.
สวัสดีครับ ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Platform ใน Netflex ซึ่งหลายๆ คนให้ความสนใจกับหนังเรื่องนี้พอสมควร เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีสัญลักษณ์ให้เราสามารถตีความได้หลายอย่างมาก แม้กระทั่งตอนจบของเรื่องก็ยังทิ้งความสับสนให้หลายๆ คนอีกด้วย
หลายๆ คนตีความเรื่องราวในหนังเรื่องนี้ที่คล้ายกันคือเป็นการบ่งบอกถึงเรื่องระบบชนชั้น อำนาจ การบริหารทรัพยากร และจิตใจที่ดำมืดของมนุษย์เมื่อต้องเผชิญความยากลำบากของชีวิต แต่ในที่นี้ผมอยากเขียนถึงอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือการที่จะมาลองตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เพื่อสะท้อนถึงสภาวะจิตใจที่ลึกลับซับซ้อนของคนเรา
ก่อนอื่นผมขอเล่าเรื่องย่อซักนิดเพื่อให้คนที่สนใจลองไปรับชมก่อนมาอ่านบทความของผมได้ เพราะจะมีการเล่าถึงเนื้อหาสำคัญของภาพยนต์เรื่องนี้ครับ
.
เรื่องย่อ: The Platform เป็นเรื่องราวที่พูดถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “หลุม” มีลักษณะเหมือนคุกแนวตั้งและมีหลุมอยู่ตรงกลางที่เชื่อมให้มองเห็นกันระหว่างชั้นบนและล่างทอดยาวลงไป โดยที่หลุมตรงกลางจะมีถาดอาหารเลื่อนลงมา และคนที่อยู่ข้างล่างก็ต้องกินอาหารที่เหลือจากคนข้างบน นอกจากนี้ การที่จะตื่นขึ้นมาในชั้นไหนของสถานที่แห่งนี้ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นแบบสุ่มทุกๆ เดือน โดยจะมีรูมเมทคนนึงอยู่ด้วยในชั้นนั้นตลอดเวลา
.
***หลังจากนี้จะมีการสปอยเนื้อหาสำคัญ***
.
ตัวเอกของเรื่องมีชื่อว่า “โกเรง” (Goreng) เขาตื่นขึ้นมาในชั้น 48 และได้พบกับลุงคนนึงที่อยู่มาก่อนแล้ว ซึ่งลุงคนนี้ก็คือคนที่อธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสถานที่นี้ให้ฟัง ยังไงก็ตาม มีความขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างพวกเขาสองคนเกิดขึ้น ทั้งเรื่องของความคิดเห็นแบบคนที่อยู่มาก่อนจนคุ้นชินกับความเห็นแก่ตัวกับคนที่เพิ่งมาใหม่ และความขัดแย้งกันของการที่พวกเขามาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ นั่นคือ ลุงคนนั้นเป็นคนที่เกิดความผิดพลาดในชีวิตทำให้คนคนนึงตายจึงต้องเลือกระหว่างการเข้าโรงพยาบาลจิตเวชกับ ‘หลุม’ ในขณะที่โกเรงเขาเข้ามาที่นี่เพื่อเลิกบุหรี่และจะได้รับใบรับรองกลับไป นี่เป็นจุดที่น่าแปลกใจมากว่าเพราะอะไรคนสองคนที่ต่างกันถึงมาตกอยู่ในสถานะเดียวกันนี้ และใบรับรองเป็นสิ่งที่โกเรงจะได้เพียงคนเดียวในขณะที่ลุงร่วมห้องบอกอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้รับข้อเสนอเรื่องนี้เลย ผมจึงคิดว่าหากนี่ไม่ได้เพียงบอกเรื่องราวของระบบชนชั้นแล้ว อาจเป็นการสะท้อนถึงภาพการมาเข้ารับการทำจิตบำบัดของโกเรงก็ได้
แล้ว จะเป็นยังไงถ้าแต่ละชั้นของ ‘หลุม’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงระดับชนชั้นที่ต่างกัน แต่กลับเป็นระดับของจิตใจของคนเราที่ลึกลงไปแบ่งย่อยเป็นอีกหลากหลายชั้นกว่าที่เราเคยสังเกตเห็น?
.
ใน ‘หลุม’ นั้นมีลักษณะที่ถูกแบ่งออกมากกว่า 200 ชั้น และเราไม่เคยได้เห็นว่าคนที่อยู่ชั้นหนึ่งเป็นอย่างไร (ในหนังให้เราเห็นได้สูงสุดคือชั้นที่ 5 และผมไม่ขอนับชั้น 0 ซึ่งเป็นชั้นที่อาหารถูกจัด) โกเรงที่อยากเลิกบุหรี่จึงเข้ามาในที่แห่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสภาพจิตใจของเขาอาจตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อยู่บ้าง เขาต้องการเข้ารับการบำบัด ซึ่งตามปกติแล้วการเสพติดบุหรี่มักมีเรื่องราวที่ซ่อนลึกมากกว่าการเสพติดเฉยๆ นั่นคือบุหรี่มักเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนเราใช้เพื่อจัดการกับความเครียดและวิตกกังวลของตัวเอง
โกเรงที่ตื่นมาในแต่ละชั้นที่แตกต่างกันออกไปอาจหมายถึงสภาวะจิตใจของคนเราที่ไม่คงที่ บางช่วงเวลาเราอาจตื่นขึ้นมาในสภาวะจิตใจที่อยู่ในชั้นสูง หรือบางทีเราก็ตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ตกต่ำได้โดยไม่รู้ตัวหาก ‘ระบบ’ ของจิตใจเราไม่มีความมั่นคงแน่นอนเท่าที่ควรเช่นเดียวกับระบบของหลุมในหนังเรื่องนี้ (ที่เห็นภาพชัดที่สุดคงเป็นลักษณะของคนที่มีอาการไบโพล่าซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์แบบขึ้นและลงในทุกๆ 1-2 เดือน และบางทีก็เกิดขึ้นแบบผสมๆ กันได้)
.
การที่ในแต่ละชั้นของหลุมจะอยู่กันเป็นคู่ นั่นแสดงให้เราได้เห็นถึงความขัดแย้งกันของคนที่อยู่ร่วมกันอย่างมาก แต่ผมคิดว่านี่ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะจิตใจของคนเราที่มักมีความขัดแย้ง (conflict) เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และความขัดแย้งมักจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อยิ่งอยู่ในชั้นที่ลึกลงในสภาวะจิตใจของคนที่มีปัญหาทางใจบางอย่าง คุณอาจลองนึกภาพถึงภาะวที่เราเกิดการถกเถียงกับตัวเองในหัวระหว่างความคิดสองฝั่ง และจะมีความเข้มข้นของการไม่ลงรอยกันมากขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะจิตใจเรากำลังตกต่ำอย่างถึงที่สุด
.
ในที่นี้ผมยังคงมองว่าอาหารนั้นหมายถึงทรัพยากรเช่นเดียวกัน แต่ทรัพยากรในที่นี้อาจไม่ได้เป็นเพียงทรัพยากรเชิงกายภาพเท่านั้น แต่อาจรวมถึง ‘ทรัพยากรทางจิต’ ด้วย ในการผ่านแต่ละชั้นทรัพยากระเหล่านี้จะสูญเสียไป หรือพูดให้ง่ายก็คือเราต้องมีทรัพยากรอย่างมากในการที่จะไปถึงชั้นสุดท้าย แต่ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นกลับมีอยู่อย่างจำกัดเหมือนกับพลังงานทางจิตของคนเราในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนั้นการที่จะมีทรัพยากรหรือพลังงานเพียงพอไปถึงยังชั้นที่ลึกลงไปจึงดูเหมือนจะต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างดี และรวมไปถึงการ ‘อดกลั้น’ จากความปรารถนาของตัวเองในชั้นแรกๆ ด้วยเช่นกัน
.
ในตอนที่โกเรงได้ขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 6 เราก็จะได้เห็นว่าคนที่อยู่ในชั้น 5 นั้นเป็นอย่างไร พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุข กินอาหารที่เพียงพอ มีเซ็กส์กัน และเหยียดหยามคนที่อยู่ต่ำกว่าได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไรนอกจากนั้น ผมคิดว่านั่นเป็นระดับของสภาวะจิตใจที่คนเรามีอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือเวลาที่เราใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่คำนึงถึงสิ่งต่างที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่กระทั่งกานตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเองที่อาจทำร้ายคนอื่นได้ง่าย เช่นในเรื่องนี้เราจะได้เห็นการเหยียดผิว และประเด็นทางศาสนาเล็กน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันปกติของคนเรา นั่นคือเราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเลยแม้แต่น้อย
.
ผมคิดว่าคนในแต่ละชั้นนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน รวมถึงลุงคนแรกที่โกเรงเจอ ลุงคนนั้นเปรียบเหมือนจิตใจอีกด้านหนึ่งของโกเรงที่พยายามกดทับไว้ มันคือตัวตนของความเด็ดขาดป่าเถื่อนและไร้ความเห็นอกเห็นใจ หรือเราอาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ตัวตนของความเห็นแก่ตัว” ซึ่งคนที่ดูหนังเรื่องนี้จะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นตัวตนที่ทำให้เรารู้สึกรังเกียจได้มากที่สุด แต่กลับเป็นตัวตนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการมอบพลังให้กับโกเรงเมื่อเขาต้องเผชิญความยากลำบาก (ในทางจิตวิเคราะห์อาจมองได้ว่านี่คือภาพสะท้อนตัวตนของ ‘พ่อ’ ใน Oedipus complex) การที่โกเรงเอาชนะลุงคนนั้นได้เหมือนกับเขาได้ถูกปลดปล่อยจากความกลัว เขาเริ่มรู้สึกถึงการมีอำนาจ และรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการเอาตัวรอดต่อไป
.
ต่อมาโกเรงได้อยู่ร่วมห้องกับผู้หญิงคนหนึ่งในชั้น 33 มันเป็นชั้นที่ดีกว่าเดิมในตอนแรกอย่างมาก (เขาผ่านชั้น 48 และต้องกินเนื้อคนในตอนที่อยู่ชั้น 171) ผู้หญิงคนนี้มาพร้อมกับสุนัขตัวหนึ่ง เธอพยายามที่จะพลัดกันกินอาหารระหว่างตัวเองกับสุนัขของเธอ รวมทั้งพยายามจัดจานอาหารให้คนที่อยู่ข้างล่าง พร้อมขอร้องให้พวกเขาทำตามที่เธอบอกคือการจัดเท่าที่พอและจัดจานให้คนที่อยู่ข้างล่างลงไปอีกเป็นทอดๆ
.
ผู้หญิงเจ้าของสุนัขคนนั้นเป็นคนที่เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ และยังเชื่อในความมีจิตสำนึกของมนุษย์เรา ในขณะที่โกเรงขาดความเชื่อมั่นไปพอสมควรแล้ว เธอพยายามโน้มน้าวคนที่อยู่ข้างล่างแบบเดิมต่อไปอยู่นานแต่ก็ไม่ได้ผล จนกระทั่งโกเรงเป็นคนที่สั่งพวกคนที่อยู่ข้างล่างด้วยการข่มขู่แทน การข่มขู่ของโกเรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า ราวกับว่าเธอที่เกลี้ยกล่อมคนอื่นอยู่นานดูเป็นคนโง่ และมีแนวคิดอุดมคติมากเกินไป ผมคิดว่าเธอเป็นเหมือนภาพสะท้อนของตัวตนในอุดมคติของคนเรา เป็นตัวตนที่ยังเชื่อในจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่กลับเป็นความเชื่อที่ขาดการมองตามความเป็นจริง เธอจึงถูกทำให้แตกสลายได้ง่ายเมื่อสุนัขของเธอถูกฆ่า และต้องตกลงไปอยู่ชั้นที่ 202 เธอก็ฆ่าตัวตายในทันที ยังไงก็ตาม ในทางจิตวิเคราะห์เธออาจเปรียบเสมือนตัวตนของ ‘แม่’ ที่ทำให้โกเรงกลับมารู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจอีกครั้ง รวมถึงการเชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ที่อาจยังหลงเหลืออยู่บ้างเมื่อการฆ่าตัวตายของเธอก็หมายถึงการเสียสละให้เขาได้กินเนื้อเธอเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกด้วย
.
ลุงคนแรกและผู้หญิงที่เลี้ยงสุนัขเป็นสองตัวละครที่มีบทบาทพอสมควรสำหรับการหาสมดุลทางจิตใจของโกเรง แต่นั่นก็ไม่ได้เพียงพอในขณะที่เขาอยู่ในจุดที่กำลังตกต่ำอย่างชั้น 202 แม้กากลับขึ้นมาอีกครั้งในชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นที่สูงที่สุดเขาก็ยังคงเหม่อลอยอยู่ซักพักก่อนที่เขาจะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
.
ในตอนที่เขาได้มีโอกาสมาอยู่ที่ชั้น 6 เขาได้พบกับชายผิวสีคนหนึ่งที่ศรัทธาในพระเจ้า เขาเชื่อมั่นในพระเจ้าและเชื่อมั่นในผู้คนอยู่พอสมควร แต่เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อถูกกลั่นแกล้งจากคนที่อยู่สูงกว่า แต่ในที่สุดโกเรงก็ได้ตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้พบกับเขา มันเหมือนกับว่าเขาได้พบตัวตนที่มีศรัทธาต่อบางสิ่งที่เหนือกว่ามนุษย์เพียงอย่างเดียว ในตอนที่เขาตัดสินใจลงไปเพื่อแจกจ่ายอาหารพร้อมกันนั้น ผมสังเกตได้ว่าคนผิวสีคนนี้เป็นตัวตนที่มีความสำคัญอย่างมากเพื่อให้เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงยังคงลุล่วงต่อไป นั่นคือเขายังคงเป็นคนที่มีศรัทธาต่อ “สาร” ที่ตั้งใจจะสื่อ ในขณะที่โกเรงพร้อมจะยอมแพ้ได้เมื่อลงไปยังชั้นที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ
.
ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งองค์ประกอบในความพร้อมของสภาวะที่โกเรงอยู่ในจุดที่สูงพอ และมีตัวตนแห่งความศัทธาต่อบางสิ่งอยู่ข้างๆ ตัวเอง เขาจึงสามารถจัดสรรอาหารให้กับคนที่อยู่ต่ำกว่าลงไปได้ และการที่เขาเลือกจะบังคับให้คนในชั้นที่ 6 - 50 อดอาหาร 1 วันก็เป็นเหมือนการที่เราพยายามอดกลั้นต่อความต้องการที่ไม่จำเป็นหรือเป็นความต้องการที่สามารถอดทนรอได้ เขาและเพื่อนผิวสีได้แบ่งอาหารให้กับคนที่อยู่ในชั้นลึกลงไปคนละเล็กละน้อย ราวกับว่าเขาได้เติมเต็มความต้องการในส่วนลึกของจิตใจบ้าง (unmet desire) แต่การเดินทางของเขาก็ทำให้เขาเหนื่อยล้า ยิ่งลึกลงไปเท่าไรก็ยิ่งทำให้เขาเริ่มเหนื่อยล้ามากขึ้นทีละน้อย รวมถึงไม่รู้ได้เลยว่าชั้นสุดท้ายคือชั้นไหน แต่การที่เขามีตัวตนที่มอบความศรัทธาต่อการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ด้วยทำให้เขาลงไปถึงชั้นสุดท้าย นั่นคือชั้นที่เขาได้พบกับเด็กคนหนึ่ง
.
พวกเขาได้มอบพานาคอตต้าที่ปกป้องมาตลอดให้กับเด็กคนนั้น แล้วสุดท้ายพวกเขาพบว่านี่อาจเป็นสารที่ทำให้เจ้าของระบบเกิดการตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ซึ่งมันผิดกับกฏที่พวกเขาตั้งไว้คือไม่มีคนที่อายุต่ำกว่า 16 ในหลุมนี้ โกเรงจึงคิดจะส่งเด็กขึ้นไปพร้อมกับถาดอาหารในท้ายที่สุด
.
ผมคิดว่าเด็กเปรียบเสมือนส่วนลึกที่สุดของจิตใจคนเรา นั่นคือตัวตนที่สะท้อนถึงอดีต ความไร้เดียงสา และความเปราะบางที่หลายคนมักพยยายามปกป้องหรือแม้แต่จะลบให้เลือนหายไป ตัวตนของเด็กจึงอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดจากการรับรู้ของเราเพื่อให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องตระหนักถึงความอ่อนแอของการเป็นมนุษย์ และเราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นอกเห็นใจกันเองเพื่อความอยู่รอด แต่การเก็บตัวตนนี้ไว้ล่างสุดโดยไม่ตระหนักถึงการมีอยู่ ทำให้เราไม่เห็นใจตัวเราเอง เราไม่แบ่งปันทรัพยากรที่อยู่อย่างจำกัดให้กับตัวตนที่อยู่ลึกลงไป และเชื่อว่าเด็กไม่มีอยู่จริงในหลุมนี้
.
ในท้ายที่สุดโกเรงช่วยเหลือเด็กไว้ได้ และเขาเองก็ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในชั้นสุดท้ายราวกับว่าเขาทิ้งความเจ็บปวดที่ผ่านมา ตัวตนที่ทนทุกข์มาตลอดของเขาในการเอาตัวรอดไปวันๆ อยู่ข้างล่างนั่น และให้ความสำคัญกับตัวตนที่เปราะบางโดยนำเด็กคนนั้นขึ้นมาอยู่ในระดับของการรับรู้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนตระหนักถึงอนาคตอันเนื่องมาจากผลของการกระทำของตัวเอง แต่อีกตัวละครหนึ่งที่ผมจะไม่พูดถึงไม่ได้คือตัวละครผู้หญิงที่ลงมาพร้อมถาดอาหารในตอนแรกเพื่อตามหาลูกของตัวเอง และไล่ฆ่าทุกคนที่จะทำร้ายเธอ
.
เธอดูไม่เหมือนคนที่จะตามหาลูกเพียงอย่างเดียว เพราะเธอคงพบเจอเด็กคนนั้นตั้งแต่แรกแล้ว แต่เธออาจกำลังปกป้องเด็กคนนั้นอยู่ก็ได้ เธอจะกำจัดทุกคนที่ดูมีพิษภัยหรือจะเป็นอันตรายกับเด็กยกเว้นโกเรงที่ดูจะมีใจเมตตากับเธอในตอนแรก ผมคิดว่าเธอจึงเปรียบเสมือนตัวตนที่คอยปกป้องความเปราะบางของจิตใจ หรือหากพูดให้ง่ายขึ้นในเชิงจิตวิทยาก็คือ เธอคือตัวแทนของกลไกการป้องกันตัวเองทางจิต (defense mechanism) ที่คอยช่วยเหลือให้จิตใจของเราอยู่ในสมดุลได้บ้าง แต่มันกลับเป็นตัวตนที่ไม่สามารถควบคุมได้ เธอจึงมีลักษณะที่ไม่สามารถเดาทางได้เลยว่าเธอจะทำอะไร (การที่เธอฆ่าสุนัขของผู้หญิงร่วมห้องนั่นน่าตกใจ แต่ก็อาจสะท้อนถึงการที่จิตใจเราปกป้องตัวเองจากการคล้อยตามภาพในอุดมคติที่มากเกินไปจนอาจจะต้องเจ็บปวดมากกว่านี้)
.
ในตอนท้าย ตัวตนของโกเรงมีความเข้มแข็งมากขึ้น เขาสามารถเดินทางถึงชั้นสุดท้ายได้ และตัวตนที่คอยปกป้องก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป โกเรงเข้มแข็งพอที่จะปล่อยให้เธอตายและทำภารกิจของตัวเองต่อไปได้จนสำเร็จในที่สุด เขาได้ช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในชั้นสุดท้าย ราวกับว่าเขาไม่ต้องหวังพึ่งให้จิตใจของตัวเองปกป้องตัวเองไปวันๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นต่อไปได้ แต่เขามีโอกาสที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเขา
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments