top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

หรือความ(ไม่อยาก)รัก มีสาเหตุ?

นี่เป็นคำถามที่ผมตั้งขึ้นมาและนึกสงสัยเวลาที่ หลายๆ คนมีความไม่สบายใจในเรื่องของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในคนที่ชอบช่วงจีบกันแรกมากกว่าการที่จะต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง และสุดท้าย ก็เลือกที่จะหนีออกมาจากความสัมพันธ์นั้น . มันน่าแปลกดีที่มีคนพยายามบอกว่านั่นคือ “โรคกลัวความรัก” (philophobia) และใช้คำนี้เป็นเหตุผลในการกระทำของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ทำไมกัน ผมถึงรู้สึกว่าการนิยามตัวเองแบบนี้ไม่ได้ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกสบายใจขึ้นเลย? หรือนั่นอาจเป็นเพราะการมีความผิดปกติอะไรซักอย่างนึงก็ยังคงไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ อยากให้เป็นแบบนั้นไปตลอดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางกายหรือทางใจก็ตาม . ในมุมมองทางสังคมวิทยามองว่า เรากำลังตกอยู่ในโลกของการแข่งขัน และน้อยนักที่จะให้อภัยกัน นี่อาจเป็นโลกสมัยใหม่ที่ลื่นไหล ฉาบฉวย เป็นความเคยชินกับการใช้แล้วหมดไป และจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวเฉพาะเวลาที่ต้องการเท่านั้น . นั่นอาจส่งผลมายังการมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะมันกลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่จะมีความสำคัญขึ้นมาก็ต่อเมื่อเวลาที่ต้องการจริงๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ต่างคนต่างอยู่ และทุกคนพึ่งพาตัวเองได้เป็นอย่างดี ความรักจึงกลายเป็นความลื่นไหลที่เปลี่ยนแปลงไปมา การพบเจอกับความคงทนถาวรเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชิน เพราะงั้นความรักที่ลึกซึ้ง ต้องอาศัยระยะเวลา หรือมีความคงทนถาวรกับใครซักคน จึงอาจกลายเป็นสิ่งแปลกประหลาดไปสำหรับใครคนนึงได้ . ยังไงก็ตาม สังคมที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดในการเรียนรู้ชีวิตของมนุษย์ก็คือครอบครัว และนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลายก็มองว่าทัศนคติหรือท่าทีที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่าความรักนี้ เริ่มมาจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้ดูแลในวัยเด็ก . นักจิตวิเคราะห์อย่าง Melanine Klien เชื่อว่าในช่วงแรกของชีวิตเราเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ที่จะแยกระหว่าง “สิ่งที่รัก” และ “สิ่งที่เกลียด” เพื่อให้ตัวเราเองได้เรียนรู้ที่จะรักสิ่งที่รู้สึกรักหรือสิ่งที่ตอบสนองความต้องการต่างๆ ของตัวเราได้ และกำจัดสิ่งที่เกลียดหรืออาจจะเข้ามาทำร้ายตัวเราออกไปเพื่อปกป้องตัวของเราเอง .

แต่เมื่อโตขึ้นก็จะเรียนรู้ว่า การแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันกลายเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนเส้นเดียวกันของความรักและความเกลียดชังในรูปแบบที่โอนเอนไปมาเท่านั้น และหากไม่สามารถที่จะเรียนรู้ความรักที่ไม่สมบูรณ์นี้ได้แล้ว การกำจัดสิ่งที่ไม่ชอบออกไปก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น และต้องทนอยู่กับความสับสนในการเฝ้าหาความรักอันสมบูรณ์แบบที่เป็นไปไม่ได้

. อย่างที่บอกว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวในวัยเด็กเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ที่จะรัก เพราะงั้นครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดสิ่งที่รักหรือเกลียดในตัวเด็ก รวมถึงกำหนดทัศนคติเกี่ยวกับภาพความรักอันสมบูรณ์แบบด้วย . ในหนังสือของ Mitchell & Black ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของชายชื่อว่า Zachary ที่เข้ารับการบำบัดเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้เลย และในการบำบัดก็ได้พบว่าตัวเขามีภาพของความรักและการแต่งงานที่สุดแสนจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่มีผู้หญิงคนไหนเลยที่ดูเหมือนจะเข้ามาเติมเต็มหรือทำให้เขารู้สึกมั่นใจได้ . แต่ยังไงก็ตาม การตามหาความรักอันสมบูรณ์แบบของเขาช่างแตกต่างจากการมองหาสิ่งที่รู้สึกชอบในตัวใครซักคนเพียงอย่างเดียว เพราะมันเกี่ยวข้องกับความกลัวของเขาว่า เขาอาจจะไม่สามารถมีคู่สมรสเพียงคนเดียวได้ . ในวัยเด็กของ Zachary ต้องพบเจอกับประสบการณ์ที่พ่อของเขานอกใจแม่หลังจากแต่งงานกันเพียงไม่กี่ปี และถูกแม่ร่วมมือกับตา และทนายเพื่อไล่พ่อออกจากบ้าน และยึดทรัพย์สินทั้งหมดก่อนที่จะแต่งงานใหม่กับชายที่มีความซื่อสัตย์และมีศีลธรรมอย่างมาก ถึงแม้ว่าพ่อเลี้ยงใหม่ของ Zachary จะมีความสัมพันธ์กับแม่ของเขาอย่างดี แต่นั่นก็ไม่สามารถลบส่วนนึงในตัวตนของ Zachary ที่ซึมซับตัวตนของผู้เป็นพ่อที่แท้จริงมาก่อนหน้านั้นได้ ซึ่งตัวตนส่วนนึงของเขานั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการนอกใจแบบพ่อของเขาเลย แต่ภาพของพ่อสำหรับเขากลับกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายและไม่น่ายินดีอีกต่อไป รวมถึงภาพของความอบอุ่นร่วมกับพ่อของเขาเองก็ถูกลบเลือนหายไปด้วยเช่นกัน นั่นทำให้เขาไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าตัวเองจะมีคู่สมรสเดียวได้หากไม่เจอกับผู้หญิงที่เหมาะสม . ตัวอย่างของ Zachary อาจจะดูเหมือนว่าเขาอยากมีคู่สมรสมากกว่าหนึ่งคน แต่จริงๆ แล้วนี่อาจสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ ตัวเขาเองอาจจะไม่ได้อยากที่จะนอกใจใครเลย เพียงแต่เขาไม่มั่นใจเลยหากว่า วันนึงความสัมพันธ์นั้นออกมาไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่หวังไว้ และอาจนำไปสู่การหย่าร้างได้ ซึ่งภาพของการหย่าร้างสำหรับเขาก็กลับกลายเป็นสิ่งที่อาจสะท้อนไปถึงภาพของการนอกใจแบบพ่อ และถูกปฏิเสธจากแม่ของเขาเองก็เป็นได้ นอกจากนี้ ตัวอย่างนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าความสัมพันธ์ของพ่อและแม่นั้นก็เป็นตัวแบบของความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในอนาคตของเขาเองอีกด้วย . การที่ผมนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง เพราะอยากให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองดูว่า จริงๆ แล้วตัวเรากำลังมองหาความรักที่สมบูรณ์แบบอยู่รึเปล่า? ความรักในมุมมองของตัวเราเองเป็นยังไง? และนั่นอาจมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือตัวอย่างจากภาพครอบครัวของตัวเราเองก็ได้ ยังไงก็ตาม นั่นก็ไม่ได้จำกัดไว้เลยว่า ตัวเราจะต้องทนอยู่กับประสบการณ์เหล่านี้ตลอดไป เพราะโลกนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และการยึดติดอยู่กับความกลัวที่จะต้องก้าวออกมาจากภาพเก่าๆ นั้นคงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเท่าไรนัก . แค่ค้นลงไปให้ลึกในโลกภายในของตัวเอง (Internal world) และค่อยๆ ก้าวออกมาทีละนิดเพื่อเผชิญกับโลกแห่งความจริง . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล

.

. ย้อนกลับไปอ่านเรื่องโลกภายในได้ที่โพสนี้ >>> https://www.facebook.com/psychologistschairs/photos/a.2021402508133075.1073741829.2015610028712323/2065154233757902/?type=3&theater . Reference Mitchell, S. A., & Black, M. J. (2016). Freud and beyond: A history of modern psychoanalytic thought. Hachette UK.

Tavormina, R. (2014). Why are we afraid to love?. Psychiatria Danubina, 26(1), 178-183.

ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page