ยิ่งผมอ่านหนังสือของยาลอม (Irvin Yalom) ผมก็เริ่มคล้อยตามแนวคิดของเขาว่า
ความตายอาจเป็นเรื่องน่ากลัวมากที่สุดสำหรับมนุษย์
.
ยาลอมพยายามอธิบายว่า
ปัจจัยพื้นฐานของอาการจิตเวชต่างๆ ล้วนมาจาก “ความกลัวตาย” (fear of death) และความกลัวตายของเราก็นำมาสู่กลไกป้องกันตนเองทางจิต 2 รูปแบบ
ได้แก่
1. การตั้งตนเป็นคนพิเศษ (specialness) - การเชื่อว่าความตายนั้นจะเกิดขึ้นกับคนอื่นแต่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ สำหรับตัวเอง / จะเอาชนะความตายในทางอ้อมได้ด้วยการรักษาไว้ซึ่งความเยาว์
และ
2. การฝากความหวังไว้กับผู้ช่วยสูงสุด (believe in ultimate rescuser) - การไฝว่หาผู้ปกป้องตนจากอันตราย / ความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตายที่มีพระเจ้าสูงสุด
.
กลไกป้องกันทางจิตทั้งสองอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธความจริงของความตายในระดับจิตไร้สำนึก (denial-based defense) โดยเราต่างใช้กลไกทั้งสองแบบนี้ในการวางเนื้อหาของความตายไว้ห่างจากตัว เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
ดังนั้น กลไกทางจิตแบบปฏิเสธความจริงของความตายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในบางเวลา
.
ยังไงก็ตาม ความกลัวตายบางครั้งก็นำมาสู่การใช้กลไกป้องกันทางจิตนี้มากเกินไป
และความสุดโต่งของมันก็เป็นเหตุผลของอาการทางจิตเวชต่างๆ ตามมา
แม้แต่กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตาย ในมุมมองของยาลอมยังเชื่อว่าพวกเขาต่างก็กลัวความตายในระดับจิตไร้สำนึก
ยาลอมสนับสนุนแนวคิดของเขาจากข้อสังเกตที่พบได้ทั่วไปว่า
คนที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ (ทำแล้วไม่ตาย) ต่างรู้สึกโชคดีที่ยังมีชีวิตและเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาไปจากเดิม
ยาลอมเชื่อว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ได้เผชิญหน้ากับความตายที่อยู่ตรงหน้าจนเกิดการตระหนักถึงเนื้อหาของความตายที่ละเลยไป
ซึ่งสำหรับยาลอมแล้ว การฆ่าตัวตายจึงเป็นเหมือนหนึ่งในการป้องกันตนเองในระดับจิตไร้สำนึกจากความกลัวตายที่แฝงอยู่ โดยเป็นการพยายามนำเอาความตายมาอยู่ในการควบคุมของพวกเขาเอง
.
ยาลอมยังได้พยายามจำแนกปัญหาสุขภาพจิตที่อาจสอดคล้องกับกลไกป้องกันทางจิตเพื่อปกป้องจิตใจของเราจากความตายไว้อีกหลากหลายรูปแบบ และมันก็เป็นประเด็นของความกลัวตายที่ล้อไปกับความกลัวการมีชีวิต (fear of existence)
ยกตัวอย่างเช่น
คนที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบพึ่งพิงบุคคลอื่น ก็อาจเป็นคนที่มีความกลัวตายแฝงอยู่ลึกๆ และใช้กลไกป้องกันทางจิตที่ฝากความหวังไว้กับผู้อื่นให้ปกป้องตน
ในขณะเดียวกัน พวกเขาต่างก็หวาดกลัวต่อการลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองหลายครั้ง และอาจมองว่าการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวและเหน็ดเหนื่อย
ยาลอมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเหล่านี้ เป็นความขัดแย้งที่หาทางออก (ประนีประนอม) ไม่ได้ระหว่างการมีชีวิตอยู่และความตาย ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของการพึ่งพาตนเอง (เพราะชีวิตคือการยืนหยัดเพื่อตนเอง) ที่ขัดแย้งกับการพึ่งพาคนอื่น (เพราะการปล่อยให้ตัวเองไหลไปกระแสของคนรอบข้างตลอดเวลาก็ไม่ต่างอะไรกับการตายไปแล้ว)
.
หรือในอีกตัวอย่างหนึ่ง
ยาลอมมองว่าคนที่เป็นพวกบ้างาน (workaholic) ก็มีความกลัวตายเป็นแรงผลักดันในระดับจิตไร้สำนึก
โดยคนเหล่านี้อาจมีความรู้สึกหดหู่ทุกข์ทรมานกับการอยู่เฉยๆ หรือไม่ได้ทำอะไรที่สัมพันธ์กับคุณค่าในชีวิตของพวกเขา เพระามันอาจเปรียบดั่งการตายทั้งเป็น
การทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่และความเยาว์วัย
แต่สำหรับคนบ้างานจนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิต อาการบ้างานของพวกเขาอาจล้อไปกับความกลัวการมีชีวิตอยู่ด้วย
เพราะการจมตัวเองอยู่กับงานเพียงอย่างเดียวก็เปรียบเหมือนการหลีกหนีจากชีวิตในด้านอื่นๆ แม้จะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการรักษาความเยาว์เอาไว้ได้ แต่การทำงานอย่างไร้ตัวตนสำหรับคนรอบข้างก็ไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิตเช่นกัน
.
จากการสังเกตและรวบรวมข้อมูลของยาลอมจึงสรุปว่า การนำเอาประเด็นของความตายเข้ามาในการรับรู้ของคนเราและยอมรับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อาจเป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้
และจากข้อสังเกตของยาลอมกับคนไข้ของเขาก็พบว่า
คนไข้ของเขาหลายคนดูจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้เผชิญหน้ากับประเด็นของความตายอย่างตรงไปตรงมา เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสีย ความเจ็บป่วย หรือแม้แต่อายุขัยที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
.
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
#เก้าอี้นักจิต
.
ที่มา: หนังสือ Existential Psychotherapy by Irvin Yalom
Comments