วันนี้เป็นวันที่ผมไม่ได้มีคิวให้บริการกับผู้รับบริการคนไหน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำวิทยานิพนธ์ของตัวเองที่ใกล้เดดไลน์เข้ามา แต่สิ่งที่กวนใจผมตั้งแต่เมื่อคืนคือการเปิดเฟซบุ๊คขึ้นมาเลื่อนดูข่าวสารต่างๆ ตามหน้าฟีดของตัวเองจนพบเจอกับข่าวการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ผ่านหน้าจอไปเรื่อยๆ สิ่งที่สะเทือนใจที่สุดเห็นจะเป็นการรับรู้ข้อมูลในเชิงลึกที่มากกว่าข้อมูลเชิงตัวเลขว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าไรในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการรับรู้ว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นเป็นคนสำคัญในครอบครัวของใครซักคนหนึ่ง
.
ทั้งภาพ เสียง และข้อความต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้าตอกย้ำความรู้สึกน่าหดหู่ของสถานการณ์ในปัจจุบันว่าการบริหารจัดการวิกฤติในครั้งนี้ของบ้านเมืองเราย่ำแย่แค่ไหน และนั่นนำมาสู่การขยายขอบเขตของสถานการณ์ที่น่าหดหู่กลายเป็นสถานการณ์ของความสิ้นหวัง
.
ผมเคยเขียนในบทความหนึ่งของตัวเองตั้งแต่ช่วงปีแรกของสถานการณ์ไวรัสระบาดว่ามันถูกกระตุ้นให้จิตไร้สำนึกของเราตระหนักถึงชีวิตที่ไม่อมตะของเราอีกครั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงความตายอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด
.
และในเวลานี้ที่ความตายปรากฏอยู่ต่อหน้าเราทั้งในจอและนอกจอ การมองเห็นผู้คนที่จู่ๆ ก็ล้มตายลงกลางถนนกลายเป็นความน่าหวั่นวิตกต่อการมีชีวิตอยู่บนโลกในนี้มากขึ้นเรื่อย (พูดซ้ำอีกครั้ง นี่คือความรู้สึกสิ้นหวัง)
.
นักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งที่ผมรู้จักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขารู้สึกเจ็บปวดแค่ไหนที่ต้องหยิบยื่นความเป็นจริงของสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความสิ้นหวังในใจให้กับผู้รับบริการของตน แม้บางคนอาจไม่ได้พูดออกมาโดยตรงแต่มันก็สะท้อนออกมาผ่านคำก่นด่าเพื่อระบายความหงุดหงิดใจหลังจากได้ฟังว่าผู้รับบริการของตนต้องพบเจออะไรมาบ้าง
.
ซึ่งสำหรับผมเองการที่เหล่านักจิตวิทยามาก่นด่ากันถึงความเลวร้ายของสิ่งที่ผู้รับบริการของตนต้องพบเจอเป็นสิ่งที่ถือว่าปรากฏการณ์ที่ปกติอย่างมาก เพราะนอกจากการทำให้เราเห็นความสำคัญของประเด็นในวงกว้างทางสังคมที่ทำให้ผู้คนต้องมีปัญหาทางใจมากขึ้นแล้ว นี่ยังเป็นการที่นักจิตวิทยาต่างกำลังรับมือกับความรู้สึกสิ้นหวังร่วมไปกับผู้รับบริการด้วย
(อะไรจะดีไปกว่าการรู้สึกว่าในสถานการณ์ที่สิ้นหวังเช่นนี้ไม่ได้มีคุณอยู่ตัวคนเดียว)
.
แต่บทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษา (และนักจิตบำบัด) ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่นั้น ความแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยากับผู้รับบริการถูกพูดถึงตั้งแต่ในงานเขียนของ Donald Winnicott แล้วว่า ในสถานการณ์ที่นักจิตวิทยารู้สึกเปราะบางไปพร้อมกับผู้รับบริการ สิ่งที่ต่างกันคือนักจิตวิทยายังคงต้องทำงานกับจิตใจของตัวเองอยู่เสมอเพื่อรักษาทัศนคติของความเป็นมืออาชีพ
.
ผมคิดว่าคำกล่าวของ Winnicott เป็นอะไรที่ค่อนข้างกินใจว่าบทบาทของนักจิตวิทยาไม่ได้มีแค่การรู้สึกร่วมไปกับผู้รับบริการของตัวเองเท่านั้น เพราะเราต่างยังคงต้องทำหน้าที่ของตัวเองในการดูแลจิตใจของผู้รับบริการของเราด้วย
.
นั่นทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ผมเคยอ่านเจอในหนังสือของ Patrick Casement ว่า คนเราไม่สามารถถือความหวังและความสิ้นหวังไว้พร้อมกันได้ตลอดเวลา และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมนักจิตวิทยาถึงต้องเป็นคนที่ยึดถือความหวังไว้แทนผู้รับบริการของตัวเองในช่วงเวลานั้น
.
หรือถ้าพูดให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า ผู้รับบริการที่เข้ามาต่างต้องการความหวังที่พวกเขาไม่สามารถสร้างขึ้นด้วยตัวเองได้ในตอนนั้น แต่สิ่งที่ผู้รับบริการทำผ่านการเล่าเรื่องราวความทุกข์ใจของตัวเองคือการถ่ายโอนความสิ้นหวังจำนวนมากมาให้นักจิตวิทยาแทนที่จะรีบกระโจนเข้าสู่การรับเอาความหวังใหม่เข้ามาในทันที นั่นเพราะความหวังและความสิ้นหวังอยู่ร่วมกันไม่ได้ สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังจึงถูกความสิ้นหวังกลบมิดได้อย่างรวดเร็วเมื่อเราตกอยู่ในภาวะจิตใจที่ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งที่เหมือนการเพ้อฝันอย่างเช่นความหวัง ซึ่งเราจับต้องไม่ได้ในเวลานั้น
.
Casement จึงพูดถึงความสำคัญของการเป็นเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ของนักจิตวิทยาเช่นเดียวกับ Wilfred Bion ที่ต้องกักเก็บสิ่งที่ผู้รับบริการส่งต่อมาให้ และย่อยมันก่อนที่จะพูดอะไรออกไปในทันที ซึ่งนั่นหมายถึงการที่นักจิตวิทยาต่างต้องสร้างความหวังในใจของตัวเองขึ้นมาให้ได้ก่อนผู้รับบริการของตนภายใต้การถูกกดดันให้สิ้นหวังไปตามกัน
.
สิ่งที่ Casement พูดถึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานการณ์ของความหดหู่และสิ้นหวังที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้าอย่างชัดเจนเช่นเวลานี้ เพราะสิ่งที่เขาพูดถึงคือกรณีของผู้รับบริการที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งบางครั้งสถานการณ์จริงเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกสิ้นหวังได้เหมือนกัน แต่ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นในใจของใครซักคนหนึ่งนั้นคือของจริง
.
ส่วนการที่เราทุกคนจะสร้างสมดุลให้ความหวังยังคงมีอยู่ในใจของตัวเองอย่างไรต่อไปนั้น ผมขอละเอาไว้ให้ทุกคนลองหันมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเองกันจะดีกว่าว่าในเวลาเช่นนี้ทุกคนรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร
.
ยังไงก็ตาม ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่าน โดยบทความนี้ก็เป็นการรับมือกับความรู้สึกสิ้นหวังของผม และส่งต่อความหวังเล็กๆ น้อยที่มีอยู่ให้กับผู้อ่านทุกท่านต่อไปครับ
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
.
_____________________________________________________
'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service)
.
รายละเอียดการบริการ
.
การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/...)
コメント