(เนื้อหาบทความนี้มีการอ้างอิงถึงซีรี่ย์ชุด 13 Reason Why Season 4)
.
ผมได้ดูซีรี่ย์ชุด “13 Reason Why” จบมาซักได้ซักพักแล้ว และในซีซั่นล่าสุดอย่างซีซั่นที่ 4 ซึ่งถือเป็นซีซั่นสุดท้ายของซีรี่ย์ชุดนี้ที่ออกฉายเมื่อต้นเดือนที่แล้วก็ได้มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจของซีรี่ย์ชุดนี้สำหรับตัวผมเอง นั่นคือตลอดทั้งซีซั่นเราจะได้เห็นภาพของกระบวนการทำจิตบำบัดของเคลย์ (Clay Jensen) และดร.เอลล์แมน (Dr.Robert Ellman) ซึ่งผมเองก็เคยได้แนะนำไปก่อนหน้านี้เช่นกันว่าเป็นภาพของการทำจิตบำบัดและการปรึกษาที่ค่อนข้างสมจริงพอสมควร
.
.
.
ผมรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเคลย์ และดร.เอลล์แมนมีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับในซีรี่ย์ซีซั่นที่ 4 นี้ ที่พยายามเล่าเรื่องราวของผลลัพธ์จากการกระทำต่างๆ และเน้นย้ำที่เรื่องของการรอดชีวิต (survive) ภายใต้การเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ยากลำบากมากมาย
.
ความสัมพันธ์แบบนักจิตบำบัดและผู้รับบริการของดร.เอลล์แมนและเคลย์อาจถูกมองได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้่างแปลกประหลาดเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ของเคลย์กับคนอื่นๆ แม้แต่กับพ่อแม่ของเคลย์เอง ความประหลาดนี้ไม่ใช่ความประหลาดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ว่าดร.เอลล์แมนพยายามช่วยเหลือเคลย์อย่างไรบ้างในการทำจิตบำบัด ซึ่งภาพที่เราจะได้เห็นคงไม่ได้ดูเหมือนการพยายามที่จะแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตหรือการจัดการกับความวิตกกังวลองเคลย์ และการปลอบประโลมเคลย์ในเวลาที่เจ็บปวดนั้นไม่ได้แสดงออกกันให้เห็นได้อย่างความสัมพันธ์แบบทั่วๆ ไป
.
ดร.เอลล์แมนไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการโอบกอด (holding) ด้วยการแตะเนื้อต้องตัวซักครั้งในการพูดคุยกับเคลย์ แต่จากมุมมองของผม ในสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะของการโอบกอดทางจิตใจ (psychological holding) อยู่ในเวลาที่เคลย์ต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลและความตึงเครียดเครียดของตัวเองเนื่องจากความลับที่เขาแบกไว้มากเกินไป
.
ในช่วงหนึ่งการบำบัดที่เคลย์ได้พูดถึงการถูกมองเห็น เขาประหลาดใจที่ตัวเองถูกมองเห็นจากคนที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดระเบียบหรือควบคุมการกระทำของเขาอย่างนายอำเภอ ก่อนที่เขาจะอ้างอิงถึงดร.เอลล์แมนในเวลาต่อมา
แม้เคลย์จะไม่ได้บอกเราตรงๆ ว่าเขาถูกมองเห็นจากดร.เอลล์แมนด้วย แต่ท่าทีของเขาก็ประหลาดใจไม่น้อยเมื่อดร.เอลล์แมนรู้ดีว่าเคลย์ประหลาดใจที่นายอำเภอมองเห็นว่าเคลย์กำลังเจ็บปวด และบอกถึงการทำงานของดร.เอลล์แมนที่ดูเจ้าเล่ห์เหลือเกินในการทำงานแบบนี้
ซึ่งผมคิดว่าการถูกมองเห็นจากดร.เอลล์แมนนี้มีความแตกต่างกับนายอำเภอ เพราะดร.เอลล์แมนไม่ได้โอบกอดเคลย์เช่นเดียวกับนายอำเภอจริงๆ แต่เขาโอบกอดเคลย์ไว้เสมอเมื่อเคลย์กำลังตกที่นั่งลำบากหรือสติแตกอย่างหนัก ผ่านการยอมรับ และทำความเข้าใจเคลย์ในเวลานั้น
.
การที่เคลย์รับรู้ได้ถึงการโอบกอดและถูกมองเห็นจากคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตัวเองไม่ใช่เพราะพ่อแม่ของเขาไม่พยายามสังเกตเห็นความทุกข์ของเคลย์ เพียงแต่เคลย์แบกความลับไว้มากจนเกินไป และการมีความลับกับคนที่เขารักก็ทำให้เขาไม่คิดว่าตนเองสมควรได้รับการดูแลจากพ่อแม่
ยิ่งไปกว่านั้น ความวิตกกังวลของพ่อแม่นั้นถือว่ามีความสำคัญต่อใจของคนเป็นลูกเสมอ
.
.
.
ในงานเขียนของนักจิตวิเคราะห์อย่าง Sandor Ferenzci ก็บอกเราว่า เด็กหรือคนเป็นลูกมักจะพยายามทำตัวราวกับจิตแพทย์ของพ่อแม่ตนเองเพื่อช่วยพ่อแม่ที่ตนเองรักไม่ให้วิตกกังวลหรือเครียด
เช่นเดียวกัน เคลย์นั้นก็พยายามอย่างหนักที่จะไม่ทำให้พ่อแม่ของเขาวิตกกังวลตั้งแต่ภาพที่เขาจำได้ว่าพ่อของเขากังวลมากแค่ไหนในวันที่เขาป่วยหนัก แม้การอยู่ตรงนั้นของพ่อจะทำให้เคลย์รู้สึกปลอดภัย แต่เขาก็สังเกตเห็นถึงความกังวลจากคนที่เขารักจนอยากที่จะทำให้ตัวเองสมบูรณ์แบบมากที่สุดเพื่อไม่ให้พ่อและแม่ของเขาต้องกังวล
.
ความสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูกนี้จึงทำให้นักจิตบำบัดอย่างดร.เอลล์แมนเข้ามาในความสัมพันธ์ของเคลย์อย่างน่าประหลาด
พ่อแม่ของเคลย์แสดงให้เราเห็นเสมอว่าพวกเขาพยายามอย่างหนักในการช่วยเหลือและเข้าใจเคลย์ แต่ในฐานะของการเป็นพ่อคนแม่คนแล้ว ความสัมพันธ์ของพวกเขามักมีจุดที่พลาดอยู่เสมอเมื่อพ่อแม่กำลังเป็นห่วงลูกอย่างมาก ในขณะที่เคลย์เองก็พยายามอย่างหนักที่จะไม่ทำให้พ่อแม่ของพวกเขากังวล
.
เราอาจเรียกความสัมพันธ์ของเคลย์กับพ่อและแม่ได้ว่า เป็นความสัมพันธ์แบบคนในหรือคนที่มีความใกล้ชิดกันอย่างมากจนไม่สามารถเป็นความสัมพันธ์แบบอื่นได้อีก ในขณะที่ความสัมพันธ์ของเคลย์กับดร.เอลล์แมนนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้งการเป็นคนในและคนนอก ซึ่งในบางเวลาที่ดร.เอลล์แมนและเคลย์มีความสัมพันธ์กันที่ลึกซึ้งขึ้นจากการผ่านเรื่องราวที่ยากลำบากไปด้วยกัน แต่ทั้งดร.เอลล์แมนและเคลย์เองก็ต่างรู้ดีว่าพวกเขามีขอบเขต (boundary) ของความสัมพันธ์นั้นอยู่ ทำให้ดร.เอลล์แมนยังถือเป็นคนนอกแม้จะเป็นคนที่มีความสำคัญกับชีวิตของเคลย์ราวกับเป็นคนหนึ่งในครอบครัว
.
ความสัมพันธ์ที่มีขอบเขตและแปลกประหลาดนี้เทียบได้กับความสัมพันธ์เชิงวิชาชีพของนักจิตบำบัดหรือสัมพันธภาพเชิงรักษา (therapeutic relationship) ซึ่งมีการแกว่งไปมาได้อีกหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในสัมพันธภาพหลักของความสัมพันธ์แบบนี้คือความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันเพื่อไปสู่เป้าหมายของการบำบัด (working alliance)
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในความสัมพันธ์ของเคลย์และดร.เอลล์แมนที่มีความขึ้นๆ ลงๆ กันอยู่บ่อยครั้งในห้องบำบัด เพราะการทำงานของดร.เอลล์แมนก็มีความชัดเจนว่า เขามักใช้คำถามมากกว่าการให้คำตอบจนทำให้เคลย์ต้องหัวเสียอยู่บ้าง (ซึ่งเป็นการทำงานตามปกติของนักจิตบำบัดและนักจิตวิทยาการปรึกษา) แต่มันก็ยังคงเป็นสถานการณ์ที่นักจิตบำบัดอย่างดร.เอลล์แมนยอมรับการแสดงออกของเคลย์ได้ในห้องบำบัดพร้อมเน้นย้ำว่ามันปลอดภัยพอที่เขาจะพูดความรู้สึกของตัวเองออกมาตรงๆ
.
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้ทำให้สิ่งที่ก่อปัญหาเสมออย่างความลับถูกปลดเปลื้องออกมา เพราะดร.เอลล์แมนที่ถึงแม้เขาจะเป็นเหมือนกับคนที่อยู่ใกล้ชิดเคลย์มากเพียงใด แต่เขาก็ยังคงเป็นคนนอก และในบทบาทของนักจิตบำบัดแล้ว การรักษาความลับของผู้รับบริการก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกด้วย
.
.
.
ความรอด (survive) เป็นอีกประเด็นสำคัญเมื่อเราพูดถึงความสัมพันธ์ของนักจิตบำบัดและผู้รับบริการ
จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในการพูดถึงกระบวนการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเสมอ เพราะในสถานการณ์ของห้องบำบัด ทั้งผู้รับบริการและนักจิตบำบัดกำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายในหลายครั้ง (และบางปัญหาก็ไม่สามารถแก้ไขในเชิงรูปธรรม)
ในขณะที่ผู้รับบริการกำลังเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงของตนเองจนแทบจะสติแตก นักจิตบำบัดเองก็กำลังเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลในการช่วยเหลือของตนเองไปพร้อมๆ กัน
อีกทั้งในการรับฟังเรื่องราวความทุกข์ใจของผู้รับบริการก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจนักจิตบำบัดด้วย ความรอดจึงถูกพูดถึงเมื่อทั้งคู่ต่่างต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ที่มีอยู่ไปพร้อมๆ กัน และเชื่อใจกันว่าทั้งคู่จะรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ไปได้
.
ความสัมพันธ์ของนักจิตบำบัดและผู้รับบริการจึงเป็นเหมือนการเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย และยังอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน
.
ยังไงก็ตาม ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของนักจิตบำบัดและผู้รับบริการยังคงมีสิ่งที่ทำให้เราได้ประหลาดใจอยู่เสมอ เมื่อมันเป็นการเรียนรู้ความทุกข์และความเจ็บปวดไปพร้อมกันในห้องเล็กๆ ที่เราจะมาพูดคุยกันถึงความรู้สึกและมุมมองที่มีต่อโลกใบนี้
มันเป็นความสัมพันธ์ที่มีเป้าหมายและขอบเขต แต่ก็ยังเป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปได้อย่างลึกซึ้งในเวลาเดียวกัน
ผมจึงคิดว่าภาพที่จะแทนลักษณะความสัมพันธ์ของนักจิตบำบัด/นักจิตวิทยาการปรึกษา และผู้รับบริการได้ก็คือภาพของ Olivia de Recat ที่แสดงให้เห็นถึงเส้นขนานที่จะเข้าใกล้กันและห่างจากกันอย่างเป็นระเบียบแต่ไม่มีทางบรรจบกัน
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments