top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

[หนังสือแนะนำ] How to keep your cool. (ว่าด้วยความโมโห) - เซเนกา (เจมม์ รอมม์, ed.)

.


ผมเดินไปเจอหนังสือเล่มนี้ในบูทหนังสือและคิดว่าน่าสนใจเลยลองซื้อมาอ่านดู จริงๆ แล้วระหว่างที่อ่านก็ไม่ได้ชอบมันเท่าไร แม้ตอนอ่านจบก็ไม่ได้ชอบแนวคิดในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด


ส่วนหนึ่งอาจเพราะเซเนกาเป็นนักปรัชญาสายสโตอิกที่ผมไม่คุ้นเคย และส่วนตัวผมก็ไม่ถูกโฉลกกับแนวคิดเถือกนี้มากนัก


มันเป็นการมองว่าเรื่องอารมณ์นี้ดูไร้สาระ โดยเฉพาะความโกรธที่กลายเป็นเพียงความบ้าคลั่งชั่วขณะหรือความวิกลจริตดังเช่นที่เซเนกาพูดถึงในหนังสือเล่มนี้


บางทีอาจเพราะชีวิตของเขาในยุคสมัยนั้น ซึ่งเราจะได้อ่านคร่าวๆ ในบทนำของหนังสือเล่มนี้จนเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเซเนกาจึงมองความโกรธในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่


เขาเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากความโหดร้ายและป่าเถื่อนของคนอื่นจนทำเอาผมอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาเขียนขึ้นมาในหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในการรับมือกับอีโก้ที่ถูกทำลายของตัวเขาเอง (การพูดแนวๆ ยกตนว่าดีกว่าสัตว์อื่นของมนุษย์และมนุษย์ด้วยกันในบางส่วนของหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างน่าอึดอัด)


ยังไงก็ตาม มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เซเนกาเขียนไร้ประโยชน์ซะทีเดียว


การได้อ่านและคิดตาม (รวมทั้งสำรวจตัวเอง) ไปพร้อมกับหนังสือเล่มนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าพอจะมองเห็นวิถีทางของการรับมือกับความโกรธ


ผมคิดว่าบางคนที่รู้สึกถูกโฉลกกับหนังสือเล่มนี้ได้และคิดตามสิ่งที่เซเนกาตั้งคำถาม ในเรื่องความโกรธอันไร้สาระจากความเย่อหยิ่งในตัวเองหรืออัตตาของตัวเองจนนำมาสู่การโกรธจากความรู้สึกถูกล่วงเกินในแง่มุมต่างๆ อาจพอมองเห็นอะไรบางอย่างภายในตัวเองมากขึ้นจนอยู่เหนือความโกรธของตัวเองได้


สิ่งหนึ่งผมอาจจะรู้สึกว่ายังสับสนกับเซเนกาอยู่หน่อยคือเขายังคงมองว่าการ 'ไม่โกรธ' นั้นดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายจังหวะที่ทำให้สงสัยอยู่ดีว่า 'หรือจริงๆ แล้วควรจะโกรธมากกว่า' กับในบางเรื่อง


อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือในช่วงท้ายของหนังสือที่เซเนกาจะพูดถึงการเสียเวลาไปกับความโกรธในชีวิตที่มีเวลาจำกัด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าบางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่กับความโกรธแค้นมากเกินไปจริงๆ อย่างที่เซเนกาบอกจนหลงลืมที่จะรู้จักความรักที่ผ่านมาในชีวิต


ในภาพรวม แนวคิดของเซเนกา (ปรัชญาสโตอิก) จากหนังสือเล่มนี้ก็อาจเทียบได้ดีกับตัวอย่างของแนวคิดการทำจิตบำบัดแบบ CBT (ที่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาสโตอิกนี่แหละ) ดังนั้นผมเลยคิดว่านี่คงพอจะเป็นหนังสือแนะนำได้สำหรับคนที่พยายามหาวิธีจัดการอารมณ์ฉุนเฉียวของตนอยู่


แต่อย่างที่บอก ผมอาจจะไม่ได้ซื้อแนวคิดนี้ทั้งหมดเพราะผมยังมองว่าความโกรธมีเหตุผลของมัน เราจึงไม่ควรรู้สึกผิดบาปหรือตำหนิตัวเองที่จะโกรธ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว เนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ถ้าจะอ่านให้ดีน่าจะจับใจความไปที่ 'การใช้ความโกรธให้เป็น' มากกว่า

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

นักจิตวิทยาการปรึกษา




ดู 64 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page