top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

[เก้าอี้โรงหนัง] It's kind of a funny story (2010)

'Breath. ... Live.'

'หายใจ ... ใช้ชีวิต'


นี่ถือเป็นการสรุปสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากหนังเรื่องนี้

สำหรับ 'It's kind of a funny story' หรือชื่อภาษาไทย 'ขอบ้าสักพัก หารักให้เจอ' เป็นหนังที่ผมรู้สึกชอบมากในมู้ดโทนและเนื้อหาของมัน จริงๆ ผมเคยดูเรื่องนี้มาก่อนเมื่อนานมาแล้ว แต่จู่ๆ ก็คิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งเลยกลับมาดูอีกรอบแบบใส่ใจรายละเอียดกับมันมากขึ้น .

ทุกวันนี้ผมสังเกตว่าสื่อจำนวนมากนำเสนอเรื่องอาการซึมเศร้า โรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชต่างๆ ในมุมที่ดูน่ากลัวหรือน่าวิตกอย่างมาก อาจเพราะเราต่างกำลังพูดถึงมันเฉพาะกรณีที่อาการอยู่ในระดับรุนแรงจนหลายครั้งทำให้คนจำนวนมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งไกลตัวมากขึ้น

แต่หนังเรื่องนี้อาจเปิดมุมมองที่ต่างออกไปสำหรับหลายๆ คนในประเด็นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะหลายครั้งที่ตัวละครในเรื่องจะเลือกใช้คำพูดในแบบเดียวกันว่า

'ฉัน/เขา/เธอ กำลังผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก'

มู้ดโทนและเนื้อหาของหนังเรื่องนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึง 'ความปกติในความไม่ปกติ' ดังที่เราจะได้เห็นทุกตัวละครในเรื่องมานั่งบอกกันและกันว่าใครที่ชีวิตเละเทะมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่สอดแทรกอยู่ภายใต้อาการซึมเศร้าของเคร็ก (ตัวเอก) ยังทำให้เราตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตที่ดูเหมือนไร้ชีวิตตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาของเราได้อีกด้วย .

หนังเรื่องนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่ชื่อ 'เคร็ก' หรือ 'เคร็กคนเท่' (Cool Craig, ชื่อที่คนในโรงพยาบาลเรียกเขา)

ในคืนหนึ่งที่เขากำลังเครียดเรื่องการส่งใบสมัครค่ายเรียนเสริมฤดูร้อนก็เกิดความคิดจินตนาการว่าอยากฆ่าตัวตายด้วยการโดดสะพานขึ้นมา และในคืนเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้ตัดสินใจเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง และทำให้เขาได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองตลอดช่วงสัปดาห์ที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนั้น .

เคร็กเป็นเหมือนกับคนที่มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลทั่วไป เขาแสดงให้เห็นถึงอาการคิดมากแบบเกินเหตุโดยเฉพาะในเรื่องอนาคตของตัวเอง (เมื่อถูกถามว่าถ้าไม่ได้เข้ามหาลัยตามที่พ่อคาดหวังจะเป็นยังไง เขาก็คิดไปไกลถึงชีวิตที่ล้มเหลวและจมอยู่กับโรคซึมเศร้า แต่กลับไม่เห็นว่าตอนนี้เขาก็มาอยู่ในรพ.จิตเวชแล้ว) ทั้งนี้ ส่วนสำคัญยิ่งกว่านั้นคือเรากลับจะได้เห็นว่าความวิตกกังวลของเขานั้นไม่ได้เหนือจินตนาการไปเลย

ตั้งแต่ในฉากแรกๆ เคร็กอยากที่จะตอบคำถามว่าทำไมตัวเองถึงมีอาการซึมเศร้าได้แบบง่ายๆ เหมือนคนอื่น เช่นว่ามันเกิดจากการถูกพ่อแม่ทารุณกรรมหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศอะไรแบบนั้น

แต่สำหรับเคร็ก เขาเป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่มีความเครียดเรื่องการเรียนและอนาคต มีความอึดอัดใจเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน อกหักจากสาวที่ชอบ และจะอาเจียนออกมาเมื่อตัวเองรู้สึกเครียดมากๆ

ยังไงก็ตาม หากเราไม่มองข้ามมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เคร็กคิดฆ่าตัวตายได้แล้ว นั่นเพราะสถานการณ์เหล่านี้มันช่างประจวบเหมาะกับชีวิตที่ผ่านมาของเขามาโดยตลอด นั่นคือการทำให้เขาพบว่าตัวเองต้องโดดเดี่ยวแค่ไหนในการรับมือกับเรื่องเครียดเหล่านี้ .

ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าปัญหาของเคร็กก็เป็นแค่ปัญหาเล็กๆ ทั่วไปของวัยรุ่น ซึ่งเคร็กเองก็คิดแบบนั้น เขาจึงไม่กล้าบอกตามตรงกับคนอื่นว่าเขากำลังเจอกับอะไรอยู่หรืออะไรที่ทำให้เขารู้สึกซึมเศร้า

เคร็กอาจไม่ได้ประสบกับการถูกทารุนกรรมในวัยเด็กหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่เขาก็เหมือนกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบซึมเศร้าหลายๆ คน เขาสูญเสีย (loss) พ่อของตัวเองไปกับการทำงาน และเป็นคนที่ถูกทำให้ดูด้อยกว่าคนอื่นๆ ในบ้านโดยเฉพาะเมื่อถูกเทียบกับน้องสาวผู้เป็นอัจฉริยะ

ในทางจิตวิทยาเราสามารถมองได้ว่าเคร็กเป็นเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นเดียวกับคนที่มีบาดแผลทางใจในรูปแบบของการถูกละเลย เขาไม่สามารถตามทันโลกที่ยกย่องความสำเร็จด้านชื่อเสียง เงินทอง และการได้แอ้มสาวเช่นเดียวกับที่คนรอบตัวของเขาให้คุณค่าได้

พ่อของเคร็กมีความคาดหวังให้เขาได้เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ และมักขลุกตัวอยู่กับงาน ขณะเดียวกัน โรงเรียนที่เขาเรียนอยู่ก็เป็นโรงเรียนที่เต็มไปด้วยหัวกะทิที่จะมีครูกรอกหูให้เขาต้องประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ต้องอยู่แบบคนเร่ร่อน

นี่จึงไม่แปลกเลยที่เคร็กจะซึมซับค่านิยมเหล่านี้เข้ามาในตัวเองจนคิดมากเกินเหตุ เพราะทุกคนต่างกรอกหูถึงภาพฝันร้ายของชีวิตที่ล้มเหลวให้กับเขา แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกสูญเสียพ่อของตัวเองไปกับค่านิยมเหล่านี้ นั่นทำให้เขาต้องอยู่กับความขัดแย้งในใจจนเกิดเป็นอาการซึมเศร้า .

การที่เคร็กได้พบกับบ็อบบี้ เป็นเหมือนการที่เขาได้รับการเยียวยาความสัมพันธ์ที่เขาไม่เคยมีกับพ่อ เขาได้ให้บ็อบบี้ยืมเสื้อของพ่อไปใส่ และช่วงหนึ่งที่เขาสะอึกตอนเห็นบ็อบบี้ใส่เสื้อซ้อมสัมภาษณ์อาจคาดเดาได้ว่าบ๊อบบี้ทำให้เคร็กนึกถึงพ่อตัวเองขึ้นมา (ขณะเดียวกันบ๊อบบี้เองก็อยู่ในสถานะของการเป็นพ่อที่ไม่ได้อยู่กับลูกสาว จึงทำให้ทั้งคู่ต่างช่วยเยียวยาความสัมพันธ์ที่ขาดไปของกันและกัน)

นอกจากนี้ เคร็กยังได้บ๊อบบี้เป็นต้นแบบและคอยสนับสนุนการใช้ชีวิตในด้านๆ อื่นๆ อีกด้วย เช่น การรู้จักวิธีจีบสาว การรู้จักยืดหยุ่นกับตัวเอง ความกล้าแสดงออก การยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมั่นใจในความสามารถของตน และปรัชญาชีวิตที่เขาสามารถเอาไปพูดให้กำลังใจคนอื่นได้อีกด้วย

สิ่งสำคัญที่เคร็กได้เรียนรู้จากการอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชไม่ใช่แค่การเจอกับบ๊อบบี้ที่เป็นเหมือนตัวแทนของพ่อที่ขาดไปเท่านั้น แต่เขายังได้พบหนทางการใช้ชีวิตที่เข้าได้กับตัวเองนั่นคือ การได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ซึ่งมักเป็นสิ่งคนที่มีบุคลิกภาพแบบซึมเศร้าหลายๆ คนทำ (healthy depressive person)

ยิ่งไปกว่านั้น เคร็กยังได้พบว่าโลกใบนี้มีคนที่คอยต้อนรับเขาและยอมรับในตัวเขาจากการมีประสบการณ์ร่วมกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยหลายคนชื่นชอบในความสามารถทางศิลปะและการร้องเพลงที่เขาถนัดและมีความสุขสนุกที่ได้ทำมัน เคร็กจึงได้ค้นพบว่าตัวเองต้องการอะไร และพบว่าที่ผ่านมาเขาเอาแต่ใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวและการหลบอยู่ใต้คำพูดของคนอื่นมาตลอด .

ในท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องราวของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ป่วยทางจิตแล้วเข้าไปนอนโรงพยาบาลจิตเวชสองสามวันจนหายดี เช่นเดียวกับที่เคร็กบอกในตอนท้ายว่า เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองหายป่วยเลยด้วยซ้ำ เขาแค่กล้าที่จะเสี่ยงออกไปใช้ชีวิตข้างนอกนั่นอีกครั้งหลังจากที่รู้ว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นใครและต้องการอะไร

และหลายครั้งเราก็อาจพบได้ว่า ปลายทางของการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาก็อาจจะออกมาในหนทางแบบเดียว


'...เหนือกว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและภาวะทางจิต นักจิตบำบัดยังพยายามช่วยให้พวกเขายอมรับข้อจำกัดของตัวเองและเพิ่มความยืดหยุ่นในองค์รวม...' (McWilliam, 2011)
.

เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล #นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 44 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page