top of page
ค้นหา

นักจิตวิทยา (ไม่) ฝักใฝ่แนวคิดเผด็จการ

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

.

"หากคุณนึกถึงการพบเจอกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดของตัวเอง คุณวาดฝันในการพบคนเหล่านั้นที่มีทัศนคติแบบใด?”


นี่เป็นคำถามที่ผมคิดขึ้นมาก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความฉบับนี้ และที่มาของบทความฉบับนี้ก็เป็นการสอดคล้องกับมุมมองของผมที่มีต่อกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย

.


ผมเริ่มต้นจากความคิดความเชื่อที่ว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นรูปแบบของการเผชิญหน้ากันระหว่างปัจเจกชนสองคนขึ้นไป และแต่ละคนมีความแตกต่างกันตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ทัศนคติ ความคิดความฝัน ความสามารถ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็รวมถึงตัวนักจิตวิทยาด้วยเช่นกัน เราเรียกความแตกต่างที่ดูจะเป็นนามธรรมซะส่วนใหญ่เหล่านี้ว่า “Subjectivity” หรือ อัตวิสัย ซึ่งในทางจิตวิทยา คำนี้เป็นการพยายามบ่งถึงความแตกต่างในการรับรู้ประสบการณ์ของแต่ละคนและส่งผลให้แต่ละคนมีมุมมองต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

.


คำที่มาคู่กันกับ Subjectivity เสมอก็คือคำว่า “Objectivity” หรือ วัตถุวิสัย (หรืออาจแปลว่า ปรวิสัย ก็ได้) ซึ่งมักเป็นคำที่ใช้เพื่อบ่งบอกถึงสิ่งที่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน ถ้าพูดให้ง่ายขึ้นก็คือสิ่งนั้นหรือข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด และทุกคนจะมองเห็นสิ่งๆ นั้นในรูปแบบเดียวกัน (เท่าที่ผมรู้ ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องไตรลักษณ์ของพุทธที่บ่งบอกถึงความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น แต่ผมไม่ขอยืนยันเพราะผมไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังในแนวคิดนี้)

.

ไม่ว่าจะในมุมมองแบบ Objectivity หรือ Subjectivity ก็ไม่ได้มีมุมมองแบบใดที่ผิดหรือถูกซะทีเดียว และการแยกมันออกจากกันอย่างชัดเจนนั้นก็เป็นไปได้ยากมากในทางจิตวิทยา เพราะเมื่อจิตวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจของคนเราแล้ว มันมักมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของประสบการณ์และความรู้สึกอยู่เสมอ แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะพยายามพิสูจน์ให้มันออกมาในรูปแบบของข้อเท็จจริงมากเท่าไร แต่ความแตกต่างของคนเรา และความซับซ้อนของจิตใจนั้นมักสร้างเงื่อนไขให้ข้อเท็จจริงเหล่านั้นได้สับสนกันอยู่ตลอดเวลา

.


ผมจะขอกลับมาที่กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาว่าแล้วมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Subjectivity และ Objectivity อย่างไร ก่อนที่จะนำไปสู่สิ่งที่โยงไปกับหัวข้อของบทความนี้


ในการปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นเป็นกระบวนการของการเผชิญหน้ากันระหว่างปัจเจกอย่างที่ผมได้กล่าวถึงในตอนแรก ซึ่งคนหนึ่งเป็นคนที่มีความทุกข์และไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจของตนเอง ในขณะที่อีกคนหนึ่งคือคนที่มีความรู้และการฝึกอบรมมาให้สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตใจบางส่วนของมนุษย์ได้

.


ผมใช้คำว่า “บางส่วน” นั่นก็เพราะความรู้ความเข้าใจทางจิตวิทยามักไม่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยเหลือทางคลินิกหรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยา มันมักมีปัจจัยเงื่อนไขที่หลากหลายอย่างมากขึ้นอยู่กับความเฉพาะตัวของคนคนนั้น สิ่งที่เป็นความรู้ความเข้าใจของนักจิตวิทยาในแรกเริ่มจึงเป็นได้แค่เพียงสมมติฐานเท่านั้น

.

แต่การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการพยายามมองหาข้อเท็จจริง เป็นการมองหาวิธีการช่วยเหลือให้คนพ้นจากความทุกข์หรือไม่สบายใจ นี่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมุมมอง Objectivity อย่างมากที่สุด แต่อย่างที่บอกว่าคนเรามีความแตกต่างและความเฉพาะตัวของประสบการณ์ รวมถึงนักจิตวิทยาเองด้วย ดังนั้นมุมมอง Subjectivity จึงเข้ามามีอิทธิพลในการทำความเข้าใจเรื่องนี้เช่นกัน

.

เมื่อนักจิตวิทยาและผู้รับบริการมีความแตกต่างกันแต่กลับพยายามมองหาสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงของความทุกข์ การพยายามเช่นนี้จึงต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “Intersubjectivity” หรือ อัตวิสัยระหว่างกัน

.

Intersubjectivity กลายมาเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตบำบัดหลายคนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เชื่อมระหว่างมุมมองแบบ Subjectivity และ Objectivity เข้าด้วยกันได้ โดยความหมายของมันอย่างง่ายก็คือความสอดคล้องกันระหว่างประสบการณ์ของคนสองคนขึ้นไป ซึ่งอาจหมายถึง การมีความรู้สึกเดียวกันในเรื่องเดียวกัน การรับรู้ความรู้สึกของคนตรงหน้า (empathy) การมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการบ่งบอกถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงตามมุมมองแบบ Objectivity ได้ และขณะเดียวกัน Intersubjectivity ก็รวมไปถึงประสบการณ์ ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ ฯลฯ ที่ไม่สอดคล้องกันด้วย ซึ่งนี่ก็บ่งบอกถึงการมีอยู่ของความแตกต่างระหว่างบุคคลตามมุมมองแบบ Subjectivity ด้วยเช่นกัน

.


แล้วความเข้าใจเรื่อง Objectivity, Subjectivity และ Intersubjectivity นั้นเกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักของเราอย่างไร?


ผมอยากจะบอกว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันเต็มๆ เมื่อคำว่า “เผด็จการ” หมายถึง การไม่เห็นถึงความสำคัญของความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็น ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และเชื่อว่าความคิดเห็นของตนเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด โดยมองว่าผู้อื่นเป็นคนไร้เหตุผล


“เผด็จการ” จึงเป็นการยึดโยงกับมุมมอง Objectivity อย่างที่สุด และละเลยมุมมองแบบ Subjectivity และ Intersubjectivity ไป

ในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยามักประกอบไปด้วยประเด็นที่ละเอียดอ่อน และเรื่องราวที่แตกต่างกันของแต่ละคน กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยหลักแล้วจึงเน้นย้ำในเรื่องของ “การฟัง” เป็นหลัก แม้จะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้ ความเข้าใจ และการแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่ด้วย แต่สิ่งเหล่านั้นกลับเป็นเรื่องรอง และต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (discuss) กันเพื่อหาความเข้าใจและแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน เพราะวิธีการของบางคนอาจใช้ไม่ได้ผลกับบางคนเสมอ

.


ผมขอกลับมาที่ “นักจิตวิทยาที่ฝักใฝ่แนวคิดเผด็จการเป็นอย่างไร?" ในที่นี้ผมกำลังหมายถึงลักษณะการวางตัวของนักจิตวิทยาในห้องบำบัดหรือห้องปรึกษาเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้รับบริการ นักจิตวิทยาที่ฝักใฝ่ในแนวทางของเผด็จการคือการวางตัวเป็นผู้รู้มากเกินไป จำกัดความคิด การแสดงออก และความเชื่อของผู้รับบริการอย่างถึงที่สุด และไม่ให้ความสำคัญกับศักยภาพของผู้รับบริการ หรือไม่เชื่อว่าผู้รับบริการเป็นคนที่สามารถคิด มีเหตุผลในการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ราวกับพ่อแม่ที่ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่าลูกของตนเองสามารถเติบโตขึ้นได้ และยังมองพวกเขาเป็นเด็กอยู่เสมอ

.

จะเห็นว่าในที่นี้ผมเน้นย้ำที่พฤติกรรมของนักจิตวิทยาเป็นหลัก นั่นเพราะก่อนหน้าที่ที่ผมจะเริ่มเขียนบทความนี้ผมได้พูดคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่งถึงเรื่องนี้ และก็เกิดคำถามสำคัญที่ว่า


“แล้วเป็นไปได้มั้ยที่นักจิตวิทยาจะมีความคิดความเชื่อในเรื่องเผด็จการ แต่ในแง่ของการทำงานจะไม่ได้ใส่ความเป็นเผด็จการของตัวเองลงไป? แล้วถ้าอย่างนั้นความเป็นเผด็จการมันก็คงมีระดับของมันอยู่ก็ได้?”

.


คำถามเหล่านี้ทำให้ผมเล็งเห็นว่าความสำคัญนั้นอยู่ที่พฤติกรรมที่แสดงออกมามากกว่า แต่คำถามที่ตามมาอีกก็คือ “เราจะรู้ได้ยังไงว่าความเชื่อของเราจะไม่ส่งผลต่อการแสดงออกของเราแม้แต่น้อย?"


เพราะจากการศึกษาทางจิตวิทยา ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน การยึดถือความเชื่อใดๆ ก็ส่งผลต่อการมองโลกของเราเช่นเดียวกัน อีกทั้งในมุมมองของ Intersubjectivity ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ใช่เพียงการสื่อสารทางภาษา แต่รวมไปถึงการแสดงออกทางสีหน้า ภาษากาย น้ำเสียง การเลือกใช้คำพูด ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะบ่งบอกให้กับผู้รับบริการเห็นได้เช่นกันว่านักจิตวิทยามีความคิดเห็นอย่างไรต่อทัศนคติของตนเองแม้พวกเขาจะไม่พูดออกมาก็ตามว่าพวกเขาสังเกตเห็น

.


สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมคิดว่าการมีความคิดความเชื่อว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับผู้รับบริการคงเป็นอะไรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การเสนอทางออกของปัญหาหรือความรู้ความเข้าใจทางจิตวิทยาที่มีการศึกษามาแล้วก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้รับบริการที่อาจจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตนเองในเวลานั้น เพียงแต่การพยายามยัดเยียด และไม่คิดถึงความรู้สึกหรือความแตกต่างของแต่ละคนต่างหากที่เป็นสิ่งอันตราย เพราะนั่นอาจกำลังแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพกันในฐานะของความเป็นมนุษย์ นักจิตวิทยาที่ทำงานได้อย่างราบรื่นแม้จะมีแนวคิดเผด็จการก็คือการมีความสามารถในการเปิดใจรับฟังผู้รับบริการ และเข้าใจถึงคอนเซปเรื่อง intersubjectivity การนำเสนอความรู้ความเข้าใจใดๆ จึงเป็นเพียงการเชิญชวนให้ผู้รับบริการใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองเท่านั้น


แต่ถ้านักจิตวิทยาคนนั้นสามารถทำได้แบบนั้น... ก็ไม่ใช่เผด็จการแล้วใช่รึเปล่า?

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.



ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page