.
ไม่นานมานี้หลายคนคงได้เห็นข่าวเรื่องคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กของครูและศิษย์เก่าในโรงเรียนแห่งหนึ่งผ่านตากันมาบ้าง
ผมไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งนั่นต้องอาศัยกระบวนการของการสืบสวนและดำเนินคดีกันต่อไป แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดความสนใจในตัวผมจนต้องเขียนบทความออกมากันซักหน่อยคือ ความคิดเห็นของคนในสังคมที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งที่ต่อว่าการกระทำของผู้กระทำผิด และอีกฝ่ายหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยถึงพฤติกรรมของเหยื่อ
.
ความคิดเห็นที่ตั้งข้อสังสัยต่อพฤติกรรมของเหยื่อทำให้คนที่มีความคิดเห็นตำหนิผู้กระทำผิดหรือคนกลุ่มแรกหันมาต่อว่าหรือด่าทอคนกลุ่มที่สองอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลที่ว่า ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการ “กล่าวโทษเหยื่อ” (victim blaming)
.
“การกล่าวโทษเหยื่อ” หรือ "Victim blaming" มีความหมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าของเหยื่อ โดยทำเสมือนว่าเหยื่อจากอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบหรือเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมักแสดงให้เห็นบ่อยๆ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมทางเพศอย่างเช่นการข่มขืน
.
การที่ความคิดเห็นแบบตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเหยื่อกำลังถูกมองว่าเป็นการกล่าวโทษเหยื่อ นั่นเพราะในการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเหยื่อโดยส่วนใหญ่แล้ว มักออกมาในรูปแบบของการตั้งสมมติฐานล่วงหน้ามากกว่าเป็นการตั้งคำถามแบบปลายเปิด
หรือก็คือ การตั้งข้อสงสัยว่าเหยื่ออาจเป็นคนที่ล่อลวงผู้กระทำ, ให้ท่า, อ่อย, แต่งตัวโป๊, ชอบไปเที่ยวกลางคืน ฯลฯ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า การตั้งข้อสงสัยในลักษณะนี้ทำให้ภาพของเหยื่อกลายเป็นคนที่ดึงดูดหรือยั่วยุผู้กระทำให้กระทำชำเราตัวเอง ก่อนจะตามมาด้วยความคิดที่ว่า “เหยื่อสมควรโดนแล้ว” หรือ “เหยื่อทำตัวเอง” เป็นต้น
.
ผมคิดว่าหลายคนที่ได้เห็นพฤติกรรมกล่าวโทษเหยื่อคงเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อความคิดเห็นลักษณะนี้ ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าความคิดเห็นดังกล่าวได้กระตุ้นความรู้สึกไม่พึงพอใจของผมเช่นกัน แต่ความรู้สึกที่แฝงมาพร้อมกับความไม่พึงพอใจดังกล่าวคือ “ความไม่เข้าใจในพฤติกรรมเหล่านี้" ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในประโยคที่เราพูดกันอย่างเรียบง่ายว่า “ทำไมวะ!?”
.
ผมได้นั่งคุยเรื่องนี้กับแฟนของตัวเอง และอดคิดไม่ได้ว่าจุดตั้งต้นของเรื่องทั้งหมดนั้นมาจาก “ความเปราะบางของความเป็นมนุษย์” ที่กำลังแสดงออกมาให้เห็นผ่านการโยน (projection) ความเปราะบางเหล่านี้ใส่กันในโลกความเป็นจริงเพื่อปกป้องตัวเอง และรู้สึกถึงการมีพลังอำนาจในการควบคุม
.
การที่คิดว่าสาเหตุหลักอาจมาจากความเปราะบางของคนเราที่มีอยู่อย่างลึกๆ นั่นเพราะผมได้ตั้งข้อสงสัยถึงพฤติกรรมของผู้หญิงที่สามารถแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมกล่าวโทษเหยื่อได้ทั้งที่เหยื่อล้วนเป็นเพศหญิงเช่นเดียวกัน
.
โดยปกติแล้ว การมองหาที่มาที่ไปของพฤติกรรมกล่าวโทษเหยื่อโดยเฉพาะในเรื่องการข่มขืนหรือทารุณกรรมทางเพศมักเกี่ยวข้องกับการมองไปที่ตัวแปรวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ซึ่งมักถูกพูดถึงเสมอว่า มันทำให้การที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงโดยไม่สมยอมถือว่าเป็นเรื่องปกติ ก่อนตามด้วยเหตุผลเข้าข้างตนเองมากมายว่า “ผู้หญิงเล่นตัว”, “ผู้หญิงก็ชอบ แต่ปากไม่ตรงกับใจ”, “ผู้หญิงอ่อย”, “ผู้หญิงอยากโดน" ฯลฯ
(ในกรณีนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ซึ่งผมจะไม่ขอพูดถึงรายละเอียดในบทความนี้)
.
แต่การมองว่ามันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียวควรจะทำให้ผู้หญิงรู้สึกถึงการกดทับ และเห็นใจเหยื่อที่เป็นเพศเดียวกันมากกว่านี้สิ? หรือมันมีอย่างอื่นที่ทำให้ผู้หญิงก็สามารถคิดแบบผู้ชายได้?
และผมคิดว่าสิ่งที่พอจะช่วยตอบเรื่องนี้ได้คือการที่เราหันมามองในประเด็นทางจิตวิทยา (psychological) กันมากขึ้น
.
.
.
ในพฤติกรรมกล่าวโทษเหยื่อไม่ว่าจะในกรณีใดๆ อาจสัมพันธ์กับความเปราะบางของคนที่กล่าวโทษ โดยในมุมมองทางจิตวิเคราะห์มีปรากฏการณ์หนึ่งที่มักจะถูกนำมาใช้ในการอธิบายการกล่าวโทษหรือสร้างความเกลียดชังกันในสังคม นั่นคือ กลไกการปกป้องตัวเองทางจิตด้วยการโยน หรือ Projection
Projection หมายถึง การโยนความรู้สึก ความคิด ความปรารถนาของตนที่ไม่อยากจะยอมรับเอามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองให้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึง คนที่กล่าวโทษเหยื่อกำลังโยนความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไร้พลังอำนาจของตนเองให้กับเหยื่อ เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกไม่ปลอดภัยและความไร้ซึ่งพลังอำนาจที่ซ่อนอยู่ลึกๆ
.
ในเวลาที่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นในสังคม เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้กระตุ้นความรู้สึกของเราโดยเฉพาะความรู้สึกปลอดภัย คนเรามีความปรารถนาอย่างมากในการได้รับการเติมเต็มความรู้สึกปลอดภัยของการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าเมื่อไรจะถูกทำร้าย นั่นจึงเหมือนช่องโหว่วที่ทำให้คนเราอยากจะเชื่อให้ได้ว่าโลกนี้ยุติธรรมและเหตุการณ์ร้ายๆ จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง
.
มันเป็นความขัดแย้งกันทางจิตใจเมื่อลึกๆ แล้วเราต่างยังคงมีความเปราะบางในเรื่องความปลอดภัยและการไร้ซึ่งพลังอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ แต่ในขณะเดียวกันเรายังอยากที่จะเชื่อว่าโลกนี้มีความปลอดภัยอยู่ จิตใจของเราจึงพยายามที่จะหลอกตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยการมีความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า “คนดีก็จะได้รับสิ่งดีตอบแทน ส่วนคนชั่วก็จะต้องถูกลงโทษ”
.
การบ่งบอกว่าใครเป็นคนดีหรือคนชั่วนั้นเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาที่พบว่าคนที่ทำผิดข้อหาข่มขืนกระทำชำเรามักจะไม่คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นผิดเทียบเท่าการก่ออาชญากรรม เป็นต้น)
แต่ถึงอย่างงั้น ทุกคนอยากที่จะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดีเพราะความเชื่อที่ว่าคนดีมีโอกาสถูกทำร้ายน้อยกว่ายังคงฝังรากลึกให้เราเกิดความสบายใจได้ง่าย
.
การศึกษาหนึ่งได้นำเอาคนสองกลุ่มมาทำการทดลองด้วยการมองไปในจอมอนิเตอร์ที่จะให้เห็นภาพของคนที่กำลังทำแบบทดสอบความจำคำศัพท์ และถูกไฟช็อตเมื่อตอบคำถามผิด
ผู้ร่วมทดลองกลุ่มนึงจะได้รับโอกาสให้เปลี่ยนจากการให้คนในจอถูกไฟช็อตเมื่อตอบผิดกลายเป็นการให้รางวัลเมื่อตอบถูกแทน ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้รับโอกาสนี้ ก่อนที่ในตอนท้ายคนทั้งสองกลุ่มจะถูกถามถึงมุมมองที่มีต่อคนในจอซึ่งหมายถึงเหยื่อของการทดลองนี้
.
ผู้ร่วมทดลองกลุ่มแรกที่ได้รับโอกาสเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จะมองว่าคนในจอนั้นเป็นคนดีคนหนึ่ง ในขณะที่ผู้ร่วมทดลองอีกกลุ่มซึ่งต้องทนดูคนถูกช็อตเมื่อทำแบบทดสอบผิดต่อไปและแก้ไขสถานการณ์นั้นไม่ได้กลับคิดว่าคนที่ถูกไฟช็อตนั้นสมควรโดนแล้วกับสิ่งที่ตัวเองทำ
นั่นจึงแเสดงให้เห็นว่า ถ้าคนเราสามารถบอกตัวเองได้ว่า “คนนั้นสมควรโดนแล้ว” ก็หมายถึง โลกนี้มีความยุติธรรมอยู่ และนั่นแสดงให้เห็นอีกว่า การกล่าวโทษเหยื่อก็อาจเป็นการที่เรากำลังพยายามปกป้องตัวเองจากความเปราะบางลึกๆ กันอยู่
.
ผมอยากเสริมประเด็นนี้ลงไปซักหน่อยจากการวิเคราะห์ประสบการณ์ของตัวผมเอง ผมคิดว่าคนเราอาจไม่สามารถละทิ้งทัศนคติของการกล่าวโทษได้อย่างง่ายดายถ้าหากนั่นเป็นการพยายามปกป้องตัวเองจากความเปราะบางของคนเรา ตัวผมเองที่กำลังเขียนถึงประเด็นนี้อยู่ก็ยอมรับว่าในบางส่วนของจิตใจผมก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ในพฤติกรรมของเหยื่อเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นเพราะผมเองไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดกับคนใกล้ตัวของผมหรือแม้กระทั่งกับตัวผมเองในเหตุการณ์อื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มีความอันตรายหลบซ่อนอยู่
ยังไงก็ตาม ในจิตใจอีกด้านหนึ่งของผมเองสามารถเกิดความไม่เห็นด้วยกับการกล่าวโทษเหยื่อได้ด้วยการคิดถึงความรู้สึกของเหยื่อ หรือ มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเหยื่อ (Empathy) ซึ่งมันก็สอดคล้องกับการทดลองข้างต้นนี้เช่นกัน โดยในการทดลองเพิ่มเติมได้ทำการให้คนทั้งสองกลุ่มคิดถึงความรู้สึกของเหยื่อที่ถูกไฟช็อตขณะที่ดูจอมอนิเตอร์นั้น กลับกลายเป็นว่าการกล่าวโทษเหยื่อมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ ในการศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่าคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าก็มีแนวโน้มที่จะมองเหยื่อจากการถูกข่มขืนในแง่ลบน้อยลงเช่นกัน
แต่ถึงแม้นี่จะกำลังบอกเราว่า การเห็นอกเห็นใจ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ แต่ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ง่ายขนาดจะไปบอกว่าให้คนนั้นคนนี้เห็นใจเหยื่อ เพราะการทำเช่นนั้นหมายถึงการที่เราต้องเผชิญหน้ากับความเปราะบางของจิตใจเราควบคู่กันไปด้วย
.
สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าถ้าเรามองการกล่าวโทษในมุมมองของการปกป้องตัวเองของมนุษย์แล้ว เราก็จะเข้าใจพฤติกรรมกล่าวโทษที่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน ผมคิดว่านั่นทำให้เรามองเห็นว่า คนที่ไม่พอใจคนกล่าวโทษจนเกิดการด่าทอกันกลับไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง นั่นก็อาจสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ของการ Projection ด้วยการโยนเอาความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองอันเนื่องมาจากความไม่อยากยอมรับการมีอยู่ทัศนคติที่หลอกตัวเองว่าโลกนี้ยุติธรรมไปใส่คนที่กล่าวโทษอีกที
กล่าวคือ คนที่เห็นคนกล่าวโทษอาจถูกกระตุ้นความรู้สึกรังเกียจทัศนคติเหล่านั้น ซึ่งลึกๆ แล้วตนเองก็อาจมีทัศนคตินั้นเกิดขึ้นได้ด้วยอุบายทางจิตในบางครั้ง แต่เราไม่อยากที่จะยอมให้มีทัศนคตินั้นในตัวเราเองจึงมองหาคนที่มีทัศนคติดังกล่าวเพื่อด่าทอแทนที่จะด่าทอตัวเอง
หรือในอีกกรณีหนึ่ง มันอาจเป็นเพียงลักษณะของการโยนรับหรือสลับบทบาทความรู้สึกตกเป็นเหยื่อใส่กันก็ได้ นั่นเพราะคนที่เห็นใจเหยื่อก็จะรับเอาความรู้สึกของการตกเป็นเหยื่อซึ่งทุกข์ทรมานเข้ามา และมันยากเกินจะทนกับความรู้สึกนั้นจึงแสดงออกมาผ่านความก้าวร้าว
แต่ไม่ว่ามันจะเป็นไปในกรณีไหนข้างต้นนี้ ผมก็คิดว่าสิ่งสำคัญคือการที่เราได้ย้อนกลับมาสังเกตและทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
Reference
Feldman, D. B. (2018, March 2). Why do people blame the victim? The tendency to blame the victim may be programmed in the mind at a deep level. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/.../why-do-people-blame...
.
Comments