top of page
ค้นหา

สมองเสียหาย เมื่อวัยเด็กถูกทำร้าย

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

เราต่างเคยได้ยินว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากมีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่การอ้างว่าเป็นเพราะความผิดปกติของสมองเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก แม้จะเป็นความเชื่อที่ถูกเข้าใจกันอย่างแพร่หลายว่าความผิดปกติของสมองเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่จู่ๆ สมองก็เกิดความผิดปกติงั้นหรอ? แม้จะตอบได้ยากว่าจริงหรือไม่ แต่การเชื่อเช่นนี้อาจทำให้โรคซึมเศร้าเหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบสุ่มเหมือนการถูกหวยจนเกินไป และมีมุมมองต่อโรคที่คับแคบอย่างมาก

.

การศึกษาที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ได้ค้นพบความเชื่อมโยงกันของความเปลี่ยนแปลงในสมองกับประสบการณ์ในวัยเด็กของเราเอง ซึ่งพบว่า

ประสบการณ์ที่เลวร้ายกับบุคคลใกล้ชิดในวัยเด็ก (Adverse Chilhood Experiences หรือ ACE) เช่น การถูกตำหนิ ดูถูก การถูกทอดทิ้ง ทำร้ายร่างกาย กระทำชำเราทางเพศ หรือการถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความรักต่างๆ สัมพันธ์กับพัฒนาการของร่างกายโดยเฉพาะสมองที่ผิดปกติมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดโรคทางกายและโรคทางใจได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จนบางครั้งอาจเหมือนระเบิดเวลาที่รอการปะทุหรือเสื่อมถอยของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น

.

ประสบการณ์เลวร้ายทำให้เรารู้สึกถึงอันตรายจึงเกิดความเครียดและวิตกกังวลอย่างมาก วัยเด็กอันเป็นช่วงวัยของการเติบโตจะได้รับอิทธิพลจากความเครียดให้สมองหยุดการพัฒนาชั่วคราวหรือสร้างความยากลำบากในการเชื่อมโยงกันของกระแสประสาท บางคนอาจทนต่อความเครียดได้มากเนื่องจากมียีนอันส่งผลให้มีความไวต่อการถูกกระตุ้นที่ไม่เท่ากัน แต่ความเครียด ความวิตกกังวลในเด็กที่มากจนเกินไป และเมื่อยิ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดที่อันตรายนั้นจะจบลง ยิ่งทำให้สมองเกิดความผิดปกติในการหลั่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบของสมอง และบางครั้งเกิดการกัดกินตัวเองของสมองเพิ่มขึ้น

.

สมองของผู้ป่วยซึมเศร้าจึงมีเนื้อสมองที่อาจน้อยกว่าคนปกติ และมีการเชื่อมโยงกันของกระแสประสาทต่างออกไป โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการควบคุมอารมณ์ เสมือนคอมพิวเตอร์ที่รวนตั้งแต่แรกเริ่ม จึงอาจอธิบายได้ว่าเพราะอะไรในบางครั้ง ความคิดเชื่อมโยงของผู้ป่วยจึงต่างออกไปจากคนปกติ และมีมุมมองต่อโลกที่บางครั้งเกิดความบิดเบือนไปจากความเป็นจริง (ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนมีกระบวนการคิดที่ผิดพลาด)

.

สิ่งที่อยู่ในสมองอย่างคงทนที่สุดจึงอาจเป็นประสบการณ์ในวัยเด็กที่เลวร้าย แม้ไม่ใช่ความทรงจำที่ชัดเจนนัก แต่อาจเป็นความทรงจำที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกซึ่งส่งอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว

.

ประสบการณ์ของการเผชิญหน้ากับความเครียดและวิตกกังวลในวัยเด็กจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโรคในอนาคต ทั้งในแง่ของความผิดปกติทางสมอง กระบวนการคิดและการรับรู้ที่มีต่อตนเอง การมองและตัดสินสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง

.

หากใครสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กของเราได้ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของเรายังไงได้บ้าง แล้วเราหากเราเคยมีประสบการณ์ดังกล่าวจะสามารถดูแลตนเองอย่างไรได้บ้าง สามารถหาอ่านได้จากหนังสือแนะนำในโพสก่อนหน้า หาซื้อได้ที่ Se-ed ครับ (https://www.facebook.com/psychologistschairs/photos/a.2021402508133075/2228815260725131/?type=3&theater)

.

.


ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page