คุณเคยเห็นคนที่พอได้ยินหมอดูทักแล้วทำตามในสิ่งที่ขัดกับตัวตนเดิมของพวกเขามั้ย? มันไม่ได้กำลังบอกว่าคนคนนั้นมีความไม่มั่นคงในความเชื่อเดิมของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพราะจริงๆ แล้วความเชื่อของเราทำงานแบบนั้น และมันก็ส่งผลต่อพฤติกรรมกับความรู้สึกของเรามากกว่าที่คิด
.
เช่นเดียวกัน ต่อให้ใครบางคนบอกคุณว่าอย่าไปเชื่อหมอดูทักหรือบอกให้คุณมั่นคงกับความเชื่อของตัวเอง คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการที่คุณเชื่อมั่นในตัวเองไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดจากอิทธิพลของคำกรอกหูเหล่านั้น?
.
ตั้งแต่ 2-3 เดือนก่อน ผมเปลี่ยนฝั่งหัวเตียงนอนไปทางทิศตะวันตก ซึ่งขัดกับความเชื่อเดิมของผมที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า 'ทิศตะวันตกเป็นทิศของคนตาย' แต่จนถึงตอนนี้ชีวิตของผมกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย
(ผมมีแค่การนอนไม่ค่อยหลับในคืนแรกเพราะรู้สึกกลัว แต่หลังจากนั้นผมก็ลืมไปแล้วว่าตัวเองนอนหันหัวไปทางทิศไหน)
.
ยังไงก็ตาม การตัดสินใจเปลี่ยนทิศหัวเตียงนอนของผมมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันไม่ใช่แบบว่าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนเลย แต่ผมต้องค้น google ดูก่อนว่าความเชื่อที่ว่าไม่ควรหันหัวเตียงไปทางทิศตะวันตกมันมีรายละเอียดอย่างไร จนกระทั่งพบว่ามันมีที่มาจากเรื่องการทำพิธีเกี่ยวกับคนตายของศาสนาพราหมณ์ แต่ในความเชื่อของฮวงจุ้ยกลับไม่ได้เชื่อแบบนั้น เพราะทุกทิศมีดีทั้งหมด และยังรวมไปถึงการที่ต้องสังเกตตำแหน่งประตูและหน้าต่างอีกด้วย (ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสอดคล้องกับทัศนียภาพของการตกแต่งภายในมากกว่าเพียงแค่เรื่องหลักฮวงจุ้ย)
.
ความเชื่อที่ต่างกันทำเอารู้สึกสับสนจริงๆ แต่ผมอยากจะจัดห้องนอนใหม่ก็เลย 'เลือกเชื่อ' ในสิ่งที่ทำให้รู้สึกสบายใจมากกว่ามันซะเลย
.
การเปลี่ยนทิศหัวเตียงนอนของผมเทียบได้กับการออกจาก comfort zone ในกรณีอื่นๆ มันไม่ใช่แบบว่าเราอยากจะออกก็ออกได้เลย แต่มันต้องมีเหตุผลมากพอให้เราเดินออกไป และหลายครั้งมันก็เป็นความเชื่อใหม่ๆ ที่ขัดกับความเชื่อเดิม อีกทั้งเรายังต้องเห็นก่อนว่าความเชื่อเดิมมันเป็นกรงขังหรือทำให้เราเกิดความทุกข์ได้อย่างไร
.
ลองนึกถึงการทำจิตบำบัดแบบ CBT ที่รุ่นพี่ของผมเล่าให้ฟัง เขาเคยเล่าว่าผู้รับบริการรายหนึ่งรู้สึกผิดกับการที่ตัวเองมีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น (มีความคิดว่า 'ฉันไม่ควรโกรธ เพราะ...') จริงอยู่ที่ว่าที่มาของความคิดความเชื่อเหล่านี้มีความลึกมากกว่านั้นซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวกับการถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความที่รุ่นพี่ของผมและผู้รับบริการนับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน การใช้คำถามที่ว่า 'คิดว่าพระเจ้าโกรธได้มั้ย?' เพียงครั้งเดียวก็สามารถแก้ไขปมรู้สึกผิดนี้ได้ทันที
.
คงบอกไม่ได้ว่ารายละเอียดของการบำบัด/ปรึกษาเหล่านี้มีอะไรที่มากกว่านั้น แต่หลายๆ ครั้งมันก็มักลงเอยแบบนี้
ความเชื่อเดิม > รู้สึกปลอดภัยแต่ก็รู้สึกทุกข์ เพราะชีวิตไปต่อไม่ได้ > เจอความเชื่อใหม่ (ความเห็นของคนอื่น) > สับสนงงงวยกับความเชื่อเดิม > จะเชื่อแบบเดิมหรือไปจับเอาความเชื่อใหม่? (เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ)
.
ที่จริงแล้วผมรู้สึกว่าคงไม่มีใครที่จะหลุดพ้นจากเรื่องพวกนี้ได้จริงๆ หรอก เพราะต่อให้เราไปจับเอาความเชื่อใหม่ก็ใช่ว่านั่นมันจะเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือมากกว่า (เหมือนตัวอย่างของรุ่นพี่ผมที่คงต้องถามต่อว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าพระเจ้าโกรธจริงรึเปล่า?) แต่นั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอให้เราเห็นว่า การถูกทิ้งให้เคว้งไปเลยแบบไม่มีอะไรยึดไม่ใช่สิ่งที่จะให้เกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงได้ดีเท่ากับการมีสิ่งใหม่ให้ยึดแทนไปเรื่อยๆ
.
ที่สำคัญ ประสบการณ์น่าจะเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สอนเราว่าความเชื่อพวกนี้เป็นสิ่งที่เลือกได้ หากเราไม่รีบปิดกั้นตัวเองไปจากการค้นหาเหตุผลใหม่ๆ ซะก่อน
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K.Therapeutist
Comments