. สวัสดัวันหยุด สุขสันต์วันคริสต์มาสครับทุกคน และสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ครับทุกคน
ในช่วงเทศกาลเช่นนี้ หลายๆ คนอาจเตรียมพร้อมสำหรับการพักผ่อน เฉลิมฉลองกับคนใกล้ตัว รวมถึงการให้และรอรับของขวัญด้วย
ในวันนี้ ผมเลยอยากจะมาพูดถึงประโยชน์ของการให้ของขวัญในทางจิตวิทยาซักหน่อย ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สรุปมาจากบทความในชื่อเดียวกันว่า “What happens in your brain when you give a gift?” .
มีบางคนบอกไว้ว่า “การให้ดีกว่าการรับ” ซึ่งบางคนอาจจะไม่คิดแบบนั้นเพราะคงนึกภาพออกได้ยากว่า “การให้” นั้นให้อะไรกับเราบ้าง เมื่อเทียบกับ “การรับ” แล้ว มันมีสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเราได้รับบางสิ่งมาให้ครอบครอง หรือแม้กระทั่งจะเกิดความรู้สึกดีหรือพึงพอใจที่ได้รับด้วย
ยังไงก็ตาม ในมุมมองทางจิตวิทยาและการศึกษาการทำงานของสมองกลับไม่ได้มองเห็นแค่นั้น เช่นเดียวกับคนที่พูดประโยคดังกล่าวขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น Emilliana Simon-Thomas ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ของสถาบัน Great Good Science Center ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กลีย์ บอกไว้ว่า การให้ของขวัญ โดยเฉพาะกับคนที่ใกล้ชิดมากๆ จะช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้รางวัล หรือ reward pathway ซึ่งช่วยลดความเครียดของเราลงได้
ขณะเดียวกัน ในงานวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ ก็พบด้วยว่า หากเราลองแจกเงินให้คนจำนวน 50 คน คนละ 100 เหรียญ โดยบอกให้คนจำนวนครึ่งหนึ่งใช้เงินเพื่อตัวเอง และให้คนอีกจำนวนครึ่งหนึ่งใช้เงินเพื่อคนอื่น เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงทำการแสกนสมองของพวกเขาทุกคน พบว่า คนที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นจะมีการประสานกันของสมองส่วนการตัดสินใจอย่างเอื้อเฟื้อกับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสุขและการได้รับรางวัลมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น จากปากของคนที่ใช้เงินเพื่อคนอื่นก็ยังรายงานว่าตัวเองจะมีระดับของความสุขมากกว่าคนที่ใช้เงินเพื่อตัวเองด้วย ซึ่งในอีกหลายงานวิจัยอื่นๆ ก็ด้วยพบว่า การใช้เงินเพื่อคน เช่น การบริจาค หรือ การซื้อของขวัญให้คนที่รัก มักทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้นเพราะเวลาที่เราทำบางสิ่งคล้ายการเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น สมองของเราจะสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างสมองส่วนการประมวลผลข้อมูลทางสังคมและส่วนของความรู้สึกพึงพอใจ .
Simon-Thomas บอกว่าในบางครั้งผู้คนก็อาจเรียกความรู้สึกดีหรือยินดีที่ได้ให้กับคนอื่นๆ นี้ว่า “Warm Glow” ซึ่งจะเป็นความรู้สึกดีๆ อุ่นๆ ในใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แต่ Simon-Thomas บอกว่า จริงๆ แล้วมันยังมีความพิเศษอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้วยในเวลาที่เราให้ของขวัญแล้วรู้สึกดี นั่นเพราะเวลาที่เราให้ของขวัญคนอื่น มันก็เป็นการกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัล (reward pathway) ของเราเช่นเดียวกับเวลาที่เราได้รับของขวัญหรือถูกรางวัลด้วย ซึ่งสมองของเราก็จะหลั่งสารสื่อประสาทออกซิโทซิน (oxytocin) ออกมา โดยมันเป็นสารสื่อประสาทที่ได้ชื่อว่า “ฮอร์โมนแห่งความสุข/ความผูกพัน” เพราะมันจะส่งสัญญาณของความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย และเชื่อมโยงเชื่อมต่อให้กับเรา
เมื่อ Simon-Thomas บอกว่าออกซิโทซินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมการนี้ ความสุขจากการให้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แทบจะตลอดกระบวนการของการให้ของขวัญ ตั้งแต่การเลือกซื้อของขวัญ การห่อของขวัญ และการคาดหวังว่าจะได้อยู่กับคนที่รักเพื่อเปิดของขวัญไปพร้อมกัน .
ยังไงก็ตาม ถึงแม้ในทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าการให้กับการได้รับของขวัญจะมีการทำงานของสมองที่คล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้ของขวัญอาจสร้างความรู้สึกด้านลบในบางครั้งได้ด้วย
Scott Rick ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัย the University of Michigan’s Ross School of Business บอกว่า ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งการให้ของขวัญจะนำมาสู่ความรู้สึกตื่นเต้นและมีความหวังได้เช่นเดียวกับการได้รับ แต่การให้ของขวัญกลับสามารณนำพาอารมณ์อื่นๆ เกิดขึ้นมาด้วย เช่น ความเครียดและความวิตกกังวล นั่นก็เพราะในบางครั้งเราอาจพบความกังวลในรูปของคำถามที่ว่า “เราควรจะต้องให้มากน้อยแค่ไหน?” และ “คนอื่นจะชอบของขวัญนี้หรือไม่?”
เช่นเดียวกัน Simon-Thomas ก็ได้บอกด้วยว่า “ถ้าหากคุณรู้สึกเครียดมากๆ จนอึดอัดขนาดว่าไม่สามารถคาดหวังหรือซึมซับประสบการณ์ของการให้ได้ สารโดปามีน (ฮอร์โมนแห่งความสุขเมื่อได้รางวัล) และ ออกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความสุขความผูกพัน) ก็จะไม่ถูกหลั่งออกมาในสมองของคุณ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าคุณจะรู้สึกเครียดอยู่แบบนั้นตลอดเวลา”
ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญสำหรับการให้แล้วรู้สึกว่าตนเองได้รับไปด้วย หรือ การที่จะสามารถรู้สึกกับการให้นี้ได้ จึงขึ้นอยู่กับ “การเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อการให้” ของเรา
Simon-Thomas จึงบอกว่า หากเป็นในกรณีของจำนวนเงินที่ไม่สามารถให้ได้ ก็ให้ตั้งความคาดหวังของตัวเองที่มีต่อครอบครัวและเพื่อนไว้ล่วงหน้าซะเลยว่า คุณอาจไม่มีกำลังและทรัพยากรมากพอที่จะให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ในปีนี้ และอาจลองพิจารณาดูใหม่เกี่ยวกับการให้ของขวัญที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรือตัวเงิน เช่น การช่วยดูแลเด็ก หรือ การช่วยดูแลงานโปรเจคต่างๆ หรือรวมถึงการวางแผนทำบางสิ่งด้วยกันก็ได้
สุดท้าย การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการให้ของขวัญที่ดีอาจเป็นสิ่งที่ Rick กล่าวทิ้งท้ายว่า “ของขวัญที่ดีจะประกอบไปด้วยการเสียสละบางสิ่ง อาจเป็นเงิน เวลา หรือทั้งสองอย่าง มันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคุณเข้าใจและรู้จักคนเหล่านั้น และสามารถทำให้พวกเขาประหลาดใจได้ด้วย” .
เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล .
Reference Novotney, A. (2022, December 9). What happens in your brain when you give a gift?:Gift-giving activates regions of the brain associated with pleasure, social connection, and trust, creating a “warm glow” effect. American Psychological Association. https://www.apa.org/.../mental-health/brain-gift-giving...
Comments