.
"สำหรับคนที่มีความผิดปกติทางการกิน ก็คงต้องเข้าใจเสียก่อนว่าคนเหล่านั้นมีความ 'สัมพันธ์' กับอาหารแบบไหน"
คอนเซปแบบนี้มักเห็นได้บ่อยเวลาที่เราตำราการบำบัดคนที่เป็นโรคคลั่งผอม (anorexia) และโรคล้วงคอ (bullimia) แม้แต่เพื่อนคนหนึ่งของผมที่เคยมีประสบการณ์ตรงในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ก็ยังพูดในทำนองเดียวกัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใดยิ่งไปกว่านั้น "พฤติกรรมการกิน" หรือแม้แต่คอนเซปของ "การไดเอท" ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของคนอีกหลายคนที่มีต่อเรื่องเหล่านี้ได้ด้วย
.
หนังสือ "I ate it again" ของ คิมยุนอา ผู้ที่เป็นทั้งคนผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเองและให้คำปรึกษาปัญหาการกินผิดปกติกับคนอื่นๆ ก็ได้เล่าถึงประเด็นเหล่านี้
การกินอาหารนั้นฟังดูเรียบง่ายเสียจนยากจะมองว่าจะเกิดปัญหาการกินที่ผิดปกติได้อย่างไร รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมและค่านิยมต่างๆ ก็อาจทำให้เรื่องนี้ดูปกติไปซะอย่างนั้น
แต่ใครจะคาดคิดว่าการไม่ตระหนักถึงเรื่องราวของมัน หรือแม้จะตระหนักว่าเรา "กิน" หรือ "อด" เพื่ออะไรอาจสร้างปัญหาที่ตามมาได้ในแง่มุมทางจิตวิทยา คล้ายกับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ขาดหาย ว่างเปล่า และหมดขวัญกำลังใจจะเชื่อมั่นในตัวเองต่อไป
กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ตั้งคำถามกับตัวเองได้ซะแล้วว่า
"ที่กินอยู่นี่เพราะหิวหรือแค่เครียด/เศร้ากันนะ?"
.
หนังสือของคิมยุนอาเป็นหนังสืออยากจะนำมาแนะนำหลังจากได้อ่านจนจบ ตอนที่ผมซื้อมาครั้งแรกคงต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่พูดประเด็นที่น่าสนใจ และยังมีน้อยคนนักที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา
แน่นอนว่าหลายครั้งเวลาที่พูดถึงโรคทางจิตเวชอย่างคุ้นหูก็คงหนีไม่พ้นโรคซึมเศร้า แต่โรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตกลับยังมีแง่มุมที่มากมายกว่านั้นมาก
โรคการกินผิดปกติก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการอดอาหาร คลั่งผอม ล้วงคอ รู้สึกผิดที่กินเข้าไปจนออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือแม้แต่การสวาปามอาหารแบบควบคุมไม่ได้
พฤติกรรมเหล่านี้อาจมีที่มาที่ไปที่ลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าจะละเลย และอาจย้อนกลับไปว่าเรามีความสัมพันธ์หรือ mindset เกี่ยวกับการกินอาหารและรูปร่างตัวตนของเราอย่างไร
แม้แต่คนที่ตั้งใจลดน้ำหนักแต่ยังคงทำไม่ได้เสียทีจนทำเอาเครียดมากๆ ผมก็คิดว่าเป็นอีกกลุ่มคนที่ผมอยากแนะนำให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเหมือนกันครับ
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
Comments