top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนJessada Klinpull

ว่าด้วยเรื่องกลไกป้องกันทางจิต Projection , Projective Identification และ เรื่องของ Countertransference



[Part 1: ปูพื้น]


สมมติให้ ‘นางสาว A’ มีพื้นฐานของปมขาดความเชื่อใจคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

และต้องการความรักมาเติมเต็มช่องว่างในใจนี้


ในเวลาต่อมา นางสาว A ก็พัฒนาปมนั้นขึ้นมาเป็นความคิดว่า

“เพื่อจะทำให้คนรักฉัน ฉันต้องมีคุณค่าหรือมีประโยชน์บางอย่างกับคนเหล่านั้น”

นางสาว A จึงตามหาวิธีการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองผ่านการทำตามความต้องการของคนอื่นเสมอ


แต่ด้วยพื้นฐานของ นางสาว A ที่ขาดความไว้วางใจคนอื่น ก็เลยไม่สามารถเชื่อได้ว่าคำชมที่ได้จากคนอื่นมาจากความจริงใจของคนคนนั้น

สุดท้าย นางสาว A จึงคิดว่า “ที่คนอื่นทำดีกับเรา ก็เพราะหวังผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ!”

[นางสาว A เกิดการกลไกป้องกันทางจิตแบบ “projection” ในเรื่อง “ทัศนคติมุ่งหาผลประโยชน์” (เช่น ทำดีเพราะคาดหวังความรักความสำคัญ) ให้คนรอบข้าง เพราะการเห็นทัศนคติแบบนี้ในตัวเองคนเดียวทำให้นางสาว A รู้สึกเกลียดตัวเองมาก]

* หมายเหตุ 1: สิ่งที่นางสาว A คิดไม่ได้ผิด เพราะเป็นความจริงที่ว่าทุกความสัมพันธ์จะมีการหาประโยชน์ระหว่างกันอยู่ ต่อให้เป็นเรื่องความรัก การรักใครซักคนแล้วอยากได้รักตอบเป็นเรื่องปกติมาก การ projection ในกรณีนี้จึงเกิดผลดีในแง่ส่งเสริมให้มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรือ มี empathy ได้ระดับนึง … แต่สำหรับนางสาว A การมีความคิดแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องแย่ เพราะมันอาจเหมือนการเห็นแก่ตัวหรือทำดีหวังผล จึงยอมรับความต้องการนี้ในตัวเองได้ยาก


.

.


[Part 2: Projection]


เมื่อ นางสาว A เริ่มมีแฟน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้น

การอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ก็เริ่มทำให้ความต้องการความรักมาเติมเต็มช่องว่างในใจเริ่มทำงานหนัก


นางสาว A มีความต้องการความรักและความสนใจจากแฟนมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงยังคงใช้วิธีการเดิมอยู่ คือ

การยอมตามแฟนในทุกเรื่องอย่างไม่ขัดแย้งเพื่อให้แฟนเห็นว่าตัวเองมีประโยชน์ (จะได้ไม่ทิ้งกันไป)


แต่เพราะ นางสาว A ยังคงไม่มีความเข้าใจปมตัวเองมากพอ

การใช้วิธีการแบบเดิมกับแฟน (แพทเทิร์นเดิม) ก็เลยไม่ได้ทำให้นางสาวเรียนรู้ได้ว่า

“การรักแล้วต้องการรักตอบเป็นเรื่องปกติ”


สุดท้าย นางสาว A จึงเริ่มค่อยๆ ไม่แน่ใจว่าแฟนจะรักตัวเองจริงๆ หรือไม่ หากแฟนมารู้ทีหลังว่า นางสาว A ทำดีกับแฟนเพื่อหวังผลประโยชน์ (หวังจะได้ความรักความสำคัญ)

[นางสาว A เกิดกลไกการป้องกันทางจิตแบบ “projection” อีกครั้ง ในเรื่อง “ความรู้สึกรังเกียจความต้องการเรียกร้องความรัก” ซึ่งครั้งนี้จะโยนไปให้กับแฟน ส่งผลให้นางสาว A เชื่อว่า หากฉันยังรู้สึกเกลียดตัวเองในด้านนี้เลย คนอื่นก็ต้องเกลียดและไม่ยอมรับฉันด้วยเหมือนกัน]

** หมายเหตุ 2: จะเห็นได้ว่าความไม่ไว้วางใจหรือระแวงแฟนไม่รัก มาจากการมองเห็นด้านลบในตัวเองของนางสาว A ก่อน ซึ่งนางสาว A ยอมรับตัวตนด้านนั้นของตัวเองไม่ได้จึงคิดว่าคนอื่นจะยอมรับไม่ได้เหมือนกัน


.

.


[Part 3: Projective identification]


เมื่อความสัมพันธ์ของนางสาว A กับแฟนใกล้ชิดกันมากขึ้น พร้อมกับความสงสัยในความรักของแฟนที่มากขึ้นในใจของนางสาว A


นางสาว A จึงเริ่มพยายามทดสอบความรักของแฟนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

เริ่มแสดงท่าทีไม่สนใจแฟน เรียกร้องความสนใจมากขึ้น หาเรื่องทะเลาะอย่างไม่มีเหตุผลมากขึ้น

ลองหาไปจากความสัมพันธ์มากขึ้น หรือบางครั้ง ก็อาจลองไปคุยกับคนอื่นเพื่อให้แฟนหึงหวง เป็นต้น


การที่ นางสาว A ทำแบบนั้น ก็เพื่อยืนยันว่าแฟนไม่ได้รักนางสาว A จริง

เพราะปกติแล้ว นางสาว A จะยอมทำตามหรือให้อิสระกับแฟนเสมอ แต่พอตัวเองทำบ้าง กลับถูกตำหนิ

และยิ่งไปกว่านั้น หากการกระทำของ นางสาว A ทำให้แฟนโกรธหรือไม่พอใจได้ ก็จะยิ่งช่วยยืนยันให้แน่ใจได้อีกว่า

“ตัวปัญหาคือเราเอง!” หรือ “เราเป็นคนที่แย่มากๆ ยังไงล่ะ!”


สุดท้าย นางสาว A จึงเริ่มคิดว่า

“เราสมควรแล้วที่จะต้องถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว เพราะเรานั้นทั้งไม่มีประโยชน์และไร้ค่า”

[ในกรณีนี้บอกได้ว่า นางสาว A เริ่มมีการใช้กลไกป้องกันทางจิตแบบ projective identification เกิดขึ้น โดย นางสาว A ไม่เพียงแต่โยนทัศนคติและความรู้สึกแง่ลบของตัวเองให้คนอื่นเท่านั้น แต่ยังสร้างสถานการณ์เพื่อยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อด้วย]

*** หมายเหตุ 3: ยังไงก็ตาม การใช้กลไกทางจิตแบบ projective iden. ของนางสาว A เป็นเหมือนการทดลองที่อาจนำไปสู่บทสรุปได้ 2 ทาง ได้แก่


1. แฟนของนางสาว A รู้สึกรังเกียจนางสาว A จริงๆ และบอกเลิกกับนางสาว A เนื่องจากทนไม่ไหว = projective iden. ของนางสาว A ได้ผลเชิงลบ เพราะแฟนเชื่อจริงๆ ว่านางสาว A เป็นคนน่ารังเกียจและเริ่มคิดว่านางสาว A ไม่มีประโยชน์ให้คบต่อ


หรือ


2. แฟนของนางสาว A รู้สึกไม่พอใจกับพฤติกรรมของนางสาว A มากเหมือนกัน แต่ไม่รีบบอกเลิกทันทีเนื่องจากยังคงรู้สึกรักนางสาว A อยู่ แฟนจึงได้พยายามทำความเข้าใจนางสาว A และพยายามบอกกับนางสาว A ว่าเธอมีคุณค่ามากกับเขาแม้ว่าบางครั้งนางสาว A จะทำเรื่องให้โมโห = projective iden. ของนางสาว A ได้ผลเชิงบวก เพราะแฟนสามารถอดทนต่อการยั่วยุของนางสาว A ได้และเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของนางสาว A ที่รังเกียจตัวเองเหมือนกันในบางครั้ง (แฟนทำให้นางสาว A เห็นได้ว่าทุกคนต่างก็มีข้อเสีย และสามารถเปลี่ยนแปลงได้)


.

.


[Part 4: Projective identification/ Complementary/ Concordant Countertransference]


ปัญหาเกิดจากนางสาว A?


ถ้าจากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมด ก็ดูเหมือนว่า นางสาว A ใช้กลไกป้องกันตัวเองทางจิตแบบ “projection” และ “projective identification” จนเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับแฟนในท้ายที่สุด


แต่จากที่เขียนไว้ใน ‘หมายเหตุ 3’ ว่า เรื่องราวของนางสาว A อาจไปสู่บทสรุปได้ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับการตอบรับของแฟนด้วย


ทั้งนี้ เวลาที่ นางสาว A ใช้กลไกป้องกันทางจิตแบบ projective iden. ก็เลยทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาได้ 3 แบบ ได้แก่


1. หากว่าแฟนของ นางสาว A ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการคบหากับนางสาว A ต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันและไม่เคยคิดเลยว่านางสาว A เป็นคนไร้ค่า แต่เมื่อพบกับนางสาว A แล้วกลายเป็นทำให้เริ่มคิดว่า “หรือความสัมพันธ์นี้ต้องมีผลประโยชน์?” และ “หรือนางสาว A จะไม่มีประโยชน์ให้คบต่อไป” จนกระทั่งคล้อยตามความเชื่อของนางสาว A ไปในที่สุด

>> กรณีนี้ถือว่าเกิดจากการ projective identification ของนางสาว A อย่างชัดเจน และท่าทีของแฟนเรียกว่า projective counter-identification เพราะเป็นเพียงท่าทีตอบรับลูกส่งของนางสาว A เท่านั้น หากนางสาว A เปลี่ยนแปลงตัวเองและแฟนลดการเล่นบทบาทตาม ก็จะแก้ไขได้ไม่ยาก

2. หากว่าแฟนของ นางสาว A มีทัศนคติพื้นฐานในการมีความสัมพันธ์อยู่แล้วว่า “การจะคบกับใครซักคนก็ต้องมีประโยชน์ให้คบหาด้วย” บวกกับการมีปมเรื่องแม่ที่เจ้าอารมณ์ด้วย ทำให้เวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์กับ นางสาว A แฟนก็จะสังเกตเสมอว่าการคบหานางสาว A ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ เมื่อนางสาว A ทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ขึ้น แฟนก็มีโอกาสง่ายมากที่จะย้อนกลับไปถามตัวเองว่าควรคบต่อไปหรือไม่หากต้องเจอกับความน่าปวดหัวแบบนี้ไปเรื่อย และต้องมาโกรธเป็นฟืนไฟทุกครั้งเหมือนเวลาทะเลาะกับแม่ของตัวเอง

>> กรณีนี้ถือได้ว่า นางสาว A อาจมีการ projective iden. อยู่ตามปกติ แต่แฟนของนางสาว A ก็เกิด complementary countertransference กับพฤติกรรมของนางสาว A ด้วย เพราะพฤติกรรมของนางสาว A กระตุ้นปมเรื่องแม่ของแฟนได้เช่นกันจนทำให้เกิดปมที่สอดคล้องกันขึ้นมาให้ปัญหาของทั้งคู่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใครคนหนึ่งหรือทั้งคู่สังเกตเห็นและแก้ปัญหาตัวเองให้ได้ก่อน

3. หากว่าแฟนของ นางสาว A เคยมีประสบการณ์ของการมองตัวเองในแง่ลบและไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่นอยู่ก่อน เมื่อพบกับนางสาว A ที่มีพฤติกรรมหลายอย่างที่แสดงออกว่าหึงหวงและเรียกร้องความสนใจ จึงทำให้แฟนของนางสาว A สงสัยว่า นางสาว A อาจมีความกังวลเรื่องความไว้วางใจในความสัมพันธ์เหมือนกันแน่ๆ ดังนั้น แฟนจึงค่อยๆ พยายามหาทางช่วยให้นางสาว A มั่นใจในการมีความสัมพันธ์นี้และคอยช่วยสนับสนุนมุมมองของกันและกัน (เช่น การบอกว่า “ใช่แล้ว ที่ฉันคบกับเธอก็เพื่อผลประโยชน์นั่นแหละ แต่ไม่ใช่เพราะมีประโยชน์จึงเป็นแฟน แต่เพราะเป็นแฟนจึงมีประโยชน์ต่างหาก แค่มีความสัมพันธ์นี้อยู่ก็มีประโยชน์มากพอแล้ว” เป็นต้น)

>> กรณีนี้เรียกว่า projective iden. ของนางสาว A เกิดขึ้นไปคู่กับ concordant countertransference ของแฟน เพราะว่าปมความรู้สึกในใจของแฟนที่ถูกนางสาว A กระตุ้นกลับช่วยให้แฟนเข้าอกเข้าใจ (empathy) นางสาว A ได้ราวกับการบอกว่า ทั้งคู่มีปมที่สอดคล้องกันจนเข้าใจกันได้มากกว่าคนอื่น

.

.

.


[Part 5: สรุปจบ]


ท้ายที่สุด เราจะเห็นได้ว่าการใช้กลไกป้องกันทางจิตแบบใดก็ตาม ต่างก็มีประโยชน์ในแง่หนึ่งของมันอยู่ และในบางครั้ง ปัญหาของคนคนหนึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากใครคนใดคนหนึ่งเสียทีเดียว


แต่อาจเพราะเราต่างก็มีประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างกัน บางครั้งสิ่งที่เราเป็นจึงอาจช่วยส่งเสริมกันให้อีกฝ่ายดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้


ยังไงก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดเวลาที่เราพูดเรื่องกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตและแพทเทิร์นการมีความสัมพันธ์แบบทฤษฎีนี้


ทั้งหมดทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับสติของเราที่จะพอมองเห็นกระบวนการทางจิตพวกกนี้เกิดขึ้นในตัวเองรึเปล่า

หากเราสังเกตเห็นได้ทัน นั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้้นให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ครับ

.

เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

ดู 37 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page