top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

[เก้าอี้โรงหนัง] Zom 100: Bucket List of the Dead EP12: กำแพงในใจของฮิกุราชิ และความโง่ที่มากกว่าการทำเรื่องโง่ๆ


.



“ถ้าแค่นั้นคือความต้องการที่แท้จริงของฮิกุราชิล่ะก็ หมอนั่นมันก็โง่สุดๆ ไปเลย“

นี่เป็นประโยคที่เคนโจพูดขึ้นหลังได้ฟังคำพูดของฮิกุราชิผ่านการบอกเล่าของอากิระ (ถ้าในยูทูปช่อง Muse Thailand จะแปลคำศัพท์ “Baka” ว่า “บ้า” แต่ใน Netflix จะแปลว่า “โง่” ซึ่งผมคิดว่าได้อารมณ์มากกว่า)


เนื้อหานี้มาจากอนิเมะเรื่อง “Zom 100: Bucket List of the Dead" หรือ “ซอม 100: 100 สิ่งที่อยากทำก่อนจะกลายเป็นซอมบี้” ตอนที่ 10-12 ซึ่งน่าจะเป็นครึ่งหลังของซีซั่นที่เปิดตัวละครฮิกุราชิเอาไว้ในตอนท้ายของ ep9 (บทความนี้เลยจะมีสปอยนะครับ) .


เรื่องราวของ “ซอม 100” จะเล่าถึงตัวเอกชื่อ อากิระ ซึ่งเขาเป็นพนักงานบริษัทหน้าใหม่ไฟแรงแต่ดันต้องเข้าไปทำงานในบริษัทที่สภาพแวดล้อมเลวร้ายขั้นสุด ทำให้เขาค่อยๆ สูญเสียตัวตน มองไม่เห็นค่าในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่อยากไปทำงาน จนกระทั่งวันนึงมีเชื้อซอมบี้ระบาด เขาก็เลยดีใจมากไม่ต้องไปทำงานอีกแล้ว และเริ่มเขียนลิสซ์สิ่งที่เขาอยากทำก่อนจะต้องกลายเป็นซอมบี้ขึ้นมาเป็นข้อๆ เพื่อทำตามความฝัน จนได้พบกับเพื่อนที่จะร่วมทำตามลิสซ์นั้นไปด้วยกัน


ในเนื้อหาช่วงแรกๆ จะได้เห็นว่าอากิระมีความรักสนุกมากๆ และสิ่งต่างๆ ที่เขาเลือกจะทำก็ดูจะเป็นอะไรที่พื้นๆ จนถึงขั้นเรียกได้ว่า “ไร้สาระ”


แม้แต่ ชิซุกะ ตัวละครเอกหญิงยังไม่เข้าใจในช่วงแรก และแทบจะไม่อยากคบค้าสมาคมกับอากิระด้วยซ้ำ ก่อนที่ในเวลาต่อมาชิซุกะจะเปิดใจทำตามความต้องการของตัวเองที่เก็บซ่อนต่อไปไม่ไหวไปด้วยกันกับพวกอากิระ .


แต่ตัวละคร ฮิกุราชิ กลับกลายมาเป็นตัวละครที่น่าสนใจเนื่องจากเรียกได้ว่าเป็นด้านมืดของอากิระ เพราะเขาก็ลิสซ์สิ่งที่อยากทำก่อนจะกลายเป็นซอมบี้ขึ้นมาเหมือนกัน แต่สิ่งที่ฮิกุราชิลิสซ์ขึ้นมากลับเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำร้ายคนอื่นๆ


ในเนื้อหา ep12 ก็จะเป็นการเล่าอดีตของฮิกุราชิเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เราพอเข้าใจที่มาที่ไปของการที่ตัสละครนี้มีความแตกต่างจากอากิระ


ฮิกุราชิในตอนเด็กเขาก็เคยมีเพื่อนและรู้สึกสนุกไปกับการเล่นเหมือนเด็กทั่วไป แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยมัธยม เขาเริ่มมีนิสัยเก็บตัวมากขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากสิ่งที่เขาสนใจนั้นแตกต่างจากคนอื่นๆ


เพื่อนที่สังเกตเห็นท่าทีที่เก็บตัวของฮิกุราชิ ก็เริ่มทยอยห่างออกไป ตัวฮิกุราชิเองก็เริ่มไม่เข้าไปสุงสิงกับใครและเก็บตัวอยู่กับการหนังสือ ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะกลายเป็นคนที่เก็บตัวและอิจฉาผู้คนที่มีชีวิตดีกว่าเขา โดยเฉพาะอากิระที่เคยเรียนมหาลัยเดียวกัน แต่อากิระกลับเป็นคนที่ดูสนุกสนานอยู่ตลอดเวลาต่างจากเขาที่ดูอมทุกข์ .


เรื่องราวของฮิกุราชิก่อนที่จะมาถึงจุดจบของเขาต่อหน้าอากิระนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจในมุมมองทางจิตวิทยา

ถึงแม้เราจะไม่ได้รู้พื้นหลังคริบครัวของฮิกุราชิแบบอากิระที่มีพ่อแม่ยังคอยสนับสนุนอย่างดีมาตลอด แต่ก็เห็นได้ว่าความอิจฉาคนอื่นของฮิกุราชิอาจมีพื้นฐานมาจากการที่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ต้องกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และอาจมีมากขึ้นในช่วงมัธยมจนทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกยอมรับในตัวตนแท้จริงของเขา


ในช่วงที่ฮิกุราชิอยู่ม.ต้น ซึ่งเขาบอกว่าเขาเริ่มเก็บตัวและเพื่อนก็ค่อยๆ ห่างออกไป ก็พอจะบอกได้ว่าเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกยอมรับตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่าเป็นเพราะเพื่อนที่เป็นสภาพแวดล้อมของเขาหรือไม่ เพราะการที่เขาเก็บตัวและเดินห่างจากเพื่อนคนอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน ก็อาจบอกได้ว่าเขาเองก็เริ่มตั้งกำแพงขึ้นมาบ้างแล้วด้วย


ฮิกุราชิเลยอาจเป็นคนที่มีความกังวลอย่างมากกับเรื่องของการได้รับการยอมรับจากคนอื่น หรือเรียกได้ว่า เขาอาจกังวลอย่างมากว่าจะถูกตัดสินในเชิงลบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่พยายามต่อไปเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เพราะในช่วงมหาลัยเขาก็อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นมาจึงเข้าชมรมทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงคอร์สพัฒนาตัวเอง .


ยังไงก็ตาม


สิ่งที่ฮิกุราชิขาดหายไปคือการเข้าใจตัวเองของเขาที่ดีพอ

โดยเฉพาะความอิจฉาที่เขามีต่ออากิระว่า มันอาจเป็นเพียงเปลือกนอกของความรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ของเขา และการที่มันกลายมาเป็นความเกลียดชังได้ก็เพราะเขามองไม่เห็นกำแพงที่ตัวเองตั้งขึ้นมาในใจอย่างไม่รู้ตัว


ในตอนที่ฮิกุราชิได้เจอกับอากิระที่เดินมากับกลุ่มเพื่อนซึ่งคุยกันในเรื่อง ”ไร้สาระ“ อย่างการชวนกันไปกินข้าวเยอะๆ ซึ่งอากิระเป็นคนที่ไม่แคร์ว่าความคิดของเขาจะดูงี่เง่าหรือเป็นคนบ้าๆ ในสายตาของเพื่อนเลย


อากิระพยายามชวนฮิกุราชิไปกินข้าวด้วยกันเพราะเห็นว่าเรียนคลาสเดียวกัน แต่ฮิกุราชิกลับวิ่งหนีไปในตอนนั้น การวิ่งหนีของฮิกุราชิจึงบ่งบอกได้ว่ากำแพงที่เขาตั้งขึ้นมาในใจกำลังทำงานด้วยการมีมุมมองที่ว่า คำชวนของอากิระเป็นอันตราย เพราะมันคือท่าทีของการสานสัมพันธ์ ซึ่งฮิกุราชิยังคงมีความกังวลอย่างมากในการเข้าสังคมเพราะเขากลัวว่าจะไม่ถูกยอมรับในตัวตนที่เขาเป็น


และด้วยกำแพงนี้เองที่ฮิกุราชิไม่เคยมองเห็นมันในตัวเองเลยซักครั้ง จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงตัวเองของเขาในช่วงมหาลัยไม่ประสบความสำเร็จไปด้วย เพราะต่อให้เขาพยายามพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน แต่เขาก็อาจทำมันไปเพราะความกลัวว่าจะถูกกีดกันจากคนอื่น จนกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาทำจึงทำให้เขาออกห่างจากความเป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ .


ยังไงก็ตาม การตั้งกำแพงขึ้นมาของฮิกุราชิไม่ใช่เรื่องที่ผิดและไม่ใช่เรื่องที่เราจะต่อว่าฮิกุราชิได้เลยซะทีเดียว เพราะการที่เขาตั้งกำแพงขึ้นมาแบบนั้นก็เพื่อปกป้องตัวเขาเองจากสภาพแวดล้อมที่เขาไม่แน่ใจเลยว่าจะมีใครยอมรับตัวตนของเขาจริงๆ บ้างรึเปล่า


ฮิกุราชิอาจไม่เคยมีใครเลยที่แสดงให้เขาเห็นว่าเขาคือคนสำคัญและยอมรับเขาได้อย่างที่เขาเป็น ด้วยเหตุนี้เขาจึงตั้งกำแพงขึ้นมาและใช้ชีวิตไปกับการมีกำแพงนั้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว จนกำแพงนั้นค่อยๆ หนาขึ้นจากสิ่งที่เขาทำเพื่อพัฒนาตัวเองไปตามความคาดหวังของคนอื่นเพียงเพราะความกลัวจะไม่ถูกยอมรับ

เมื่อฮิกุราชิรู้สึกตัวได้อีกที เขาก็เต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวงที่เขามองไม่เห็นว่าเขาระแวงในสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือ การมีเพื่อนที่ยอมรับในตัวเขา คำชวนของอากิระจึงกลายเป็นสัญญาณของอันตรายขึ้นมาเพราะความหวาดระแวงที่ฮิกุราชิมีอยู่ ท้ายที่สุด เขาจึงค่อยๆ เกิดความรู้สึกอิยฉาอากิระเพราะเขามองเห็นเพียงผลลัพธ์ที่ตกต่ำในชีวิตของตัวเอง แต่กลับมองไม่เห็นว่าตัวเขาเองมาถึงจุดนี้ได้ยังไง


เมื่อเทียบกับอากิระแล้ว อากิระเองอาจโชคดีกว่าฮิกุราชิอยู่บ้างที่มีคนยอมรับในตัวเขาเสมอ แต่อากิระก็มีช่วงเวลาแบบเดียวกันกับฮิกุราชิ นั่นคือตอนที่เขาต้องเข้าไปทำงานบริษัทที่ toxic อย่างมากในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ซอมบี้ระบาด อากิระจึงมีความเข้าอกเข้าใจฮิกุราชิจนโกรธเกลียดในสิ่งที่ฮิกุราชิทำกับเขาไม่ลงอีกด้วย เพราะอากิระที่เคยตกอยู่ในสถาการณ์แบบเดียวกันแม้เพียงแปปเดียวเท่านั้น ก็รู้ดีว่าความรู้สึกที่เขาค่อยๆ สูญเสียตัวตนไปเรื่อยๆ จากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ยอมรับในตัวตนของเขานั้นเป็นยังไง

สำหรับฮิกุราชิที่อาจต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นมาเกือบทั้งชีวิตของเขา และเขาเองก็ไม่เคยหันกลับมามองเพื่อทำความเข้าใจกำแพงของตัวเองเลยซักครั้ง


เขาจึงขาดกระจกสะท้อนให้เขาสามารถยอมรับตัวเองได้ว่าเขาเองก็อาจมีความต้องการที่ “งี่เง่า” และ ”ไร้สาระ“ อยู่เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยและมีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะยอมรับเขา

สุดท้าย เขาเองก็ไม่สามารถที่จะเป็นกระจกสะท้อนให้ตัวเองด้วยเช่นกัน ด้วยการย้อนกลับมามองประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านมาจนถึงจุดนี้


สิ่งที่อากิระและเคนโจพูดเหมือนกันเกี่ยวกับฮิกุราชิเลยเป็นคำว่า “โง่” แต่มันไม่ได้หมายถึงการไม่ยอมรับในตัวตนแท้จริงของฮิกุราชิที่อยากทำเรื่องโง่ๆ อย่างการเล่นกับเพื่อนๆ ในสระสาธารณะ


แต่ “มันคือความโง่ของการที่ฮิกุราชิไม่ยอมสื่อสารออกมาตรงๆ ถึงสิ่งที่เขาต้องการแม้ว่ามันจะเป็นแค่เรื่องโง่ๆ ก็ตาม แต่เขากลับเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นคาดหวังเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจนต้องมาติดอยู่กับความโกรธแค้น เกลียดชัง และอิจฉาคนอื่น ในตอนที่เขาทำตามความคาดหวังเหล่านั้นไม่ได้“ .


ฮิกุราชิจึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่มีบาดแผลทางใจจากการถูกยอมรับและสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง จนท้ายที่สุดแล้วกำแพงของเขาก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาถอยห่างจากความเป็นตัวเองมากขึ้น สูญเสียตัวตนมากขึ้น และค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายคนอื่นมากขึ้นโดยที่เขาก็อาจไม่ได้สนุกเลยกับการทำแบบนั้น


ผมคิดว่าเรื่องราวของฮิกุราชิอาจเป็นบทเรียนให้กับหลายๆ คนที่ได้ดู และได้ย้อนกลับมามองตัวเองว้าเรากำลังกังวลกับตัวเองในสายตาคนอื่นจนตั้งกำแพงขึ้นมามากเกินไปรึเปล่า


และหากเรากำลังเป็นแบบนั้นอยู่ ก็อาจจะต้องลองลดกำแพงของตัวเองลงดูบ้างเพื่อเปิดใจให้กับคนที่จะเข้ามาหรือคนที่สำคัญกับเรา เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสสัมผัสและแสดงออกว่าพวกเขาโอเคกับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ .


เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 32 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page