หลายวันก่อน ผมเองได้เกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ปมในอดีตของเรานั้นสามารถแก้ไขได้มากน้อยเพียงไร? เมื่อตัวผมเองในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มักมุ่งเน้นการขุดลึกถึงปมภายในใจของผู้คนโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวของพวกเขาเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และบุคลิกภาพของพวกเขาอย่างลึกซึ้งมากที่สุด ได้เกิดความสับสนในการทำงานของตนเองดังเช่นนักจิตวิทยาบางส่วนที่สามารถเกิดความสงสัยในการทำงานของตนเองได้เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการที่เข้ามาพูดคุยกันอย่างเปิดเผยถึงเรื่องราวของตนเองในห้องแห่งความไว้วางใจนี้ . ผมได้พิจารณาถึงประโยชน์ของการรู้ถึงสาเหตุของปัญหาหรือที่มาที่ไปของอาการป่วยต่างๆ และพบว่าแท้จริงแล้วปมในใจของคนเราอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเลือนหายไป . ความทรงจำเป็นสิ่งที่ไม่มีทางถูกลบได้อย่างถาวรแม้ตัวเราเองจะพยายามกดมันไว้หรือหลงลืมมันไปได้บ้าง ความรู้สึกจากประสบการณ์ในอดีตเหล่านั้นยังคงตามหลอกหลอนเราอย่างที่เราไม่รู้ตัว เสมือนถูกครอบงำจากสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา . ผมเคยพูดคุยกับผู้รับบริการบางคนที่รายงานว่าตนเองเกิดความเข้าใจในปัญหาของตนและพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยตนเอง พวกเขาต่างบอกถึงสิ่งที่คล้ายคลึงกันว่า ประสบการณ์ในอดีตอันส่งอิทธิพลมาถึงพวกเขาในทุกวันนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาลืมไปแล้วหรือบางครั้งก็เป็นความทรงจำที่เลือนลางอย่างมาก การกลับมาทบทวนถึงประสบการณ์เหล่านั้นทำให้พวกเขาเข้าใจที่มาที่ไปของปมปัญหาในปัจจุบันของตนที่มักเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในวัยเด็กเป็นหลัก .
การมองเห็นถึงปมในใจอย่างชัดเจนทำให้ผู้รับบริการหลายคนสามารถตัดสินใจได้ว่า จะละทิ้งประสบการณ์เหล่านั้นไว้เบื้องหลัง และเลือกก้าวเดินต่อไปอย่างไรด้วยตัวเอง
. แม้การกลับมาจดจำได้อีกครั้งจะทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวดแทนที่จะพยายามลืมเลือนมันไปอย่างที่ผ่านมา แต่ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะลดลงทีละน้อยเมื่อประสบการณ์เหล่านั้นถูกนึกย้อนซ้ำๆ จนเกิดความคุ้นชินและเรียนรู้ในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม . ในงานเขียนของ Solms อาจแสดงให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองในด้านความจำ ซึ่งสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราได้ส่งผลต่อการจดจำ เรียนรู้ และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต อาจเรียกได้ว่าเกิดทางลัดของสมองให้เกิดการทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติที่รวดเร็ว ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นการคงอยู่กับสมมติฐานที่ผิดพลาดของตน . การทำให้มองเห็นสมมติฐานหรือการคาดเดาที่ผิดพลาดเหล่านั้นอย่างชัดเจนอีกครั้ง และเกิดการเรียนรู้ใหม่ในมุมมองที่ต่างออกไปหรือตรงตามความเป็นจริงในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นจะทำให้บุคคลหลุดพ้นจากรูปแบบของพฤติกรรมที่สั่งสมมาจนเกิดความเคยชินกับปัญหา . การแก้ปมในใจจึงไม่ใช่การที่เกิดการลืมประสบการณ์เหล่านั้นไป แต่เป็นการที่ทำให้ประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง และตระหนักรู้ถึงอิทธิพลของมัน จนในที่สุดสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะยังคงติดอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นหรือจะก้าวต่อไปในรูปแบบที่พร้อมจะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในปัจจุบัน . ปมในใจเหล่านั้นยังอยู่ไม่เลือนหายไป อีกทั้งยังมีความชัดเจนมากขึ้นด้วย แต่ความชัดเจนมากขึ้นทำให้บุคคลสามารถตระหนักรู้ในตัวเองได้มากกว่าที่เคยเป็นมา จึงเปรียบเสมือนว่าการมองเห็นสิ่งที่ครอบงำตนเองและพยายามเอาชนะมัน แทนที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นและถูกครอบงำต่อไปอย่างไม่รู้ตัว . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล .
Reference Ekeigwe, L. (2017, April 18). 3 Ways to resolve internal conflict [Blog]. Retrieved from https://www.linkedin.com/pulse/3-ways-resolve-internal-conflict-lakeshia-ekeigwe
Kahr, B. (2015). Freud : Great thinkers on modern life. New York, NY: Pegasus Books.
Solms, M. (2018). The scientific standing of psychoanalysis. BJPsych international, 15(1), 5-8.
Comentarios