.
สวัสดีทุกคนเนื่องในวันพ่อครับ
วันนี้คงเป็นวันที่หลายๆ คนระลึกถึงสิ่งที่พ่อเคยทำให้เราและคิดถึงการมีช่วงเวลาดีๆ กับพ่อของตัวเองไม่มากก็น้อย
แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีอีกหลายคนที่ “ไม่อิน” กับวันพ่อซะเท่าไร และนึกภาพไม่ออกเลยว่าวันพ่อจะมีความสำคัญยังไงกับเราบ้าง
ในฐานะนักจิตวิทยา ผมเองก็เคยมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของผู้มาปรึกษาหลายคนที่มีความขัดแย้งในความสัมพันธ์กับพ่อแม่ของตัวเองโดยเฉพาะกับพ่อ
จนเข้าใจในคำพูดที่ทุกวันนี้ใช้กันมากขึ้นเลยว่า “บ้านไม่ใช่ safe zone สำหรับทุกคน”
ยังไงก็ตาม ผมไม่ได้จะมาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีพ่อให้ทุกคนรู้สึก “อิน” กับวันพ่อ
แต่จะมาพูดถึงมุมมองทางจิตวิทยาเกี่ยวกับ “พ่อที่น่ารำคาญ” นี่แหละ
ซึ่งมุมมองที่ว่านี้ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการให้การปรึกษาของผมหลายครั้ง เวลาที่พบเจอกับคนที่มาปรึกษาเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว
.
หลายๆ คนคงมีพ่อที่น่ารำคาญใช่มั้ยครับ?
พ่อที่น่ารำคาญนั่นก็อาจเป็นพ่อที่จู้จี้จุกจี้ เจ้าระเบียบ เป็นพ่อที่ดุ ขี้โมโห ชอบสั่งชอบสอน และอีกหลายๆ อย่างที่ทำให้รู้สึกได้ว่า “เราไม่ชอบพ่อของตัวเอง”
มีหลายคนที่มาปรึกษาผมและคิดไปก่อน (ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ว่า การมาปรึกษานักจิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกจาก “ไม่ชอบ” พ่อของตัวเองให้กลายเป็น “ชอบ” ได้
ซึ่งบางครั้ง ความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึก “ชอบ/ไม่ชอบ” เหล่านี้ ก็มักจะแฝงอยู่ภายใต้มุมมองที่มีต่อ “ความขัดแย้งในความสัมพันธ์” ระหว่างพวกเขากับพ่อแม่
แต่การมาปรึกษานักจิตวิทยา (แบบผม) เป้าหมายของเราไม่ใช่การเปลี่ยนความรู้สึกจาก “ไม่ชอบ” เป็น “ชอบ” ซะทั้งหมด
แต่เป็นการทำให้คนที่มาปรึกษาเข้าใจมุมมองที่มีต่อความขัดแย้งในความสัมพันธ์เสียใหม่ว่า สิ่งนั้นเป็นเรื่องปกติ และ เราทุกคนต่างมีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบในเรื่องอะไรก็ได้
.
เวลาที่เราพูดถึง “ความขัดแย้ง” หลายคนมักมองว่าเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดและอาจเผลอมองไปว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่มีทางส่งผลดีกับใคร
แต่ลองคิดในมุมกลับกันดูว่า “เพื่อนสนิทของเราเคยมีเรื่องผิดใจกันหรือเห็นไม่ตรงกันมากี่ครั้งแล้วจึงสนิทกันได้จนถึงวันนี้บ้าง?”
พอนึกแบบนี้ดูก็อาจจะเห็นได้ว่า เราต่างก็มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในตัวของอีกฝ่ายมากมายเลยใช่มั้ยครับ
ขณะเดียวกัน ก็อาจเห็นจากประสบการณ์ของเราเองได้เลยว่า มีหลายครั้งที่ความขัดแย้งนั้นลงเอยด้วยดี
ซึ่งคำว่า “ลงเอยด้วยดี” นั่นก็อาจไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วยตรงกันเสมอไป แต่ก็อาจเป็นการยอมรับและเข้าใจอีกฝ่ายที่ต่างจากเรา และเลือกที่จะต่างคนต่างอยู่กันไปตามสภาพ แต่เมื่อเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกันได้ เป็นต้น
มุมมองที่มีต่อความขัดแย้งที่เปลี่ยนไปเวลาคนมาปรึกษานักจิตวิทยาจึงเป็นแบบนั้นในหลายครั้ง
และก็ไม่ได้จำเป็นเลยที่เราจะต้องเปลี่ยนความรู้สึกของตัวเองให้เป็นบวกไปซะทั้งหมด
เมื่อวนกลับมาที่เรื่องความขัดแย้งกับพ่อแม่ พ่อของบางคนก็อาจจะยังคงเป็น “พ่อที่น่ารำคาญ” เสมอ
.
ยังไงก็ตาม แน่นอนว่าก็อาจจะยังมีหลายคนที่คิดว่า “หากมีพ่อที่ให้อิสระมากกว่านี้ก็อาจจะดีกว่ารึเปล่า?” อยู่เหมือนกัน
ซึ่งสำหรับผมเองไม่คิดว่านั่นเป็นเรื่องแปลกเลยที่จะคิดแบบนั้น แต่การติดอยู่กับความคาดหวังแค่นั้นก็อาจทำให้เรายอมรับความจริงและก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ยากมากขึ้นด้วย
ในหนังสือ How to read Lacan ที่ผมเพิ่งได้อ่านมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงอยากเอามาแบ่งปันกันดูครับ
ในหนังสือจะบอกเราว่า “ให้ลองจินตนาการว่าคุณเป็นเด็กที่จะต้องไปเยี่ยมคุณย่าทุกวันอาทิตย์เพื่อแลกกับการได้ออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน”
คราวนี้ให้ลองจินตนาการว่าคุณมีพ่อ 2 คน
พ่อคนแรก คือ พ่อที่บังคับให้คุณไปเยี่ยมย่าทุกอาทิตย์โดยบอกคุณว่า “พ่อไม่สนว่าลูกจะรู้สึกยังไง แค่ทำหน้าที่ของแกซะ ไปหาย่าและทำตัวให้ดีๆ”
ในขณะที่พ่อคนที่สอง คือ พ่อที่ไม่บังคับอะไรคุณเลยและบอกคุณว่า “แกรู้ใช่มั้ยว่าย่ารักแกมากแค่ไหน แต่ฉันไม่อยากบังคับให้แกไปหาย่า ฉะนั้นค่อยไปถ้าแกอยากจะไปก็แล้วกัน!”
สำหรับกรณีของพ่อคนแรก ถึงจะฟังดูแย่ แต่เด็กแบบคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกกระอักกระอ่วนกับการทำตามไปซะทั้งหมด เพราะถึงแม้ในตอนนั้นคุณอาจจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ แต่คุณจะยังคงรักษา “คุณค่าของการมีอิสระ” เอาไว้ในใจได้ และสามารถใช้มันเพื่อยืนหยืดต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ในอนาคตที่คุณเติบโตขึ้นแล้ว
ในทางตรงข้าม การมีพ่อคนที่สองก็อาจไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีความสุขไปซะทั้งหมด เพราะต่อให้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองมีอิสระในการตัดสินใจเลือกในตอนนั้น แต่การมี “อิสระมากเกินไป” ก็อาจทำให้คุณต้องตกหลุมพรางของทางเลือกที่เยอะมาก และต้องคอยตอบคำถามตัวเองอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองเลือก
พูดได้ว่า เด็กในกรณีที่สองอาจไม่ได้แค่ต้องคิดว่า “จะยอมทำตามรึเปล่า?” แต่ต้องคิดว่าด้วยตัวเองว่า “อยากทำจริงๆ ใช่มั้ย?” เพราะไม่สามารถอ้างเรื่องการ “ทำแบบไม่เต็มใจ” ได้เลย เนื่องจากไม่ได้ถูกบังคับจากพ่อ และถึงแม้ในใจจะบอกว่ารู้สึกผิดกับย่า แต่ก็เป็นความรู้สึกผิดจากความคิดของตัวเองเพราะไม่ได้มีใครบอกว่าทำผิด (การมีอิสระมากเกินไปจึงเป็นทุกข์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อยังมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นเกิดขึ้น)
จากตัวอย่างในหนังสือที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้ ก็อาจจะบอกได้ว่าการมี “พ่อที่น่ารำคาญ” คงไม่ได้แย่เสมอไป และการที่ต้องมีความขัดแย้งกับพ่อก็คงเป็นเรื่องปกติในเส้นทางการเติบโตของหลายๆ คนเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแบบไหน สุดท้ายแล้วพ่อก็คงจะยังเป็นคนที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของเราอยู่ดีใช่มั้ยล่ะครับ
.
เก้าอี้ตัว J
Ref.
Zizek, S. (2011). How to read Lacan. Granta Books.
Comments