top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ว่าด้วยเรื่องความรัก/ความเกลียดของมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์แบบ

อัปเดตเมื่อ 20 เม.ย.

ว่าด้วยเรื่องความรัก/ความเกลียดของมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์แบบ: ความเกลียดชังของพ่อ-แม่-ลูก ในเรื่องราวของโยป, Ajase complex และ Hate in the counter-transference

.

.


บทความนี้คงเทียบได้กับบทความต่อยอดจากบทความก่อนหน้าของผมได้แก่ “Revisit Oedipal complex” และ “ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา: เยาวชนปลดแอก สถานการณ์โอดิปุส และการก้าวข้ามผ่านเจเนอเรชั่น” โดยที่บทความแรกเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ Oedipus และในบทความที่สองมีคำถามที่ผมตั้งไว้ด้วยว่า “ถ้าหากราชา Laius ไม่ทอดทิ้ง Oedipus เพราะกลัวถูกชิงบัลลังก์ตั้งแต่แรก คำทำนายของ Oedipus จะเป็นจริงหรือไม่?”

.


จากคำถามที่ผมได้ตั้งไว้คิดว่าคงเป็นคำถามในลักษณะเดียวกันกับนักจิตวิเคราะห์หลายๆ คนที่พัฒนาแนวคิดต่อยอดจากมุมมองของ Freud เพราะนั่นเป็นการมองเห็นว่าแนวคิดของ Freud เกี่ยวกับเรื่องราวของ Oedipus กำลังละเลยส่วนสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของเด็กไป นั่นคือเรื่องราวของพ่อแม่ที่เกลียดชังลูกของตน และการยอมรับความเกลียดชังของลูก

.


ก่อนอื่นที่ผมจะพูดถึงความเกลียดชังของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ผมจะขอเริ่มต้นจากความเกลียดชังของลูกที่มีต่อพ่อแม่กันก่อน เนื่องจากจะเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเรื่อง Oedipus complex แล้ว ยังเป็นสิ่งที่น่าจะมองเห็นได้ชัดเจนมากกว่าเมื่อเราพูดกันถึงภาพของเด็กที่ด่าทอผู้ใหญ่อย่างที่ผมเขียนถึงในบทความก่อนหน้า โดยบทความนี้จะประกอบด้วยการพูดถึงเรื่องราวทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องราวของโยป, เรื่องราวของ Ajase complex โดย Heisaku Kosawa, และเนื้อหาในงานเขียนที่ชื่อ Hate in the counter-transference ของ D.W. Winnicott

.

.

.


- โยป -


ผมได้ยินเรื่องราวของ “โยป” ครั้งแรกจากพี่ปอนในวันที่ผมไปเยี่ยมบ้านพักญาติผู้ป่วยของคริสตจักรแห่งหนึ่ง พี่ปอนเป็นคริสเตียนซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับการเทศนาในวันนั้น และได้เล่าเรื่องราวของโยปจากในคัมภีร์พันธะสัญญาเก่าให้กับคนที่นั่นฟัง แต่เนื่องจากผมไม่ได้เป็นคริสเตียนจึงไม่ได้มีมุมมองหรือความสนใจในเรื่องเดียวกันกับที่พี่ปอนพยายามจะสื่อสารมากนัก ยังไงก็ตาม เรื่องราวของโยปกับพระเจ้าก็เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจของผมให้คิดถึงเรื่องความเกลียดชังของลูกที่มีต่อพ่อแม่อย่างถึงที่สุด

.

“เรื่องราวของโยปเริ่มต้นจากชายคนหนึ่งที่ชื่อ “โยป” ผู้มีความสรรเสริญเทิดทูนพระเจ้าเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเจ้าได้ทำการทดสอบเขาด้วยการยึดเอาทรัพสินเงินทองของโยปไป และทำให้โยปเจ็บป่วยเจียนตาย เนื่องจากพระเจ้ากำลังพิสูจน์กับ “ผู้กล่าวหา” ว่า “หากโยปสูญเสียทุกสิ่งแล้วเขาจะด่าพระเจ้าหรือไม่ และนั่นคงบอกได้ว่าโยปไม่ใช่คนดีอย่างที่พระเจ้าคิด”


นอกจากโยปจะสูญเสียทุกสิ่งอย่าง และต้องเจ็บป่วยเจียนตายจากโรคที่รักษาไม่หายแล้ว เขายังถูกเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมบอกว่าโยปต้องทำบางสิ่งบางอย่างผิดแน่ๆ เขาจึงได้ถูกพระเจ้าลงโทษ แต่โยปนั้นไม่ได้คิดว่าตนเองทำอะไรผิดแม้แต่น้อย เพื่อนของโยปจึงด่าโยปว่า “นี่เจ้าหาว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรมหรอ?” และเริ่มต่อว่าโยปที่ลบหลู่พระเจ้า


โยปเริ่มตัดพ้อคล้ายว่าจะตำหนิพระเจ้า และเถียงกันกับเพื่อนของเขาด้วยความโมโหว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ในขณะที่เพื่อนของโยปก็ยังเถียงว่าพระเจ้านั้นสาปแช่งโยปเพราะโยปนั้นทำบางสิ่งผิดต่อพระเจ้า ในตอนนั้นเองที่พระเจ้าปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าโยปและเพื่อนของเขา


โยปที่ได้เห็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจึงได้บอกว่า “ข้าเข้าใจแล้วว่าพระองค์ทำทุกอย่างได้” จากนั้นพระเจ้าจึงหันไปตำหนิเพื่อนของโยปว่า “เจ้าไม่ได้พูดถึงเราอย่างถูกต้องเหมือนดังโยป” และมอบทุกสิ่งอย่างที่โยปเคยมีคืนให้โยปเป็นเท่าตัว”

.

เรื่องราวของโยปที่พี่ปอนพยายามนำเสนอให้เห็นคือความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ที่มักจะสรรเสริญพระเจ้าเพียงเพราะคิดว่าพระเจ้านั้นจะประทานสิ่งที่ดีให้กับคนที่ทำดีเท่านั้น แต่สิ่งที่โยปพูดถึงคือ “ข้าเข้าใจแล้วว่าพระองค์ทำได้ทุกอย่าง” และพระเจ้าบอกว่านั่นคือความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าที่ถูกต้อง เพราะพระเจ้านั้นสามารถประทานสิ่งใดให้กับคนที่เชื่อก็ได้ และในบางครั้งเรื่องเลวร้ายก็เป็นเหมือนการทดสอบจากพระเจ้าเช่นในกรณีของโยปที่ว่า เขาไม่ได้ดีด้วยตัวเอง แต่เพราะสถานการณ์ที่เกิดกับเขานั้นดีเขาจึงเป็นคนดี แต่เมื่อเขาสูญเสียทุกอย่าง เขาด่าทอพระเจ้า กอ่นที่จะเข้าใจพระเจ้าในภายหลังและสามารถรักพระเจ้าได้แมพระเจ้าจะทำให้เขาเผชิญกับบททดสอบที่ทุกข์ทรมานอย่างมาก

.

สิ่งที่ผมสนใจในเรื่องราวของโยปไม่ได้เหมือนกับสิ่งที่พี่ปอนพยายามจะสื่อซะทีเดียว มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่ามนุษย์นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบจึงสามารถตำหนิพระเจ้าได้ แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือคำกล่าวของพระเจ้าในเรื่องราวของโยปที่ว่า “เจ้าไม่ได้พูดถึงเราอย่างถูกต้องเหมือนดังโยป” ทั้งที่โยปนั้นตำหนิพระเจ้าก่อนหน้านี้

.

เรื่องราวของโยปกับพระเจ้าทำให้ผมเทียบได้กับความสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูก ซึ่งโยปเป็นเหมือนตัวแทนของลูกที่รักพ่อแม่ของตนเองในรูปของพระเจ้าอย่างสุดซึ้ง แต่เขารักพ่อแม่ด้วยเพราะเขาได้รับสิ่งที่ตอบสนองความพึงพอใจเท่านั้นแต่เมื่อเผชิญหน้ากับความทุกข์ที่พ่อแม่มอบให้ เขามีสิทธิ์ที่จะเกลียดชังพ่อแม่ของตนเองได้เสมอ

.

ภาพของพระเจ้าในเรื่องราวของโยปนั้นเทียบได้กับพ่อแม่ของเด็ก เพราะพ่อแม่ก็ไม่ได้ทำให้เด็กพึงพอใจได้ตลอดเวลา และบางครั้งเด็กก็ต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากการกระทำของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน เมื่อเราพิจารณาท่าทีของพระเจ้าที่มีต่อโยปแล้ว สิ่งที่โยปทำนั้นคล้ายกับเด็กที่เริ่มจะเกลียดชังพ่อแม่เมื่อมองเห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้มอบสิ่งที่ดีให้กับเขาในทุกครั้ง แต่พระเจ้ากลับบอกกับโยปว่าเขาเข้าใจพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง เพราะพระเจ้านั้นไม่จำเป็นต้องให้สิ่งดีกับเขาตลอดเวลาก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของโยปนั้นจึงคล้ายกับเด็กที่มีภาพของพ่อแม่ในอุดมคติ และถูกทำลายลงเนื่องจากพ่อแม่ทำบางสิ่งท่ีทำร้ายความรู้สึกของเขา แต่ท่าทีของพระเจ้าที่ตอบรับความเกลียดชังของโยปนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพระเจ้านั้นยอมรับการที่จะถูกลูกของตนเองเกลียดชังหรือด่าทอ ราวกับว่าพระเจ้านั้นยอมรับการถูกเกลียดได้อย่างสมบูรณ์และไม่ได้ถือว่าตนเองนั้นประเสริฐเกินกว่าจะรับคำตำหนิไม่ได้

.

จริงๆ แล้วเรื่องราวของโยป และเรื่องราวของพี่ปอนที่ผมรู้นั้นคล้ายคลึงกันมากเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อพระเจ้า เพราะพี่ปอนเองก่อนที่เขาจะมาเป็นคริสเตียนเขาก็ด่าทอพระเจ้ามาก่อนในช่วงที่เขาต้องติดคุก แต่แล้วเขาก็กลายมาเป็นบาทหลวงคริสเตียนแทนที่จะด่าทอพระเจ้าต่อไป ผมมองว่าทั้งโยปและพี่ปอนอาจได้ค้นพบบางสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นภาพของพระเจ้าที่ถูกต้องว่าพระเจ้านั้นอาจไม่ได้มอบแต่สิ่งดีให้กับตนเอง และพระเจ้านั้นสามารถถูกตำหนิได้ นั่นทำให้ผมคิดไปถึงพ่อแม่ที่สามารถยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองได้ และยอมรับความเกลียดชังของลูกที่มีต่อตนเองได้ก่อนที่ลูกจะค้นพบความรักต่อพ่อแม่อย่างสุดซึ้ง (ผมจะอธิบายเรื่องนี้ต่อในส่วนถัดไป)

.

.

.


- Ajase complex -


หากพูดกันถึงชื่อ “Ajase” หลายคนในบ้านเราอาจไม่คุ้นหู แต่เขานั้นมีอีกชื่อหนึ่งคือ “Ajatasatru” หรือ “อาชาตศัตรู” ซึ่งในบ้านเราก็คงจะทราบเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าอาชาตศัตรูกันอยู่บ้างในการเรียนวิชาพุทธศาสนาเกี่ยวกับลูกที่พยายามฆ่าพ่อของตนเอง และการได้รับการให้อภัยจากผู้เป็นพ่อ

.

ยังไงก็ตาม ในเรื่องราวของพระเจ้าอาชาตศัตรูที่ผมจะกล่าวถึงนั้นจะแตกต่างออกไป โดยเป็นเวอร์ชั่น Kanmuryojukyo ที่นักจิตวิเคราะห์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Heisaku Kosawa นำมาทฤษฎี Ajase complex ซึ่งจะเปลี่ยนจากเรื่องราวของความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูกเป็นความสัมพันธ์แบบแม่-ลูกแทน (ในเวอร์ชั่นที่เป็นความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูก เรียกว่า Kyogyoshinsho)

.

เรื่องราวของ Ajase เริ่มต้นจากมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร (King Bimbasara) ที่ชื่อว่า Idaike (บางเวอร์ชั่นเรียกว่าเวทิหิ หรือ Vaidehi) ในอาณาจักรอินเดียโบราณ หวาดกลัวที่จะสูญเสียตำแหน่งของตนเองเมื่อความสวยและความเยาว์วัยของตนเองเริ่มเสื่อสลายลง เธอจึงต้องการที่จะให้กำเนิดบุตรเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองเอาไว้


วันหนึ่งได้มีโหรฯ ทำนายว่า “ฤาษีที่อาศัยอยู่ในป่าจะมาเกิดใหม่เป็นบุตรชายของกษัตริย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า” แต่เนื่องจากพระเมเหสี Idaike ทนรอไม่หวเนื่องด้วยเธอเริ่มแก่ตัวลงทุกวันและกลัวว่าพระสวามีจะไม่รักเธอ เธอจึงเข้าป่าไปสังหารฤาษีที่อยู่ในป่า ทำให้เธอถูกสาปจากฤาษีที่กำลังสิ้นลมว่าเขาจะกลับมาเกิดใหม่เป็นลูกของเธอ และจะสังหารพระราชาในวันใดวันหนึ่ง


ไม่นานนักพระมเหสี Idaike ก็ได้ตั้งครรภ์ แต่เนื่องจากเธอหวาดกลัวจากสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป และคำสาปของฤาษีผู้นั้น เธอจึงพยายามที่จะทำแท้งและฆ่าลูกของตนเองที่อยู่ในครรภ์ด้วยการให้กำเนิดบุตรบนยอดเขาสูง ยังไงก็ตาม บุตรของเธอมีชีวิตรอดมาได้ และได้ชื่อว่า “Ajase” แต่ก็มีนิ้วก้อยที่หักเนื่องจากการตกจากที่สูงในตอนที่เกิด จึงมีชื่อเล่นว่า “the prince with the broken finger” อีกด้วย


เมื่อ Ajase โตขึ้น เขาได้รู้จาก Daibadatta (อีกชื่อเรียกหนึ่งของ พระเทวทัต - Devadatta) ผู้ซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้าว่า แม่ของเขาพยายามที่จะฆ่าเขาในตอนที่เกิด และยังฆ่าฤาษีในป่าเพื่อให้กำเนิดเขาอีกด้วย


ในตอนนั้นเองภาพในอุดมคติเกี่ยวกับแม่ของ Ajase ถูกพังทลายลง จนตั้งใจที่จะสังหารแม่ของตนเองแต่ก็ถูกห้ามปรามไว้โดยผู้ติดตามของเขา


ยังไงก็ตาม Ajase ต้องเผชิญกับความรู้สึกผิด (guilt) อย่างรุนแรงที่มีความต้องการสังหารแม่ของตน และเริ่มเป็นโรคผิวหนังที่ส่งกลิ่นจนไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้ ยกเว้นก็เพียงแต่แม่ของเขาเท่านั้น


ถึงอย่างนั้น ความทุ่มเทของแม่ก็ไม่สามารถที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของ Ajase ได้ Idaike จึงได้เดินทางไปพบกับพระพุทธเจ้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ทุกข์ทรมานของเธอ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะช่วยเยียวยาปมขัดแย้งภายในจิตใจของเธอให้ และเธอก็กลับไปดูแลบุตรชายของตนเองต่อ จนกระทั่งในท้ายที่สุด Ajase ก็หายจากอาการต่างๆ และกลายเป็นผู้ปกครองอาณาจักรที่ได้รับความเคารพเป็นวงกว้าง

.


เรื่องราวของ Ajase ที่ Kosawa นำมาเพื่อประกอบเป็นทฤษฎี Ajase complex นั้นคือการบอกเล่าเรื่องราวที่ประกอบด้วย 3 หัวข้อหลักๆ ได้แก่


1) ปมขัดแย้งทางจิตของผู้เป็นแม่ระหว่างความปรารถนาในการให้กำเนิดลูก (wish for a child) และความปรารถนาในการฆ่าลูกของตนเอง (infanticidal wish)


2) ความคั่งแค้นตั้งแต่เกิดและความปรารถนาในการฆ่าแม่ของลูก โดยหัวข้อนี้อธิบายว่าเมื่อ Ajase รู้ว่าแม่ของตนฆ่าฤาษีในป่าเพื่อให้กำเนิดบุตรมารักษาสถานภาพของตน Ajase นั้นมีความคั่งแค้นตั้งแต่กำเนิดในฐานะของฤาษีที่กลับชาติมาเกิดใหม่ (prenatal rancor) และความปรารถนาในการฆ่าแม่ของตนเองในเวลาต่อมา (matricidal wish)


3) ความรู้สึกผิด 2 แบบ โดย Kosawa บอกว่าความรู้สึกผิดแบบแรกคือ “ความรู้สึกผิดที่เกี่ยวข้องกับการถูกลงโทษ" (punitive guilt feeling) ซึ่งเป็นตอนที่ Ajase รู้สึกผิดที่จะฆ่าแม่ตนเองและกลายเป็นโรคผิวหนัง ในขณะที่ความรู้สึกผิดแบบที่สองเกิดขึ้นเมื่อแม่ให้อภัยเขาและคอยดูแลเขาจนถึงที่สุด ความรู้สึกผิดของเขาจึงพัฒนาเป็นความรู้สึกผิดที่ส่งผลดี และ Kosawa เรียกว่า “ความรู้สึกผิดที่ได้รับการให้อภัย” (forgiven guilt feeling) ซึ่งต่างจาก Freud ที่มองว่าความรู้สึกเป็นแบบแรกเพียงอย่างเดียว

(ตอนที่ผมดูคลิปของ Donald Carveth ในตอนหนึ่งก็บอกเช่นเดียวกันว่า Sigmund Frued นั้นมองเห็นแค่ punitive guilt ในขณะที่ Melanie Klein กลับมองเห็นว่ามี reparative guilt อยู่ด้วย)

.


เรื่องราวของ Ajase แสดงให้เห็นว่าลูกนั้นมีความปรารถนาในการฆ่าพ่อแม่ของตนเองเช่นเดียวกับเรืื่องราวของ Oedipus แต่เรื่องราวของ Ajase ที่ Kosawa นำมาใช้นั้นกลับทำให้เราเห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งนั่นคือมุมมองของผู้เป็นพ่อแม่อย่างพระมเหสี Idaike ที่เธอเองนั้นมีความปรารถนาในการฆ่าลูกชายของตนเอง และการให้กำเนิดลูกชายของเธอในตอนแรกก็เป็นไปเพื่อการรักษาสถานภาพของตนเองด้วย

.

ถึงแม้ Idaike จะคอยดูแล Ajase ในตอนท้าย และให้อภัยเขาที่พยายามฆ่าตนเอง แต่ก่อนหน้านั้นเธอเองต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในใจของตนเองก่อน นั่นคือความปรารถนาที่ขัดกันระหว่างการให้กำเนิดบุตรกับการฆ่าบุตรของตนเอง

.

การที่ Idaike ให้อภัย Ajase ได้นั้นเทียบได้กับการที่เธอยอมรับความเกลียดชังของลูกอย่าง Ajase ที่มีต่อตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ราวกับว่าเธอยอมรับได้ว่าความเกลียดชังที่ลูกมีต่อเธอนั้นสมเหตุสมผล เพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรกเนื่องจากคาดหวัง Ajase ตั้งแต่ก่อนเกิดเพื่อนำเอาเขามาใช้เป็นเครื่องประกันสถานภาพของตนเอง เมื่อเธอเองสามารถยอมรับความขัดแย้งในใจของตนเองนี้ได้ เธอจึงสามารถให้ยอมรับความเกลียดชังของ Ajase และให้อภัยเขาได้

.

ผมคิดว่า Idaike คงต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายในใจของตัวเองหลายอย่าง เพราะนอกจากเธอจะต้องยอมรับว่าตนเองไม่ได้ต้องการให้กำเนิดบุตรชายด้วยความรักของตนเองตั้งแต่แรกแล้ว เธอยังต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดลึกๆ ที่เธอฆ่าฤาษีไป และยังพยายามฆ่าลูกชายของตนเองอีกด้วย นี่แสดงให้เราเห็นว่า ผู้เป็นแม่อย่าง Idaike นั้นก็มีความเกลียดชังต่อลูกชายของตนเองได้ด้วยเช่นกัน

.

.

.


- Hate in the counter-transference -


ส่วนสุดท้ายผมจะกล่าวถึงงานเขียนที่ชื่อว่า “Hate in the counter-transference” ซึ่งเป็นงานเขียนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่งของ Donald W. Winnicott ผู้เป็นทั้งกุมารแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ โดยผมจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหาของงานเขียนชิ้นนี้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของความรักและความเกลียดในความสัมพันธ์ของแม่-ลูกมาเพื่อขยายต่อจากเรื่องราวของ โยป และ Ajase ในก่อนหน้านี้

.

เนื้อหาโดยรวมของงานเขียนชิ้นนี้ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าการบอกอย่างโต้งๆ ว่า “แม่นั้นเกลียดลูกของตนเองก่อนที่ลูกจะเกลียดแม่หรือรู้ว่าแม่เกลียดตนเองด้วยซ้ำ” โดย Winnicott ได้ให้เหตุผลที่แม่จะเกลียดลูกของตนมากถึง 18 ข้อ แต่พอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า ตั้งแต่ตอนที่เด็กอยู่ในครรภ์ เด็กก็สามารถเป็นอันตรายต่อแม่ได้ตั้งแต่ตอนที่อยุ่ในท้องไปจนถึงตอนที่คลอด และเมื่อเด็กเกิดมา เด็กนั้นเป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตส่วนตัวของคนเป็นแม่อย่างมาก และยังทำร้ายแม่ได้ตั้งแต่การดูดนมที่บางครั้งเขาก็กัดหัวนมเธอ ไปจนถึงการทำเหมือนแม่ของเขาเป็นทาสเนื่องจากความรักของเด็กที่แสดงออกมานั้นเหมือนกับเขาต้องการแค่บางสิ่งบางอย่างตอบแทนเท่านั้น ซึ่งพร้อมที่จะขับไสไล่ส่งแม่ได้อย่างไร้ความปราณี

.

Winnicott บอกว่าทั้งหมดนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กมีภาพของแม่ที่ผิดไปจากความเป็นจริงเสมอ และมักทำให้แม่สับสนด้วยการทำตัวน่ารักกับคนแปลกหน้าแต่กลับใจร้ายกับแม่ของตน แต่แม่นั้นกลับยังคงต้องรักเขาไม่ว่ายังไงก็ตาม และเธอรู้ดีกว่าหากเธอทำเขาผิดหวัง เขาก็พร้อมจะเอาคืนได้เมื่อโตขึ้น

.

สิ่งที่ Winnicott นำเสนอเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลที่แม่จะรู้สึกเกลียดลูกของตนเองได้ก่อนที่เด็กจะรู้จักความเกลียดเสียด้วยซ้ำ โดย Winnicott ได้ยกเอาคำกล่าวของ Freud ใน Instincts and their Vicissitudes (1915) ที่มีใจความประมาณว่า “เราอาจบอกได้ด้วยสัญชาตญาณว่าความรักที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (หรือคนใดคนหนึ่ง) นั้นคือการพุ่งตรงไปหาความพึงพอใจ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าการที่เราเกลียดชังนั้นทำให้เราห่างออกจากสิ่งนั้นๆ ดังนั้นเมื่อเรากลับมาตระหนักถึงทัศนคติเกี่ยวกับความรักและความเกลียด มันกลับไม่สามารถจำแนกความสัมพันธ์ของสัญชาตญาณที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ได้ แต่กลับอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ของอีโก้ที่มีต่อสิ่งนั้นๆ แบบองค์รวม” ทั้งนี้ ก็เพื่อบ่งบอกว่าเด็กนั้นไม่ได้รู้จักความเกลียด แต่ในภาวะที่เขาแสดงออกต่อแม่เช่นนั้นคือ “ความรักที่ไร้ปราณี” (ruthless love) ในขณะที่ความเกลียดชังต่อแม่คือสิ่งที่ถูกใช้เพื่อนิยามกลุ่มความรู้สึกของเขาเองในเวลาต่อมาเมื่อเริ่มมองภาพแม่ของตนเองเป็นองค์รวมได้มากขึ้น

.

สิ่งที่ Winnicott พยายามบอกนั้นคือเด็กไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความเกลียดในแรกเริ่ม แต่เขาพัฒนามันขึ้นมาเมื่อเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเขา และในตอนนั้นเองที่เขาค่อยๆ เรียนรู้ที่จะพิสูจน์ว่าคนที่ปกป้องคุ้มครองเขาอย่างพ่อและแม่สามารถที่บริหารความเกลียดชังของตนเองได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ (hate objectively)

.

ผมเลือกที่จะตีความสิ่งที่ Winnicott นำเสนอว่าเป็นการบริหารความเกลียดชังได้อย่างเหมาะสมของผู้เป็นพ่อแม่นั่นก็เพราะ เขาได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กที่เขาให้การบำบัดที่ว่า เด็กคนนั้นมักทำพฤติกรรมที่ไม่น่าพึงพอใจหลายอย่าง จนกระทั่งเขาตัดสินใจที่จะอุ้มเด็กคนนั้นออกไปยืนห้องบ้านพร้อมกับบอกเด็กคนนั้นว่าสิ่งที่เด็กคนนั้นเพิ่งทำลงไปทำให้เขารู้สึกเกลียดหรือไม่พอใจอย่างมาก เขาปล่อยเด็กคนนั้นไว้นอกบ้านและมีเพียงกระดิ่งให้เด็กกดหรือสั่นต้องการจะเข้ามาใหม่และจะไม่มีการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วอีก

.

สิ่งที่ Winnicott ทำเหมือนการทำให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลให้คนอื่นไม่พอใจ และเขาจะต้องถูกเกลียดหากเขาทำพฤติกรรมเช่นนั้น แต่สิ่งที่ Winnicott สื่อสารกับเด็กนั้นไม่ใช่การตีหรือตำหนิ แต่เป็นเหมือนการตั้งกฏขึ้นมาเพื่อลงโทษอย่างเหมาะสม และบ่งบอกว่าเขามีความอดทนต่อความเกลียดชังที่ตนเองมีได้แทนที่จะระเบิดออกมา

.

Winnicott ยังได้ยกเอาเพลงกล่อมเด็กที่ชื่อว่า “Rock-a-bye-baby” มาใส่ไว้ในงานเขียนของเขาด้วย เพื่อบ่งบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ช่วยให้พ่อแม่อดทนต่อความเกลียดต่อลูกที่อยู่เบื้องลึกได้ โดยเนื้อหาของเพลงคือ

.

“Rock-a-bye baby, in the tree top.

When the wind blows, the cradle will rock.

When the bough breaks, the cradle will fall.

And down will come baby, cradle and all.”


(“ไกวเปลเจ้าตัวน้อย ที่อยู่บนยอดไม้

ยามเมื่อลมพัดมา เปลเจ้าจะแกว่ง

ยามเมื่อกิ่งหักลง เปลเจ้าจะหล่นลงมา

หล่นลงมาหมด ทั้งเปลและตัวเจ้า”)

.

Winnicott ได้บอกว่าในขณะที่เด็กนั้นรู้สึกเพลิดเพลินกับเพลงกล่อมเด็กนี้ได้ เด็กก็จะไม่รู้ด้วยว่าเพลงนี้เป็นการแสดงออกถึงองค์ประกอบของความเกลียดชังที่พ่อแม่มีอยู่ด้วย โดย Winnicott ได้เทียบเพลงกล่อมเด็กนี้กับสัญลักษณ์ของการให้กำเนิด (ผมคิดว่านี่เป็นภาพของเด็กที่ตกลงพื้นคล้ายกับเรื่องราวของ Ajase)

.

ยังไงก็ตาม สิ่งที่ Winnicott พยายามนำเสนอคือเรื่องราวของการตระหนักถึงความเกลียดชังที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือการตระหนักถึง และอดทนอยู่กับมันแทนที่จะปฏิเสธว่ามไ่มีความรู้สึกเหล่านี้อยู่ ซึ่งรวมไปถึงการยินยอมที่จะถูกทำให้เจ็บปวดหรือถูกทำร้ายด้วย ซึ่งนั่นก็คือภาพของการยอมรับความเกลียดที่มีอยู่

.

.

.


- ทิ้งท้าย -


จากเรื่องราวทั้งสามที่ผมได้ยกมามีความสอดคล้องกันอยู่พอสมควรในเรื่องของความรักและความเกลียด โดยในเรื่องราวของโยปกับพระเจ้าก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าโยปนั้นสามารถแสดงให้เห็นว่าตนเกลียดพระเจ้าได้ และในภายหลังเขาก็ได้ค้นพบว่าเขารักพระเจ้าอย่างแท้จริงเมื่อความเกลียดชังของเขาได้รับการยอมรับจากพระเจ้า ขณะเดียวกัน Ajase ก็หลุดพ้นออกจาความรู้สึกผิดที่ทำร้ายเขาได้ด้วยการให้อภัยจากผู้เป็นแม่ แต่ก่อนหน้านั้นแม่ของเขาเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง และยอมรับความเกลียดชังของทั้งตนเองและของลูกชาย สุดท้ายในงานเขียนของ Winnicott ก็มีประโยคหนึ่งที่น่าจะตรงกันกับเรื่องราวทั้งหมดนี้ที่ว่า “... (child) can believe in being loved only after reaching being hated." (เด็กจะสามารถเชื่อว่าถูกรักได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ค้นพบว่าถูกเกลียด) ซึ่งในที่นี้ ก็คือความเกลียดที่ถูกต้องเหมาะสมหรือสมควรถูกเกลียดจริงๆ

.

เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

Reference

Ajase complex. (2020, July 27). In Encyclopedia. https://www.encyclopedia.com/.../dictionari.../ajase-complex

Akhtar, S. E. (2009). Freud and the Far East: Psychoanalytic perspectives on the people and culture of China, Japan, and Korea. Jason Aronson.

Winnicott, D. W. (1949). Hate in the counter-transference. International journal of psycho-analysis, 30, 69-74.

ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page