“สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ให้มันผ่านไป สิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่มีอยู่จริง คนอื่นเขาก็ใช้ชีวิตกันต่อได้ทำไมลูกทำไม่ได้ล่ะ เลิกหมกมุ่นกับ...”, คำพูดจากแม่ถึงจูถิงผ่านทางโทรศัพท์ก่อนที่จูถิงจะกดตัดสายไป
.
เมื่อวันก่อนผมได้พบเจอซีรี่ย์เรื่องหนึ่งทาง Netflix ที่ชื่อว่า “Til death do us part” หรือชื่อภาษาไทย “จนกว่าความตายจะพราก” ซึ่งเป็นเป็นซีรี่ย์ที่คล้ายคลึงกับซีรี่ย์อันได้รับความนิยมของ Netflix ที่ชื่อ Black Mirror นั่นคือ การเป็นซีรี่ย์ที่แต่ละตอนคือเรื่องสั้นที่แยกออกจากกัน และคุณจะเริ่มดูตอนไหนก่อนก็ได้อย่างอิสระ
.
เรื่องราวของจูถิงปรากฏขึ้นในตอนนึงของซีรี่ย์ชุดนี้ที่ชื่อว่า “หมดจด” โดยเนื้อหาจากนี้เป็นการสปอยล์และวิเคราะห์ไปพร้อมกัน คุณสามารถดูเรื่องสั้นนี้ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ได้โดยเรื่องสั้นนี้ใช้เวลาในการดูประมาณ 26 นาทีเท่านั้น
.
จูถิงเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอาคารสีขาวแห่งหนึ่งกลางทะเล เธออาศัยอยู่ในห้องคนเดียวโดยมีเจนนิเฟอร์ผู้เป็นเจ้าของอาคารโทรมาเธอให้เธอทำความสะอาดห้องของตัวเองให้ขาวสะอาดหมดจดก่อนที่คณะกรรมการจะเข้าไปตรวจห้องในอีก 2 วัน ในขณะนั้นเอง ห้องของจูถิงปรากฏรอยจุดสีดำขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ เธอต้องพยายามเช็ดมันออก แต่ยิ่งเธอพยายามเช็ดมันหรือแม้แต่ทาสีขาวทับลงไป จุดสีดำนั้นก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
.
จริงๆ แล้วเรื่องราวของจูถิงอาจสะท้อนถึงความกดดันทางสังคมและอาการทางจิตเวช จูถิงเข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารสีขาวกลางทะเล อาคารที่เธออาศัยอยู่ เจ้าของอาคาร และคณะกรรมการอาจเป็นได้กับสภาพของสังคมเมือง
.
จูถิงที่อยู่ในอาคารต้องสวมปลอกคอที่มีรหัสตัวตน และอาศัยอยู่ในห้องเพียงคนเดียว อีกทั้งเจ้าของอาคารยังถามเธอถึงการหางานทำตั้งแต่โทรมา สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนถึงการอยู่อาศัยในสังคมเมืองที่ทุกคนดูจะไม่มีตัวตนมากเท่าไรนัก คุณทำได้เพียงการเอาชีวิตรอดด้วยการหางานทำอย่างโดดเดี่ยวและไม่มีใครสนใจ มีเพียงการคอยตรวจสอบว่าจูถิงจะปฏิบัติตัวให้สมบูรณ์แบบได้หรือไม่เพียงเท่านั้น
.
แต่จริงๆ แล้วดูเหมือนว่าอาคารที่จูถิงอาศัยอยู่จะไม่ได้ขาวสะอาดหมดจด มันกลับดูสกปรกกว่าในห้องของเธอด้วยซ้ำ แต่เธอกลับต้องถูกสั่งให้ทำความสะอาดห้องของตัวเองให้ขาวสะอาดก่อนที่จะมีคนมาตรวจสอบเธอ
.
การทำความสะอาดห้องของจูถิงอาจเหมือนกับการที่ผู้ที่มีอาการทางจิตเวชหรือคนที่มีความทุกข์ใจต้องพยายามในการปกปิดหรือเก็บกดบาดแผลทางจิตใจของตัวเองไว้ จูถิงต้องทำความสะอาดห้องด้วยตัวเองคนเดียว ไม่มีใครช่วยเหลือเธอ ไม่มีใครยื่นมือเข้ามา หรือแม้แต่แม่ของเธอเองก็ไม่ได้ถามไถ่เธอความเป็นอยู่ของเธอเท่าไร
.
แม่ของจูถิงดูเหมือนจะเป็นบุคคลสำคัญ (significant person) เพียงคนเดียวในชีวิตของจูถิง เธอมีภาพถ่ายคู่กับแม่ในภาพวอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์ แต่ไม่มีภาพของพ่ออยู่ในนั้น เรื่องราวอาจไม่ได้บอกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวและภูมิหลังก่อนที่เธอจะมาอาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้คืออะไร แต่เราอาจคาดเดาได้ถึงความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่จากคำพูดที่แม่พูดกับเธอข้างต้นเสมือนการสั่งสอนและไม่ได้พยายามเข้าใจจูถิงเท่าที่ควร
.
จุดสำคัญของเรื่องราวคือคำพูดที่ว่า “สิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่มีอยู่จริง” นี่เป็นคำที่แม่ของจูถิงพูดในตอนแรก แต่แล้วจูถิงกลับซึมซับเข้ามาแล้วพูดบอกตัวเองตลอดเวลาหลังจากนั้น
.
คำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่มีอยู่จริง” ผมคาดว่าอาจหมายถึงความผิดปกติทางจิต อาการทางจิตเวช หรือบาดแผลทางจิตใจ (trauma) จูถิงอาจมีสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่มันเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และการที่มองไม่เห็น จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในสายตาของคนทั่วไปที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร
.
ทั้งแม่ และเจ้าของตึกต่างสะท้อนถึงความกดดันทางสังคมที่ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยทางจิต พวกเขาต่างสนใจแต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น และจูถิงต้องทำตัวให้เป็นปกติเหมือนคนอื่นๆ
.
แต่ “สิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่มีอยู่จริง” เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่? จริงๆ แล้วจูถิงมีสัญญาณบางอย่าง (sign) ของความผิดปกติในตัวเธอ ตั้งแต่แรกเริ่มคุณจะสามารถมองเห็นบาดแผลเล็กๆ ตามตัวของเธอ เธอมีสีหน้าหม่นหมอง และมีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่อันอาจหมายถึงเครื่องมือในการจัดการกับความรู้สึกตึงเครียดของเธอ (coping skill) ยิ่งไปกว่านั้นเธอได้สูญเสียรูปแบบการใช้ชีวิตปกติ (เสีย function) อย่างหนึ่ง นั่นคือ การไม่คำนึงถึงสุขอนามัยของตัวเอง เช่น การที่เธฮปล่อยให้ห้องรกจนมีแมลงสาบไต่ตามตัวของเธอขณะที่เธอนอนหลับ
.
ถ้าคุณไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ นั่นอาจหมายถึงคุณได้ละเลยสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างในจูถิงไปเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้แตกต่างอะไรกับแม่หรือเจ้าของตึกที่ไม่ได้สนใจว่าเธอจะเป็นอย่างไร
.
ฉากที่ดูเหมือนจะติดตาผมมากที่สุดคือตอนที่จูถิงเดินไปยังสะพานกลางทะเลพร้อมดอกไม้ โขดหินรอบเกาะเป็นสีดำหรือเทา ในขณะที่อาคารเป็นสีขาวมีรอยเปื้อน ต่างจากห้องของจูถิงที่เป็นขาวหมดจดก่อนจะมีรอยเปื้อนสีดำปรากฏขึ้นมา นี่อาจสะท้อนได้ทั้งโลกในมุมมองของจูถิงที่แบ่งแยกสิ่งที่เป็นอุดมคติและสิ่งที่ไม่ตรงกับอุดมคติออกจากกัน ในทางจิตวิทยาเรียกว่า Splitting หรือการมองโลกแบบขาวกับดำ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว นี่อาจสะท้อนถึงภาพของความเป็นจริงที่ว่า โลกนี้เป็นทั้งสีเทา ดำ และขาว ผสมปนเปกันไป เจ้าของอาคารต้องการให้ห้องของจูถิงเป็นสีขาวหมดจด แต่ตัวอาคารเองกลับสกปรกและมีรอยเปื้อน นี่เป็นความย้อนแย้งของความต้องการในอุดมคติและความเป็นจริงที่สังคมกดดันให้จูถิงเกิดความสับสน และท้ายที่สุดเธอไม่สามารถทนอยู่กับความเป็นจริงที่ต่างกับอุดมคติอันเพ้อฝันได้
.
จูถิงยืนอยู่ขอบสะพานกลางทะเล เธอถอดรองเท้าของเธอวางไว้ข้างๆ ก่อนตะโกนว่า “สิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่มีอยู่จริง” เป็นภาพที่ค่อนข้างสะเทือนใจสำหรับผม เนื่องจากนี่สะท้อนถึงการที่เธอถูกครอบงำด้วยค่านิยมของสังคมแห่งความไม่เข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการถอดรองเท้าวางไว้ข้างๆ ขณะยืนอยู่ขอบสะพาน นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสัญญาณของการฆ่าตัวตายที่คลาสสิกมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
.
ก่อนจะจบเรื่อง จูถิงทนไม่ไหวกับรอยเปื้อนสีดำในห้อง เธอระเบิดกำแพงนั้นและนั่นทำให้กำแพงเป็นรูขนาดใหญ่ในที่สุด นี่อาจหมายถึงการที่เธอพยายามแยกตัวเองออกจากความผิดปกติของตัวเธอ รวมถึงทำลายจุดสีดำในตัวเธอเองที่พยายามเก็บกดมาตลอด นี่เป็นการป้องกันตัวเองทางจิตอย่างหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่า การพยายามลบเลือนสิ่งเหล่านี้ออกไปไม่ได้ทำให้มันหายไป แต่มันกลับยิ่งทรงพลังมากขึ้นจากความกลัวของจูถิง รูขนาดใหญ่ทำให้เธอถูกครอบงำได้ในที่สุด
.
และในฉากสุดท้ายนั้นเอง คุณจะได้เห็นตัวละครอื่นๆ นอกจากจูถิง แม่ และเจ้าของตึก แต่ตัวละครอื่นที่คุณจะได้เห็นคือภาพของผู้ป่วยทางจิตหลายคนที่ถูกต้อนให้มาอยู่รวมกัน เป็นภาพของผู้ป่วยทางจิตที่อาจเรียกได้ว่า “หลุดออกจากความเป็นจริง” (out of reality) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจูถิงเองก็ถูกมัดกับเตียงและเข็นเข้ามาร่วมกับผู้ป่วยเหล่านั้น
.
ในฉากสุดท้ายอาจสะท้อนได้อีกอย่างเช่นกันถึงอาคารกลางทะเลที่จูถิงมาอาศัยอยู่ นั่นคือการใช้ชีวิตประจำวันปกติของจูถิงต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว และไม่มีใครสนใจกับสภาวะทางจิตของเธอเลย สภาพสังคมเมืองที่กดดันได้ทำให้คุณต้องดิ้นรนที่จะต้องทำตัวเป็นคนในอุดมคติอย่างเพ้อฝัน ไม่มีใครสนใจสัญญาณเล็กๆ ของความเจ็บป่วยทางจิต รู้ตัวอีกที... คนที่กำลังดิ้นรนอย่างเพ้อฝันตามความกดดันของสังคมนั้นก็อาจถูกกลืนกินด้วยสิ่งที่ไม่เข้าใจ เมื่อนั้นเจ้าของอาคารก็ไม่ได้แยแสคุณ และจัดกลุ่มให้คุณอยู่ร่วมกันกับคนที่พวกเขามองว่าผิดปกติเกินไปที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น
.
Comments