(บทความต้นฉบับโดย Leon Garber)
.
ในการเริ่มต้นทำเพจของผมไม่ได้มีสิ่งใดการันตีว่าตัวผมเองมีความรู้ที่มากกว่าคนอื่นๆ และความรู้บางอย่างก็มักจะมาจากการหาข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงที่เริ่มต้นเขียนบทความหลายๆ ชิ้น การอยู่ในจุดของการเป็นผู้ให้การปรึกษาหรือแนะนำคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ผมมักไม่สามารถการันตีได้เลยว่าผมมีความรู้ความเข้าใจที่มากพอในการเข้าใจคนอื่นๆ อย่างถ่องแท้
.
การปรึกษาทางจิตวิทยามักไม่ต่างกับการศึกษาและสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่จากเรื่องราวของผู้รับบริการแต่ละคนที่แตกต่างกันแทบทุกครั้ง แต่ความยากลำบากของช่วงแรกเริ่มในการให้การปรึกษามักเป็นการที่เรา (คนที่รับฟัง) ต้องทนอยู่กับ “ความไม่รู้” ในช่วงแรกของกระบวนการ
.
Leon Garber นักจิตบำบัด/ผู้ให้คำปรึกษาจาก NY ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน และเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในบล็อกของเขาเองในชื่อบทความว่า “A Good Therapist Doesn’t Have to Know Everything: The Importance of Admitting Your Intellectual Limitations to Clients”
.
บทความของเขาได้เขียนออกมาในรูปแบบของการบอกเล่ามุมมองของเขาเองในฐานะนักจิตบำบัด แต่ผมคิดว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์มากกว่าแค่การพูดถึงเรื่องราวของนักจิตบำบัดหรือผู้ให้การปรึกษา แต่กลับรวมไปถึงคนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับการอยู่ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้ความรู้คนอื่นๆ ที่อาจต้องยอมรับข้อจำกัดของตนเองว่า เราไม่สามารถรู้ดีได้ไปซะทั้งหมด
(สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://existentialcafe.blog/.../a-good-therapist.../...)
.
.
.
Leon Garber เริ่มต้นเขียนบทความของตัวเองเพื่อบอกว่า “สิ่งที่ยากกว่าการอดทนต่อความไม่รู้ของตัวเอง คือการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้อะไรบางอย่าง” ซึ่งมันนำไปสู่ความวิตกังวลไปว่าจะไม่มีใครเรียกเขาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป ในตอนนั้นเองเมื่อเขากังวลอยู่กับคุณค่าของตัวเองที่จะต้องเป็น “คนฉลาด” ความรู้ที่จำกัดของเขาก็ก่อให้เกิดการจมอยู่กับการย้ำคิดและทำลายความมั่นใจของตัวเอง
.
Leon ได้พบว่าตัวเขาเองมีความคิดว่าความรักนั้นเท่ากับการได้เป็นผู้เชี่ยวชาญและกลายเป็นที่รู้จัก นี่เป็นความเชื่อพื้นฐาน (core belief) ที่มาจากช่วงใดก็ไม่รู้ของชีวิตเขา แต่มันก็ส่งอิทธิพลอย่างมากต่องานที่เขาทำ นั่นทำให้เขาต้องตกอยู่ในความทรมานกับอาการ imposter syndrome หรือ “ความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริง” เช่นเดียวกันในวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งทำให้เขาต้องการการสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา และยากที่จะอดทนต่อความผิดพลาดพอสมควร
.
Leon ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“ถ้าหากชีวิตที่ผ่านมาคือความผิดพลาดล่ะ แล้วความเชี่ยวชาญแบบไหนกันแน่ที่ฉันมีอยู่?”,
“ใครจะอยากมารักษาหรือบำบัดกับฉัน?”
และ
“ใครจะยอมรับข้อสรุปของฉันได้?”
ทั้งนี้ เขาได้มองเห็นว่าการปรึกษาหรือบำบัดที่เขาทำมันเป็นเหมือนธุรกิจหนึ่ง และมันจำเป็นที่จะต้องใช้การโปรโมตตัวเองเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เขาจึงได้ตระหนักว่า เมื่อเราพยายามจะแข่งขันกับคนอื่น เราก็พยายามอย่างที่สุดเพื่อจะทำตัวให้ตัวเองโดดเด่นจากฝูงชน โดยเฉพาะในการเป็นนักจิตบำบัดในนิวยอร์กของเขาแล้ว ผู้คนต่างเลือกซื้อบริการเหมือนการช้อปปิ้งไปทั่ว ดังนั้นเขาก็คิดว่าคงไม่มีใครที่อยากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงช่วยเหลือผู้รับบริการของเขาอย่างรวดเร็วจากเรื่องราวที่ควรจะซับซ้อน และชอบที่จะทำให้พวกเขาจดจำตัวเขาเองได้ อย่างไรก็ตาม Leon กลับต้องตกอยู่ในความขัดแย้งระหว่างสองทางเลือกคือ การปรากฏตัวในฐานะผู้รู้ หรือการดำรงอยู่อย่างคนเปราะบางที่ถูกกระทบกระเทือนจากการวิจารณ์ได้ง่าย
.
ในขณะที่เขาต้องตกอยู่ในความทรมานของการรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริงนั้น เขาก็ระลึกได้ว่าเรื่องราวของผู้รับบริการที่เขาเข้าใจเป็นเพียงแค่ความจริงบางส่วนเท่านั้น เขาจึงรับรู้ได้ว่าตัวเขาเองอาจจะถูกในบางเรื่อง แต่เขาก็อาจจะผิดในบางเรื่องเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็ได้ยกตัวอย่างของการวินิจฉัยอาการทางจิตว่า การวินิจฉัยโรคอาจเป็นเพียงแค่กรอบความคิดชั่วคราว เพราะคำบอกเล่าของผู้รับบริการที่อาจดูไร้สาระหรือไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาทำให้ด่วนสรุปว่าผู้รับบริการเหล่านี้มีอาการหลงผิด แต่นั่นอาจมีส่วนที่เป็นจริงอยู่ก็ได้ เช่นเดียวกับคนที่มีความชอบเอาชนะสูงซึ่งอาจถูกมองว่าคล้ายกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง แต่นั่นก็อาจจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายของพวกเขาก็ได้
.
Leon บอกเราว่า “เราต้องรู้จักตั้งคำถามพวกนี้หากเราเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างที่เรากล่าวอ้าง” เพราะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ควรจะมีมุมมองของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะทิ้งมันไปได้ หรือไม่ ก็ควรจะต้องมีข้อสรุปที่มากพอในการวินิจฉัย
ยังไงก็ตาม Leon ก็พบว่าสภาพแวดล้อมและอาชีพการงานของนักวิชาชีพแบบเขานั้นก็ก่อให้เกิดความกังวลอยู่เสมอ นั่นเพราะถ้าหากเรายอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง ผู้รับบริการบางคนก็อาจจะถอยหนีไป โดยเฉพาะผู้รับบริการที่มองหา authority figure (ตัวแทนของบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า) เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาแทน แต่ในขณะเดียวกัน ผู้รับบริการคนอื่นๆ ก็จะให้ค่ากับความกล้าหาญนี้ ซึ่งสามารถตีความได้ว่านักวิชาชีพคนนั้นใส่ใจกับผู้รับบริการ พร้อมกันกับเป็นการทำลายภาพลวงของความรู้สึกว่าตัวเองด้อยทางสติปัญญาในตัวผู้รับบริการด้วย
.
Leon จึงเสนอว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การรู้ว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไรได้อย่างแม่นยำ (โดยเฉพาะช่วงแรกของการบำบัด) แต่เป็นการให้ความใส่ใจคนที่อยู่ตรงหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น เขาได้ยกคำกล่าวของ Carl Rogers นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยมที่กล่าวว่า “ความเข้าอกเข้าใจที่แท้จริงจะเป็นอิสระจากกรอบของการประเมินหรือการวินิจฉัย” ทั้งนี้ก็เพื่อบอกว่ากรอบการวินิจฉัยของเรามักจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการรับรู้คุณลักษณะทางศีลธรรมของเราเสมอ ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นสาเหตุให้เกิดการตำหนิหรือกล่าวโทษผู้รับบริการว่าเป็นสาเหตุทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ซะเอง
.
Leon จึงคิดว่า ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทำเหมือนรู้เยอะมากจากมุมมองทางคลินิกของเรา แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องรู้ไปซะทุกเรื่อง เขาจึงพบว่าถ้ามองไปยังสมมติฐานที่ผิดพลาดในขณะที่ให้การบำบัดของเขาหลายครั้งแล้ว บางครั้งเขาก็ถูก และบางครั้งเขาก็ผิด ยังไงก็ตาม สิ่งที่น่าคำนึงถึงมากกว่าคือการพยายามตั้งใจฟังและทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง ซึ่งเขาเชื่อว่าหลายๆ ครั้่งผู้รับบริการก็ไม่ได้ต้องการพบกับนักบำบัดที่รู้จักผู้รับบริการดีกว่าที่ผู้รับบริการรู้จักตัวเอง แต่ผู้รับบริการหลายคนกลับมองหาคนที่จะแคร์พวกเขามากพอจะช่วยให้ค้นพบแง่มุมลึกๆ ภายในตัวเอง
.
โดยสรุป Leon จึงเสนอว่า การยอมรับความไม่มั่นใจและความไม่รู้ของตัวเองจะก่อให้เกิดความหวังว่าจะมีการเคลื่อนไปข้างหน้าในความสัมพันธ์ของมนุษย์ กล่าวคือ เขาเชื่อว่าจะมีการพัฒนาการและเติบโตขึ้นเมื่อคู่สนทนาเรียนรู้จากความผิดพลาดและสอนให้อีกฝ่ายรู้จักเกี่ยวกับยอมรับตัวเองเช่นนี้ ซึ่ง Leon ได้ยกเอาคำกล่าวของนักสรีระวิทยาที่ชื่อ Ricard Feyman มาประกอบด้วยว่า
“ในการยอมรับความไม่รู้และความไม่มั่นใจ มีความหวังว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของมนุษยชาติในทิศทางที่ไม่ถูกจำกัดหรือถูกขัดขวางอย่างถาวรอยู่เสมอ ซึ่งมันเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์”
.
ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเกี่ยวกับบทความของ Leon Garber นี้ถือว่าบทความนี้มีความน่าสนใจ เพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการวางตัวและมุมมองของผมเกี่ยวกับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่ได้ถือว่าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ซะทั้งหมด ซึ่งนั่นอาจเพราะในประสบการณ์ของผมก็ทำให้พบว่าผู้รับบริการแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก จึงไม่สามารถบอกได้ว่านักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตบำบัดควรจะวางตัวอย่างไรกันแน่ (ทั้งนี้ก็เพราะความคาดหวังต่อนักจิตวิทยาของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน)
.
หากใครอ่านบทความนี้จนจบก็สามารถร่วมกันแสดงความเห็นได้ และถ้าหากคุณต้องการพบกับนักจิตวิทยา คุณอยากพบนักจิตวิทยาแบบไหนครับ?
.
เจษฎา กลิ่นพูล (K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา)
.
Photo credit: https://artstherapists.com/
Comments