top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ปรึกษากับนักจิตวิทยามาซักพักแต่ไม่รู้สึกดีขึ้น หมายความว่าการปรึกษา (จิตบำบัด) ที่ผ่านมาไร้ประโยชน์?

.

ในคลิปหนึ่งของ Dr.K หรือ Alok Kanojia M.D. M.P.H. อาจารย์จิตแพทย์แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด เจ้าของช่องยูทูป HealthyGamerGG ชื่อคลิปว่า "Therapy Seems Useless" | Dr K Talks เขาได้อ่านโพสต์คำถามบนอินเตอร์เน็ตที่ว่า “การทำจิตบำบัดดูไร้ประโยชน์ ฉันควรหยุดพยายามมั้ย?”

.

Dr.K ตอบคำถามนี้ตั้งแต่วินาทีที่ 3 ของคลิป.... “No”

.

ผมรู้สึกว่านี่ตลกดีที่เนื้อหาทั้งคลิปตอบได้ด้วยคำพูดเดียวตั้งแต่ตอนต้นคลิปเพื่อบอกว่า ไม่ว่ายังไงคุณก็ไม่ควรจะหยุดการทำจิตบำบัดหรือการปรึกษากับนักจิตวิทยา แต่ประเด็นสำคัญของการตอบคำถามดังกล่าวไม่ใช่การบอกว่าต่อให้ตายยังไงคุณก็ควรฝืนทำจิตบำบัดแบบเดิมๆ ต่อไป แต่เป็นการบอกว่าเราอาจต้องเข้าใจเรื่องการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยากันใหม่

.

ผมคิดว่าหลายๆ ครั้งอาจเป็นเพราะความไม่รู้ของคนจำนวนหนึ่งที่นึกภาพไม่ออกว่าการปรึกษานักจิตวิทยามีหน้าตาเป็นยังไง นั่นเลยทำให้ปัจจัยหนึ่งที่มักถูกพูดถึงเมื่อเราพยายามเข้าใจว่าอะไรเป็นส่วนสำคัญของการทำนายผลลัพธ์การบำบัดจึงมักกลายเป็นความสงสัยเกี่ยวกับความคาดหวังของผู้รับบริการต่อการบำบัดแทบทุกครั้ง


*ขนาดในการศึกษาของ Michelle L. Thomas ปี 2006 ยังพบเลยว่าปัจจัยด้านความหวัง (hope) และความคาดหวัง (expectation) ของผู้รับบริการยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำนายผลการบำบัดได้สูงทั้งจากมุมมองของนักจิตบำบัดและผู้รับบริการเอง

.

ผู้รับบริการบางคนอาจคาดหวังในการมาพูดคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อแก้ปัญหาของตัวเองหรืออยากที่จะรู้สึกดีขึ้น ผมคิดว่านั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ผิดเพราะเราต่างก็อยากจะรู้สึกว่าเงินและเวลาที่เสียไปกับการบำบัดจะต้องคุ้มค่ามากที่สุด

.

แต่การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยากลับไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป มันไม่เคยเหมือนการซื้อสินค้าที่การันตีว่าคุณจะได้ในสิ่งที่คุณพึงปรารถนา 100% ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนหนึ่งของผลลัพธ์กลับเป็นตัวคุณเองที่เป็นผู้ซื้ออีกด้วย

.

ผมคิดว่าความคาดหวังที่มาพร้อมกับความไม่รู้เหล่านี้เลยทำให้เราอาจพบความแคลงใจของผู้รับบริการจำนวนมากที่คล้ายกับโพสต์บนอินเตอร์เน็ตที่ Dr.K เจอ ผู้รับบริการหลายคนอาจเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่าการพูดคุยกับนักจิตวิทยาต่อไปจะไม่ตอบโจทย์พวกเขาแม้พวกเขาจะไม่รู้ว่าโจทย์นั้นหมายถึงอะไร แต่สิ่งสำคัญที่ Dr.K พูดถึงไม่ใช่การตอบโจทย์ปัญหาของผู้รับบริการในทันที แต่คือการมองเห็นว่าคำถามพวกนี้มาพร้อมกับเรื่องความรู้สึกสิ้นหวังและละอายใจของผู้รับบริการต่างหาก

.

รุ่นน้องนักจิตวิทยาคนหนึ่งของผมเคยเล่าให้ฟังว่า เขาเคยให้การปรึกษากับผู้รับบริการรายหนึ่งมาร่วมเดือน ขณะที่อาการของผู้รับบริการค่อยๆ ดีขึ้น จู่ๆ ในวันหนึ่งอาการของผู้รับบริการรายนี้ก็กลับทรุดลงมาอีกครั้ง ผู้รับบริการรายนี้จึงเริ่มมีความคิดว่าการปรึกษาที่ผ่านมานั้นไร้ประโยชน์ และส่วนหนึ่งคือตัวเขาเองที่ไม่สามารถดีขึ้นได้แม้จะผ่านการปรึกษามาซักระยะหนึ่งแล้ว

.

ถ้าเรามองเผินๆ สิ่งที่ผู้รับบริการรายนี้บอกคงจะเป็นความจริงและอยากจะรีบแนะนำให้เขาไปหานักจิตวิทยาคนอื่นแทน แต่ถ้าเรามองลึกไปซักนิดเราอาจพบว่านั่นคือความรู้สึกสิ้นหวังที่เกิดขึ้นเมื่อเราให้ความสนใจกับผลลัพธ์บางอย่างที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง

.

สิ่งที่รุ่นน้องของผมทำคือการย้อนกลับมาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์ตรงนั้น และอะไรคือที่มาของความรู้สึกสิ้นหวังนี้ จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะบอกกับผู้รับบริการออกไปว่า “ผมไม่คิดว่ามันไร้ประโยชน์ ถ้าเรามองย้อนกลับไปในสิ่งที่เราทำร่วมกันมา ผมคิดว่าเราผ่านอะไรหลายๆ อย่างมามากจนถึงตอนนี้ และมันค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ” (นี่อาจไม่ใช่คำพูดที่ตรงทั้งหมด แต่มันคือสิ่งที่รุ่นน้องของผมพยายามจะสื่อในตอนที่เล่าให้ผมฟัง) ภายหลังจากนั้นรุ่นน้องของผมก็ต้องพบกับเรื่องน่าประหลาดใจว่า ผู้รับบริการรายนี้กลับมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และอาการซึมเศร้าของเขาค่อยๆ หายไปจนกระทั่งจบกระบวนการปรึกษาในที่สุด

.

สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้าง?


มันบอกเราว่าบางครั้งสิ่งที่ผู้รับบริการเผชิญขณะที่เกิดข้อสงสัยว่า “การพูดคุยที่ผ่านมาไร้ประโยชน์” ไม่ใช่ว่ามันไร้ประโยชน์จริงๆ แต่มันคือการสื่อสารความรู้สึกสิ้นหวังของผู้รับบริการให้กับนักจิตวิทยาต่างหาก

.

ในทางจิตวิเคราะห์เราเรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็นกระบวนการของ projection โดยที่ผู้รับบริการอาจนำเอาความรู้สึกสิ้นหวังที่มีกับตัวเองหรือปัญหาของตัวเองเข้ามาในห้องปรึกษา และนั่นก็ทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าอย่างนักจิตวิทยาต้องเกิดความรู้สึกสิ้นหวังเหล่านี้ไปด้วย


(ลองคิดภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ารุ่นน้องคนนี้ของผมไม่ทันคิดว่าบางทีผู้รับบริการอาจจะกำลังรู้สึกสิ้นหวังและรีบร้อนที่จะยอมรับในทันทีว่าการพูดคุยที่ผ่านมาไร้ประโยชน์อย่างเช่นที่ผู้รับบริการเชื่อ บางทีผู้รับบริการรายนี้อาจรู้สึกไม่พอใจต่อรุ่นน้องของผมอย่างรุนแรงในตอนแรก แต่ด้วยอาการซึมเศร้าของเขาก็อาจทำให้ผู้รับบริการรายนี้รู้สึกโกรธและละอายใจกับตัวเองมากกว่าเดิมในภายหลังจากนั้น เนื่องด้วยความเคยชินของผู้รับบริการที่อาจโทษตัวเองมากกว่าที่จะไปโทษคนอื่น)

.

Dr.K สรุปสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาว่า

มันไม่เคยมีคำว่าไร้ประโยชน์สำหรับกระบวนการเหล่านี้ เพราะสิ่งที่คุณทำมาทั้งหมดแม้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้บางอย่าง โดยเฉพาะในเวลาที่เราพบว่าการลองวิธีการต่างๆ มามากมายกับนักจิตวิทยานั้นยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าวิธีการที่ผ่านมาที่เราได้ลองทำนั้นมันไม่เวิร์คยังไงบ้าง และเราควรที่จะหาทางแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไปยังไง

.

เมื่อเราย้อนกลับมาที่เรื่องราวของรุ่นน้องนักจิตวิทยาของผม นั่นหมายความว่าวิธีการที่ผ่านมาที่รุ่นน้องผมใช้เพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการของเขามันไม่เวิร์คหรอ?


บางทีอาจไม่ใช่ มันเวิร์คในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ จนกระทั่งผู้รับบริการต้องพบเจอกับสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เขายึดถือความหวังที่สร้างร่วมกันมากับนักจิตวิทยาไว้ไม่ได้ต่างหาก นั่นจึงทำให้เกิดความคิดว่า “การปรึกษาไร้ประโยชน์” เช่นนี้

.

Dr.K จึงแนะนำว่า เราควรที่จะคงอยู่ในการบำบัดหรือปรึกษากับนักจิตวิทยาต่อไป (ไม่ว่าจะเป็นคนเดิมหรือเปลี่ยนคนใหม่) ซึ่งสิ่งสำคัญคือการที่เรายังคงต้องมีความหวัง หรือต่อให้เรารู้สึกสิ้นหวัง การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับนักจิตวิทยาอาจช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ มันเป็นการแชร์ความรู้สึกสิ้นหวังที่คุณมีกับคนที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณ และการมีคนคอยอยู่ตรงนั้นจะทำให้คุณผ่านความรู้สึกสิ้นหวังและละอายใจที่มีอยู่ไปได้

.

เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

.

ref.

Thomas, M. L. (2006). The contributing factors of change in a therapeutic process. Contemporary Family Therapy, 28(2), 201-210.

Kanojia, A. [HealthyGamerGG]. (2021, September 24). "Therapy seems useless" | Dr K talks [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=lRVhADXEFWA&list=WL&index=3

_____________________________________________________

'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service)

.

รายละเอียดการบริการ

.

การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว

(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/psycholog.../posts/2945463475726969)

.



ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page