.
สวัสดีครับ เรื่องของกัญชานี่เป็นประเด็นที่ผมรู้สึกว่าอยากจะพูดถึงมาซักพัก แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองอยากจะมาพูดถึงข้อเสียของมันโดยตรงไปเลย ผมรู้สึกว่าอยากจะค่อยเล่ารายละเอียดของการใช้กัญชาในมุมมองผมและคนรอบๆ ข้าง รวมทั้งขออ้างอิงไปกับงานวิจัยที่ผ่านมาด้วยเพื่อให้ทุกคนได้ลองพิจารณาถึงการเลือกใช้มันเองซะมากกว่า
สำหรับ ‘กัญชา’ แล้ว มันแทบไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในมุมมองของผมและคนรอบๆ ตัว ถึงแม้ว่าประเทศเราเพิ่งจะมาปลดล็อคให้เสรีมากขึ้นเพื่อใช้สำหรับการรักษาทางการแพทย์และกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มันกลับเป็นสิ่งที่มีอยู่มานานแล้วในสังคมของเรา และหลายคนที่ผมรู้จักก็เคยลองเสพมาแล้วทั้งนั้น (ก็ต้องยอมรับว่าผมเคยลองบ้างตามโอกาส)
แต่ที่ผ่านมา ในมุุมของการ ‘แอบๆ ใช้’ ก็มีจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานไปกับการฤทธิ์ของมันเท่านั้น ถ้าถามหลายๆ คนที่เคยทดลองมาต่างก็บอกว่าพวกเขาเสพมันก็เพื่อต้องการคลายเครียดหรืออยากจะรู้สึกฟินมากกว่าจะบอกว่าใช้เพื่อการรักษาใดๆ
คำว่า ‘การใช้กัญชาเพื่อการรักษา’ จึงแทบจะเหมือนสิ่งใหม่ด้วยซ้ำ และมันก็กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความท้าทายมากว่าเราจะนิยาม “การรักษา” ที่ครอบคลุมไปถึงระดับไหนกัน เพราะการวิจัยที่ผ่านมาเราพบได้ว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการทางกาย เช่น ความเจ็บป่วยเรื้อรัง (chronic pain) โรคลมชัก (epilepsy) และ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis symptoms) จริง แต่ในปัจจุบัน การมองเรื่องปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นโรคก็ทำให้หลายๆ คนสามารถอ้างเหตุผลเรื่องการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวชไปได้อีกด้วย
.
เท่าที่ผมทราบข้อมูลมาคือ กฎหมายในบ้านเราตอนนี้ไม่ได้ครอบคลุมการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคทางจิตเวชนักหรอก แต่ในทางปฏิบัติจริง ใครก็ต่างอ้างได้ทั้งนั้น
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจากตัวอย่างของต่างประเทศอย่างเช่นนโยบายการใช้กัญชาเพื่อการรักษาของอเมริกา ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์จริงในปี 2018 กับกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ณ เมือง Los Angeles ก็พบว่า คนเหล่านี้ก็ยังใช้กัญชาด้วยเหตุผลหลักๆ คือเรื่องการรับมือกับโรคซึมเศร้าของตัวเองอยู่ดี
เช่นเดียวกัน ในงานวิจัยปี 2021นี้เองก็พบว่า การเก็บข้อมูลผู้ป่วยในฟลอริดาที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเป็นโรคซึมเศร้าพร้อมๆ กับมีภาวะข้อต่ออักเสบและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยทำให้เราเห็นว่าในมุมมองของผู้ป่วยต่างมองว่าการใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการของพวกเขา เพราะมันช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดลงไปได้จริงๆ แม้ว่าในปี 2020 สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (National Academies of Science, Engineering, and Medicine) จะสรุปว่าหลักฐานของการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และ โรค PTSD ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ก็ตาม
พอมันเป็นแบบนี้ ถ้าใครซักคนเดินมาบอกผมว่าการใช้กัญชาสามารถช่วยให้เขารับมือกับอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้ ผมเองก็ยอมรับว่ามันค่อนข้างกระอักกระอ่วนอยู่เหมือนกัน ก็เพราะว่าในเรื่องของปัญหาทางจิตใจเหล่านี้ มันยากเสียเหลือเกินที่จะมาบอกว่านั่นไม่ใช่ความจริงและพวกเขาแค่หลอกตัวเอง (ก็มันได้ผลจริงสำหรับบางคนจนแทบไม่ต่างจากการสูบบุหรี่เวลาว่างหรือไปดื่มเหล้าหลังเลิกงานที่ช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าตนสามารถจัดการกับชีวิตของตัวเองได้มากขึ้น)
.
ถ้าเรามาดูประสิทธิภาพของกัญชาต่อการรักษาอาการทางจิตเวชแล้วล่ะก็พบได้ว่า สาร cannabinoid (สารสกัดจากกัญชา) สามารถช่วยลดสัญญาณของความรู้สึกกลัว ลดโอกาสกู้คืนความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ (ไม่ทำให้นึกถึงความจำที่เจ็บปวด) และช่วยส่งเสริมกระบวนการดับสูญไปของความทรงจำ (ทำให้ลืม) ได้ เพราะงั้นกัญชาเลยมักจะถูกแนะนำว่าให้ใช้กับคนที่มีอาการ PTSD-related intrusions and flashbacks (โรค post-traumatic stress disorder ที่มีภาวะความรู้สึกถูกคุกคามและการนึกย้อนภาพประสบการณ์โดยไม่ตั้งใจ) ขึ้นมา
[อาการของ PTSD จะประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ การย้อนประสบการณ์ หรือ re-experiencing (เช่น มีภาพ falshback หรือ ฝันร้ายในเกี่ยวกับเหตุการณ์เดิมๆ) การตื่นตัวมากเกินปกติ หรือ hyper-arousal (เช่น มีอาการหงุดหงิดรำคาญใจ ตั้งสมาธิได้ยาก อดทนต่อสิ่งที่ทำให้ตึงเครียดไม่ค่อยได้) และ การมีพฤติกรรมหลีกหนีหรือทำตัวเองให้เฉยชา หรือ avoidance/numbing behavior (เช่น พยายามหนีจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือหลีกหนีจากความคิดและอารมณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ)]
ในการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการทางจิตเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อคนเหล่านี้มักพบว่าการรักษาด้วยยาจิตเวชที่มีอยู่ในมือเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลกับพวกเขาเลย ซึ่งในด้านการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวชอื่นๆ นอกจาก PTSD ก็พบได้อีกในงานวิจัยอื่นๆ เช่น งานวิจัยในปี 2022 ที่ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ตัวอย่างของกัญชาแบบธรรมชาติเพื่อทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลจะส่งผลให้มีคนที่เข้ารับการทดลองเหล่านี้รายงานว่าอาการนอนไม่หลับของพวกเขาดีขึ้นจากเดิม และถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทุกอาทิตย์จะรายงานว่าอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลของพวกเขาอาจจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วงแรกของการรักษา แต่อาการทุกอย่างจะลดลงจากเดิมได้ถึง 75% เมื่อผ่านไปได้ประมาณ 12 สัปดาห์
.
อย่างไรก็ตาม จริงอยู่ว่างานวิจัยเหล่านี้จะสนับสนุนว่ากัญชามีส่วนช่วยในเรื่องการบรรเทาอาการทางจิตเวชจริง แต่มันก็มีงานวิจัยที่ขัดแย้งอยู่มากเหมือนกัน เพราะว่ากัญชาเองก็ยังคงสามารถส่งผลเสียต่อสุขกายและสุขภาพจิตของเราได้เมื่อใช้ในปริมาณมาก หรือใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง
ในมุมมองของผมมองว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาที่เราจะบอกเลยว่านี่เป็น “ยา” คงเป็นอะไรที่มากเกินไป มันอาจเป็ฯแค่ตัวช่วยในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งนักจิตวิทยาคนอื่นๆ จำนวนหนึ่ง (อย่างน้อยก็แทบทุกคนรอบตัวผม) มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าการสนับสนุนให้ใช้กัญชาอย่างสุดโต่งแบบขาดความรู้ก็อาจนำมาสู่ผลเสียมากกว่าผลดี เช่นเดียวกับที่นักจิตวิทยาของต่างประเทศคนหนึ่งเคยเขียนถึงความกังวลนี้ไว้ในเอกสารวิชาการของเขาเช่นกันว่า “การใช้กัญชาอาจมีผลให้คนหลีกเลี่ยงการรักษาอย่างเป็นระบบตามปกติ เพราะอาจทำให้คนที่ใช้กัญชารักษาตัวเองบอกว่า ‘นี่คือยาของฉัน’”
.
ถ้าย้อนกลับมาว่าอะไรทำให้กัญชายังคงมีข้อโต้แย้งมากมาย เราอาจพอบอกได้จากการที่สารสกัดของกัญชาไม่ได้มีแค่สารตัวเดียวเท่านั้น เพราะสารหลักๆ ของกัญชาที่ส่งผลต่อระบบประสาทของเราประกอบไปด้วย 2 ตัว ได้แก่ สาร CBD และ สาร THC
การทดลองที่ผ่านมาและพบว่าได้ผลในการบรรเทาอาการทางจิตเวชหลักๆ แล้วอาจเป็นสาร CBD ที่ยืนยันว่าพอจะใช้รักษาอาการวิตกกังวลได้ แต่ในทางตรงข้าม สาร THC ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึก high จนเมา อาจเป็นสิ่งที่ทำให้อาการวิตกกังวลกลับเพิ่มสูงขึ้นซะงั้น
ความรู้สึก high ของการเสพกัญชาอาจส่งผลดีในระยะสั้น โดยเราสามารถอ้างอิงได้จากงานวิจัยของ LaFrance และคณะ ในปี 2020 ที่พบว่า การใช้กัญชาเพื่อการรักษาแบบสูดดมสามารถช่วยบรรเทาอาการ PTSD ในระยะสั้นได้ โดยเมื่อประเมินจากอาการของ PTSD ได้แก่ intrusive thoughts, flashbacks, irritability, และ/หรือ anxiety พบว่า อาการเหล่านี้ลดลงมากกว่า 50% ในทันทีหลังจากสูดกัญชาประมาณ 20 นาที
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยเดียวกันก็พบว่า จำนวนโดสที่ใช้เพื่อจัดการความวิตกกังวล (anxiety) ในกลุ่มคนเหล่านี้กลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา จนท้ายที่สุดความรุนแรงของอาการทั้งหมดก็จะไม่มีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย
ขณะเดียวกัน งานวิจัยอื่นๆ ก็พบวอีกว่า การใช้กัญชาในระยะยาวอาจส่งผลเสียตามมามากกว่าปกติ เพราะไม่ได้รักษาที่ต้นตอของอาการ และสามารถนำไปสู่การเกิดเป็นโรคจิต (schizophrenia) (เห็นภาพหลอน หูแว่ว หลงผิด) หรืออาจทำให้การรักษาที่ควรจะเป็นมีความยากลำบากมากขึ้นได้
.
ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี 2015 ของ Wilkinson และคณะ ที่เก็บข้อมูลจากทหารผ่านศึกที่มีประวัติรักษาอาการ PTSD และใช้กัญชามากกว่า 4 เดือน พบว่า อาการของพวกเขาจะรุนแรงกว่าปกติหากใช้กัญชาขณะที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษา แต่เมื่อพวกเขาหยุดใช้ก็กลับส่งผลให้ประสบการณ์ในการบำบัดพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ในทันที
เช่นเดียวกัน งานวิจัยในปี 2019 ก็พบว่า การใช้กัญชาในปริมาณเล็กน้อยก็อาจช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงและการฆ่าตัวตายได้จริง แต่มันกลับไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการรักษาอาการของ PTSD เลย ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยอื่นๆ ยังบอกอีกว่า การใช้กัญชาในระยะสั้น (ไม่เกินประมาณ 3 เดือน) สามารถช่วยลดอาการของ PTSD ได้ แต่ถ้าใช้ในระยะยาว (ประมาณ 12 เดือน หรือ 1 ปี) สาร THC ของกัญชาก็มีโอกาสทำให้อาการของ PTSD ที่แย่ลงไปอีก
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังแทบไม่สามารถบอกได้อีกว่าการใช้กัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการของ PTSD หรืออาการทางจิตเวชอื่นๆ ที่คล้ายๆ กันได้อีกด้วย เนื่องจากคนที่มีอาการของ PTSD ก็มักจะมีพฤติกรรมการหลีกหนีอยู่แล้ว การเลือกใช้กัญชาจึงอาจเป็นเพียงการหลีกหนีความสนใจ หลีกหนีจากตัวโรค หรือหลีกหนีจากปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นก็ได้
.
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว การใช้กัญชายังคงสร้างข้อถกเถียงมากเกินกว่าเราจะสรุปได้ว่าในระยะยาวมันมีผลดีต่อการรักษาอาการทางจิตเวชจริงๆ เพราะท้ายที่สุดกัญชาก็อาจกลายเป็นตัวทำให้เกิดความเครียดซะเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราดูจากการศึกษาขนาดใหญ่พบว่า กัญชาสามารถทำลายประสิทธิภาพของสมองในส่วนของความจำประเภทต่าง ๆ เช่น working memory (ความสามารถในการจำระยะสั้นมาก ๆ เช่น การจำเบอร์โทรศัพท์ การจำ OTP เวลาเข้า application หรือจ่ายเงินออนไลน์) recognition (ความสามารถในการนึกออก เช่น นึกคำที่จะพูดออก นึกชื่อสิ่งที่เห็นออก) และ recall (ความสามารถในการนึกถึงสิ่งที่เพิ่งเกิดได้) ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จะหักล้างความเชื่อหลงผิดที่ว่ากัญชารักษาสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้
ขณะเดียวกัน การใช้กัญชาในเด็กและวัยรุ่นยังมีผลทำให้ EF หรือ Executive Function (ความสามารถในการประมวลผล จัดการปัญหาต่าง ๆ) แย่ลง และ IQ โดยรวมกับ IQ ด้านการสื่อสารยังลดลงอีกด้วย (ยิ่งใช้มากยิ่งลดมาก)
หลักฐานจากงานวิจัยในแคนาดาพบว่า แม้แต่การใช้กัญชาเพื่อการรักษาก็ยังส่งผลเสียหากถูกนำมาใช้กับเด็กวัยรุ่นและเยาวชน โดยกลุ่มเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว (16 - 30 ปี) ในการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาเพื่อการรักษายังคงมีความสัมพันธ์กับการรายงานถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชาเสมอ ประกอบไปด้วย การมีอาการของโรควิตกกังวล อาการซึมเศร้า โรค PTSD อาการของโรคจิต (psychosis) การมีปัญหาติดแอลกอฮอล์ และปัญหาติดยาเสพติดอื่นๆ
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เวลาที่ทำการทดลองเรื่องกัญชาว่ามันได้ผลหรือไม่กับอาการทางจิตเวช บ่อยครั้งก็พบได้ว่ามันเป็นการใช้ในปริมาณสำหรับทดสอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งในการทดสอบกับผู้ป่วย PTSD แล้วได้ผลลัพธ์ดี นั่นก็อาจเพราะพวกเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงน้อยมากต่อการเสพติดกัญชาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว (ไม่ได้ใช้ประจำหรือมีโอกาสเสพติด) ในขณะที่คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการเสพติดที่สูง การเสพกัญชาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย และยิ่งกระตุ้นอาการหวาดระแวงที่มากขึ้น
.
ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าหากเรามองเห็นถึงความท้าทายของการใช้กัญชากันมากขึ้นเช่นนี้ กล่าวคือ มันอาจมีผลดีในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว และก็อาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น การใช้กัญชาจึงอาจจะแทบไม่ต่างจากการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้าที่มีอยู่เกลื่อนกราดในบ้านเราเลยแม้แต่น้อย
ถ้าตามข่าวคราวมาบ้าง คุณคงเห็นได้ว่าทุกวันนี้มันก็มีงานวิจัยที่แย้งเหมือนกันว่าการดื่มไวน์หรือเบียร์ซักแก้วต่อวันก็ช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับล่าสุดที่ผมได้อ่านว่ามีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เราดื่มกาแฟวันละแก้วเพื่ออายุที่ยืนขึ้นไปอีก (ทั้งที่คาเฟอีนเป็นของควรเลี่ยงเนื่องจากมันกระตุ้นอาการวิตกกังวลและอาจทำให้ยาจิตเวชไม่ได้ผลได้)
ดังนั้นในเวลานี้ ผมจึงคิดว่าการเตือนของนักวิชาชีพหลายๆ คนด้วยความเป็นห่วงก็คือการฉายภาพของกรณีเลวร้ายที่สุดให้เห็น เช่น การเกิดอาการโรคจิต (psychosis) โรควิตกกังวล และปัญหาด้านการรู้คิดหรือกระบวนการคิดของสมอง (cognitive problems) แต่ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญที่สุดและควรระมัดระวังให้มากอาจเป็นการพัฒนาการใช้เพื่อบรรเทาที่กลายเป็นปัญหาการเสพติด (addiction issues) เสียมากกว่า
ผมจึงคิดว่ากัญชายังคงเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงมากหากใช้โดยขาดความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องสารประกอบของมัน งานวิจัยที่สนับสนุนประสิทธิภาพหรือผลเสียของมัน และรวมไปถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในตัวเองของคนเราด้วย (ความเข้าใจทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการเสพติด - ลองนึกภาพปัญหาของคนติดยาแต่บอกว่าตัวเองไม่ติดดูแล้วคุณจะเข้าใจ)
หากเป็นไปได้ กัญชาจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณควรเอามาใช้เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชเป็นอย่างแรกๆ และอาจจะไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นยาเสียด้วยซ้ำ
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K.Therapeutist
.
อ้างอิง
Addiction Talk - จิตแพทย์อยากเล่า by TSAP. (2022, พฤษภาคม 9). เพื่อเป็นการต้อนรับการเปิดเสรีกัญชา ทาง TSAP จึงมาลองรีวิวให้ดูว่า ผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพจิตที่จะพบได้ในประเทศไทยหลังมีการเปิดเสรีกัญชา จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตามมาดูได้เลย [Image attached] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0e7iSHLQ59DqpnXYv5QX9Q8Ph63jWag2kc4dMGqkqcZzyWouhgi1GGccQDSaWNJVcl&id=2337087489644836
Kuhathasan, N., Minuzzi, L., MacKillop, J., & Frey, B. N. (2022). An investigation of cannabis use for insomnia in depression and anxiety in a naturalistic sample. BMC psychiatry, 22(1), 1-8.
LaFrance, E. M., Glodosky, N. C., Bonn-Miller, M., & Cuttler, C. (2020). Short and long-term effects of cannabis on symptoms of post-traumatic stress disorder. Journal of affective disorders, 274, 298-304.
Lake, S., Kerr, T., Buxton, J., Walsh, Z., Marshall, B. D., Wood, E., & Milloy, M. J. (2020). Does cannabis use modify the effect of post-traumatic stress disorder on severe depression and suicidal ideation? Evidence from a population-based cross-sectional study of Canadians. Journal of psychopharmacology, 34(2), 181-188.
Luque, J. S., Okere, A. N., Reyes-Ortiz, C. A., & Williams, P. M. (2021). Mixed methods study of the potential therapeutic benefits from medical cannabis for patients in Florida. Complementary therapies in medicine, 57, 102669.
Newton‐Howes, G. (2018). The challenges of ‘medical cannabis’ and mental health: a clinical perspective. British Journal of Clinical Pharmacology, 84(11), 2499-2501.
Wadsworth, E., Leos-Toro, C., & Hammond, D. (2020). Mental health and medical cannabis use among youth and young adults in Canada. Substance Use & Misuse, 55(4), 582-589.
Kommentare