top of page
ค้นหา

รู้จัก “ฮวาเบียง” (Hwa-byung): การมองปัญหาสุขภาพจิตผ่านวัฒนธรรมแบบเอเชีย

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

.


[เกริ่นนำ]


ผมคิดว่าใครหลายๆ คนต่างก็เริ่มคุ้นชินกับคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้นแล้วใช่มั้ยล่ะครับ? 

แต่ในความเข้าใจที่เรามีต่อปัญหาสุขภาพจิต ก็อาจจะยังไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าเรารู้เกี่ยวกับมันมากน้อยแค่ไหน


เวลาที่เราพูดถึงโรคซึมเศร้า ผมพบว่าอาจมีหลายคนอยู่เหมือนกันที่เคยตกอยู่ในความสงสัยว่าสรุปแล้วฉันเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า

แน่นอนว่าผมเองก็ไม่ได้สนับสนุนการวินิจฉันตัวเองนะครับ เพียงแต่ความสงสัยนี้ก็อาจเป็นเรื่องปกติของคนเราอยู่แล้วก็ได้ที่อยากรู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไรรึเปล่า


ยังไงก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดนั่นคือการที่หลายคนต่างก็อยากรู้สาเหตุของการที่ตัวเองหรือคนรอบข้างจะเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาได้

แต่ปัญหาสุขภาพจิตนั้นกลับเป็นปริศนาที่เราากจะเข้าใจเสมอ


ยกตัวอย่างเช่น

บางคนอาจมีอาการคล้ายกับโรคซึมเศร้าขึ้นมา แต่เมื่อไปพบหมอก็อาจไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจนเพียงแต่เป็นความเครียดสะสม

หรือ

บางคนอาจถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไรเพราะก็ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ของความเศร้าหรือสะเทือนใจใดๆ ในชีวิตอย่างชัดเจนเลย


ทั้งนี้ สิ่งที่สองตัวอย่างนี้เหมือนกัน คือ การตกอยู่ภายใต้คำถามที่ว่า “ฉันมีเรื่องเครียดอะไรด้วยหรอ?” นั่นเอง


ดังนั้นแล้ว ในการเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตบางครั้งเราอาจจึงต้องไม่หลงลืมการย้อนกลับมามองปัจจัยต่างๆ ในชีวิตของเราที่เอื้อให้เกิดความเครียดสะสมขึ้นมาได้ด้วย

และบางอย่าง ก็อาจเป็นสิ่งที่เราอยู่กับมันจนคุ้นชิน อย่างเช่น ปัจจัยภายใต้วัฒนธรรมของเรา


ในบทความนี้ ผมจึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับกลุ่มอาการที่เรียกว่า “ฮวาเบียง” (Hwa-byung) กันครับ

.

.




[ปัญหาสุขภาพจิตที่สอดคล้องไปกับวัฒนธรรม ในชื่อ ฮวาเบียง]

“ฮวาเบียง” หรือ “ฮวาผยอง” (คำเดียวกัน แต่ออกเสียงสั้นหรือยาว) เป็นคอนเซปต์ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในเกาหลีเพื่อใช้อธิบายปัญหาทางจิตเวชที่มีความเฉพาะเจาะจงกับวัฒนธรรมของพวกเขา


หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรค “ฮิคิโคโมริ” (Hikikomori) ของคนญี่ปุ่นกันใช่มั้ยครับ?

ปัญหาสุขภาพจิตแบบฮวาเบียงก็เป็นกรณีแบบเดียวกัน นั่นคือ มันเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ได้เข้าเกณฑ์ของโรคทางจิตเวชใดอย่างครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้ง ยังสามารถมีการอธิบายที่มาที่ไปของอาการที่สอดคล้องไปกับวัฒนธรรมที่คนนั้นอาศัยอยู่ด้วย


อย่างเช่น อาการฮิคิโคโมริที่สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นของญี่ปุ่นแต่กลับส่งผลให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลงกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างแม่-ลูกของญี่ปุ่นยังคงแข็งแรงอยู่ ส่งผลให้การที่คนมีอาการฮิคิโคโมริจะอาศัยอยู่ในห้องของตัวเองต่อไปโดยมีแม่คอยเลี้ยงดูอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในมิตินึงของวัฒนธรรมญี่ปุ่น


สำหรับ “ฮวาเบียง” มันเป็นชื่อเรียกของปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ในเกาหลีที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และการให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสค่อนข้างมาก


โดยความหมายแบบย่อๆ ของฮวาเบียง คือ “กลุ่มอาการทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกดความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจไว้ภายใน จนกระทั่งแสดงออกมาเป็นอาการทางกายต่างๆ หรือ อาการที่คล้ายกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ”

.

.


[ความหมายของ ฮวาเบียง (화병)]

คำว่า “ฮวาเบียง” (Hwa-byung) หรือ “ฮวาผยอง” (Hwa-pyong) มาจากการผสมกันของคำว่า

“ฮวา” (화) แปลว่า ไฟหรือความโกรธ และ คำว่า “ผยอง” (병) แปลว่า โรคหรือความเจ็บป่วย

เมื่อนำทั้งสองคำนี้มารวมกันจึงแปลอย่างตรงตัวได้ว่า “โรคของความโกรธ”


แรกเริ่ม ฮวาเบียงเป็นชื่อที่ใช้เรียกปัญหาสุขภาพจิตที่พบในกลุ่มผู้หญิงชาวเกาหลีวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการอธิบายว่า พบความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสุขภาพจิตของพวกเธอกับปัญหาด้านสังคมวัฒนธรรมที่ว่า พวกเธออาจมีปัญหากับสามี ลูก หรือไม่ก็ครอบครัวฝั่งสามีเป็นส่วนใหญ่ โดยมักมีท่าทีเก็บกดความรู้สึกขุ่นเคืองใจไว้ภายในเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความโกรธหรือไม่พอใจในความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศได้


อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ว่า เกาหลีอาจเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่สูงและให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสอย่างมาก ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวจึงมีโอกาสอย่างมากที่จะถูกกดขี่จากสามีหรือครอบครัวสามี หรือในบางกรณี ก็เกี่ยวข้องกับการแบกรับบทบาทหน้าที่ “ความเป็นผู้หญิงเกาหลี” ที่ไม่อาจมีท่าทีโผลงผลางแสดงความไม่พอใจต่อคนอื่นที่มีความเหนือกว่าได้ ซึ่งรวมไปถึงการมีความปรารถนาที่จะเท่าเทียมกับผู้ชายเกาหลี


ดังนั้น ผู้หญิงเกาหลีเหล่านี้จึงอาจเรียกได้ว่ามีความรู้สึกขุ่นเคืองใจและขัดแย้งกับวัฒนธรรมที่ตนเองอยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกขุ่นเคืองใจที่ไม่สามารถแสดงออกไปได้อย่างตรงไปตรงมากนัก เนื่องจากทั้งความรู้สึกตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้น้อย หรือแม้แต่ ความรู้สึกกลัวที่จะแปลกแยกหากตนไม่ปฏิบัติตามค่านิยมของสังคมคนส่วนใหญ่


ยังไงก็ตาม ฮวาเบียงกลับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผู้ชายเกาหลีด้วย โดยอาจเกิดขึ้นจากความขุ่นเคืองใจต่อลำดับชนชั้นอาวุโสที่ใช้อำนาจกดขี่ตนได้ เช่น การมีความเจ็บช้ำน้ำใจต่อระบอบทหารของเกาหลี เป็นต้น

.

.


[หน้าตาของ ฮวาเบียง]

ในมุมมองของนักวิชาการ เชื่อว่า ฮวาเบียง ควรจัดอยู่ในกลุ่มปัญหาสุขภาพจิตที่แยกออกมาจากโรคซึมเศร้าแม้จะมีอาการบางอย่างคล้ายกัน โดยอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคของความโกรธ (anger disorder) มากกว่า


ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกดความโกรธอย่างที่ได้บอกไป และยังพบได้อีกว่า “คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีความรู้สึกอยากตายเกิดขึ้นบ่อยๆ ในขณะที่ คนที่มีอาการของฮวาเบียงอาจมีความปรารถนาในการมีชีวิตอยู่มากกว่า”


ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากฮวาเบียงมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ของเกาหลี ดังนั้นหน้าตาของอาการที่แสดงออกมาสำหรับฮวาเบียงจึงถูกมองได้ว่าสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเกาหลีที่มีความไม่เปิดรับเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตในบางส่วนด้วย ยกตัวอย่างเช่น การมองเรื่องปัญหาสุขภาพจิตเป็นความอ่อนแอส่วนบุคคล หรือ การตีตรากีดกันผู้ป่วยจิตเวชออกจากสังคม เป็นต้น 


ส่งผลให้คนที่จัดอยู่ในเข้าข่ายมีอาการของฮวาเบียงจึงอาจเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตเป็นที่ลำดับสุดท้าย และ อาจมาพบแพทย์ด้วยปัญหาทางด้านร่างกายหรือคิดว่าเป็นปัญหาทางด้านร่างกาย มากกว่าการคิดว่าเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจิตใจ (โดยหลายครั้งก็เป็นกรณีของการมีอาการทางกายจากปัญหาทางจิตใจไปแล้ว ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายแล้วก็ไม่พบความผิดปกติ)


สำหรับอาการของ ฮวาเบียง สามารถสังเกตด้วยการจัดกลุ่มอย่างง่ายได้ ดังนี้


1. อาการทางกาย เช่น เจ็บหน้าอก จุกเสียดกระเพาะอาหาร กลายเป็นโรคคลั่งผอม นอนไม่หลับ หรือรวมไปจนถึงเกิดการพัฒนาโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ อัมพาตใบหน้า ปวดข้อ หรือ มีภาวะหายใจลำบาก เป็นต้น

2. ภาวะทางอารมณ์ เช่น โกรธโมโหร้าย รู้สึกเหมืนอใกล้จะเป็นบ้าหรือใกล้จะตาย มีความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล อยากตาย รู้สึกสิ้นหวังหมดหวัง รู้สึกว่างเปล่าหรือไร้ความหมาย รู้สึกถูกทรยศหรือถูกปฏิเสธจากสังคม หมดเรี่ยวแรง โดดเดี่ยว ต้องการพึ่งพิงบางสิ่งอยู่เสมอ หรือ มีความรู้สึกอิจฉาริษยาที่แก้ไม่หาย เป็นต้น

3. ปัญหาทางพฤติกรรมหรือการเข้าสังคม เช่น ร้องไห้อย่างควบคุมไม่ได้หรือไม่มีสาเหตุ พยายามอย่างมากที่จะหย่าขาดจากคู่สามีภรรยา หรือ หนีออกจากบ้าน เป็นต้น

.

.


[ความแตกต่างระหว่าง ซึมเศร้า และ ฮวาเบียง]

หากดูจากหน้าตาอาการของฮวาเบียงที่พูดถึงก่อนหน้าแล้ว อาจเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับหลายอาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน


แต่ยังไงก็ตาม เหล่านักวิชาการที่พยายามเข้าใจอาการของฮวาเบียงที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมของเกาหลีมากกว่าโรคซึมเศร้า พวกเขาก็ต่างก็พยายามหาวิธีแยกระหว่างสองสิ่งนี้ออกจากกันในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า ฮวาเบียงมีส่วนสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมอย่างมากจนไม่อาจละเลยได้


รวมทั้ง ในความหมายของโรคซึมเศร้าก็มีเกณฑ์วินิจฉัยที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มคนที่มีอาการของฮวาเบียงก็ไม่มีอาการครบเกณฑ์จนเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน


เหล่านักวิชาการต่างพยายามแสดงให้เห็นความแตกต่างในด้านปัจจัยทางจิตวิทยาที่ต่างกันด้วย โดยยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Sung Kil Min และคณะ (2009) ก็ทำการศึกษาจนพบว่า อาการที่อาจพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยฮวาเบียงแต่จะไม่สัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า ได้แก่ การเผชิญความรู้สึกไม่ยุติธรรม ความโกรธแค้นส่วนบุคคลที่มีอยู่ภายใน การโกรธแค้นโลกภายนอก ความรู้สึกร้อนในร่างกาย ความรู้สึกแน่นบริเวณหน้าอก อาการปากแห้ง และ นิสัยการถอนหายใจเป็นประจำ


อีกทั้ง งานวิจัยของ Sung Kil Min และคณะ ยังได้จำแนกอีกว่า อาการของฮวาเบียงที่ไม่สัมพันธ์กับภาวะอารมณ์โกรธทั่วไปอาจประกอบไปด้วย การมีพฤติกรรมหนีหายจากบ้าน อาการกระเพาะอาหารแปรปรวน อาการใจสั่น ตื่นกลัวง่าย คิดมาก และ มีพฤติกรรมวิงวอนร้องขออย่างไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น


ด้วยเหตุนี้แล้ว ในมุมมองของนักวิชาการจึงมองว่า ฮวาเบียงอาจเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างจากความรู้สึกขุ่นเคืองใจทั่วไปและต่างจากโรคซึมเศร้าโดยทั่วไปอยู่ ซึ่งอาจหมายถึงการที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับแนวทางการดูแลรักษาที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ด้วย


(ทั้งนี้ กลุ่มคนที่มีอาการของฮวาเบียงก็อาจมีอาการมากขึ้นหรือมีอาการอื่นร่วม จนถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิก หรือ โรคทางกายที่มาจากปัญหาทางจิตใจได้เช่นกัน)

.

.


[เรื่องราวของคำว่า ฮ่าน (한) กับ ฮวาเบียง]

การที่เราจะสามารถเข้าใจฮวาเบียงในวัฒธรรมของเกาหลีได้ ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคำพูดบ่งบอกความรู้สึกที่ชื่อว่า “ฮ่าน” (한 หรือ Han) ของคนเกาหลีด้วย


โดยคำว่า “ฮ่าน” หรือ “Han” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ที่สุด ที่สิ้นสุด หรือไม่ก็ ความทุกข์ยาก

แต่คำว่า ฮ่าน ในภาษาเกาหลีที่เกี่ยวข้องกับฮวาเบียง เป็นคำที่คนเกาหลีใช้ในการอธิบายความรู้สึกที่อยู่ภายในใจของพวกเขาอย่างลึกซึ้งและเป็นแบบฉบับเฉพาะในวัฒนธรมมของพวกเขาเอง


ดังนั้น ผมเองก็ไม่อาจที่จะบอกได้ชัดเจนเลยว่า ความรู้สึก “ฮ่าน” จะแปลออกมาในภาษาไทยได้ว่ายังไง แต่จากนิยามที่อ่านอย่างคร่าวๆ แล้ว ดูเหมือนอาจจะใกล้เคียงได้กับความรู้สึก “เจ็บใจ” ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงความรู้สึกโกรธแต่ก็ทำอะไรไม่ได้นั่นเอง


ทั้งนี้ คำว่า ฮ่าน (Han) ก็ยังคงเป็นคำที่บ่งบอกภาวะอารมณ์ความรู้สึกที่ผสมปนเปกันในรูปแบบเฉพาะของคนเกาหลี โดยนักวิชาการเชื่อว่ามันก็เกี่ยวข้องกับการพยายามเก็บกดความโกรธอย่างเรื้อรังของคนเกาหลีด้วย


นิยามของคำว่า ฮ่าน ได้รับการอธิบายไว้ว่า “มันคือความรู้สึกไม่พอใจต่อความไม่ยุติธรรมที่ไม่สามารถเอาออกไปจากใจได้ และเป็นความรู้สึกที่หมดสิ้นหนทางในการเอาชนะ หรือเจ็บแปลบขึ้นมาในจิตใจ จนอาจทำให้ร่างกายรู้สึกอึดอัด ชักดิ้นชักงอ และดื้อดึงเพื่อจะแก้แค้นเอาคืนหรือเอาผิดอีกฝ่ายให้ได้”


ยังไงก็ตาม ความหมายของ ฮ่าน ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ความโกรธเสียทีเดียว เพราะมันเป็นการผสมรวมกันทั้งความรู้สึกโกรธ เกลียด และ เสียอกเสียดาย อยู่ในนั้นด้วย (คำว่า Han เขียนในภาษาจีนได้ว่า  恨 ซึ่งมีความหมายว่า เกลียด ผิดหวัง หรือ เสียดาย)


ขณะเดียวกัน หากเราดูจากการบรรยายความรู้สึก ฮ่าน ของคนเกาหลีที่มีอาการฮวาเบียงแล้ว ก็อาจพบองค์ประกอบของความรู้สึกโดดเดี่ยวรวมอยู่ในนั้นด้วย เนื่องจากความรู้สึกที่เรียกว่า ฮ่าน ในกลุ่มผู้ที่มีอาการฮวาเบียงจะสัมพันธ์กับความรู้สึกเจ็บช้ำใจจากสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา ดังนั้น ผมจึงคิดว่าสำหรับคนไทย คงคล้ายกับความรู้สึกเจ็บใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย

.

.


[ฮวาเบียงจากปัญหาวัฒนธรรมของเกาหลี]

จากก่อนหน้าที่ผมได้พูดถึงไปแล้วว่า ฮวาเบียงอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าสำหรับผู้หญิงเกาหลีวัยกลางคน เพราะปัจจัยเสี่ยงนั้นมักมาจากความตึงเครียดของการดำรงอยู่ในวัฒนธรรมของพวกเขา โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และ ให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโส 


ดังนั้น ผู้หญิงเกาหลีวัยกลางคนที่อาจเสี่ยงต่อการมีอาการของฮวาเบียงได้มากกว่าคนอื่นจึงมักเป็นคนที่มีปัญหากับคู่สามีของตนหรือกับครอบครัวฝั่งสามี


แม้แต่ในกลุ่มผู้หญิงเกาหลีที่อพยพย้ายไปอยู่ที่อเมริกาก็อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่เรียกว่าฮวาเบียงได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าพื้นฐานวัฒนธรรมที่ติดตัวมาของพวกเขาอาจหล่อหลอมให้พวกเขาพยายามเก็บกดความรู้สึกของตัวเอง


และถึงแม้ว่า ภรรยาชาวเกาหลีบางส่วนอาจปรารถนาความเท่าเทียมทางเพศแบบวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ในเวลาต่อมา แต่สามีชาวเกาหลีบางส่วนก็อาจยินดีหรือสะดวกสบายกับการอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมนี้ได้ 


ท้ายที่สุด จึงอาจนำมาสู่ชนวนของความขัดแย้งในความสัมพันธ์ที่ฝ่ายภรรยาก็อาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือขุ่นเคืองใจในวัฒนธรรมของตัวเองแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธวัฒนธรรมที่หล่อหลอมตนและคนรอบข้างมาได้


(อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การรับมือกับปัญหานี้ในวัฒนธรรมแบบเอเชียเป็นเรื่องยากลำบาก ก็เพราะความเป็นวัฒนธรรมที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันแบบสังคมส่วนรวม ส่งผลให้การปฏิเสธวัฒนธรรมของตัวเองหรือสร้างความขัดแย้งกับคนอื่นขึ้นมาไม่เพียงแต่สร้างความรู้สึกผิด แต่สร้างความหวาดกลัวต่อการถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวด้วย)

.

.


[สู่การย้อนมองวัฒนธรรมไทย]

ผมคิดว่าการที่เราได้เข้าใจเรื่อง ฮวาเบียง ของเกาหลี อาจพอจะมีส่วนช่วยให้เราย้อนกลับมามองปัญหาสุขภาพจิตแบบเอเชียและในประเทศไทยของเราได้บางส่วน


โดยประเด็นแรกเริ่มที่ผมฉุกคิดขึ้นมาคือ ความคล้ายคลึงกันในแง่มุมมองที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งผมคิดว่าปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกด ปกปิด หรือเก็บซ่อนปัญหาทางด้านจิตใจนั้นอาจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก


การที่เราได้รู้จักกับคอนเซปต์ของ ฮวาเบียง ทำให้เห็นได้ว่า การมีวัฒนธรรมที่ตีตราหรือบอกปัดปัญหาสุขภาพจิตออกไปนั้น อาจไม่ได้เพียงแค่ทำให้คนที่มีปัญหาหนีห่างออกไปจากการได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่มันค่อยๆ สร้างหรือเพิ่มความยุ่งยากของปัญหาสุขภาพจิตให้กับคนเหล่านี้ด้วยเนื่องจากการพยายามเก็บกดความทุกข์ใจของตนเองเอาไว้


สำหรับในประเด็นที่สอง ผมคิดว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องการย้อนกลับมามองว่าไม่ใช่เพียงเกาหลีเท่านั้นที่อาจมีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่และให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโส ผมมักพบได้ว่าในคนไทยเองก็มีทัศนคติเชิงวัฒนธรรมแบบเดียวกันอยู่ เพียงแต่อาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเนื่องจากคนไทยเราค่อนข้างมีวัฒนธรรมแบบผสม


ยังไงก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนบางส่วนอาจมีความเข้มข้นของวัฒนธรรมนี้อยู่ไม่ต่างจากคนเกาหลี เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนจีนเองก็ให้ความสำคัญกับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่และมีทัศนคติของการยอมรับใช้ผู้เหนือกว่าเป็นเรื่องปกติ


ดังนั้นแล้ว ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่า ความรู้สึกที่เรียกว่า ฮ่าน และการมีอยู่ของอาการที่เรียกว่า ฮวาเบียง จึงอาจเกิดขึ้นในวัฒนธรรมแบบเอเชียโดยส่วนใหญ่ได้หรือไม่?


เพราะหากเรามองดูวัฒนธรรมของการยอมตามผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีลำดับชั้นอาวุโสกว่าจนถึงขั้นยอมเสียสละตนเองเพื่อคนเหล่านั้นได้อย่างยินดี ซึ่งก็พบได้ในชาวเกาหลี จีน และ ไทย ก็อาจพอบอกได้ว่าภายใต้วัฒนธรรมที่มีลำดับชั้นอาจนำมาสู่ความรู้สึก ฮ่าน ได้เช่นกัน


ยังไงก็ตาม ผมก็ไม่คิดว่าเราจะสามารถสรุปได้ง่ายๆ ขนาดนั้น เพราะเรายังต้องคอยสังเกตความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ด้วย และอย่างที่บอกว่า ผมคิดว่าคนไทยยังคงมีวัฒนธรรมแบบผสมอยู่เยอะมาก ดังนั้น การที่จะเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนก็อาจต้องดูเป็นรายกรณีไปก็ได้


นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมบางอย่างของเอเชียอาจมีส่วนให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่วัฒนธรรมก็เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น อีกทั้ง วัฒนธรรมบางอย่างเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน 


เช่น ถึงแม้ว่าการให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสจะทำให้เกิดความรู้สึกฮ่านในใจได้ แต่การมีอยู่ของวัฒนธรรมนี้ก็มีส่วนช่วยให้โครงสร้างความสัมพันธ์มีความแข็งแรงในด้านการเอ็นดูและให้ความช่วยเหลือผู้น้อยด้วย


การพูดเรื่องฮวาเบียงที่ผมอยากให้เห็นความสำคัญจริงๆ จึงเป็นแง่มุมของการตีตราและปฏิเสธปัญหาทางด้านจิตใจเท่านั้น

ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจส่วนที่ดีและส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการที่คนคนนึงจะเป็นส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมนั้นได้หรือไม่ ก็อาจจะช่วยให้เราตระหนักและช่วยกันส่งเสริมสิ่งที่ดีและลดสิ่งที่ไม่ได้ดีด้วยก้นได้ครับ

.

.


[ทิ้งท้าย]


ในส่วนท้ายนี้มีอีกสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจหลังได้ศึกษาเรื่องฮวาเบียง คือ ผมพบว่า ฮวาเบียง (화병) มีอีกหนึ่งความหมายว่า “แจกันดอกไม้” และมีอีกคำนึงที่แปลว่าแจกันเหมือนกัน คือ กุชเบียง (화병) 


ผมไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของสองคำนี้ได้เพราะไม่เคยเรียนภาษาเกาหลีมาก่อน และได้แต่สงสัยว่าทำไมคำว่า “ฮวาเบียง” จึงถูกใช้แปลได้ทั้ง “โรคของความโกรธ” และ “แจกันดอกไม้”


แต่ส่วนตัวผมอยากลองนึกภาพว่าแจกันดอกไม้นั้นอาจเป็นสิ่งที่ดูสวยงามเมื่อเราจัดแจงมันก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธเงื่อนไขของความเปราะบางที่มีอยู่ของมันได้อยู่ดี 

หากถูกกระเทือนมากเกินไปก็อาจแตกหัก และมันก็บ่งบอกว่าความสวยงามของมันนั้นไม่ยั่งยืน

หากอยากจะให้แจกันยังคงสวยงามต่อไป ก็คงต้องทะนุถนอมดูแลมันอย่างระมัดระวัง และคอยเปลี่ยนดอกไม้ที่เอามาใส่แจกันไว้ไม่ให้เหี่ยวเฉาค้างคาอยู่แบบนั้น (มั้งครับ)

.

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

co-founder และ นักจิตวิทยาการปรึกษา ของ เก้าอี้นักจิต

.


อ้างอิง


ดู 33 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page