top of page
ค้นหา

สุภาพบุรุษสุด (ซึม) เศร้า: โรคซึมเศร้าของผู้ชาย ที่หลายคนอาจมองข้าม

.


“โครโมโซม Y ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันนะเว้ย!” - Man Therapy

สวัสดีครับ สำหรับในบทความนี้ผมอยากมอบมันให้กับเหล่าชายหนุ่มทั้งหลาย 

และคิดว่าก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพศชายเพื่อจะได้เข้าใจสิ่งนี้ไปพร้อมกันด้วย 


โดยสิ่งที่ผมอยากจะเล่าถึงในบทความนี้คือเรื่องเกี่ยวกับ “อาการซึมเศร้าของผู้ชาย”

.


.


ก่อนอื่น ขอพูดถึงเหตุผลที่สำคัญก่อนว่าทำไมเราจะต้องพูดถึงเรื่องนี้


อย่างที่เขียนไว้ในภาพประกอบว่า


“Men don’t cry, they suicide instead.”(ผู้ชายไม่ร้องไห้ พวกเขาฆ่าตัวตายแทนไงล่ะ)


นั่นก็เพื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหนที่เราต้องพูดถึงอาการซึมเศร้าในผู้ชายกัน

.


เวลาที่เราพูดถึงโรคซึมเศร้าหรืออาการซึมเศร้า เรามักพบสถิติได้ว่าผู้หญิงมีโอกาสมีอาการเหล่านี้ได้มากกว่าผู้ชาย ทั้งด้วยอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาทางอารมณ์อย่างง่ายๆ ในแง่ของความเศร้าเสียใจเกือบตลอดเวลา นิ่งซึม มีอารมณ์อ่อนไหว ไม่มั่นคง และ รู้สึกสิ้นหวัง ก็เห็นได้ชัดเจนในเพศหญิง 

รวมไปถึงสถิติของการพยายามฆ่าตัวตายก็อาจมีให้เห็นได้มากกว่าผู้ชายอีกด้วย


แต่ยังไงก็ตาม จากสถิติที่ผ่านมาเราก็กลับพบได้ว่า 

คนที่มีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จกลับเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงซะอย่างงั้น!


โดยหากเราย้อนกลับไปดูข้อมูลตามสถิติของการฆ่าตัวตายสำเร็จที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี 

เราก็อาจพบได้ว่า คนจำนวนมากที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจะเป็นผู้ชาย 

และหากเราอ้างอิงด้วยบทความวิชาการของจรรยารักษ์และคณะ ที่ตีพิมพ์ในปี 2564 แล้วจะพบว่า 

อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของเพศชายในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2559 สูงกว่าเพศหญิงถึง 3.39 - 4.15 เท่าอีกด้วย


ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ก็พบว่า

การเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลา ปี 64 - กันยา ปี 65 มีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นเพศชายไปแล้วกว่า 79.5%


ดังนั้น อาการซึมเศร้าในผู้ชายจึงอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซีเรียสอย่างมาก

.


“นี่หรือมันคือหัวอกของผู้ชาย”

คำพูดเหมือนตัดพ้อประชดชีวิตที่อาจได้ยินบ่อยๆ ในหมู่ผู้ชายเมื่อเจอเรื่องทุกข์ 

และอาจได้ยินบ่อยพอๆ กับการพูดว่า “น้ำตาลูกผู้ชาย” เวลาที่เผลอน้ำตาไหลออกมาแบบซึ้งๆ


แต่การคำพูดเหล่านี้ของผู้ชาย หากเราไม่สังเกตให้ลึกขึ้นและพยายามตีความมากขึ้น 

ก็อาจเห็นเพียงแค่ท่าทีที่เข้มแข็ง ทรหด อดทน กัดฟันสู้ชีวิตอย่างน่าภาคภูมิใจเท่านั้น


ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจเป็นสัญญาณของความเจ็บปวดในใจลึกๆ ของคนแมนๆ ก็ได้


เนื่องด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งเหล่านี้เอง 

ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการซึมเศร้าในผู้ชายมักไม่ค่อยถูกพูดถึง 

ก็เพราะว่าเวลาที่เราพูดถึงโรคซึมเศร้า เราก็อาจเผลอไปยึดโยงกับความเศร้าและความรู้สึกสิ้นหวังเท่านั้น 


แต่สำหรับอาการซึมเศร้าในผู้ชาย มันอาจมีหน้าฉากเป็นมวลอารมณ์แห่งความเดือดดาล ความกล้าได้กล้าเสีย และพฤติกรรมการใช้สารเสพติดต่างๆ แทน

.


“คุณเคยรู้สึกหงุดหงิดรำคาญได้ง่ายๆ มั้ย?”
“อยากปลีกตัวไปอยู่คนเดียวไม่ยุ่งกัยใครบ้างรึเปล่า?”
“พบว่าตัวเองเอาแต่ทำงานแทบจะตลอดเวลาบ้างมั้ย?”
“กินเหล้าเยอะไปรึเปล่า?”

คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าคิดเวลาที่เราต้องสังเกตอาการซึมเศร้าในผู้ชาย


จริงอยู่ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็อาจมีอาการซึมเศร้าในแบบเดียวกันตามเกณฑ์วินิจฉัยโรคซึมเศร้า

แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาจแตกต่างกันได้ เพราะมันเป็นท่าทีของแต่ละคนที่พยายามรับมือกับความเจ็บปวดทางใจของตัวเอง


และด้วยอิทธิพลของบทบาททางเพศบางส่วน โดยเฉพาะกับคนที่มีความเป็นชายสูงมาก แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่คุณจะได้เห็นน้ำตาลูกผู้ชาย และการบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวออกมาให้ได้ยิน


ยังไงก็ตาม เราก็ยังคงสังเกตและคาดเดาอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ชายได้ด้วยพฤติกรรมของพวกเขา เพราะเวลาที่ผู้ชายมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้น พวกเขาก็อาจหันไปหาวิธีการจัดการอารมณ์ตัวเองแบบ unhealthy ได้เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับกันในหมู่ผู้ชายก็ได้


ตัวอย่างเช่น 

การหมกมุ่นกับงานหรือกีฬาอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง

การดื่มเหล้า สูบบุหรี ใช้กัญชา กระท่อม หรือ สารเสพติดอื่นๆ

ทำตัวก้าวร้าว หัวฟัดหัวเหวี่ยง ใช้ความรุนแรง

ขับรถเร็ว เล่นพนัน ดูหนังโป๊ หาคู่นอน

ฯลฯ


นอกจากนี้ อาการซึมเศร้าในผู้ชายก็อาจแสดงออกมาในรูปแบบของอาการทางกายได้อีกด้วย เช่น อาการปวดหัว อาหารไม่ย่อย เหนื่อยล้า ไม่สบายตัว ป่วยง่ายหายยาก ฯลฯ ซึ่งก็เป็นผลมาจากทั้งความเครียดสะสมและพฤติกรรมสุด unhealthy ที่ผ่านมา


แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดก็คงยังหนีไม่พ้นการฆ่าตัวตายที่มักประสบความสำเร็จมากกว่าผู้หญิงเสมอ (ทำแล้วมีโอกาสตายจริง) เพราะผู้ชายอาจเลือกที่จะไม่แสดงให้เห็นสัญญาณใดๆ ให้คนรับรู้เลยว่าพวกเขามีปัญหา แต่จะเก็บอารณ์ความรู้สึกเอาไว้ด้วยท่าทีนิ่งขึม และอาจคิดแล้วทำเลยได้ง่ายมากเนื่องจากความใจร้อน

.


“อีกสิ่งหนึ่งที่เหี้ยมากจริงๆ คือ เวลาที่คุณรู้สึกซึมเศร้าแล้วคุณดันหมดหวังที่จะกลับมารู้สึกดีได้อีกครั้ง จากนั้นก็เลือกที่จะแดกยาพิษ ทั้งเหล้า ยา วิดีโอเกมส์ หนังโป๊ ฯลฯ เพียงเพื่อให้ได้ลิ้มรสชาติหวานๆ ของโดปามีน แต่เพราะมันเป็นเพียงการเอาสก็อตเทปมาแปะทับปัญหาที่แท้จริงเอาไว้ (และก็แทบไม่ได้ผลในหลายๆ ครั้ง) ไม่นานคุณก็จะพบว่าตัวเองอยู่ในวงจรของการทำให้อาการซึมเศร้าแม่งแย่ลงไปอีก” - Man Therapy

นี่กลายเป็นอีกเรื่องที่ต้องยอมรับว่า ยิ่งกว่าการที่ผู้ชายจะมองไม่เห็นหรือละเลยปัญหาด้านจิตใจของตัวเองแล้ว คือการที่พวกเขายังอาจเลือกใช้วิธีไม่ต่างจากการแก้ผ้าเอาหน้ารอดและหลีกเลี่ยงวิธีการรักษาที่ถูกต้อง


การรับมือกับปัญหาด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกที่เป็นนามธรรรม แต่ผู้ชายหลายคนอาจไม่คุ้นชินกับการพูดถึงความรู้สึกของตัวเองกับใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว และอาจมีทัศนคติที่คิดไปว่าการทำสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไม่แมนเลย จนกลายเป็นว่าพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตไปด้วย

.


“หรือกูจะเริ่มซึมเศร้าวะ?”

จากที่บอกว่าผู้ชายหลายคนอาจจะไม่เคยพูดเรื่องความรู้สึกตัวเองกับใครมาก่อน 

มันก็อาจเป็นเรื่องยากไปด้วยที่คุณจะอธิบายความรู้สึกของตัวเองออกมายังไง


พอเป็นแบบนั้น การรู้จักสังเกตสัญญาณที่อาจบ่งบอกได้ว่าคุณอาจเสี่ยงซึมเศร้าอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเคยดูเหมือนเป็นเรื่องปกติแบบผู้ชายๆ ก็ตาม


เราสามารถสังเกตสัญญาณของอาการซึมเศร้าในผู้ชายจากสิ่งเหล่านี้ได้

1. รู้สึกหมดแรง ไม่มีแรง

2. หมดอารมณ์ทางเพศ นกเขาไม่ขัน ไม่สามารถสำเร็จความใคร่ได้

3. มีปัญหาสุขภาพบ่อยๆ เช่น ปวดหัว อาหารไม่ย่อย

4. เบื่ออาหาร หรือ หิวเกือบตลอดเวลา

5. กระวนกระวาย ไม่สงบ หมกหมุ่นกับงานมากเกินพอดี

6. ดื่มเหล้า/สูบบุหรี่จัด

7. หงุดหงิดง่าย โมโหหัวเสียเกือบตลอดเวลา เริ่มใช้ความรุนแรง

8. ไม่ยินดียินร้ายเรื่องใดๆ หมดความสนใจในทุกๆ เรื่อง ไม่อยากเจอผู้คน

9. มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เช่น เล่นพนัน ขับรถเร็ว ซื้อบริการ เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

10. หมกมุ่นเรื่องความตาย หรือ คิดอยากตาย


หากคุณสังเกตว่าตัวเองเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้มากเกินไปแล้วล่ะก็ รวมถึงยังหาสาเหตุไม่ได้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ต้องย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเองบ้างแล้ว

.


“การพบนักจิตวิทยายังเป็นเรื่องไม่แมนอยู่มั้ย?”

นี่คงเป็นคำถามในขั้นสุดท้ายของการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของเหล่าชายฉกรรจ์ และผมคิดว่าคงปฏิเสธไม่ได้ที่ภาพของการดูแลสุขภาพจิตหรือการมาพบนักจิตวิทยา/นักจิตบำบัดจะถูกเชื่อมโยงกับการไม่ใช่ชายแท้มากเกินไป


เพราะนอกจากภาพของการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นที่ขัดกับความเข้มแข็งแบบลูกผู้ชายแล้ว

ภาพของการมานั่งคุยกับคนอื่นเรื่องความรู้สึกของตัวเอง ก็ยังเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดสำหรับผู้ชายอีกด้วย


จริงอยู่ว่าพวกคุณผู้ชายทั้งหลาย (รวมถึงคนที่พยายามจะเข้มแข็งเพื่อรักษาความแมนอยู่) อาจจะไม่คิดว่าตัวเองสามารถพูดเรื่องความรู้สึกกับคนรอบข้างได้ แต่สำหรับการพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่พวกคุณควรเว้นไว้


เพราะเป้าหมายของการพูดคุยนั้นไม่ใช่เพื่อการระบายเพียงเท่านั้น แต่เพื่อให้ตัวคุณสามารถหาทางออกของปัญหาที่แท้จริงของตัวเอง และหาวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองในแบบที่ healthy ให้ได้ด้วย


การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจึงเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายในการพัฒนาตัวคุณเอง

เช่นเดียวกับการปรึกษาโค้ชกีฬา จ้างเทรนเนอร์ พบแพทย์เวลาป่วย หรือ เข้าวัดไปทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์


หากคุณทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน การขอความข่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งที่ไม่ต่างกันนักหรอก

.


ขอให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง และไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังครับ

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

co-founder และ นักจิตวิทยาการปรึกษา ของเก้าอี้นักจิต

.


อ้างอิง

จรรยารักษ์ มีวงษ์สม, สุวรรณา โควะวินทวีวัฒน์, และอรรถพล แช่มสุวรรณวงศ. (2564). สถานการณ์ และ วิธี การ ฆ่า ตัว ตาย ที่ สัมพันธ์ กับ เพศ-ช่วง อายุ-ภูมิภาค ใน ประเทศไทย ปี พ. ศ. 2555-2559. วารสารวิชาการอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร, 7(2), 90-107.

Mayo Clinic Staff. (2022, December 21). Male depression: Understanding the issues. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/male-depression/art-20046216

Man Therapy. (n.d.). Gentalmental health 101: Depression. Man Therapy. https://www.mantherapy.org/mental-health-basics/depression

ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. (2565, พฤศจิกายน 6). ปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย ปี 2565. https://suicide.dmh.go.th/news/

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page