.
ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ทางสมาคมจิตวิทยากการปรึกษาได้ทำการจัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “ความเคลื่อนไหวของงานจิตวิทยาการปรึกษาร่วมสมัย” (Contemporary Movement in Counseling Psychology) ผ่านทางโปรแกรม Zoom ซึ่งเป็นการจัดการประชุมวิชาการครั้งที่ 2 ตั้งแต่มีการจัดตั้งสมาคมขึ้น และภายในงานดังกล่าวได้มีการนำเสนอองค์ความรู้และมุมมองจากนักจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงการอัพเดตแนวทางของสมาคมเพื่อจัดตั้งมาตรฐานวิชาชีพอีกด้วย
.
แอดมินบางส่วนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมนี้ และคาดว่าเนื้อหาภายในส่วนหนึ่งนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจงานของนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงอยากนำเนื้อหาบางส่วนมาเล่าให้ฟังซักเล็กน้อย
.
1. หัวใจของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาคือการเพิ่มพูนสุขภาวะของผู้คนและสังคม โดย รศ.ดร. โสรีย์ โพธิ์แก้ว (นายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา) และ อาจารย์สุภาวดี นวลมณี (นายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย)
.
ในหัวข้อแรกเป็นการบรรยายให้เห็นถึงความสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาในปัจจุบันที่เข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูล นำพาผู้คนให้ค้นพบกับ ‘บางอย่างที่ขาดหายไป’ โดย รศ.ดร. โสรีย์ ได้นำเสนอถึงคำกล่าวว่า “ทุกวันนี้เราไม่ได้ขาดแคลนเทคโนโลยี แต่เราขาดแคลนหัวใจที่ดีงาม” และการบรรยายของ รศ. ดร. โสรีย์ และ อ. สุภาวดี ช่วยแสดงให้เห็นว่างานของนักจิตวิทยาการปรึกษา คือการนำพาผู้คนสร้างต้นทุนของจิตใจที่ดีงามด้วยความสามารถทางวิชาชีพ ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกหรือลงไปสอดแทรกอยู่ร่วมกับชุมชน โรงเรียน หน่วยงาน ครอบครัว ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันประเทศของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบของครอบครัวและสังคมที่ก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ
.
ในการบรรยายได้ช่วยให้เห็นว่าถึงแม้นักวิชาชีพจะมีความสำคัญให้ผู้คนมีแรงใจต่อสู้ดิ้นรนกับความทุกข์ แต่ความขาดแคลนของนักวิชาชีพยังคงอยู่ อีกทั้งการจะบอกได้ว่านักวิชาชีพคนใดมีศักยภาพในการช่วยเหลือก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจารณากันต่อ อ. สุภาวดี จึงได้เสนอมุมมองเกี่ยวกับ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ที่ประกอบด้วยคอนเซปง่ายๆ ว่า ต้องรู้จริง นำความรู้มาใช้ได้จริง มีการพยายามศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ยึดหลักจรรยาบรรณ และสามารถบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ เข้ากับระบบได้ โดย อ. สุภาวดี ได้กล่าวต่อเนื่องถึงการกลับมาดูมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องสร้างขึ้นมาให้สามารถส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของนักจิตวิทยาการปรึกษาได้ และการสร้างมาตรฐานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือช่วยกันสร้างขึ้นมาจากหลายส่วน จนสรุปให้เห็นถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานวิชาชีพที่เป็นแบบแผน
.
2. ทรรศนะและท่าทีของนักจิตวิทยาการปรึกษาในสถานการณ์การระบาดของ covid-19 โดย ผศ. ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ (คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) และ ผศ. ดร. ธีรวรรณ ธีระพงษ์ (ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มช.)
.
รศ. ดร. ณัฐสุดา และ รศ. ดร. ธีรวรรณ ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของ covid-19 ที่ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันของเรา โดยเฉพาะในแง่ของเส้นกั้นที่เบลอลงไประหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. ณัฐสุดาเสนอว่าอุปสรรคนี้เป็นเหมือนอุปสรรคภายนอกที่พอจะสามารถจัดการได้ แต่อุปสรรคที่อยู่ภายในใจกลับเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความทุกข์ใจและการปรับตัวตามศักยภาพที่มีอยู่ของเรามากกว่า โดยอุปสรรคภายในที่ รศ. ดร. ณัฐสุดานำเสนอคือ ‘ภาพความคาดหวังที่เรามีเกี่ยวกับตัวเอง’ โดยอาจเป็นภาพที่เราคาดหวังต่อตนเองว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้จึงจะเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นลูกจ้างที่ดี เจ้านายที่ดี หรือแม้แต่นักจิตวิทยาการปรึกษาเองก็อาจพบเจอกับความคาดหวังต่อตนเองเหล่านี้เมื่อพบว่าการทำหน้าที่จากเดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป (สวมหน้ากากอนามัย หรือ ให้บริการทางออนไลน์ เป็นต้น)
.
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. ธีรวรรณ เสนอว่ามนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งเราอาจโฟกัสกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป เช่น การโฟกัสอยู่แต่กับความทุกข์ใจหรือกังวลใจของเรา หรือแม้แต่การโฟกัสกับธรรมชาติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งหากเราถอยออกมาอาจพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้รบกวนชีวิตของเรามากขนาดที่เราคิด ขณะเดียวกัน รศ.ดร. ณัฐสุดาก็ได้เน้นย้ำถึงการมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน (here & now) ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมไปถึงการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง จัดระเบียบตัวเอง และมีความสงสัยใคร่รู้อยู่เสมอจนสามารถมองเห็นอุปสรรคต่่างๆ เป็นเรื่องรองลงไปหรือกลายเป็นเพียงความท้าทายอย่างหนึ่งของชีวิตที่พบว่าท้ายที่สุดแล้วเราก็พบว่าเราสามารถอยู่ได้และอาจมองเห็นถึงความหมายในชีวิตที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำหน้าที่ของพ่อแม่หรือลูกที่ดี เป็นต้น
.
นอกจากนี้ รศ.ดร. ธีรวรรณยังได้เสนอว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องรอวิกฤติมาถึงเพียงอย่างเดียว แต่เรากลับสามารถเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตนเองอยู่เสมอให้มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ดังนั้น รศ.ดร. จึงได้ทิ้งท้ายว่าอย่าทิ้งการฝึกฝนดูแลตัวเอง และการฝึกฝนเป็นประจำจะนำไปสู่การมีพลังพอที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาได้
.
3. การทำงานออนไลน์ของนักจิตวิทยาการปรึกษา โดย ดร. สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ (นักจิตวิทยาการปรึกษา OneManCounselor.com), คุณวรกัญ รัตนพันธ์ (ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) และ คุณศศกร วิชัย (สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์)
.
ผู้บรรยายทั้งสามได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดและข้อได้เปรียบของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทางไกล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ในยุคสมัยที่เป็นการพิมพ์แชท การโทรศัพท์ มาจนถึงปัจจุบันสามารถวิดีโอคอลได้ โดย ดร. สุววุฒิ เสนอว่าถึงแม้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะมีความสำคัญทั้งในเชิง verbal และ non-verbal แต่ในประเทศไทยกลับมีข้อจำกัดในการเข้าถึงนักจิตวิทยา และในบางกรณีก็พบว่าไม่สามารถให้บริการได้นอกเวลาราชการทั่วไป ดร. สุววุฒิจึงได้เริ่มจากการให้บริการปรึกษาผ่านทางการพิมพ์แชทตั้งแต่สมัยที่เรียนระดับปริญญาโท-เอก เพื่อทำวิทยานิพนธ์ในด้านนี้ และกล่าวว่านักจิตวิทยาการปรึกษาอาจได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของการให้บริการแบบออนไลน์ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นถึงความสำคัญของการใส่ใจรายละเอียดและไวต่อการรับรู้เพื่อถอดรหัสกล่องข้อความ หรือคำพูดของผู้รับบริการที่อัดแน่นด้วยอารมณ์ความรู้สึก และความคิดทัศนคติของผู้รับบริการ แม้จะมีแนวทางการให้การปรึกษาดังกล่าวเกิดขึ้น แต่อาจไม่ได้เป็นที่นิยมนักในช่วงนั้น และถึงแม้การให้บริการผ่านทางโทรศัพท์จะช่วยลดข้อจำกัดในบางส่วนให้พอสัมผัสน้ำเสียงของผู้รับบริการได้ แต่ก็ยังคงไม่คุ้นชินกับนักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนใหญ่อยู่ดี
.
คุณวรกัญได้แสดงความเห็นในฐานะของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ในปัจจุบันคือการระบาดของ covid-19 ที่ทำให้ศูนย์บริการต้องปิดที่ทำการและหันมาให้บริการผ่านทางออนไลน์แทน นักจิตวิทยาการปรึกษาอาจต้องพยายามสร้่างความคุ้นเคยและเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมผู้รับบริการด้วย เกี่ยวกับการทำความเข้าใจเรื่องอุปกรณ์ เช็คความพร้อมของสถานที่ที่ผู้รับบริการอยู่ซึ่งควรเป็นส่วนตัวและไม่มีเสียงรบกวนมากเกินไป และสร้างความเข้าใจกับผู้รับบริการเกี่ยวกับข้อจำกัดบางอย่างในการให้บริการ ซึ่งอาจให้ผู้รับบริการได้อ่านเงื่อนไขการรับบริการตั้งแต่แรกเพื่อตัดสินใจแน่ชัด หรือในกรณีที่คุณศศกรนำเสนอคือการที่ต้องมองหา resource หรือ connection เพื่อช่วยเหลือได้ในบางกรณี
.
อย่างไรก็ตาม ดร. สุววุฒิก็ได้แสดงความเห็นว่าบางครั้งผู้รับบริการอาจต้องการปรึกษาเพื่อให้จบในที่เดียว และไม่ต้องการถูกส่งต่อไปรับความช่วยเหลืออื่นต่อเนื่องจากบางประเด็นที่ต้องการรักษาความลับ นักจิตวิทยาการปรึกษาจึงอาจต้องประเมินเป็นรายกรณีว่า ปัญหาของผู้รับบริการมีสัดส่วนที่พอเหมาะกับศักยภาพของตนหรือไม่ และต้องอธิบายให้ผู้รับบริการรับทราบด้วยว่าประเด็นต่างๆ ควรได้รับความช่วยเหลือแบบใด
.
ผู้บรรยายทั้งสามได้ทิ้งท้ายถึงการทำงานออนไลน์ของนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะต้องปรับตัวกับการทำงานผ่านหน้าจอหรือสื่อที่กั้นระหว่างนักจิตวิทยากับผู้รับบริการ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะพบว่ายังสามารถทำงานแบบเดิมต่อไปได้โดยไม่ปล่อยให้อุปกรณ์สื่อกลางเหล่านี้มาเป็นอุปสรรค
.
4. มาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา โดย ผศ. ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ (คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) และ คณะทำงานมาตรฐานวิชาชีพ
.
ในหัวข้อสุดท้ายเป็นการอัพเดตความก้าวหน้าของสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา และเป็นก้าวแรกของการสร้างมาตรฐานวิชาชีพ โดยตัวแทนจากคณะทำงานด้านมาตรฐานวิชาชีพของนักจิตวิทยาการปรึกษา จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานเชิงวิชาชีพของนักจิตวิทยาการปรึกษา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอย่างมีมาตรฐานและมีศักยภาพ ทางสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาจึงได้จัดตั้ง คณะทำงานมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อดำเนินการร่างมาตรฐานวิชาชีพและนิยามเกี่ยวกับจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะกำหนดมาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา และนำไปสู่การมีใบประกอบวิชาชีพ อันเป็นสิ่งยืนยันถึงคุณสมบัติที่พร้อมของผู้ให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในประเทศไทยโดยมีมาตรฐานรองรับที่ชัดเจนต่อไป โดยทางคณะทำงานได้นำเสนอที่มาของ ร่างมาตรฐานวิชาชีพและนิยามเกี่ยวกับจิตวิทยาการปรึกษา ร่างแรก ซึ่งเกิดจากกระบวนการของการทบทวนมาตรฐานวิชาชีพจากสถาบันระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น APA ACA BACP สมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาคลินิก กิจกรรมบำบัด เป็นต้น รวมทั้งการทบทวนมาตรฐานคุณวุฒิจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงการทบทวนจำนวนชั่วโมงการฝึกประสบการณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษาในประเทศต่างๆทั้งฝั่ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และอาเซียน ทั้งหมดนำมาซึ่งร่างมาตรฐานวิชาชีพ และร่างกรอบคุณสมบัติสำหรับการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษาร่างแรก
.
ในการนี้ ทางตัวแทนของคณะทำงานได้เปิดรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างมาตรฐานวิชาชีพและร่างกรอบคุณสมบัติร่างแรก เพื่อนำไปดำเนินการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงตามกระบวนการ และนำไปสู่การสร้างมาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นที่ยอมรับต่อไป
.
ทิ้งทาย จากงานประชุมนี้เราได้เห็นอะไร? สาระสำคัญจากงานประชุม ทำให้เราเห็นว่า ในสถานการณ์ที่อยากลำบากนี้ ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการกลับมาสำรวจสภาวะใจของตัวเองว่าจากความกดดันที่เกิดขึ้น ส่งผลอะไรต่อทั้งตัวเราและคนรอบข้างบ้าง แม้กระทั่งนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ต้องทำงานกับจิตใจก็ยังต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับรูปแบบการทำงานและกลับมาดูแลสภาวะใจของตัวองเช่นกัน นอกจากนี้สิ่งที่ได้เห็นและเป็นเรื่องน่ายินดีอีกอย่างคือ ก้าวแรกของการมีมาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา ที่น่าจะเป็นก้าวที่สำคัญและน่าสนใจในงานบริการด้านสุขภาพจิตต่อไป คงต้องติดตามกันต่อว่าหลังจากนี้ทิศทางของนักวิชาชีพด้านจิตวิทยาการปรึกษาจะเป็นอย่างไรต่อไป
.
เก้าอี้นักจิต
Kommentare