top of page
ค้นหา

เกลียดชัง-เข้าใจ-ให้อภัย-เริ่มต้นใหม่

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

(เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2562)

สวัสดีวันสิ้นปีครับทุกคน วันนี้หลายคนคงได้พักผ่อนอย่างสบายใจกับคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก เพื่อน หรือแม้แต่การได้อยู่กับตัวเองในวันสบายๆ แบบนี้ สำหรับผมเองในวันนี้ก็อยากจะเขียนบทความเล็กน้อยที่น่าจะเป็นประโยชน์และเข้ากันกับช่วงสิ้นปีที่เราอยากจะทิ้งเรื่องร้ายๆ ไว้เบื้องหลัง และพร้อมเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีถัดไปที่ใกล้เข้ามานี้ สำหรับเนื้อหาหลักๆ สำหรับวันนี้คือเรื่องของ “การให้อภัย” (forgiveness)

.

การให้อภัยถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก และไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเอื้อมถึงได้อย่างง่ายดาย หรือบางทีนั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจถึงกระบวนการที่แท้จริงของการให้อภัยก็เป็นได้

.

ในที่นี้ผมจะขอเขียนถึงในมุมมองของนักจิตวิเคราะห์เป็นหลัก ซึ่งตามปกติแล้วนี่ดูจะไม่ใช่ประเด็นที่เข้ากันกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเกี่ยวกับจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์เลยด้วยซ้ำ เพราะตามปกติแล้วการทำจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์เป็นเหมือนการสำรวจเรื่องราวในแง่ลบหรือประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ ในวัยเด็กที่มีกับคนที่เลี้ยงดูซะมากกว่า จนถึงขนาดที่ว่ามีคำบอกกล่าวกันว่าการทำจิตบำบัดลักษณะนี้เหมือนการใช้เวลาเป็นปีหรือเกือบปีเพื่อให้รู้ว่าตัวเองเกลียดพ่อและแม่ตัวเองมากขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้น ถึงขนาดมีการนำเสนอทฤษฎีที่ว่า ก่อนที่คนเราจะเกลียดแม่ตัวเองแล้ว แม่กลับรู้สึกเกลียดลูกตัวเองก่อนหน้านั้นซะอีก

.

ยังไงก็ตาม สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจนั้นก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่บ้าง Nancy McWilliam ที่ได้เขียนถึงประเด็นการให้อภัยในหนังสือของตัวเองอย่าง “Psychoanalytic psychotherapy: A practitioner’s guide” ก็ได้บอกไว้เช่นกันว่าการทำจิตบำบัดเป็นเหมือนการเผชิญหน้าหรือค้นพบความเกลียดชังของตัวเองที่มีต่อคนรอบข้าง และเหตุนี้เองจึงมักทำให้พ่อแม่ของเด็กกังวลมากที่จะเห็นลูกของตัวเองมีความรู้สึกเกลียดชังตนเมื่อเข้ารับการทำจิตบำบัด แต่นั่นเป็นเพียงช่วงแรกของการทำจิตบำบัดเท่านั้น เพราะในปลายทางสุดท้ายของความเกลียดชังที่ได้รับการค้นพบแล้วคือการนำไปสู่การให้อภัยในท้ายที่สุด

.

Nancy McWilliam ได้แสดงให้เราเห็นในหนังสือของเธอว่ากระบวนการของการให้อภัยนั้นควรเริ่มต้นจากการยอมรับความเกลียดชังของตนเองดังคำกล่าวที่ว่า “การกระทำผิดทางศีลธรรมใดๆ ต้องถูกยอมรับ ก่อนหน้าที่พวกมันจะสามารถได้รับการให้อภัยได้” และยิ่งไปกว่านั้น ส่วนสำคัญต่อมาที่เธอกล่าวถึงพร้อมกับแสดงให้เห็นตัวอย่างมากมายในหนังสือของตัวเองคือเรื่องของการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องหลังจากนั้น

.

ความเข้าใจที่ถูกต้องคือการเข้าใจถึง “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่ Nancy พูดถึงเช่นเดียวกับนักจิตวิเคราะห์คนอื่นๆ ก็คือ ความเข้าใจถึงความไม่สมบูรณ์แบบของคนเรา

.

การมองเห็นถึงความเกลียดชังหรือด้านมืดที่ชั่วร้ายภายในตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ยากจะยอมรับ แต่แท้จริงแล้วนั่นอาจเป็นความธรรมดาของความเป็นมนุษย์ที่จะมีด้านเหล่านี้อยู่ เรามีทั้งความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความหลงทะนงตัวเองอย่างมากที่สุด แต่นั่นเป็นความปกติเช่นเดียวกับที่ว่าเด็กจะมีความโกรธเกลียดต่อพ่อแม่เช่นเดียวกับที่พ่อแม่เกลียดลูกของตน หรือแม้แต่ในหมู่พี่น้องที่จะต้องมีการแก่งแย่งแข่งขันกันตลอดเวลา นี่คงเป็นส่วนสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่ทำให้เราเห็นว่าแม้ในสังคมเล็กๆและใกล้ชิดอย่างครอบครัว พลังงานด้านลบเหล่านี้วนเวียนได้อย่างเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญจึงเป็นการอดทนอดกลั้นที่จะไม่ปล่อยให้ความเกลียดชังของตัวเองแสดงออกมาในลักษณะที่ทำร้ายคนอื่น แต่ควรได้รับการจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น แม่ที่สามารถลดรูปความเกลียดชังของตัวเองไปอยู่ในรูปสัญลักษณ์ของบทเพลงกล่อมนอนเด็กเพื่อให้ตัวเองได้มีเวลาพักผ่อนเสมือนว่าลูกของตัวเองหายไปจากโลกใบนี้ขณะที่เด็กนอนหลับ เป็นต้น

.

นอกจากการที่จะเกิดความเข้าใจในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเข้าใจถึงความไม่สมบูรณ์แบบของคนอื่นๆ หรือคนที่เราเกลียดชังด้วยเช่นกัน โดย Nancy ก็ได้บอกเราว่า การจะรู้สึกได้ถึงการให้อภัยนั้นคือการเข้าใจว่าคนที่ทำผิดพลาดกับเรา (โดยเฉพาะพ่อและแม่) ครั้งหนึ่งก็เคยถูกคนที่ทำผิดพลาดต่อพวกเขาทำร้ายมาก่อน จากนั้นเราจึงทำได้เพียงการมองเห็นถึงผลลัพธ์ทางความรู้สึกที่ตามมาจากความผิดพลาดเหล่านั้นและโศรกเศร้ากับมัน ก่อนที่จะยอมรับและเริ่มต้นใหม่ด้วยทางเลือกที่ตัดสินใจด้วยตัวเอง

.

ยังไงก็ตาม การให้อภัยสำหรับแต่ละคนอาจไม่ได้เหมือนกันนักเพราะเรื่องราวที่เคยประสบพบเจอหรือกำลังประสบอยู่ของแต่ละคนนั้นมีความต่างกัน แต่การให้อภัยเปรียบเสมือนการปล่อยอดีตที่เลวร้ายไว้ข้างหลังเพื่อเริ่มต้นใหม่พร้อมความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นผมเองคิดว่าปลายทางของการอภัยให้กันอาจไม่ได้จำเป็นต้องออกมาอย่างสวยหรูเหมือนในนิยายที่ทุกคนกลับมาอยู่พร้อมหน้า แต่อาจอยู่ในลักษณะที่ห่างหายจากกันไปในท้ายที่สุดอย่างไม่ติดใจต่อกันอีก เพราะมนุษย์เราอาจไม่ได้เพียงแค่มีชีวิตเพื่อมุ่งเข้าหาความสุขเป็นหลัก แต่หมายถึงการตัดตัวเองออกจากสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

.

สำหรับวันสิ้นปีนี้ ผมคิดว่าคงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สำรวจเรื่องราวที่ผ่านมาของตัวเอง และดูเหมือนจะเป็นโอกาสที่หลายๆ คนใช้อ้างกับตัวเองได้ว่าปีหน้าเราจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร ผมจึงนำเสนอประเด็นนี้เพื่อให้ทุกๆคนได้เก็บไว้คิดกับตัวเอง และก้าวสู่ปีใหม่หรือเป็นคนใหม่จากอดีตที่ผ่านมาได้อย่างมีสุขภาพใจที่ดีพร้อมกับสุขภาพกายที่ดีครับ

.

.

Reference

McWilliams, N. (2004). Psychoanalytic psychotherapy: A practitioner's guide. New York, NY: Guilford Press.

Winnicott, D. W. (1949). Hate in the counter-transference. International journal of psycho-analysis, 30, 69-74.


ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page