชีวิต (Zika & Chamberlin, 1992) หมายความว่า ถ้าเรามีสุขภาวะทางจิตก็มีแนวโน้มที่จะมีความหมายในชีวิตด้วย หรือสุขภาวะทางจิตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการฟื้นพลัง (Chow et al., 2018; Sagone & Caroli, 2014) หมายความว่า ถ้าเรามีสุขภาวะทางจิตก็มีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการฟื้นสภาพจิตใจจากการเผชิญกับประสบการณ์ร้ายๆ
.
สุขภาวะทางจิต เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในและเราทุกคนก็มีความสามารถที่จะมีสุขภาวะทางจิตได้ โดยอาจเริ่มจากการสำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดการค้นพบตัวตนของตัวเอง เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและต้องการ ก่อนที่จะก้าวไปสู่การมีสุขภาวะทางจิตและมีความสุขที่ยั่งยืนในชีวิตของเรา
.
.
.
อ้างอิง
Chow, K. M., Tang, W. K. F., Chan, W. H. C., Sit, W. H. J., Choi, K. C., & Sally, C. H. A. N. (2018). Resilience and well-being of university nursing students in Hong Kong: a cross- sectional study. BMC medical education, 18(1), 13.
Diener, E. (1984). Subjective well-being. Psychological bulletin, 95(3), 542.
Diener, E. (2009). The science of well-being: The collected works of Ed Diener. New York: Springer.
Diener, E., Lucas, R. E., & Scollon, C. N. (2009). Beyond the hedonic treadmill: Revising the adaptation theory of well-being. In The science of well-being (pp. 103-118). Springer, Dordrecht.
Ryff, C. D. (1989). Happiness is everything, or is it? Explorations on the meaning of psychological well-being. Journal of personality and social psychology, 57(6), 1069.
Ryff, C. D., & Keyes, C. L. M. (1995). The structure of psychological well-being revisited. Journal of personality and social psychology, 69(4), 719.
Sagone, E., & De Caroli, M. E. (2014). Relationships between psychological well-being and resilience in middle and late adolescents. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 141, 881-887.
Waterman, A. S. (2008). Reconsidering happiness: A eudaimonist's perspective. The Journal of Positive Psychology, 3(4), 234-252.
Waterman, A. S., Schwartz, S. J., Zamboanga, B. L., Ravert, R. D., Williams, M. K., Bede Agocha, V., ... & Brent Donnellan, M. (2010). The Questionnaire for Eudaimonic Well-Being: Psychometric properties, demographic comparisons, and evidence of validity. The Journal of Positive Psychology, 5(1), 41-61.
Zika, S., & Chamberlain, K. (1992). On the relation between meaning in life and psychological well‐being. British journal of psychology, 83(1), 133-145.
Comentários