หมอ: “รูปร่างหน้าตาอย่างคุณเนี่ย เป็นได้ทุกอย่างเลยนะ... แต่คุณพร้อมที่จะให้คนรู้จักคุณได้ขนาดไหน? เป็นคนมีชื่อเสียงเนี่ย มันไม่ได้ง่ายเลยนะ”
นิรา: ...
หมอ: “ชีวิตที่แม่คุณเตรียมไว้ให้ที่นู่น หมอว่าดีที่สุด”
นิรา: (สีหน้าเครียด กดดัน และครุ่นคิด)
หมอ: “อยู่เงียบๆ สบายๆ ไม่ใช่การกลับมาที่นี่แล้วกลายเป็นคนมีชื่อเสียง”
นิรา: “เดี๋ยว! แปลว่าอะไร นิไม่ควรมีตัวตนอย่างนั้นหรอ!?”
หมอ: “มีได้สิ... แต่ไม่ควรที่จะต้องเป็นจุดสนใจขนาดนั้น เชื่อหมอสิ ระยะยาว มันจะไม่ดีกับคุณนะ”
นิรา: (ลุกขึ้นยืนด้วยความโกรธเคือง) “ไม่ดียังไง!? นิควรเป็นช่างแต่งหน้า แล้วอยู่เงียบๆ แบบนั้นจะดีกว่าหรอ นิควรอยู่แต่ข้างหลัง ไม่ควรออกไปเสนอหน้าอย่างนั้นจะดีกว่าหรอ!?”
หมอ: (นิ่งเงียบไปด้วยความตกใจ)
นิรา: “ทำไม!? ทำไมทุกคนจะรู้จักนิไม่ได้? สุดท้ายหมอก็เหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ คิดว่านิมันน่าอาย น่าสมเพช เป็นอีเด็กบ้า ใจคอวิปริต ต้องถูกขังอยู่แต่ในห้องใจมั้ย!!?”
หมอ: “นิรา...”
.
นี่เป็นบทสนทนาตอนหนึ่งจากละครเรื่อง “ใบไม่ที่ปลิดปลิว” เมื่อสัปดาห์ก่อน ปกติแล้วผมไม่ได้ดูละครมากนัก เรื่องนี้เองก็ดูผ่านๆ บ้างเมื่อมีโอกาสเปิดทีวีมาเจอ แต่ก็พอจะเข้าใจเนื้อเรื่องได้พอสมควรเมื่อมีโอกาสได้ดูรีรัน 2 ตอนรวดทางช่อง ONE ในคืนวันอาทิตย์
.
บทสนทนาดังกล่าวที่ผมยกมาเพราะผมถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจของเรื่องราว และคล้ายคลึงกันกับสถานการณ์ในการทำจิตบำบัดหรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในหลายๆ ครั้งที่พบเจอได้ในสถานการณ์จริง
.
นิรา (ชื่อในปัจจุบัน) เป็นหญิงสาวข้ามเพศ เธอมีวัยเด็กที่เลวร้ายโดยเฉพาะกับพ่อของเธอเนื่องจากเธอไม่ได้เติบโตมาเหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ อย่างที่พ่อของเธอคาดหวัง ในเรื่องราวของเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอถูกทารุณทั้งทางกายและจิตใจจากผู้เป็นพ่อของเธอ และแม่ของเธอเองก็ประสบกับพฤติกรรมของผู้เป็นสามีเช่นกันเนื่องจากถูกมองว่าเป็นสาเหตุให้ลูกของพวกเขามีความเบี่ยงเบนทางเพศไปจากเพศกำเนิด วัยเด็กที่เลวร้ายของนิราได้สะท้อนถึงการที่เธอไม่เคยได้รับการยอมรับจากพ่อ ถูกเหยียดหยาม ดูถูก กีดกัน และถูกตีหน้าว่าเป็นคนวิปริต สร้างความอับอายให้ผู้เป็นพ่อในสายตาคนรอบข้าง
.
หลังจากนิราโตขึ้น เธอได้รับการแปลงเพศด้วยการสนับสนุนของแม่ที่ตัดสินใจหย่าร้างกับสามีในที่สุด เธอได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตใหม่และเปลี่ยนแปลงตัวตนด้วยชื่อนิรา เมื่อทุกคนเข้าใจว่าเธอและแม่ของเธอเสียชีวิตไปแล้วด้วยอุบัติเหตุ
.
ปัจจุบันเธอกลับมาพบกับหมอที่เธอเคยรู้จักเพื่อขอรับการรักษาจากอาการวิตกจริตจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีตของเธอ และกลายเป็นว่าเธออยู่ในความดูแลของเขาเพื่อเริ่มต้นการพัฒนาตนเองและสร้างชีวิตใหม่ของเธอที่ดีขึ้นในที่สุด
.
ถึงแม้เธอจะเริ่มมีชีวิตที่จากการเริ่มต้นอาชีพช่างแต่งหน้าจนเป็นที่รู้จักด้วยฝีมือของเธอ แต่นั่นก็เป็นแค่ฉากหน้าของความทุกข์ทรมานในจิตใจของเธอที่ยังไม่หายไป
.
บทสนทนาตอนหนึ่งที่ผมยกมาในตอนต้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นบาดแผลในใจของเธอที่ยังไม่จากหาย และแผ่ขยายไปยังการรับรู้หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเธอ
.
ปรากฏการณ์นี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Transference” หรือ “การถ่ายโอนความรู้สึก” เป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นโดย Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดัง
.
นิรามีประสบการณ์ในอดีตอันเลวร้าย นั่นได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวด ความเปราะบางในจิตใจของเธอ เมื่อเธอพบเจอกับสิ่งเร้าที่คล้ายคลึงกันเพียงเล็กน้อย (มักหมายถึงบุคคล) เธอจะถ่ายโอน (transfer) ความรู้สึกที่ติดอยู่กับประสบการณ์ในอดีตเข้ามายังปัจจุบัน และสร้างการรับรู้ที่บิดเบือนไป
.
ในสถานการณ์ของนิรา หมอเปรียบเสมือนผู้ปกครองคนใหม่ของเธอ เขามีลักษณะที่อาจคล้ายคลึงกันกับพ่อของเธอ (father-figure) ด้วยการอยู่ในฐานะของผู้ที่อยู่เหนือกว่า (Authority) เป็นเพศชายวัยกลางคน ให้การอนุญาตและสร้างการยอมรับในตัวเธอได้ด้วยฐานะของเขา เขาจึงเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นปมความรู้สึกผูกพันกับพ่อของนิราได้
.
เมื่อเขาเกิดความขัดแย้งกับเธอ ซึ่งแท้จริงแล้วในภายหลังเขาจะแสดงให้เธอเห็นว่าเขาแสดงออกด้วยความเป็นห่วงเป็นใยเธอ และการบอกเช่นนั้นเป็นเพียงการเตือนให้เธอพิจารณาการตัดสินใจของเธออย่างแน่ชัดเท่านั้น แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กระตุ้นบาดแผลในอดีตของเธออย่างฉับพลันในเรื่องปมของการไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อ เธอได้ถ่ายโอนความรู้สึกจากในอดีตทั้งความรู้สึกโกรธแค้น เจ็บปวด และเศร้าเสียใจไปยังหมอ และเข้าใจผิดไปว่าหมอไม่ได้ยอมรับในตัวเธอเหมือนกับคนอื่นๆ (พ่อของเธอ) ซึ่งนี่เป็นการรับรู้ที่ผิดพลาดและเข้าใจผิดอย่างรุนแรงจากการใช้ประสบการณ์เลวร้ายในอดีตมาตีความสถานการณ์ในปัจจุบัน (สังเกตได้ว่าเธอใช้คำพูดที่หมอไม่ได้บอกกับเธอ แต่เป็นคนพูดที่สอดคล้องกับประสบการณ์ในอดีตของเธอเอง)
.
ผมได้ยกตัวอย่างบทสนทนานี้เข้ามาเพื่อเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ดังกล่าวเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่เพียงกับนิรา แต่หมายถึงในทุกๆ คนที่มีประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกัน เราจึงมีการตีความโลกของความเป็นจริงในปัจจุบันที่แตกต่างกันด้วย และในหลายครั้งสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว เป็นกระบวนการของจิตใต้สำนึกของเราเพื่อปกป้องตัวเราเองจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดอันอาจซ้ำรอยด้วยการทำนายหรือคาดเดาอนาคตที่เราเองไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และนำมาซึ่งความวิตกกังวลอย่างมากเมื่อเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้
.
นี่อาจเป็นการปกป้องตัวเองที่สมเหตุสมผล แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำลายหรือบิดเบือนความเป็นจริงไปเมื่ออารมณ์ที่ยึดติดกับประสบการณ์ในอดีตนั้นมีความเข้มข้นอย่างมาก จนเราอาจละเลยที่จะใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของตัวเราเองเพื่อทำความเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเช่นในกรณีของนิรา (ลองนึกภาพที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลใดๆ)
.
สุดท้ายสิ่งสำคัญกลับเป็นการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเอง และเมื่อตระหนักได้แล้ว เราจะสามารถควบคุมมันได้มากกว่าการที่ปล่อยให้อดีตที่คอยหลอกหลอนมาควบคุมตัวเรา
.
.
ตอนหนึ่งของละครเรื่องใบไม้ที่ปลิดปลิวในประเด็นดังกล่าว >>> https://www.youtube.com/watch?v=kX0EE0qgszk&t=170s
.
Reference
Kahr, B. (2015). Freud: Great thinkers on modern life. New York, NY: Pegasus Book.
Grant, J., & Crawley, J. (2002). Transference and projection: Mirrors to the self. London: McGraw-Hill Education.
Comments