มุมมองจิตวิเคราะห์จากซีรี่ย์ “Hellbound”
.
ศีลธรรม (Moral) กับสำนึกดี (Conscience) แตกต่างกันอย่างไร? นี่เป็นคำถามที่ผมเคยกล่าวตอบไปแล้วในบทความก่อนหน้าเมื่อประมาณ 1 ปีก่อน โดยเป็นการสรุปจากมุมมองของศาสตราจารย์ Donald L. Carveth ที่แยกระหว่าง superego กับ conscience ออกจากกัน (ลิ้งบทความอยู่ใต้คอมเมนต์)
.
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันก็ยังคงทิ้งความน่าประหลาดให้ชวนสงสัยว่าทำไม superego ซึ่งเป็นตัวแทนของศีลธรรม (อันดี?) จึงมีความโหดร้ายมากขนาดนั้น จนหลายครั้งมันก็สามารถกลายเป็นเหตุผลให้เราทำร้ายคนอื่นและตัวเองได้เลย
.
ซีรี่ย์ Hellbound เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกสมมุติที่มีสัตว์ประหลาดปรากฏขึ้นมาหมายเอาชีวิตของผู้คนตามท้องถนน ซึ่งก่อนหน้านั้น คนที่ถูกหมายเอาชีวิตจะได้รับ ‘ประกาศิต’ หรือคำประกาศจากหน้าคนประหลาดๆ ว่าคนคนนั้นจะต้องตกนรกภายในอีกกี่วัน, เดือน, หรือปี ส่งผลให้คนที่ได้รับประกาศิตต้องอยู่ภายใต้ความกลัวตายในระยะเวลาที่กำหนดทั้งที่ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมตนถึงต้องตกนรก แต่ในขณะเดียวกัน มีคนคนหนึ่งที่ออกมาป่าวประกาศว่า เหตุผลของการถูกหมายเอาชีวิตเป็นเพราะคนคนนั้นมี “บาป” ที่ก่อขึ้นระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และประกาศิตนั้นคือ “สาส์นจากพระเจ้า” ที่จะลงโทษคนบาปเหล่านั้นด้วยตัวพระองค์เอง
.
ตลอดระยะเวลาที่เราได้ดูซีรี่ย์เรื่องนี้ เราต่างจะได้เห็นถึงประเด็นในด้านความขัดแย้งทางความเชื่ออย่างชัดเจน โดยคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่านี่คือสาส์นจากพระเจ้าจริงๆ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้เชื่อแบบนั้น แต่สิ่งที่มากไปกว่าการต่อสู้กันระหว่างความเชื่อที่ต่างกัน เรากลับจะได้เห็นว่าความเชื่อ ความศรัทธา และศีลธรรมมีการก่อตัวขึ้นมาอย่างไร เพราะแทบตลอดทั้งเรื่องจะมีตัวละครหลักพูดอยู่เสมอว่า นี่คือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มนุษย์เรายังไม่เข้าใจ แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่ง (จองจินซูและกลุ่มสัจธรรมใหม่) พยายามเคลมว่าคำอธิบายของตน (ความเชื่อเรื่องพระเจ้าและการก่อบาป) เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยอาศัยความหวาดกลัวของผู้คน ทั้งความหวาดกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตน และความทุกข์ของการไม่รู้ว่าจะเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร
.
นอกจากนี้ ตัวซีรี่ย์ไม่ได้ทำให้เราเห็นถึงการพยายามผูกขาดความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับทำให้เราเห็นว่าคนที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องตามหลักศีลธรรมแม้ว่าศีลธรรมนั้นจะถูกสร้างขึ้นในภายหลัง (ลูกสาวของนายตำรวจ วัยรุ่นกลุ่มหัวศร นักบวชกลุ่มสัจธรรมใหม่ รวมทั้งคนทั่วไปที่เป็นพยานในเหตุการณ์สาธิตของพัคจองจา) สามารถทำสิ่งที่โหดร้ายรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันได้ จนทำให้คนดูอย่างเราต้องสงสัยกันว่า คนพวกนี้ไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันก็คือการทำบาปหรอ? หรือถ้าเราเชื่อว่าเรากำลังพิพากษาคนบาปก็ถือว่าเราไม่ใช่คนบาปอีกต่อไป?
.
ถึงแม้ในท้ายที่สุดจะไม่มีการเฉลยว่าสัตว์ประหลาดเหล่านี้มาจากไหน และอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงของการได้รับประกาศิต แต่ซีรี่ย์ก็ทำให้เราเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องไม่น่าจะอธิบายได้ด้วยเหตุผลเชิงศีลธรรมอย่างที่กลุ่มสัจธรรมใหม่กล่าวอ้าง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่อง Hellbound นี้จึงเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นถึงการพยายามเอาตัวรอดของมนุษย์แทบทั้งสิ้น
(ผมจึงชอบคำพูดของลุงคนขับแท็กซี่ในตอนจบมากที่แกบอกว่า “...ที่นี่คือโลกของมนุษย์ครับ มนุษย์ก็ต้องจัดการกันเองสิครับ” เพราะไม่ใช่แค่การบอกอย่างมีความหวังว่ามนุษย์สามารถมีเจตจำนงเสรีได้ แต่มันยังสื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความวุ่นวายทั้งหมดก็มาจากมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ... บางที เบื้องหลังของเหตุการณ์ได้รับประกาศิตนี่อาจจะมาจากมนุษย์ด้วยกันก็ได้ เพราะน่าจะมีแต่มนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละที่เป็นคนคิดเรื่องนรก/สวรรค์ขึ้นมา)
.
หากเรามองภาพว่าเหตุการณ์ได้รับประกาศิตเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องการลงทัณฑ์บาปที่ก่อ ความตายที่ตามมาหลังได้รับประกาศิตนี่อาจแทบไม่ต่างอะไรจากความตายตามปกติของมนุษย์เลยแม้แต่น้อย สำหรับผม มันแทบจะคล้ายกับอุบัติเหตุเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นแบบสุ่ม จนทำให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วใครก็สามารถพบกับความตายแบบนี้ได้ ซึ่งมันไม่ต่างกับ “ความซวย” ที่ต้องพบเจอกับโรคร้ายอย่างเช่นโรคมะเร็งที่แม้ในปัจจุบันเราจะรู้แล้วว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เสี่ยงให้เราเป็นมะเร็ง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอจะป้องกันเราจากโรคมะเร็งได้ 100%
.
ผมคิดว่าจองจินซูและกลุ่มสัจธรรมใหม่ดูเหมือนจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสัญชาตญาณของมนุษย์พอสมควร นั่นเพราะพวกเขาคิดว่าหากมนุษย์ไม่สามารถให้เหตุผลกับอันตรายเหล่านี้ได้ (ความตายแบบสุ่ม) สังคมคงจะเกิดความวุ่นวายอย่างมาก เช่นเดียวกัน มันทำให้แม้แต่คนดูยังต้องคิดว่าหากกลุ่มสัจธรรมใหม่นำเสนอคอนเซปต์ของ “บาปแต่กำเนิด” ขึ้นมาจริงๆ คนจะยังเกรงกลัวต่อการทำบาปกันอีกหรือไม่ นั่นเพราะมันเป็นการคิดอย่างง่ายๆ ว่า หากไม่มีสิ่งที่กำหนดว่าอะไรคือบาปและอะไรคือศีลธรรมอันดี มนุษย์ก็จะไม่เกรงกลัวการทำตามใจตัวเองอีกต่อไป ราวกับว่านี่คือมุมมองที่คนเหล่านี้กำลังมองมนุษย์ในแง่ร้ายไม่ต่างจากสัตว์ การที่กลุ่มสัจธรรมใหม่ปฏิเสธแนวคิดเรื่องบาปแต่กำเนิดก็เช่นเดียวกัน มันไม่ใช่เพียงการคิดว่าคำสอนของตนจะไปตรงกับนิกายโปรแตสแตนต์จนทำให้ศาสนาของตนเสื่อมศรัทธาลงเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการมองเห็นความเป็นไปได้ว่าหากมนุษย์ทุกคนมีบาปและมีโอกาสถูกพิพากษาได้เหมือนกันหมด มนุษย์ก็อาจจะเริ่มไม่สนใจว่าตนต้องเป็นคนดีหรือคนไม่ดีด้วยก็ได้
.
แต่ในขณะเดียวกัน ซีรี่ย์เรื่องนี้กลับทำให้เราเห็นว่าต่อให้มีการกำหนดกรอบศีลธรรมขึ้นมา แต่มันก็ไม่สามารถทำให้คนส่วนหนึ่งห่างออกจากสัญชาตญาณที่ป่าเถื่อนได้ ซ้ำร้าย ศีลธรรมเหล่านี้ยังกลายเป็นเหตุผลให้การกระทำป่าเถื่อนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรมมากขึ้นอีกด้วย
.
ในทางตรงข้าม ทนายสาวมินฮเยจิน กลุ่มโซโด และชาวบ้านในตึกผู้เห็นเหตุการณ์เด็กทารกถูกหมายเอาชีวิต ซึ่งน่าจะมีความคลางแคลงใจกับสถานการณ์เหล่านี้มากกว่า เพราะพวกเขาก็ยังคงตอบไม่ได้ว่าทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น และมีความเป็นไปได้มากที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับความกลัวตายแบบสุ่มเหล่านี้อย่างมาก กลับทำให้เราเห็นว่า พวกเขาพยายามปกป้องกันและกันรวมทั้งช่วยเหลือคนที่ได้รับประกาศิตอีกด้วย โดยปรากฏการณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ช่างแตกต่างไปจากมุมมองของจองจินซูและกลุ่มสัจธรรมใหม่อย่างมาก เพราะกลายเป็นว่าในสถานการณ์ของความวุ่นวายเหล่านี้ (ใครจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้) มนุษย์บางส่วนกลับเลือกที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าการทำอะไรตามอำเภอใจอย่างป่าเถื่อน
.
ความแตกต่างของทนายมินฮเยจินและกลุ่มสัจธรรมใหม่ (รวมทั้งจองจินซู) ทำให้ผมนึกถึงเรื่องสัญชาตญาณของ ego (ego – instinct) และการประกอบสร้าง superego ที่ Sigmund Freud พูดถึงในหนังสือ “Beyond the pleasure principle” และ “The ego and the id”
.
การที่มนุษย์ทุกคนในเรื่องต่างต้องเผชิญกับอันตรายจากสัตว์ประหลาดมันกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นสัญชาตญาณในการพยายามรักษาชีวิตหรือ ego-instinct ในมุมมองของ Freud ซึ่ง Freud ได้กล่าวถึงสัญชาตญาณของการพยายามรักษาชีวิตนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือ “Beyond the pleasure principle” และเนื่องจากในบางครั้งการพยายามรักษาชีวิตเหล่านี้เองที่มักมาพร้อมกับการทำลายสิ่งอื่นหรือคนอื่นเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้จึงทำให้ Freud ถือว่า ego-instinct นี้เป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาตญาณแห่งความตาย (death instinct) หรือ Thanatos ในตอนนั้น
.
ในตอนแรก Freud เชื่อว่าส่วนหนึ่งของ Thanatos คือสัญชาตญาณที่มุ่งแสวงหาความตายเพื่อรักษาสมดุลของตัวตน (ego) ของเราเองไว้ ซึ่งมันขัดแย้งกับสัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) ที่มุ่งสืบพันธ์แม้ต้องยอมตาย ความขัดแย้งระหว่าง 2 สัญชาตญาณนี้จึงทำให้ Freud เชื่อว่ามันเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เราเลือกจะฆ่าหรือไม่ก็ยอมถูกฆ่าเพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทั้งสอง ทั้งนี้ ผมกลับมองว่าใน sexual instinct ที่ Freud กล่าวถึงไม่ใช่แค่การสืบพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่มันรวมถึงสัญชาตญาณของการเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย เพราะส่วนหนึ่ง Freud ก็ได้ยกตัวอย่างของสัตว์เซลล์เดียวมาอธิบายเรื่องนี้ว่ามันมีการผสมรวมตัวกันทำให้มันไม่สามารถรักษาตัวตนเดิมคล้าย ego ของตัวเองไว้ได้หากเราปรารถนาจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนอื่น
.
ยังไงก็ตาม ในตอนจบของหนังสือ Freud ได้เลือกที่จะย้าย ego-instinct ไปไว้ข้างๆ sexual instinct เนื่องจากมองเห็นการมาคู่กันของแรงกระตุ้นทางเพศและความก้าวร้าวในประเด็นของความซาดิสต์ และความรักกับความเกลียดที่แยกกันไม่ขาด ก่อนที่จะเรียกสัญชาตญาณทั้งสองรวมกันว่าสัญชาตญาณแห่งชีวิต (life instinct) หรือ Eros ทำให้สัญชาตญาณแห่งความตายเป็นแง่มุมที่สงบสุขอันอยู่นอกเหนือการดิ้นรนในสัญชาตญาณแห่งชีวิตที่อึกทึกครึกโครม
.
ในหนังสือ “The ego and the id” Freud ได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงความขัดแย้งภายในสัญชาตญาณแห่งชีวิต ระหว่างความปรารถนาในการหลอมรวมเป็นหนึ่งของ sexual instinct กับความปรารถนาในการรักษาตัวตนของ ego instinct ส่งผลให้ภาพของการมีชีวิตอยู่กลายเป็นความดิ้นรนมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มดังกล่าว Freud ก็ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวตนของเราขึ้นมาอีกอย่างคือ id (it) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของจิตใจที่อยู่เบื้องหลัง ego (I) อีกที และมันเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ ตามสัญชาตญาณทุกๆ ด้าน ทั้งสัญชาตญาณของการสืบพันธุ์ สัญชาตญาณของการรักษาชีวิตรอด และการหันตัวเองให้เข้าใกล้สัญชาตญาณแห่งความตาย
(เราเรียกพลังงานของ id ว่า libido ซึ่งอาจนึกภาพได้ว่ามันเป็นพลังงานที่อัดแน่นอย่างเข้มข้นของทั้งแรงกระตุ้นทางเพศและแรงกระตุ้นความก้าวร้าว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความรักกับความเกลียดจึงมักมาคู่กัน >> อ่านบทความเรื่อง Hate Love Relationship ได้ที่ลิ้งใต้คอมเมนต์)
.
มาถึงจุดนี้ก่อนที่ทุกคนจะงงเกินไป ผมขอวกกลับเข้าประเด็นในเรื่อง Hellbound กันต่อ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับสัญชาตญาณทั้งหมดในทฤษฎีของ Freud ที่ผมยกมาก็เพื่อแสดงให้เห็นมากขึ้นว่า มนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อดิ้นรนอย่างแท้จริง ซึ่งตัวละครทุกคนในเรื่อง Hellbound ต่างก็ต้องพยายามอย่างมากในการดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองไว้จากความตายที่กำลังใกล้เข้ามา ด้วยเหตุนี้ แรงกระตุ้นที่ทรงพลังที่สุดของตัวละครส่วนใหญ่จึงเป็นการถูกผลักดันจากพลังงานของ id ให้เป็นไปตามสัญชาตญาณของ ego-instinct ซึ่งในรายละเอียดที่มากขึ้นอาจกล่าวได้ว่า ego ของทุกคนในเรื่องกำลังถูกกดดันจากความตึงเครียด 2 ด้าน ได้แก่ สัตว์ประหลาดที่หมายเอาชีวิต (external world) และพลังงานเอ่อล้นจาก id ที่แสดงออกมาในรูปของความกลัวตาย (libido ที่เน้นการพยายามรักษาชีวิต)
* ผมคิดว่าการขยายความเรื่องแรงกระตุ้นจากภายในของ id ให้เข้าใจมากขึ้นคงต้องอธิบายเพิ่มอีกหน่อยว่าจิตใจของคนเราถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวได้จากสิ่งเร้าภายนอก แต่เมื่อสิ่งเร้าภายนอกนั้นหายไปร่างกายของเราก็จะจดจำภาวะที่ตื่นตัวนั้นไว้ได้ และสามารถถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวได้แม้ไม่ได้มีสิ่งเร้านั้นอยู่ตรงหน้าแล้ว ซึ่ง Freud ได้ให้รายละเอียดเรื่องนี้ในหนังสือ Beyond the pleasure principle ผ่านการกล่าวถึงเรื่อง trauma และฝันร้ายหลังสงคราม บางทีเราอาจเข้าใจมันได้ผ่านแนวคิดเรื่อง Phantasy (internal world) ในทฤษฎีของ Melanie Klein ก็ได้ กล่าวคือ จิตใจของเรามีความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอกเกิดขึ้นเสมอ โดยโลกภายในที่ปรับเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ภายนอกก็กลายเป็นเหมือนเลนส์ติดตัวที่เราใช้รับรู้/ตีความประสบการณ์ภายนอกอีกทีแม้ประสบการณ์เดิมจะผ่านพ้นไปแล้ว
.
ยังไงก็ตาม ตัวละครในเรื่อง Hellbound สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนมีการทำงานของ ego ที่แตกต่างกันเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณของการรักษาชีวิตรอด บางส่วนยังคงพยายามหาเหตุผลด้วยการคิดถึงทุกๆ ความเป็นไปได้เพื่อทำความเข้าใจด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ในขณะที่บางคนกลับเลือกจะใช้ความศรัทธาหรือสร้างความเข้าใจที่เกิดเหตุผลของมนุษย์ขึ้นมา นั่นคือ เหตุผลของพระเจ้า
.
แท้จริงแล้ว การพยายามหาเหตุผลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเรื่อง Hellbound ของทั้งทนายมินฮเยจินและจองจินซูไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกันมากนัก เพราะเดิมทีมันเริ่มต้นจากการทำงานของ ego ที่พยายามรับมือกับแรงกดดันสองฝั่ง (สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น และความหวาดกลัวในจิตใจ) แต่เมื่อจองจินซูเลือกใช้การให้เหตุผลด้วยประเด็นทางด้านศีลธรรมและสาส์นของพระเจ้า นั่นทำให้จองจินซูสร้างสิ่งที่เหนือกว่า ego ได้สำเร็จก่อน กล่าวคือ จองจินซูได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า superego ขึ้นมา ในขณะที่ทนายมินฮเยจินยังคงต้องอยู่กับความไม่รู้ต่อไป
(ลองนึกภาพว่าถ้าทนายมินฮเยจินสร้างความเข้าใจใหม่ได้สำเร็จด้วยหลักฐานที่ค้นพบใหม่ หลักฐานของเธอก็จะกลายเป็น superego ใหม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเธอยกให้เด็กทารกในท้ายเรื่องเป็นพระเมสิยาคล้ายการกำเนิดของพระเยซู เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งของความศรัทธาใหม่ดังเช่นในศาสนาคริสต์ที่ต่อให้เชื่อว่าทุกคนมีบาปแต่กำเนิด แต่คนก็ยังเลือกจะอธิษฐานต่อพระเจ้าในนามของพระเยซูอยู่ดีเนื่องจากพวกเรายังคงอยากเชื่อว่าตนมีโอกาสได้ขึ้นสวรรค์ และเมื่อนั้นพวกสัตว์ประหลาดในเรื่องก็อาจกลายเป็นอุบัติเหตุที่คนเริ่มไม่แตกตื่นมากหรือไม่ก็เป็นซาตานที่ต้องสู้เพื่อเอาชนะ)
.
กลับมาที่ทฤษฎีของ Freud อีกครั้ง ในหนังสือ The ego and the id เป็นการแสดงให้เห็นว่า ego พยายามที่จะหาทางลัดในการรับมือกับความตึงเครียดสองด้านด้วยการประกอบสร้างความจริง (reality) ขึ้นมาจากประสบการณ์ภายในและภายนอก สิ่งที่ ego สร้างขึ้นมานั้นคือ superego เพื่อใช้ในการเป็นไกด์สำหรับตัว ego อีกทีเมื่อเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีบางสิ่งคล้ายกัน ทั้งนี้ superego มักยึดโยงกับเรื่องศีลธรรมและศาสนาค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องศีลธรรมกับศาสนาเป็นสิ่งที่นามธรรมมาก และมันก็เป็นเหมือนกฎการอยู่ร่วมกันของสังคมด้วย (คุณต้องเข้าใจกฎหรือศีลธรรมของกลุ่มเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและไม่รู้สึกแปลกแยก)
.
ยังไงก็ตาม Freud เชื่อว่าในหลายครั้ง superego ก็กลายเป็นสิ่งที่ครอบงำทุกๆ กระบวนการของ ego ไปโดยปริยาย เพราะการที่ ego พยายามสร้างทางลัดด้วยการสร้างกฎบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้ในการไกด์ตัวมันเองทำให้ตัว ego ถูกครอบด้วยกฎของ superego จนไม่สามารถคิดได้อีก ด้วยเหตุนี้ Freud จึงกลายสรุปว่าในท้ายที่สุด ego จะต้องเผชิญกับความตึงเครียด 3 ทาง ได้แก่ จากโลกภายนอก, จาก libido ของ id และ จาก superego
.
การสร้าง superego ขึ้นมาโดดๆ ไม่ได้มีแรงกดดันจากตัวของมันเอง เพราะเดิมทีมันเป็นเหมือนกฎบางอย่างที่เกิดขึ้นจากความรู้ของ ego ซึ่ง Freud กล่าวว่า superego จะดึงพลังงานมาจาก id เช่นเดียวกันกับตอนที่ ego ใช้พลังงานเหล่านั้นในการสร้างสิ่งที่เหนือตัวมันเอง ยังไงก็ตาม Freud ยังได้บอกอีกว่าท้ายที่สุดแล้ว superego ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับ id มากกว่า ego ด้วยซ้ำ เพราะมันมีส่วนที่เข้าไปยังจิตไร้สำนึกและสนับสนุนการเก็บกด และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้บางครั้ง superego มีความโหดร้ายป่าเถื่อน เพราะมันได้รับพลังงานจาก id โดยตรง
(หรืออีกนัยหนึ่ง superego หลอกดึงพลังงานจาก id ด้วยการอ้างว่าตัวเองกำลังไล่ตาม ego-instinct ดังนั้นการดึงเอา libido ที่มีแรงขับของความก้าวร้าวมาด้วยจึงไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่เวลาที่ต้องมาใส่ใจว่ามันจะขัดแย้งกับสัญชาตญาณของการรวมเป็นหนึ่งอย่างเช่นความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือไม่)
.
ท้ายที่สุด เมื่อย้อนกลับมาที่เรื่องราวในซีรี่ย์ Hellbound เราจะเห็นได้ว่าคนที่เชื่อคำสอนของกลุ่มสัจธรรมใหม่และกลุ่มหัวศรจึงดูเหมือนคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาเพื่อปกป้องสิ่งที่พวกเขาเชื่อ นั่นอาจเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่กับการพยายามหาเหตุผลด้วย ego อีกต่อไป แต่พวกเขากลับใช้ทางลัดของ superego ที่ได้รับมาเพื่อรักษาชีวิตของตนไปพร้อมกับการรักษาความเชื่อเหล่านั้นด้วย
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments