‘อาการนอนไม่หลับ’ (insomnia) เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งอาจใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาไม่มากก็น้อย เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่มีอาการนอนไม่หลับเหล่านี้สัมผัสได้ถึงความทรมานจากการข่มตานอน (แต่ไม่หลับ) อย่างโดดเดี่ยวในยามค่ำคืน และมันยังส่งผลต่อความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง โฟกัสอะไรไม่ค่อยได้ ความจำแย่ลง รู้สึกหงุดหงิดง่าย และอาการอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากอดนอนติดต่อกันได้ไม่นาน การนอนไม่หลับจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าขยาดในตัวมันเองตั้งแต่ตอนที่มันเกิดขึ้นและผลลัพธ์ที่ตามมาของมัน
.
ในกลางดึกคืนหนึ่ง (ผมที่ยังนอนไม่หลับเหมือนกัน) ผมได้กดเข้าไปฟังคนในคลับเฮาส์พูดคุยกันถึงการนอนไม่หลับและอาการซึมเศร้า โดยมีช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้คนถามหมอคนหนึ่งว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้อาการซึมเศร้าของพวกเขาดีขึ้นจริงหรือไม่ แน่นอนว่ามันจริงด้วยการมีงานวิจัยรองรับ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่หมอจะให้ยานอนหลับกับคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในกลุ่มยาคลายวิตกกังวลที่ผลลัพธ์ของมันรวมไปถึงการช่วยให้นอนหลับได้
.
แต่สิ่งที่ผมพบว่าเป็นเรื่องน่าสนใจในบทสนทนาเหล่านี้คือ การได้เห็นทัศนคติของผู้คนจำนวนหนึ่ง (หรืออาจเรียกได้ว่าส่วนใหญ่) ที่ต่างแสดงออกว่า พวกเขาไม่อยากจะกินยานอนหลับถึงแม้ว่านั่นจะเป็นวิธีการที่เห็นผลอยู่ชัดๆ ว่ามันช่วยให้พวกเขาหลับได้จริงๆ
.
และไม่ใช่แค่นั้น จากประสบการณ์กับคนรอบตัวของผมก็พบอีกเช่นกันว่า สาเหตุที่คนจำนวนหนึ่งไม่อยากกินยานอนหลับกันเท่าไรนัก เพราะพวกเขากลัวว่าหากไม่มียาช่วยแล้วพวกเขาจะไม่สามารถหลับด้วยตัวเองได้อีกต่อไป ดังนั้นคำถามที่ตามมาสำหรับคนเหล่านี้จึงเป็นคำถามว่า “จะทำอย่างไรให้ตัวเองนอนหลับได้โดยไม่ต้องกินยา?” และนั่นก็กลายเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มสรุปว่า “การนอนไม่หลับคือปัญหา” จากเดิมที่มันควรจะเป็นเพียง ‘ผลลัพธ์’ อย่างหนึ่งของปัญหาบางอย่างเท่านั้น
.
ทั้งนี้ ผมไม่ได้เขียนถึงความเชื่อของผู้คนเหล่านี้มาเพื่อบอกว่าการกินยานอนหลับไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือสนับสนุนความกลัวการกินยาของผู้คน ยานอนหลับยังคงเป็นสิ่งที่ได้ผลอย่างชะงักในการแก้ปัญหาเบื้องต้นและทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ยานอนหลับได้ผลก็เพราะมันช่วยลดความวิตกกังวลเพื่อช่วยให้คุณเข้าสู่เงื่อนไขบางอย่างของการนอนหลับ การยกเอาความเชื่อเหล่านี้ของผู้คนมาพูดถึงจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า บางทีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการนอนไม่หลับของคนจำนวนหนึ่งยังคงขาดความชัดเจนอยู่มากพอๆ กับความเข้าใจเรื่องการกินยานอนหลับที่แทบจะน้อยพอกัน ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนเหล่านี้ส่งผลให้พวกเขาเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีการรักษามากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เมื่อพวกเขามองหาแนวทางอื่นนอกเหนือจากการกินยานอนหลับ พวกเขาก็ไม่เข้าใจด้วยว่าการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขานอนหลับได้อย่างไร? เพราะมันเป็นอะไรที่นึกภาพได้ยากยิ่งกว่าการกินยาซะอีก
.
ผมมักพบว่าถึงแม้ว่าผู้รับบริการหรือคนรอบตัวของผมที่นอนไม่หลับจะแสดงความกังวลว่าตัวเองอาจจะต้อง ‘เสพติด’ การกินยานอนหลับในวันใดวันหนึ่ง แต่พวกเขาก็มักจะเลือกกินยาเหล่านั้นอยู่ดี ราวกับว่านั่นเป็นเพราะมันได้ผลจริงๆ แม้ส่วนหนึ่งในใจของพวกเขาจะไม่อยากยอมรับ อีกทั้ง ดูเหมือนว่าพวกเขายังไม่ต้องเหนื่อยกับการคิดหาทางออกอื่นที่พวกเขายังไม่เข้าใจอย่างเช่นการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอีกด้วย
.
ดังนั้น ในบทความนี้ผมจึงตั้งใจเขียนเพื่อสื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า การมาพบกับนักจิตวิทยาจะช่วยให้คุณนอนหลับได้อย่างไร?
.
ก่อนอื่น เราอาจต้องเข้าใจก่อนว่า การนอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุประกอบกันอยู่ 2 ประการที่ส่งผลซึ่งกันและกัน ได้แก่
1) การถูกรบกวนไม่ให้หลับ หรือ sleep-interfering process หมายถึง สิ่งที่เข้ามารบกวนตัวเราจนไม่สามารถเกิดเงื่อนไขของการหลับได้ ประกอบไปด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนภายนอก (เช่น การใช้โทรศัพท์ก่อนนอน การดื่มคาเฟอีนมากเกินไป การใช้สารเสพติด การอยู่ในห้องที่อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป เตียงหรือเบาะแข็งๆ อาการเจ็บปวดตามร่างกาย หรือแม้แต่การเคยชินกับการต้องตื่นอยู่ตลอดเวลาขณะอยู่บนเตียงในช่วง work from home ฯลฯ) และ สิ่งที่มองไม่เห็นหรือความคิดวกวนต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในหัวขณะกำลังเข้านอน
2) ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการนอนหลับ หรือ dysfunctional sleep-interpreting process หมายถึง ความเชื่อ ความคาดหวัง หรือการทึกทักไปเองอย่างไม่เกิดประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับและการอดนอน ซึ่งส่งผลให้เกิดเรามีความกดดันเกี่ยวกับการนอนหลับมากยิ่งขึ้น
.
ทั้งสองสาเหตุนี้มีอิทธิพลซึ่งกันและกันเสมือน ‘วงจรของการนอนไม่หลับ’ เพราะหากคุณนอนไม่หลับด้วยการถูกรบกวนจากบางสิ่งไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก (สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมก่อนนอน) หรือปัจจัยภายใน (ความคิดวกวน) มันก็อาจยิ่งทำให้คุณเกิดความคาดหวังต่อการที่คุณอยากจะนอนหลับมากขึ้นไปอีกหลังจากพบว่าการนอนไม่หลับมันทรมานเหลือเกิน และในขณะเดียวกัน ความคาดหวังต่อการนอนหลับที่มาพร้อมกับการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนและการอดนอนก็กลายมาเป็นความคิดวกวนที่รบกวนการนอนหลับของคุณมากขึ้นอีกด้วย
.
การพูดคุยกับนักจิตวิทยาจึงเหมือนการทำลายวงจรเหล่านี้ โดยอย่างแรกคุณอาจพบว่านักจิตวิทยาต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของคุณก่อน และตามด้วยการแนะนำเทคนิคง่ายๆ เพื่อลดการตื่นตัว (deactivation) หรือจัดการกับสิ่งที่จะรบกวนการนอนหลับของคุณ
.
ในขั้นนี้คุณอาจพบว่ามันเป็นเทคนิคง่ายๆ อย่างเช่นการนับแกะหรือการหายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมไปถึงพยายามจัดสภาพแวดล้อมให้รู้สึกสบายพร้อมกับการนอนหลับมากที่สุด เช่น การตากพัดลมหรือเปิดแอร์เย็นๆ การปิดไฟให้มืดสนิท และ การเลือกหมอน ผ้าห่ม หรือฟูกนุ่มๆ เป็นต้น ซึ่งคนส่วนใหญ่พบว่าจริงๆ แล้วพวกเขาสามารถหาทำมันด้วยตัวเองได้ด้วยซ้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีบอกอยู่ตามอินเตอร์เน็ต!
.
แต่การพูดคุยกับนักจิตวิทยาจะต่างออกไปจากการให้เพียงแค่คำแนะนำเหล่านี้ เพราะนั่นเป็นเพียงการลดความตื่นตัวทางร่างกายเท่านั้น (หรือเป็นการจัดการกับปัจจัยภายนอกที่สังเกตเห็นได้) ดังนั้นสิ่งที่นักจิตวิทยาอาจให้ความสนใจมากกว่าคือปัจจัยภายในจำพวกความคิดวกวนของคุณว่า เราจะสามารถลดการตื่นตัวหรือการทำงานของมันได้อย่างไร?
.
การลดความตื่นตัวของความคิดวกวนหรือวนเวียนนั้นเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะง่ายแต่ก็ทำได้ยาก และเป็นสิ่งที่นึกภาพให้ออกได้ยากไปอีกเมื่อเราต่างรู้ดีว่านักจิตวิทยาจะไม่ได้ไปอยู่ในห้องนอนเดียวกับคุณและคอยสั่งหยุดความคิดของคุณในตอนนั้น ดังนั้นหลายคนจึงอาจคาดหวังว่ามันจะต้องมีทริคบางอย่างที่ทำให้พวกเขาหยุดความคิดของตัวเองได้แน่ๆ
.
ทั้งนี้ ผมขอทำลายความคาดหวังนั้นตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการบอกว่ามันอาจไม่มีทริคที่ว่านั่นอยู่เลยแม้แต่น้อย และถึงแม้จะสิ่งที่คล้ายๆ กันอย่างเรื่องการฝึกจินตนาการถึงการกดปุ่มหยุดคิดหรือการหันกลับมาโฟกัสกับการผ่อนคลายร่างกาย แต่นั่นหมายถึงการที่คุณหันไปคิดเรื่องอื่นเพื่อเบนความสนใจจากเรื่องที่ยิ่งคิดยิ่งเครียดต่างหาก ดังนั้น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับอย่างแรกจึงอาจเป็นการที่คนจำนวนหนึ่งมักเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถควบคุมการนอนหลับได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว การนอนหลับเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจเช่นเดียวกับความฝัน เพราะมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อคุณรู้สึกอ่อนเพลียและร่างกายเข้าสู่สภาวะที่พร้อมสำหรับการนอนหลับ (การลดการตื่นตัวจึงไม่ใช่การทำให้หลับ แต่เป็นการทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขของการเข้าสู่ภาวะหลับใหล)
.
ผมเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวว่า การนอนหลับกับความตายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้กันเพียงนิดเดียว ถึงขนาดว่าในตำนานกรีกยังสร้างให้เทพแห่งการนอนหลับที่ชื่อ Hypnos เป็นพี่น้องฝาแฝดกับเทพแห่งความตายที่ชื่อ Thanatos อีกด้วย ซึ่งนักจิตวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่าตำนานเหล่านี้กำลังบอกเราถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับในระดับจิตไร้สำนึกที่อาจพบว่า จิตไร้สำนึกของเรามองการนอนหลับเป็นเหมือนสิ่งที่ทั้งน่าหวาดกลัวและน่าหลงใหลไปพร้อมกันเช่นเดียวกับเวลาที่เรามองความตาย (Freud เสนอว่าเราต่างมีสัญชาตญาณแห่งความตายอยู่และเราปรารถนาการกลับสู่จุดนั้นในบางครั้ง) อีกทั้ง ถ้าการนอนหลับเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความตายมาก นั่นหมายความว่ามันอยู่เหนือการควบคุมของเรา และถึงแม้ว่าเราจะรู้วิธีการสร้างเงื่อนไขให้เข้าใกล้ทั้งสองสิ่งนี้ได้มากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าเราสามารถควบคุมมันได้อย่างแท้จริง
.
ความคาดหวังหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับของเราที่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมตัวเองให้หลับได้ เป็นหนึ่งในการบ่งบอกว่าคนที่นอนไม่หลับอาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งในจิตใจแบบไม่รู้ตัว ซึ่งคนที่ประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับจริงๆ บางคนสามารถพบได้ว่า ยิ่งอยากนอนให้หลับมากเท่าไรก็ยิ่งนอนไม่หลับมากขึ้นเท่านั้น นั่นเพราะความขัดแย้งในใจของพวกเขากำลังเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดเหล่านี้ที่สามารถสรุปได้อย่างง่ายๆ ด้วยประโยคเพียงว่า “พวกเขาอาจกดดันตัวเองมากเกินไปเกี่ยวกับการที่จะต้องนอนให้หลับ”
.
ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอาจเริ่มมองว่าการนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงเกินจริงหลังจากเริ่มกดดันตัวเองเช่นนี้ ทั้งแท้ที่จริงแล้ว การนอนไม่หลับไม่ใช่ปัญหาหลักของเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่แรก แต่มันคือผลที่ตามมาของปัญหาที่ซ่อนอยู่ เช่น ความตึงเครียดหรือความวิตกกังวล และต่อให้คุณนอนไม่หลับในคืนหนึ่ง คุณก็ยังสามารถหลับชดเชยในคืนถัดๆ ไปได้อยู่ดี
.
การที่ผมเลือกจะพูดถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับก่อนจะพูดถึงการลดการตื่นตัวของความคิดวกวน นั่นเพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมการคิดวกวนไปพร้อมกัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่คุณอาจพบได้จากการพูดคุยกับนักจิตวิทยาเรื่องปัญหาการนอนไม่หลับจึงอาจไม่ใช่เพียงการได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ แต่รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะ “ยอมรับ” และ “ปล่อยวาง” ความคิดความเชื่อที่ขัดขวางการนอนหลับอีกด้วย โดยเฉพาะความเชื่อที่ไม่เกิดประโยชน์เกี่ยวกับการนอนหลับหรือส่งเสริมการกดดันตัวเองมากเกินไป
.
ยังไงก็ตาม การพูดถึงการยอมรับและปล่อยวางไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายเพียงแค่พูดถึงก็ทำได้ เพราะการยอมรับและปล่อยวางที่สามารถลดการตื่นตัวด้านความคิดได้จริงๆ นั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ลองนึกภาพว่าถ้าคุณบอกตัวเองว่าต้องปล่อยวางหรือ “อย่าคิด” ทั้งที่ยังขาดความเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงของการนอนไม่หลับคืออะไรกันแน่ การปล่อยวางก็อาจกลายเป็นการ “เก็บกด” และนำมาสู่ความตึงเครียดจากการสั่งตัวเองให้ปล่อยวางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
.
การนอนไม่หลับสำหรับแต่ละคนยังคงมีความเฉพาะตัวเช่นเดียวกับอาการทางจิตอื่นๆ โดยในก่อนหน้านี้ที่ผมพูดถึงการลดการตื่นตัวและการเปลี่ยนความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนหลับต่างเป็นเพียงการแก้ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับของคนที่มีความคิดวกวนและไม่เคยเรียนรู้การผ่อนคลายตัวเองมาก่อนเท่านั้น แต่สำหรับบางคนที่เริ่มพบว่า ต่อให้พยายามทำสิ่งเหล่านี้เพื่อผ่อนคลายตัวเองมากขึ้นแค่ไหนก็ยังไม่สามารถนอนหลับได้ นั่นเพราะเรายังไม่ได้พูดถึงสาเหตุของการนอนไม่หลับที่อยู่เบื้องหลัง
.
การพูดคุยกับนักจิตวิทยาบางครั้งจึงอาจทำให้คุณต้องประหลาดใจว่า ต่อให้คุณมาปรึกษาเรื่องอาการนอนไม่หลับ แต่นักจิตวิทยากลับไม่พูดถึงอาการนอนไม่หลับของคุณเลย ส่วนหนึ่งเพราะเหตุผลของความย้อนแย้งในก่อนหน้านี้ที่ว่า ยิ่งเราใส่ใจกับปัญหาการนอนไม่หลับมากเท่าไร เราก็ยิ่งทำให้การนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินจริงและส่งผลให้นอนไม่หลับมากขึ้นเท่านั้น
.
ในขณะเดียวกัน อีกเหตุผลคือ นักจิตวิทยาอาจเลือกจะนำพาคุณไปพบกับปัญหาของการนอนไม่หลับที่ซ่อนอยู่แทนที่จะมามัวใส่ใจกับผลลัพธ์ของปัญหา ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่าการที่คุณนอนไม่หลับก็เพราะคุณอาจกำลังประสบกับภาวะของการหลุดออกจากความต่อเนื่องในชีวิตขณะตื่น หรือพูดให้ง่ายก็คือ ปัญหาในชีวิตที่คุณกำลังเผชิญอยู่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณเกิดอาการนอนไม่หลับ และควรหาทางจัดการมันในทางใดทางหนึ่ง
.
นักจิตวิทยาจึงอาจเลือกจะพูดคุยกับคุณในทุกๆ เรื่องของชีวิตคุณที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า ชีวิตที่เป็นอยู่ของคุณมันมีความผิดแปลกไปจากปกติหรือทำให้ไม่สามารถสัมผัสได้ถึงความต่อเนื่องในชีวิตของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ส่วนสำคัญจึงมักเป็นการพูดคุยถึงสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล รวมไปถึงความรู้สึกกลัวที่มีอยู่ในใจของคุณในเวลานั้น เพื่อที่จะให้คุณได้ระบายและทำความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของตัวเองในเวลาต่อมา
.
ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุยกับนักจิตวิทยายังเป็นการช่วยให้คุณจัดระเบียบความคิดที่วกวนสับสนของตัวเองไปพร้อมกัน โดยนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า การที่คุณนอนไม่หลับเพราะในหัวของคุณเหมือนมีการสื่อสารกันไม่รู้จบและอาจมีการสื่อสารเกี่ยวกับความเข้าใจผิดของการนอนหลับเกิดขึ้นในหัวของคุณอีกด้วย การพูดคุยกับนักจิตวิทยาจึงช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงการสื่อสารในหัวของตัวเองเหล่านี้ผ่านการสื่อสารกับคนที่อยู่ตรงหน้าเป็นต้นแบบ และชวนกันหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญกว่าอย่างเช่นการหาทางผ่อนคลายตัวเองหรือการแก้ปัญหาในชีวิตที่เป็นต้นตอของการนอนไม่หลับอย่างแท้จริง
.
การพบกับนักจิตวิทยาจึงมีส่วนช่วยในเรื่องการนอนไม่หลับของคุณได้ด้วยการแนะนำหรือสอนเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลายเพื่อให้คุณเข้าใกล้สภาวะที่พร้อมในการนอนหลับมากที่สุด และช่วยปรับเปลี่ยนความคิดความเข้าใจผิดๆ ที่ก่อให้เกิดความกดดันตัวเองมากเกินไปของคุณ รวมทั้ง อาจนำไปสู่การพูดคุยถึงปัญหาเบื้องหลังของการนอนไม่หลับที่จำเป็นต้องจัดการแก้ไข เพราะไม่งั้นจะยิ่งส่งผลให้การนอนไม่หลับที่เรื้อรังมากยิ่งขึ้น
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
.
Reference:
Haverkampf, C. J. (2017). Insomnia and psychotherapy.
de Kernier, N., Abe, Y., Camart, N., Julian, M., Babonneau, M., Lighezzolo, C., & Camps, F. D. (2017). Insomnia and self-destructiveness in adolescence: A French psychoanalytic perspective. Neuropsychiatry, 7(2), 137-141.
_____________________________________________________
'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service)
.
รายละเอียดการบริการ
.
การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/...)
Comments