(อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย)
.
ผมเดินเข้าไปในร้านหนังสือด้วยความบังเอิญ และเจอหนังสือเล่มนี้ด้วยความบังเอิญเช่นกัน มันเกิดขึ้นในช่วงเที่ยงวันหนึ่งที่ผมยังเดินหาร้านข้าวในช่วงกลางวัน แต่การพบว่ามีคนในร้านเยอะมากผมจึงผละตัวเองออกมายังร้านหนังสือที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย
นี่คงเป็นชะตากรรมที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้วสำหรับชีวิตของผม อย่างเช่นที่ Frankl ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าเราควรย้อนถามชีวิตว่า 'ชีวิตคาดหวังอะไรจากเรา?' มากกว่าการมัวตั้งคำถามว่าเราคาดหวังอะไรได้บ้างจากชีวิตที่เป็นอยู่นี้
และในชีวิตที่เป็น 'หน้าที่' นี้ เราจะยังคงใช้ชีวิตต่อไปโดยรู้สึกถึงความหมายได้อย่างไร
.
หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Viktor E. Frankl นักจิตบำบัดสายอัตถิภาวะนิยมหรือ existentialism เขาเป็นนักจิตบำบัดที่เคยถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซีเป็นเวลากว่า 3 ปี และในภายหลังเขาก็ได้เขียนหนังสือที่สร้างชื่อให้เขาคือ 'Man's search for meaning'
สำหรับในหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมขึ้นมาจากการปาฐกถาของ Frankl ภายหลังจากหนังสือเล่มก่อน เขากลายเป็นนักจิตบำบัดที่ให้ความสำคัญเรื่องความหมายของการมีชีวิต (meaning of life) และในหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงให้กลิ่นอายแบบนั้น
ตอนแรกที่ผมเห็นชื่อหนังสือ ยอมรับว่ามีหวั่นอยู่บ้างกับคำว่า 'Yes to Life' ราวกับว่ามันจะเป็นเพียงหนังสือที่ชวนมองโลกในแง่บวกจนเกินเหตุ (นี่ยังไม่รวมถึงหน้าปกของมันที่ดูสดใสเกินกว่าเนื้อหาจริงๆ)
แต่เมื่อได้เริ่มอ่าน เอาเข้าจริงมันกลับเป็นหนังสือที่อัดด้วยแง่มุมอันลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตและมุมมองในเรื่องความหมายของชีวิต หนำซ้ำเนื้อหาที่ค่อนข้างจะเป็นขั้นเป็นตอนของมัน รวมทั้งเมื่อนึกภาพตามว่านี่เป็นคำปาฐกถาของคนคนหนึ่งไม่ใช่เพียงตัวหนังสือที่เขียนลงบนกระดาษ การอ่านไปด้วยจินตนาการว่ากำลังฟังผู้เขียนเล่าไปด้วยทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีกระบวนการคิดที่กลั่นกรองมามากมาย และทำให้ผมได้คิดกลั่นกรองต่อไปด้วยตรรกะของตัวเองอีกทอดหนึ่ง (ผมรู้สึกว่ามันเป็นการช่วยฝึกวิธีคิดที่ดี)
ขณะเดียวกัน เนื้อหาของหนังสือเล่มกลับทำให้รู้สึกปลงกับชีวิตเสียมากกว่าการฝืนมองโลกในแง่บวกเสียด้วยซ้ำ เพราะ Frankl กล่าวไว้เองตั้งแต่แรกในหนังสือเล่มนี้ว่า หากพิจารณาชีวิตทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่เราพบความทุกข์มากกว่าความสุขเสมอ ดังนั้นการตั้งต้นว่าความหมายของชีวิตคือการแสวงหาความสุขคงเป็นเรื่องผิดตั้งแต่แรก
สุดท้าย ส่วนหนึ่งในข้อสรุปของเขาจึงเป็น
'หากชีวิตมีความหมาย ความทุกข์ก็ต้องมีความหมายด้วย'
.
หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เป็นหนังสือให้กำลังใจอย่างที่ผมกังวลไปเองในตอนแรก แต่มันกลับเป็นหนังสือที่ชวนให้เราหันมามองโลกและชีวิตอย่างที่มันเป็น และส่วนหนึ่งนั้นคือการหันมามองความทุกข์ที่มีอยู่เสมอ
หลังอ่านจบ ผมไม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างแรงบันดาลใจใดๆ ได้มากกว่าเดิม แต่มันกลับทำให้รู้สึกถึงการน้อมรับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตและใช้ชีวิตอย่างนอบน้อม
ช่วงหนึ่งที่ผมชอบมากในหนังสือก็คือการที่ Frankl บอกว่า
"มันต้องใช้เวลาอีกนานหลายวันกว่าผู้ได้รับการปลดปล่อยจะสามารถมีความสุขกับอิสรภาพของเขา เขาต้องเรียนรู้ใหม่ถึงวิธีการมีความสุขอีกครั้ง และบางครั้งเขาต้องเร่งรีบเรียนรู้เรื่องนี้เสียด้วย เพราะว่าในไม่ช้าเขาก็จำเป็นต้องลบล้างมัน และต้องเรียนรู้ที่จะเป็นทุกข์อีกครั้ง"
ราวกับว่าแม้ในท้ายสุดแล้ว อิสรภาพก็ยังคงนำมาซึ่งความทุกข์ได้เช่นกัน
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
เก้าอี้นักจิต - ศูนย์บริการด้านสุขภาพจิตและการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
Comentários