. หากคุณรู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในการทำงานหรือการเรียน ที่ดูเหมือนว่าความผิดพลาดจากการทำงาน การสอบ การแข่งขันต่างๆ ทำให้คุณเกิดความเครียด ความวิตกกังวล คุณรู้สึกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แม้บางครั้งมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวคุณ แต่ความผิดพลาดก็ทำให้คุณรู้สึกว่า “เป็นเพราะตัวเรายังดีไม่พอ” และความคิด ความรู้สึกนี้มันก็ยังเกาะกินอยู่ภายในจิตใจของคุณจนอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจได้ ลองมาทำความรู้จักกับ “ความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion)” ดูไหม? เผื่อคุณจะมีความอ่อนโยนกับตัวคุณเองมากขึ้นบ้าง แล้วความเมตตากรุณาต่อตนเองคืออะไร? . Kristin D. Neff นักจิตวิทยาผู้ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจาก ปรัชญาตะวันออก ศาสนาพุทธ และจิตวิทยาตะวันตก ได้มีความสนใจในเรื่องของ ความเมตตากรุณาต่อตนเอง หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ความเมตตากรุณาต่อตนเอง ก็คือ การเข้าใจ ยอมรับกับประสบการณ์ความผิดพลาด ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชีวิต อย่างมีสติ ตระหนักรู้ ไม่หลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธ และไม่ตัดสินตัวเองจากประสบการณ์เหล่านี้ พร้อมทั้งเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆคน ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคนเดียว และยอมรับสิ่งเหล่านั้นไว้ การรับรู้ในลักษณะนี้เอื้อให้ตัวเราอยู่กับปัจจุบันขณะ และปฏิบัติต่อตนเองอย่างอ่อนโยนเมื่อเจอกับประสบการณ์ที่เจ็บปวดหรือผิดพลาดในชีวิต . หากจะทำความเข้าใจให้มากขึ้น ความเมตตากรุณาต่อตนเองประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1. Self-Kindness คือ การสะท้อนให้เห็นถึงการให้อภัยต่อความล้มเหลวและข้อบกพร่องของตนเอง ส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่เหมาะสมด้วยความรู้สึกที่อ่อนโยนและอดทนต่อตนเอง ช่วยให้บุคคลเกิดการรับรู้ตนเองตามความเป็นจริงและแก้ไขรูปแบบความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมการตำหนิตัดสินตนเอง (Self-Judgment) 2. Common Humanity คือ การเข้าใจว่าการเป็นมนุษย์นั้นสามารถอ่อนแอได้ ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ และรับรู้ว่าความทุกข์ที่ตนเองเจอเป็นประสบการณ์ร่วมที่ผู้อื่นก็ประสบเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น ป้องกันความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว (Isolation) 3. Mindfulness คือ การมีสติตระหนักรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ความคิดและความรู้สึกอย่างเป็นปัจจุบันขณะ โดยไม่จมอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้น (Over-identification) . อ่อนโยนกับตัวเองแล้วมันดีอย่างไร? . ถ้านึกแบบง่ายๆ เวลาที่เราทำข้อสอบไม่ได้ทั้งๆที่ตั้งใจอ่านเต็มที่ หากเราไม่อ่อนโยนกับตัวเองเลย ก็อาจจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองว่ายังอ่านหนังสือไม่พอ ครั้งหน้าต้องทุ่มเทให้มากขึ้น พอสอบครั้งต่อไปเราก็ตั้งใจอ่านหนังสือมากขึ้น ใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากขึ้น เวลาที่ใช้นอน ใช้กิน ใช้พักผ่อนก็น้อยลง หรือเรื่องของรูปร่างที่บางคนอาจจะยังไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง นำไปสู่การออกกำลังการอย่างหักโหม หรือใช้ยาลดความอ้วน . บางคนอาจจะมีคำถามว่าก็ถูกแล้วนี่ ถ้าทำข้อสอบไม่ได้ก็อ่านหนังสือให้มากขึ้น หรือถ้าคิดว่าเราอ้วนก็ต้องลดน้ำหนัก ก็ถูกที่คนเราต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าบางครั้งการพัฒนาตัวเองที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่พอใจในตัวเองเสียทีก็นำไปสู่การมีความเครียด ความวิตกกังวลที่มากผิดปกติ หรือนำไปสู่อาการซึมเศร้า การอ่อนโยนกับตัวเองด้วยการมีความเมตตากรุณาต่อตนเอง จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น . มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความเมตตากรุณาต่อตนเองแล้วพบว่า
หากมีความเมตตากรุณาต่อตนเองสูง จะสะท้อนให้เห็นถึงการมีความพึงพอใจในตนเองสูง เข้าใจตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้มากขึ้น รวมไปถึงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิต และยังพบว่าความเมตตากรุณาต่อตนเองมีความสัมพันธ์ทางลบกับการตำหนิตนเอง (Self-criticism) ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า
. ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าหากเรามีความเมตตากรุณาต่อตนเองจะนำไปสู่การไม่พัฒนาตัวเอง เพราะพอใจในสิ่งที่เป็น แต่ความเมตตากรุณาต่อตนเองนำไปสู่การยอมรับและเข้าใจในตนเองที่ลึกซึ้งขึ้น มีความยืดหยุ่นต่อตัวเองมากขึ้น ทำให้เรามีสติ ตระหนักรู้ในตนเอง เมื่อเรามีสติในการทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง ก็จะมองเห็นช่องทางในการพัฒนาตัวเองอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น กลับกันแนวคิดเรื่อง ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ที่เราเชื่อกันว่านำไปสู่การพัฒนาตนเองและประสบความสำเร็จนั้น กลับพบปัญหาว่ามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความคิดว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น (Self-aggrandizement) และความหลงตนเอง (Narcissism) จนอาจทำให้เราไม่เกิดการพัฒนาตนเองด้วยซ้ำไป . เก้าอี้ตัวที. คงพล แวววรวิทย์ . สนใจศึกษาเพิ่มเติม http://self-compassion.org/ . อ้างอิง Neff, K. D., Kirkpatrick, K. L., & Rude, S. (2007). Self-compassion and adaptive psychological functioning. Journal of Research in Personality, 41(1), 139-154.
Neff, K. D. (2003). The Development and validation of a scale to measure self-compassion. Self and Identity, 2, 223-250.
Wasylkiw, L., MacKinnon, A. L., & MacLellan, A.M. (2012). Exploring the link between self- compassion and body image in university woman. Body Image, 9(2), 236-245.
Comments