. คำถามนี้เริ่มขึ้นจากความรู้สึกของผมที่พบเจอกับผู้มารับการปรึกษาที่สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการมาพูดคุยกับนักจิตวิทยา หลังจากผ่าน session ของการทำงานร่วมกันแล้วผมพบว่า ตัวผมเองได้รับอะไรบางอย่างกลับมาจากการพูดคุยกับผู้รับการปรึกษาที่เตรียมพร้อมจะมาทำความเข้าใจในตัวเอง จะเรียกว่าเป็นกำลังใจจากพวกเขาในการทำงานก็ได้ครับ การเห็นถึงความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจตัวเอง จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในมุมมองของผมมันช่วยสร้างกำลังใจในการทำงานให้กับ counselor ได้เหมือนกันครับ กำลังใจนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆแต่ผมกลับพบว่ามันสำคัญมากทีเดียวกับตัวของผมเองในฐานะ counselor ในฐานะของ counselor เราจะตระหนักกับตัวเองเสมอว่าเราปฏิบัติกับผู้มารับการปรึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และในทางปฏิบัติเราก็ทำแบบนั้นกันจริงๆ แต่เชื่อไหมครับว่าหลายๆครั้งที่พบกับผู้มารับการปรึกษาที่ไม่ได้เตรียมพร้อมในการมาพูดคุยกัน ไม่ได้พร้อมที่จะมาทำความเข้าใจตัวเองมากนัก แต่มาเพราะอยากได้รับคำแนะนำอะไรบางอย่างกลับไปใช้จัดการกับปัญหาของตัวเอง แบบที่ผมเรียกว่า “สูตรสำเร็จ” พวกเขามักจะผิดหวังกลับไป โดยอาจจะไม่ได้อะไรมากนักในกระบวนการทำงานร่วมกัน และแน่นอนผมก็มีความรู้สึกผิดหวัง รวมถึงความรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เก่ง” เกิดขึ้นเช่นกันหลังจากจบ session ไป ผมพลาดโอกาสที่จะได้พบเจอพวกเขาเหล่านี้อีกครั้ง พลาดโอกาสที่จะได้ช่วยให้เขาได้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง . สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานร่วมกันคือ พวกเขาอาจจะไม่พร้อมที่จะเล่าถึงปัญหาที่แท้จริง หรือเล่าแต่เพียงผิวเผิน แน่นอนหล่ะว่าเป็นหน้าที่ของ counselor ในการสร้างพื้นที่ให้เขาได้ทำความเข้าใจในตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็เป็นความยากลำบากในหลายๆครั้งที่การสร้างพื้นที่ในแบบนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ อาจจะด้วยความไม่คุ้นเคย ไม่แน่ใจ ว่าจะต้องทำยังไง หลายๆครั้งผมก็ได้แต่เสียดาย และรู้สึกผิดต่อพวกเขาด้วยว่าความสามารถของผมอาจจะยังไม่เพียงพอ ทั้งหมดเลยสะท้อนให้เกิดความรู้สึกดีใจและยินดีเกิดขึ้นเมื่อได้พบกับผู้มารับการปรึกษาที่ตั้งใจที่จะมาพูดคุยและทำความเข้าใจตัวเองครับ เหมือนเป็นกำลังใจเล็กๆไปด้วยว่าผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำได้เอื้อให้เขาได้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เลยนำมาซึ่งคำถามครับว่า “ผู้มารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเตรียมตัวยังไงดีในการมาพบกับนักจิตวิทยา?” ผมเลยอยากจะชวนมาทำความเข้าใจในมุมมองของ counselor บ้างว่า ถ้าหากคุณกำลังต้องการมองหาการพูดคุยกับนักจิตวิทยาแล้ว จะเตรียมตัวเตรียมใจยังไงดี ผมขอแนะนำวิธีการเตรียมตัวสั้นๆเบื้องต้นจากมุมมองของผมดังนี้ครับ . 1.เตรียมพร้อมที่จะมาพูดคุย กระบวนการของการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้น ใช้การพูดคุยเป็นสื่อสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เรื่องราวในอดีต ความคาดหวังในอนาคต และในการพูดคุยกัน 1 ครั้งหรือ 1 session นั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง . 2.เตรียมพร้อมที่จะมาทำความเข้าใจตัวเอง แน่นอนครับว่าความคาดหวังหรือเป้าหมายของการพบกับนักจิตวิทยาของเราคงเป็นเพราะอยากได้รับคำแนะนำในการจัดการกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่คงเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดการกับปัญหานั้นได้อย่างตรงจุดโดยยังไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา การทำความเข้าใจปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่งคือการทำความเข้าใจตัวของคุณเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความรู้สึก ความคิด พฤติกรรมที่เกิดขึ้น การทำความเข้าใจที่มาที่ไปจะช่วยให้เราเริ่มมองเห็นต้นตอของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้การที่จะต้องพูด ต้องเล่าประสบการณ์บางอย่างที่ไม่อยากจะนึกถึงอีกครั้งก็อาจจะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เราสามารถทำความเข้าใจตัวเองได้อย่างเต็มที่ ตรงส่วนนี้เป็นจุดที่นักจิตวิทยาช่วยได้ แต่ก็ต้องอาศัยความพร้อมของเราด้วยเช่นกัน . 3.กระบวนการให้การปรึกษาบางครั้งก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกโล่งใจ ในการทำงานร่วมกันนั้นหลายๆคนจะเข้าใจว่ามาพูดคุยกับนักจิตวิทยาแล้วแล้วจะต้องโล่งใจขึ้นแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป การมาพูดคุยกันในอีกแง่มุมก็คือเรากำลังมาทำงานกับตัวของเราเอง ซึ่งต้องอาศัยพลังงานภายในตัวของเราในการคิด การทำความเข้าใจในตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ดังนั้นหลังจากจบ session ก็เป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกเหนื่อยหรือหมดแรง เราสามารถบอกความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้กับนักจิตวิทยาของเราได้ เพื่อกลับมาทำความเข้าใจกันว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจะเป็นยังไงต่อไป . 4.หาข้อมูลเบื้องต้นของสถานที่รวมไปถึงนักจิตวิทยาที่จะไปพบ การไปพบกับนักจิตวิทยามีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ค่าบริการ รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับนักจิตวิทยาก็มีความสำคัญ นักจิตวิทยาแต่ละคนจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งกระบวนการ แนวคิดที่ใช้ รวมไปถึงน้ำเสียง วิธีการพูดคุย การหาข้อมูลเบื้องต้นจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าจะไปพบกับนักจิตวิทยาที่ไหนดีที่น่าจะเหมาะกับเรา แต่ถึงแม้ว่าไปพูดคุยกันมาแล้วและเกิดความรู้สึกไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราอาจจะไม่เหมาะกับนักจิตวิทยาท่านนั้นก็ได้ เมื่อเป็นแบบนี้อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติและมองหานักจิตวิทยาท่านอื่นต่อไปจนพบคนที่เหมาะกับเรา . ทั้ง 4 ข้อนี้อาจจะเป็นเพียงเป็นวิธีเตรียมตัวเตรียมใจสั้นๆเบื้องต้นก่อนการมาพบกับนักจิตวิทยานะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังมองหาการพูดคุยกับนักจิตวิทยาอยู่ หรือบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์การพูดคุยกับนักจิตวิทยาที่คล้ายๆกันก็สามารถมาแบ่งปันกันได้นะครับ
.
เก้าอี้ตัวที. คงพล แวววรวิทย์
Comments