top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ภาษา "แม่": ว่าด้วยเรื่องภาษาในจิตบำบัด

.


สวัสดีครับทุกคน เนื่องจากในวันนี้ (21 กุมภา) เป็นวันที่ได้ชื่อว่า “วันภาษาแม่สากล” หรือ “International Mother Language Day” ผมจึงมีคอนเทนต์ที่เหมาะกับวันสำคัญนี้มานำเสนอ ซึ่งก็คือเป็นคอนเทนต์ที่อยากจะพูดถึงเรื่องภาษาแม่หรือภาษาบ้านเกิดในมุมมองทางจิตวิทยาซักเล็กน้อย


ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่า “วันภาษาแม่สากล” นี้ เป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญและความหลากหลายของภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาสากล ภาษาภายในประเทศ หรือแม้แต่ภาษาถิ่น


วันนี้จึงมีขึ้นเพื่อสร้างค่านิยมที่ปกป้องภาษาเหล่านี้ไว้ ไม่ให้เกิดการด้อยค่าทางภาษาจนทำให้ภาษานั้นๆ ต้องสูญหาย ทั้งนี้ ก็สอดคล้องไปกับค่านิยมใหม่ในโลกทุกวันนี้ที่เราให้ความสำคัญกันมากๆ คือประเด็นของ “การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย”

*แรกเริ่มเดิมทีเฉลิมฉลองวันภาษาแม่ถูกคิดค้นขึ้นในบังกลาเทศเนื่องจากชาวบังกลาเทศได้ต่อสู้เพื่อให้คนยังคงจดจำภาษาเบงกาลีของพวกเขา*

.


คราวนี้ พอพูดถึงเรื่องภาษาแม่ในทางจิตวิทยาและจิตบำบัด

ภาษาแม่หรือภาษาที่เราใช้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด อาจไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่เราใช้ในการสื่อสารเท่านั้น แต่ภาษาเหล่านี้ยังประกอบสร้างตัวตนและการรับรู้ความเป็นจริงของเราด้วย

ซึ่ง Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) ก็กล่าวในงานวิจัยที่รวบรวมการศึกษาด้านการทำจิตบำบัดแบบสองภาษา (bilingual) ไว้ด้วยว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยหากเราจะพบว่าคนที่เป็น Bilingual จะมีการใช้ชีวิตบนความจริงทางจิต 2 ชุด หรือเรียกว่ามี ‘dual psychic reality’


เนื่องจากภาษาแต่ละภาษาของพวกเขาต่างก็สะท้อนภาพการมีปฏิสัมพันธ์ของคนคนนั้นกับคนและสิ่งรอบตัวคนละแบบ มีขอบเขตของอีโก้ที่หากหลาย มีโครงสร้างทางจิตที่แตกต่าง รวมถึงจุดแข็ง และ กระบวนการของความรู้สึกผูกพัน (attactmant systems) ก็ยังแตกต่างกันด้วย

.


Taumoepeau และ Ruffman (2006) กล่าวว่า


ที่ผ่านมามีการศึกษามากมายเกี่ยวกับความสามารถในการเดาใจคนอื่นของเรา หรือที่เรียกว่า ‘Theory of mind’ (การมองในมุมของคนอื่นที่ต่างจากเรา) ได้เกิดการโต้แย้งบ่อยๆ ว่ามันมีการทำงานอย่างไรบ้าง แต่สำหรับงานวิจัยของ Taumoepeau และ Ruffman พวกเขาสนใจในเรื่องการเรียนรู้วิธีการคิดแบบนี้ของเด็กผ่านการใช้ภาษาของคนในบ้านเวลาพูดกับเด็ก


กล่าวคือ พวกเขาเชื่อว่าเด็กทารกอายุประมาณ 1-2 ขวบ เป็นช่วงวัยที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้การคิดในมุมของคนอื่น หรือเข้าใจเหตุผลในการกระทำของคนอื่นๆ ได้ส่วนหนึ่งก็มาจากคำที่แม่ใช้พูดกับเด็กในเชิงว่า “หนูอยากได้กระดิ่งใช่มั้ยจ้ะ?” ซึ่งการพูดแบบนี้ หรือเรียกว่า ‘desire talk’ อาจทำให้เด็กเข้าใจเรื่องความต้องการและเป้าหมายของการกระทำของตัวเองและคนอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จิตใจของเราจะเกิดการเชื่อมโยงไปยังประเด็นนามธรรมอื่นๆ จำพวกความคิดและอารมณ์ความรู้สึกตามมา ดังนั้น ภาษาที่แม่พูดกับเด็กทารกจึงอาจมีส่วนอย่างมากในการที่เด็กจะพัฒนาทักษะทางสังคม


Taumoepeau และ Ruffman (2006) จึงได้ทำวิจัยในกลุ่มคุณแม่และเด็กทารกอายุ 15-24 เดือน โดยให้แม่และเด็กทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อประเมินการพูดคุยแบบ desire talk ของแม่กับเด็ก และประเมินความสามารถในการรับรู้ภาวะทางจิตและอารมณ์ของตัวเด็ก เช่น ให้คุณแม่อธิบายภาพที่เห็นให้กับเด็กฟัง และให้เด็กเล่มเกมส์ที่วัดความเข้าใจเรื่องอารมณ์ 2 กิจกรรม เป็นต้น


ซึ่งผลลัพธ์พบว่า คุณแม่ใช้การพูดคุยแบบ desire talk หรือ การพูดคุยกับเด็กในเชิงว่าเหตุผลของการกระทำต่างๆ คือความต้องการ แบบเดียวกับเวลาบอกเด็กว่า “หนูต้องการกระดิ่งใช่้มั้ยจ้ะ?” จะสามารถทำนายได้ว่าในอานาคต เด็กจะเข้าใจเรื่องภาษาและอารมณ์ได้มากกว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะความเข้าใจเรื่องความต้องการหรือเข้าใจว่าคนอื่นก็มีความต้องการ ทำให้เด็กเชื่อมโยงได้ว่าการที่คนอื่นไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็คงจะรู้สึกแย่ด้วย

.


ที่ผมยกงานวิจัยของ Taumoepeau และ Ruffman ก็เพื่ออาจสะท้อนให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งของมันได้ว่า


นอกจากภาษาจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารแล้ว มันมีส่วนช่วยพัฒนาด้านจิตใจของเด็กด้วย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทักษะทางสังคมและความเชื่อ ซึ่งงานวิจัยอื่นๆ ก็บอกไว้เหมือนกันด้วยว่า บางครั้งภาษาและคำพูดที่พ่อแม่ใช้สื่อสารก็อาจมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาความเชื่อของเด็กที่ได้ฟัง


คือเราอาจยกตัวอย่างที่คล้ายๆ กันได้จากข้อค้นพบหนึ่งในงานวิจัยของ Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) ที่ได้สัมภาษณ์นักจิตบำบัด bilingual ด้วยว่า


สำหรับการบำบัดผู้รับบริการ bilingual แล้วเนี่ย เวลาที่ผู้รับบริการใช้ภาษาที่ต่างกันในการอธิบายเรื่องต่างๆ ค่านิยมที่แสดงออกมาของพวกเขาก็จะเปลี่ยนไปตามภาษาที่ตัวเองเลือกใช้ด้วย
ตัวอย่างเช่น 

ในบางภาษาจะมีการลดคุณค่าของผู้หญิงลงด้วยการเรียกพวกเธอด้วยคำว่า “คู่สมรส” (the spouse) หรือเรียกนำหน้าด้วยชื่อของสามีแทนที่จะเรียกชื่อพวกเธอ 

หรืออีกกรณี 

ในบางภาษาก็จะทำให้เห็นภาพของอาชีพต่างๆ เป็นภาพของผู้ชายเท่านั้น เช่น หมอ ที่มักใช้สรรพนามแทนเพศชายนำหน้า (นายแพทย์) แต่อาชีพที่สถานะต่ำว่า เช่น พยาบาล ก็จะใช้สรรพนามแทนเพศหญิงนำหน้า (นางพยาบาล) เป็นต้น

ดังนั้น งานวิจัยทั้ง 2 ที่ยกมานี้ จึงบอกเราได้ว่า ภาษาอาจเป็นมากกว่าแค่เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร แต่มันกลับสร้างกรอบความคิดและวิธีการมองโลกของเราได้ด้วย

.


คราวนี้ย้อนกลับมาเรื่องภาษาแม่กับชีวิตปัจจุบันของเรากันต่อ ภาษาแม่ที่นอกจากจะสร้างกรอบความคิดในการมองโลกของเราแล้ว มันยังมีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่รวมอยู่ในนั้นด้วย


โดยจากการสัมภาษณ์ประสบการณ์ของนักจิตบำบัด bilingual 10 คน ของ Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) เองยังพบอีกว่า


แม้ผู้รับบริการที่นักจิตบำบัดพบจะเป็น bilingual แต่เวลาที่ผู้รับบริการเหล่านี้ต้องการแสดงอารมณ์ที่เข้มข้นออกมามาก พวกเขามักจะย้อนกลับไปพูดหรือใช้ภาษาแม่ของตัวเองในการสื่อสารบ่อยๆ หรือบางครั้งก็ได้ยินมันในความฝัน และเวลาที่ต้องเผชิญกับบาดแผลทางใจของตัวเองก็เผลอใช้ภาษาแม่ของตัวเองเช่นกัน

ซึ่งในมุมมองทางจิตบำบัด เราต่างก็เชื่อกันว่า เวลาที่ต้องพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรัก โกรธ เกลียด ทุกข์ทรมานใจ รู้สึกปลอดภัย กังวล หรือเวลาที่จะพูดเพื่อแสดงออกถึงตัวตนของตัวเอง ภาษาที่เรามักจะใช้ในเวลานี้มักเชื่อมโยงกับคำพูดหรือภาษาที่พ่อแม่/ผู้ดูแลของเราใช้และมันก็ถูกลงรหัสไว้ในหัวของเรา


โดยในบางครั้ง นักจิตบำบัดบางคนก็อาจคิดว่า ในการทำจิตบำบัดที่อาศัยสัมพันธภาพระหว่างนักจิตบำบัดกับผู้รับบริการแล้ว การทำให้เกิดความรู้สึกเข้ากันได้จนนำไปสู่การร่วมมือกันอย่างดีเพื่อเป้าหมายของการบำบัด จึงอาจต้องอาศัยการพูดคุยในภาษาเดียวกันด้วย


ซึ่งนักจิตบำบัดก็จะเหมือนกับคนที่ช่วยสะท้อนภาวะอารมณ์ของผู้รับบริการได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือไม่ก็อาจปรับเปลี่ยนการเลือกใช้ภาษาเพื่ออธิบายของผู้รับบริการได้

.


มาดูกันที่งานวิจัยอีกอันของ Borelli และทีมของเขา (2019) ซึ่งมีความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับความเข้ากันได้ทางภาษานี้ของนักบำบัดและผู้รับบริการ


Borelli และทีมของเขาเลยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง Language style matching หรือ LSM ซึ่งจะวัดความคล้ายคลึงกันในการใช้ภาษาเพื่อพูดคุยของผู้รับบริการกับนักบำบัด โดยประเมินจากฟังก์ชั่นของภาษา (เช่น สรรพนาม การออกเสียง คำบุพบท คำเชื่อม) แทนที่จะสนใจเนื้อหาที่พูดคุยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่พวกเขาสนใจคือการพูดมันออกมาอย่างไม่ได้ตั้งใจซะทีเดียว แต่เป็นการพูดบ่อยๆ ตามปกติในระหว่างการบำบัดแบบไม่รู้ตัว (พวกเขากล่าวว่า “มันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่คนพูด แต่มันสะท้อนวิธีการที่คนพูด”)


หลังจากที่ได้ทำการเก็บข้อมูลจากการบำบัดคุณแม่ที่ติดสารเสพติดจำนวน 7 คนตลอดทั้ง 12 session พวกเขาพบว่าผู้รับบริการที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์จะมีคะแนน LSM ในการบำบัดช่วงแรกต่ำกว่าคนอื่นๆ และ ความเข้ากันได้ของการใช้ภาษาระหว่างนักจิตบำบัดกับผู้รับบริการที่วัดผ่านค่า LSM นี้ ก็เป็นตัวกลางระหว่างการดีขึ้นของปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคะแนนปัญหาสุขภาพจิตหลังการบำบัดด้วย


Borelli และทีมของเขาพบว่า คะแนน LSM อาจเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการบำบัดและค่อยๆ ลดลงในภายหลัง นั่นเพราะพวกเขาเชื่อว่าความเข้ากันได้ทางภาษานี้เป็นตัวที่สะท้อนการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างนักบำบัดกับผู้รับบริการซึ่งมีความจำเป็นต่อกระบวนการบำบัดในขั้นตอนต่อๆ ไป และสาเหตุที่ค่า LSM จำต้องลดลงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการสิ้นสุดลงของการบำบัดในตอนท้าย

(ในช่วงท้ายของการทำจิตบำบัด บางทฤษฎีมีความเชื่อว่าการทำจิตบำบัดเป็นการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของผู้รับบริการ ดังนั้นความเป็นตัวของตัวเองของผู้รับบริการและนักจิตบำบัดที่เผยออกมาแบบไม่สร้างความยากลำบากใจต่อกันและกัน จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติของการบำบัดที่สิ้นสุดลง)

.


งานวิจัยของ Borelli และทีม สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาที่เข้ากันได้ในจิตบำบัดจริง ซึ่งก็อาจทำให้นักจิตบำบัดให้ความสนใจกับมันมากขึ้นได้ แต่บางคนก็อาจคิดว่ามันไม่ได้ทำให้เราเห็นว่ามันสอดคล้องกับเรื่อง “ภาษาแม่” มากเท่าไรก็ได้


แต่ถ้ามองแบบประยุกต์หน่อย ผมว่าความเข้ากันได้ทางภาษานี้ก็เหมือนการบอกเราว่า การคุยกับคนที่ใช้ภาษาแม่เดียวกันน่าจะดีกว่าการคุยกับคนที่พูดคนละภาษาไปเลย


คราวนี้ย้อนกลับมาที่งานวิจัยของ Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) อีกรอบ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของพวกเขาก็บอกกับเราว่า หากเราลองเทียบเรื่องการใช้ภาษาที่ต่างกันผ่านคนที่เป็น Biligual แล้วล่ะก็ เราก็จะเห็นเลยว่าภาษาที่มันต่างกันอาจจะทำให้การอธิบาย detail ในเรื่องต่างๆ บิดเบือนหรือตกหล่นไปได้ด้วยเมื่อเทียบกับการเลือกใช้ภาษาแม่ของตัวเองไปเลย


Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) กล่าวว่า การแปลจากภาษาแม่ไปยังภาษาที่สองจะไม่เหมือนกับการแปลภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งโดยทั่วไป เพราะเวลาที่เรารู้สึกว่านั่นเป็นภาษาแม่แล้ว ความยากคือการที่เราจะรู้สึกถึงความผูกพันในช่วงแรกของชีวิตที่ติดมากับภาษานั้นด้วย และบางครั้งมันก็สะท้อนถึงปมในจิตไร้สำนึกของเราได้

Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff จึงได้พูดถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่เขาอ้างอิงไว้ว่า


มันเลยไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตจะหลีกเลี่ยงภาษาแม่ของตัวเองไปใช้ภาษาอื่นที่ทำให้พวกเขาคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นจริงมากกว่าเวลาอยู่บ้านหรือที่ทำงาน แต่อาการเห็นภาพหลอนหรือหูแว่วของพวกเขา มันจะปรากฏออกมาเป็นภาษาแม่เพียงอย่างเดียวเสมอ


นั่นเพราะภาษาที่สองสามารถสร้างพื้นที่ทางใจเพื่อเยียวยาเราได้ และบางครั้งก็อาจให้ประสบการณ์ใหม่ของการปลดปล่อยความรู้สึกต่างๆ ผ่านภาษาที่ในภาษาบ้านเกิดของเราถูกห้ามไม่ให้พูดถึงได้อยู่บ่อยๆ

.


สุดท้าย ถ้าผมจะสรุปงานวิจัยของ Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff (2013) เพื่อพูดเกี่ยวกับเรื่อง “ภาษาแม่” ในการทำจิตบำบัดแล้ว ก็คงขอสรุปสิ่งที่พวกเขาค้นพบจากการสัมภาษณ์ประสบการณ์จริงของนักจิตบำบัด bilingula ดังนี้


1. ผู้รับบริการจะกลับมาใช้ภาษาแม่ในการสื่อสารอยู่บ่อยๆ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับสภาวะอารมณ์ของพวกเขาได้ดีกว่า และเวลาที่พวกเขาจะบรรยายความฝันของตัวเองออกมา รายละเอียดจะมีมากกว่าหากพวกเขาอธิายด้วยภาษาของตัวเองและยังเชื่อมโยงประสบการณ์ได้ดีกว่าด้วย


2. บาดแผลทางใจเป็นเรื่องยากในการอธิบายด้วยภาษาที่สอง ผู้รับบริการมักจะเปลี่ยนไปพูดภาษาแม่ของตัวเองเวลาที่พูดเรื่องประสบการณ์ของบาดแผลทางใจ ซึ่งอาจสลับไปมาระหว่างภาษาแม่และภาษาที่สองได้เพราะเป็นช่วงเวลาของความเปราะบางสำหรับพวกเขา และภาษาที่สองก็ช่วยสร้างระยะห่างคล้ายการปกป้องตัวเองของพวกเขาให้ทนอยู่กับบาดแผลทางใจนั้นได้ด้วย


3. ผู้รับบริการมักจะแสดงให้เห็นค่านิยมที่ต่างกันเวลาใช้ภาษาที่ต่างกัน โดยค่านิยมบางอย่างจะมีอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะพบว่าภาษาที่สองมีประโยชน์มากในการพูดเรื่องที่ต้องหาในภาษาบ้านเกิดของตัวเอง แต่เมื่อไรก็ตามที่ผู้รับบริการจะสบถหรือด่าออกมา การใช้ภาษาแม่ในการสบถคำกลับสร้างความรู้สึกโล่งใจได้มากกว่า


4. แต่ละภาษาที่ใช้จะมีอัตลักษณ์ของตัวมันเองและเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ที่แสดงออกของทั้งผู้รับบริการและนักจิตบำบัด โดยการใช้ภาษาแม่ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเองได้มากกว่าขึ้นมา หรือในบางครั้งก็อาจพบได้ว่า ภาษาที่ใช้ในเวลานั้นๆ ก็ทำให้ร่างกาย ท่าที หรือแม้แต่เสียงของเราเปลี่ยนแปลงไปตามภาษาที่เราใช้พูดในตอนนั้น


5. ภาษาแม่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบความเชื่อใจหรือความรู้สึกว่าถูกเข้าใจได้ในระดับลึกอย่างไม่รู้ตัว บ่อยครั้งผู้รับบริการมักจะมีความคาดหวังต่อการบำบัดโดยไม่รู้ตัวว่าอยากให้นักบำบัดสามารถสะท้อนภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่แม้กระทั่งเรื่องการใช้ภาษา ยังไงก็ตาม บางครั้งการพูดภาษาแม่เดียวกันก็กระตุ้นความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับผู้รับบริการได้เนื่องจากความ “ใกล้ชิดเกินไป” หรือ “ถูกตัดสิน” ผ่านวัฒนธรรมของภาษา


6. สิ่งที่เกิดขึ้นในข้อ 5 ก็พบในนักจิตบำบัดเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น นักจิตบำบัดที่พบว่าผู้รับบริการใช้ภาษาแม่เดียวกัน ก็อาจจะทุ่มเทเวลาให้กับผู้รับบริการที่มาจากวัฒนธรรมเดียวกันมากกว่าผู้รับบริการคนอื่นๆ

.



นอกจากนี้ ในรายละเอียดที่ Kokaliari, Catanzarite และ Berzoff พบยังบอกด้วยว่า

นักจิตบำบัดบางคนบอกว่า ในกรณีของผู้รับบริการบางคนจะไม่สามารถตระหนักถึงประสบการณ์ของตัวเองในฐานะบาดแผลทางใจได้เมื่อใช้ภาษาแม่ นั่นเพราะในภาษาของพวกเขาไม่มีคำที่ใช้เรียกประสบการณ์นั้นว่าเป็นหนึ่งในบาดแผลทางใจเลย โดยมักเกิดขึ้นกับประเด็นเรื่องวัฒนธรรมความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ!

นักจิตบำบัดคนหนึ่งในงานวิจัยบอกว่า ในวัฒนธรรมของเวียดนามไม่ได้ถูกประกอบสร้างทางสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และนั่นก็เลยทำให้พวกเขาไม่มีภาษาไว้ใช้เรียกสิ่งนี้


คนไข้ของนักจิตบำบัดคนนี้จึงพยายามอย่างมากในการอธิบายด้วยภาษาบ้านเกิด แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งคนไข้คนนี้ก็พบว่าการใช้ภาษาที่สองเป็นหนทางเดียวที่คนไข้จะปลดปล่อยความรู้สึกที่มีในประสบการณ์นี้ได้้และเรียกชื่อของมันได้ในท้ายที่สุด

.


โดยภาพรวมทั้งหมด ผมคิดว่าเรื่องของภาษาที่เราใช้พูดๆ กันอยู่ทุกวันนี่เป็นอะไรที่ละเลยไปไม่ได้เลย มันอาจมีอะไรที่มากกว่าแค่คำพูดหรือภาษาเพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่มันอาจเป็นสิ่งที่บอกถึงตัวตนของเราและที่ที่เราจากมา


ผมคิดว่าในวัน “ภาษาแม่สากล” ที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของภาษาบ้านเกิดของเรานี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาตระหนักถึงอิทธิพลของภาษาที่มีต่อชีวิตของเรากันไม่มากก็น้อยครับ

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

.


Reference


Borelli, J. L., Sohn, L., Wang, B. A., Hong, K., DeCoste, C., & Suchman, N. E. (2019). Therapist–client language matching: Initial promise as a measure of therapist–client relationship quality. Psychoanalytic Psychology, 36(1), 9.


Kokaliari, E., Catanzarite, G., & Berzoff, J. (2013). It is called a mother tongue for a reason: A qualitative study of therapists' perspectives on bilingual psychotherapy—Treatment implications. Smith College Studies in Social Work, 83(1), 97-118.


Taumoepeau, M., & Ruffman, T. (2006). Mother and infant talk about mental states relates to desire language and emotion understanding. Child development, 77(2), 465-481.




ดู 29 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page