“คุณเคยได้ยินเรื่องห้องหมายเลข 19 มั้ย?”
.
นี่เป็นคำถามที่บางคนอาจจะตอบว่าเคยหรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเมื่อผมได้รู้จักกับเรื่องราวดังกล่าวคิดว่าหลายๆ คนคงอยากที่จะมี “ห้องหมายเลข 19” เป็นของตัวเองเช่นกัน
.
ผมได้ยินเรื่อง “ห้องหมายเลข 19” ครั้งแรกในซีรี่ย์เกาหลีเรื่อง Because This Is My First Life ที่แฟนผมเป็นคนแนะนำให้ลองดู ผมรู้สึกชอบเรื่องนี้พอสมควร แต่ก็ดูไม่จบทุกตอนหรอก แต่แฟนผมพูดถึงเรื่อง “ห้องหมายเลข 19” เป็นประจำเพราะเธอชอบมันมากที่ถูกพูดถึงในซีรี่ย์เรื่องนี้ และผมก็ได้มีโอกาสดูถึงประมาณช่วงนั้น....“ห้องหมายเลข 19”
.
“ห้องหมายเลข 19” หรือ “To Room Nineteen” เป็นเรื่องสั้นหนึ่งของ Dorris Lessing ในหนังสือเล่มที่ชื่อเดียวกันกับเรื่องสั้นเรื่องนี้
.
สองสามีภรรยาตระกูล Rawlings (Susan และ Matthew) มีหน้าที่การงานที่ดี ตกลงปลงใจแต่งงานกันและอยู่อาศัยในบ้านหลังหนึ่ง เมื่อทั้งคู่ให้กำเนิดลูกคนแรก Susan ตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกของพวกเขา จนกระทั่งต่อมาเธอและเขามีลูกด้วยกันทั้งหมด 4 คน (ชาย 1 หญิง 1 และแฝดชายหญิงอีก 1 คู่) พวกเขามีสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ Susan กลับพบว่าตนเองรู้สึกขาดซึ่งอิสระของตนเองอย่างมาก
.
เธอพยายามคุยกับ Matthew สามีของเธอ เขาจึงได้ร่วมกันคุยกับลูกๆ ว่าจะกำหนดให้ห้องใต้หลังคาเป็นห้องที่เรียกว่า “ห้องแม่” เพื่อที่เธอจะได้ใช้เวลาอยู่คนเดียวในห้องนั้นอย่างที่เธอต้องการ แต่แล้วเวลาผ่านไป คนในบ้านเริ่มผ่านเข้าออกบริเวณห้องนั้นมากขึ้น พื้นที่ตรงนั้นจึงหายไปจากบ้าน
.
Susan ตัดสินใจออกค้นหาห้องเช่าห่างไกลจากบ้านเพื่อที่เธอจะได้อยู่คนเดียวในเวลาที่สามีไปทำงาน, ลูกๆ ของเธอไปโรงเรียน และปล่อยงานบ้านไว้กับแม่บ้าน จนในที่สุดเธอก็พบห้องพักหนึ่งในโรงแรมซอมซ่อสกปรก และนั่นเป็นที่ที่เธอได้พบกับความสงบและอิสระที่เธอต้องการมาตลอด... “ห้องหมายเลข 19”
.
เธออยู่ในห้องนั้นโดยไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั่งหลบตาอยู่บนเก้าอี้เก่าๆ ยืดเหยียดแขนไปมาบ้าง และมองผู้คนที่เธอไม่รู้จักพวกเขาและพวกเขาไม่รู้จักเธอเดินผ่านไปมาผ่านหน้าตาของห้อง เธอทำแบบเดิมในห้องเดิมทุกครั้ง ถึงแม้เธอจะต้องรอเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมงเพราะมีหนุ่มสาวพากันมาใช้ห้องของเธอ เธอก็ยินดีที่จะรอเวลาที่เธอจะได้พื้นที่ของตัวเองในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนกว่าคนปล่อยเช่าจะมาเคาะประตูเรียกเธอในเวลาที่ตกลงกันไว้
.
ในตอนท้ายของเรื่อง สามีของเธอเริ่มสงสัยในพฤติกรรมของภรรยา และคิดว่าเธอนอกใจเขา เธอหลอกให้เขาคิดเช่นนั้นต่อไปด้วยการพูดคุยอย่างกำกวมของเธอ เขาจึงได้สารภาพว่าเขาเองก็นอกใจเธอเช่นกัน และนำเสนอไอเดีย foursome (การมี sex แบบ 4 คน) กับเธอ
.
เธอตอบตกลง และในเช้าวันถัดมาเมื่อสามีออกไปทำงานตามปกติรอเวลาทำกิจกรรมร่วมกันตามที่ตกลงไว้ เธอกลับไปห้องนั้นอีกครั้ง และตัดสินใจที่จะจากไปพร้อมกับทิ้งความเข้าใจผิดทั้งหมดไว้เช่นเดิมใน “ห้องหมายเลข 19”
.
เรื่องราวที่ปรากฏในซีรี่ย์เรื่องนี้ มีคำถามที่ไม่สามารถเข้าใจได้ของนางเอกว่า “ทำไมภรรยาต้องหลอกสามีว่าตัวเองนอกใจ?” ผมคิดไม่ต่างกันกับเพื่อนของนางเอกว่า “การที่ถูกมองว่าเป็นคนบ้าไปเลยดีกว่าการที่ต้องถูกมองว่าน่าสมเพช” ผมคิดแบบนี้เพราะผมมุ่งเน้นไปที่การพยายามปกป้องตัวเองของเราจากความเปราะบางในจิตใจ แต่แฟนของผมกลับไม่ได้มองแบบที่ผมมองเท่าไรนัก เธอคิดว่าเรื่องราวนี้หมายถึง “การหลอกลวงของภรรยานั้นเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการพยายามอธิบายในสิ่งที่คนอื่นไม่มีทางเข้าใจ”
.
จริงๆ แล้วเรื่องราวของ Susan ในหนังสือมีมากกว่านั้น เธอดูเหมือนจะมีท่าทีของความหวาดระแวงพอสมควร แต่เมื่อผมได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือ ผมคิดว่ามันคงเป็นจริงอย่างที่แฟนของผมเข้าใจ
.
Susan พยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะบอกสามีของเธอ แต่เธอก็ทำไม่สำเร็จ และเธอก็ทำไม่สำเร็จในการบอกคนอื่นด้วยเช่นกันในเมื่อเธอยังไม่กล่้าแม้แต่จะบอกสามีที่ใกล้ชิดเธอมากที่สุด เธอมีทั้งความหวาดระแวง และเหมือนจะเห็นภาพหลอน เธอพยายามบอกเขาถึงว่าเธอต้องการอิสระหรือพื้นที่ของเธอเองเพราะเธอรู้สึกว่าตนเองถูกผูกมัด แต่เมื่อสามีของเธอทำให้เธอเห็นว่าเขาเองต้องออกไปทำงานออฟฟิตและกลับมาบ้านตามเวลาดูเหมือนจะไร้อิสระเหมือนกัน เธอก็รู้สึกสำนึกผิดและละอายใจขึ้นมาเมื่อเธอกลายเป็นคนไร้เหตุผลไปเลยเมื่อเธอเรียกร้องอิสระที่เธอต้องการ บางทีเธออาจล้มเลิกที่จะบอกความจริงเขาเพราะรู้ดีว่าเขาไม่มีทางเข้าใจเธอแน่นอน เพราะเขานั้นดูมีเหตุผลซะเหลือเกิน ในขณะที่เธอไม่ใช่
.
ผมคิดว่า บางครั้งคนเราอาจต้องการ “ห้องหมายเลข 19” ของตัวเอง เพราะเราต่างก็มีเรื่องที่คิดว่าคนอื่นไม่มีทางเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เองก็นำพาบางคนมาสู่ห้องบำบัดหรือห้องปรึกษาทางจิตวิทยาเช่นกัน เช่น ในคนไข้ในหนังสือของ Grosz ที่วันหนึ่งเธอบอกเขาว่าเธอไม่ต้องการบำบัดในวันนั้น แต่ต้องการเพียงเล่าเรื่องบางอย่างให้ฟัง และในอีกกรณีหนึ่งคือคนไข้ที่เข้ามาเพียงพักอยู่ในความเงียบและหลับลงบนโซฟาเท่านั้น หรือในคนไข้ของ Yalom ก็ทำให้เขาพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้เมื่อคนไข้ของเขามาพบเขาเพียงครั้งเดียวด้วยการเชิญชวนให้เขาอ่านจดหมายโต้ตอบอันสะท้อนความสัมพันธ์ของเขากับอาจารย์คนหนึ่ง
.
ไม่ว่าจะเรื่องราวของ Susan, คนไข้ของ Grosz หรือ Yalom ก็ทำให้เห็นว่า บางครั้งคนไข้หรือใครก็ตามต่างก็ต้องการเพียงพื้นที่เล็กๆ อันไร้ซึ่งการตัดสินกันด้วยเหตุและผลมากมาย และต้องการเพียงใครซักคนหนึ่งที่จะสามารถเข้าใจความไร้เหตุผลนั้นได้ด้วยการทำหน้าที่เพียงเป็นแค่สักขีพยานเท่านั้น
.
Grosz และ Yalom เป็นสักขีพยานในความไร้เหตุผลของคนไข้ของพวกเขา ในขณะที่สักขีพยานสำหรับ Susan คือคนที่ยอมให้เธอเช่าห้องและไม่รบกวนเธอเลยในเวลาของเธอถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับเธอเลยก็ตาม
.
แต่ผมคิดว่าเรื่องราวของ Susan อาจจะดีกว่านี้ถ้าเธอสามารถพูดคุยกับใครซักคนได้โดยไม่ต้องถูกตัดสินว่าเธอมีเหตุผลหรือเปล่าในการกระทำของตัวเอง เพราะจริงๆ แล้ว หากเราสามารถเข้าใจความไร้เหตุผลในแรกเริ่มได้ เราอาจพบเหตุผลอันซับซ้อนยิ่งกว่าที่ซ่อนลึกอยู่เบื้องหลัง
.
เช่นในเรื่องราวของ Susan ที่สุดท้ายแล้ว Matthew ก็ไม่ได้พยายามแม้จะเข้าใจความต้องการอิสระอันไร้เหตุผลของเธอในแรกเริ่ม และการที่เธอบอกเขาว่าเธอนอกใจในเวลาต่อมาก็ไม่ใช่เหตุผลจริงๆ ของเธอแต่มันเป็นแค่เหตุผลที่สามีของเธอจะไม่ตั้งคำถามว่ามันผิดแปลก
.
.
.
ปล. หนังสือในบทความนี้ของ Grosz สามารถหาซื้อได้ในฉบับแปลไทยชื่อว่า “ใจคนเรายากเย็นเกินไป {และนี่คือเหตุผลว่าทำไม}” และหนังสือของ Yalom ชื่อว่า “พลัง ชีวิต และความฝัน: เรื่องเล่าจากห้องบำบัด”
ปล2. หนังสือ To Room Nineteen: Collected Stories Volume One สามารถซื้อได้จาก amazon ตามลิ้งนี้ >> https://www.amazon.com/gp/product/0007143001/ref=as_li_tl?ie=UTF8&camp=1789&creative=9325&creativeASIN=0007143001&linkCode=as2&tag=kdl0d4-20&linkId=ab3f33082dfb83d7ea52c9f88e6a1b1e
.
Reference
Grosz, S. (2013). The examined life: How we lose and find ourselves. Random House.
Kahr, B. (2015). Freud: Great thinkers on modern life. New York, NY: Pegasus Book.
Lessing, D. (2013). To Room Nineteen: Collected Stories Volume One. HarperCollins UK.
Yalom, I. D. (2015). Creatures of a day: And other tales of psychotherapy. Basic Books.
Comentários