top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

“อย่าไล่เด็กออกจากบ้าน”: เด็กต้องการพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่การปิดประตูใส่หน้า

(บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563) . พวกเรา ‘เก้าอี้นักจิต’ ได้พบเห็นเรื่องราวที่น่าเป็นกังวลอย่างมากในสังคมช่วง 1-2 วันนี้ นั่นคือผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับเหล่าเด็กและวัยรุ่น ซึ่งบางส่วนเกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่ลุกลามไปจนถึงการไล่เด็กเหล่านี้ออกจากบ้านเนื่องจากมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน . พวกเรามีความกังวลเรื่องนี้อย่างมาก และพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าอาจเกิดความไม่พึงพอใจต่อกันและกันของคนในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการสื่อสารระหว่างกันที่ไม่เพียงพอไป จนถึงเรื่องราวของการจัดการอารมณ์อย่างไม่เหมาะสม การตัดสินใจต่างๆ ที่ตามมา เช่น การใช้คำพูดต่ออีกฝ่ายอาจไม่ทันได้ยั้งคิด และอาจต้องรู้สึกเสียใจได้ในภายหลัง . ทีมงานเก้าอี้นักจิต จึงอยากขอความร่วมมือผู้ปกครองทุกท่านในการหยุดคิดก่อนที่จะกล่าวอะไรออกไปซึ่งอาจต้องเสียใจในภายหลัง ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกเสียใจภายหลังของผู้ปกครองเอง แต่รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกๆ หลานๆ ของพวกคุณด้วย เพราะการกระทำเหล่านี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กอย่างมาก . การยื่นคำขาดในบางครั้งอาจดูเหมือนการตั้งกฏกติกามารยาท แต่บางครั้งก็หมายถึงการลงโทษ การพยายามยื่นคำขาดกับเด็กในการไล่ออกจากบ้านนั้นอาจดูเหมือนการพยายามลงโทษเด็ก แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงการทอดทิ้งพวกเขามากกว่า . Raychelle Cassada Lohmann นักให้การปรึกษามืออาชีพด้านเด็ก วัยรุ่น ครอบครัว และการศึกษา ได้บอกไว้ว่า วัยรุ่นถือได้ว่าเป็นวัยที่ยากลำบาก พวกเขาต่างพยายามที่จะทดลองทดสอบโลกที่พวกเขาอยู่ว่าอะไรทำได้หรือไม่สามารถทำได้ บางอย่างที่พวกเขาทำจึงอาจดูเหมือนการละเมิดขอบเขตหรือกติกาบางอย่างของผู้ใหญ่ แต่ Lohman เน้นย้ำว่า

“พวกเขาต้องการพื้นที่ที่มีขอบเขต (boundary) แต่ไม่ใช่การถูกปิดประตูใส่หน้า”

. Lohman ยังได้เสนอขั้นตอนให้ผู้ใหญ่อย่างเราต้องพิจารณากันก่อนที่จะตัดสินใจยื่นคำขาดใดๆ ดังนี้

1. เฝ้าดูและตั้งใจฟัง: ลองสำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ ทุกการกระทำของพวกเขามีความหมาย ถ้าผู้ปกครองสามารถเข้าใจเหตุผลของพฤติกรรมเหล่านี้ได้จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพวกเขา (เพิ่มเติม: พยายามอย่าเอาเหตุผลของตัวเองตัดสินเหตุผลของพวกเขา)


2. สังเกตสัญญาณ: ในขั้นตอนนี้คือการที่ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตเด็กๆ ด้วยความห่วงใย คอยสังเกตชีวิตของพวกเขาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างมั้ยในชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็น ได้แก่ เรื่องความสะอาด การคบเพื่อน ปัญหาการเรียน การใช้สารเสพติด หรือการมีพฤติกรรมไม่ยั้งคิดต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การตีตราพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของพวกเขา แต่เป็นการมองหาปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ภายในใจ และอาจต้องตระหนักว่าบางครั้งเป็นสัญญาณของประเด็นด้านสุขภาพจิตที่ต้องดูแล (เพิ่มเติม: นี่ไม่ใช่การบอกว่าความเปลี่ยนแปลงของเด็กคือความผิดปกติทางจิต แต่เป็นการคอยสังเกตเด็กอย่างใส่ใจและห่วงใยพวกเขาว่าอาจพวกเขาอาจมีความเปราะบางทางจิตใจอยู่มากน้อยแค่ไหน หากต้องเผชิญการถูกทอดทิ้งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างรุนแรง)


3. จำไว้เสมอว่าคุณกำลังรับมือกับเด็กหรือวัยรุ่น ไม่ใช่ผู้ใหญ่: ถึงแม้ว่าเด็กวัยรุ่นจะต้องการแสดงออกเหมือนผู้ใหญ่ แต่งานวิจัยที่ผ่านมาจำนวนมากก็สนับสนุนว่าพวกเขายังคงไม่ใช่ผู้ใหญ่จริงๆ ในเรื่องของการประมวลผลสารต่างๆที่ได้รับแตกต่างจากผู้ใหญ่อยู่ รวมถึงการยั้บยั้งชั่งใจและการควบคุมอารมณ์ที่จะค่อยๆพัฒนาไปจนถึงช่วงอายุ 20 กลางๆ (เพิ่มเติม: นี่ไม่ใช่การบอกว่าเด็กไม่สามารถมีความเข้าใจเรื่องของผู้ใหญ่ได้ แต่เป็นการสนับสนุนเพียงแค่สาเหตุที่เด็กอาจมีการควบคุมอารมณ์ที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้นการเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างเช่นการถูกทอดทิ้งก็ยังคงมีผลกระทบต่อจิตใจของพวกเขาอย่างมาก)


4. ให้ความช่วยเหลือเด็ก: เด็กบางคนอาจมีปัญหาที่มากกว่าเรื่องการไม่เชื่อฟัง ซึ่งอาจหมายถึงปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน เด็กอาจมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างหนัก พฤติกรรมของพวกเขาอาจแสดงออกมาในรูปแบบของการร้องให้ช่วย ผู้ปกครองควรให้ความช่วยเหลือด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้เด็กๆ มีทักษะการจัดระเบียบความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม


5. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับครอบครัว: บ่อยครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กไปพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมกวนใจ แต่ในขณะเดียวกัน “สิ่งแวดล้อม” ของเด็กๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองควรเปิดใจให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือคุณในการสำรวจสภาวะภายในบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วย


6. กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน: ในขณะที่ผู้ปกครองพยายามหาทางที่ดีที่สุดเพื่อรับมือกับเด็กและวัยรุ่น ผู้ปกครองควรมีกติกาและโครงสร้างที่ชัดเจน (เพิ่มเติม: ในขณะที่การกำหนดกติกานี้อาจดูเหมือนการกำหนดว่านี่คือบ้านของพ่อแม่หรือผู้ปกครองจนดูเหมือนว่าจะสามารถทำอะไรก็ได้ แต่อย่าได้ละเลยในข้ออื่นๆ ก่อนหน้านี้ และอย่าทำให้ดูเหมือนว่าคุณทอดทิ้งพวกเขา)


7. อย่ายอมแพ้: วัยรุ่นต้องการพ่อแม่หรือผู้ปกครองมากกว่าที่คิด บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองอาจต้องพบเจอกับพฤติกรรมไม่เชื่อฟังของพวกเขา และในขณะที่พวกเขาเหมือนพยายามผลักคุณออกไป แต่ลึกๆ แล้วเด็กๆ เหล่านี้กลับปรารถนาความรักและการได้รับการยอมรับอย่างมาก


8. ถ้าหากรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมเด็กได้แล้ว คุณอาจต้องมองหาพื้นที่ทางเลือกให้กับพวกเขา: พื้นที่ของพวกเขาอาจเป็นพื้นที่ชั่วคราวหรืออาจเป็นแบบถาวรที่จัดไว้ให้ แต่จำไว้เสมอว่าต้องไม่ใช่ข้างถนน ลองคิดดูว่าถ้าคุณไล่พวกเขาออกจากบ้านพวกเขาจะไปที่ไหน? แน่นอนว่าพวกเขาต้องไปหาเพื่อน แต่นั่นก็แค่ระยะสั้นๆ เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากลับมาแล้วปัญหาที่นำมาสู่การขับไล่เช่นนี้ไม่ถูกแก้ไข พฤติกรรมต่อต้านก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ (เพิ่มเติม: นี่ไม่ใช่การตีตราว่าผู้ปกครองต้องควบคุมพฤติกรรมของเด็กๆ ให้อยู่ในระเบียบและเชื่อฟังตัวเองเพียงเดียว แต่หมายถึงการแสดงให้เห็นว่าการไล่เด็กออกจากบ้านนั้นจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นไปอีก) . ท้ายที่สุดนี้ Lohman ได้เน้นย้ำว่า อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งมันจะนำไปสู่การที่คุณจะต้องรู้สึกเสียใจทีหลัง เด็กและวัยรุ่นต้องการรู้สึกถึงการควบคุมสถานการณ์ได้และความมั่นคงปลอดภัย เมื่อไรก็ตามที่คุณปิดประตูใส่หน้าพวกเขา มันได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นมากไปอีกขั้น . ทีมงานเก้าอี้นักจิตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน และรวมไปถึงมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปที่ได้อ่านบทความนี้ด้วยเพื่อช่วยกันทำความเข้าใจและตักเตือนกันเพื่อประโยชน์เด็กเหล่านี้ที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต สุดท้าย ทางเราเชื่อว่าการที่เด็กกว่าไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถมีการยับยั้งชั่งใจและการควบคุมอารมณ์ได้ แต่การทอดทิ้งไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง . ในตอนนี้มีการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมกับผู้เชี่ยวชาญโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ลิ้งด้านล่างนี้เลยครับ - ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) >> https://www.facebook.com/WellnessPsyCU/posts/3352793788143875 - #Standbyme by Ooca >> https://www.facebook.com/oocaok/posts/955474908189418 . เก้าอี้นักจิต . Reference Lohmann, P. C. (2016, February 13). Two words you may regret: “get out”: Teens need boundaries, not closed doors. Psychologytoday. Retrieved from http://psychologytoday.com/.../two-words-you-may-regret...



ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page