.
ในพาร์ทแรกผมได้พูดถึงความสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาในแง่มุมของความคุ้มค่า และการเปรียบเทียบนักจิตวิทยาการปรึกษากับเทรนเนอร์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นภาพของนักจิตวิทยาการปรึกษาในฐานะของ “ผู้ให้บริการ” และการคำนึงถึงมุมมของ “ผู้รับบริการ” ที่จะตัดสินใจเลือกรับบริการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องแปลกเกินไปถ้าเราจะไม่พูดบริการที่จะได้รับ และกลายเป็นว่าเมื่อเราลงลึกถึงสิ่งเหล่านี้ก็จะปรากฎภาพของนักจิตวิทยาการปรึกษาอีกแง่มุมหนึ่งควบคู่ และเป็นแง่มุมที่สำคัญยิ่งกว่าเมื่อการรับบริการคือการได้รับความช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความทุกข์ นั่นคือในมุมของการเป็น “ผู้ให้การช่วยเหลือ” หรือเทียบได้กับ “กัลยาณมิตร” สำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษา
.
(เนื่องจากแง่มุมดังกล่าวเป็นแง่มุมที่สัมผัสได้จากประสบการณ์ส่วนบุคคล (subjectively) มากกว่าแง่มุมก่อนหน้าที่เป็นรูปธรรม (objectively) ผมจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าแง่มุมนี้จะสร้างความเข้าใจได้กระจ่างพอกับแง่มุมก่อนหน้าหรือไม่)
.
ตั้งแต่ในพาร์ทแรกที่ผมได้เทียบว่า ‘หากเทรนเนอร์คือคนร่วมเดินทางที่จะนำพาคุณไปสู่จุดหมายบนเส้นทางของร่างกายที่แข็งแรง และนักจิตวิทยาการปรึกษาก็คงเทียบได้กับคนร่วมเดินทางที่จะนำพาคุณไปถึงจุดหมายของจิตใจที่แข็งแรง’ ดูเหมือนว่าการเดินทางไปบนเส้นทางของ ‘จิตใจที่แข็งแรง’ จะไม่ได้ง่ายดายเหมือนร่างกายที่แข็งแรงซักเท่าไรนัก ไม่ใช่เพียงเพราะจิตใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่รวมไปถึงการบอกจะว่าจิตใจที่แข็งแรงมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากอีกด้วย
.
เมื่อคุณคิดถึงการจ้างเทรนเนอร์ซักคน คุณคงพอจะมองเห็นถึงเป้าหมาย (Goal) ว่ารูปร่างที่คุณปรารถนาหรือศักยภาพทางร่างกายที่คุณต้องการนั้นเป็นอย่างไร และคุณก็สามารถที่จะเดินไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างเป็นขั้นตอนซึ่งอาจมีจุดสิ้นสุดในทางใดทางหนึ่งที่เห็นได้ชัด แต่ในเส้นทางของจิตใจที่แข็งแรงกลับเป็นเส้นทางที่ยาวนานจนเรียกได้ว่าอาจไม่มีจุดจบที่แท้จริง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจิตใจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายดายแทบจะตลอดเวลาและสัมพันธ์กับแต่ละช่วงชีวิตหรือเหตุการณ์ที่พบเจอของแต่ละคน แม้จะสามารถไปถึงเป้าหมายหนึ่งได้สำเร็จก็อาจพบเจอเป้าหมายอื่นต่อไปอีกได้เรื่อยๆ ดังนั้น เส้นทางของจิตใจที่แข็งแรงจึงไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอนเหมือนกันทุกคน และมักขึ้นอยู่กับเรื่องของการให้คุณค่าหรือความหมายในชีวิต (Value or Meaning of life) มากกว่าเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง (Goal)
.
และถึงแม้ว่าแง่มุมของการเป็น ‘ผู้ช่วยเหลือ’ หรือ ‘กัลยาณมิตร’ จะมีอยู่ในวิชาชีพด้านอื่นๆ เช่นกัน แต่สำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษาซึ่งทำงานกับความเป็นนามธรรมของจิตใจแล้ว การ ‘ช่วยเหลือ’ ก็กลายเป็นสิ่งที่นามธรรมไม่แพ้กัน และนั่นจึงทำให้เราต้องพูดถึงบทบาทใน ‘การช่วยเหลือ’ ของนักจิตวิทยาที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าแง่มุมการเป็นผู้ให้บริการ
(อาจสรุปได้ว่าแง่มุมของการเป็นผู้ให้บริการเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้นักจิตวิทยาการปรึกษามองเห็นว่าบทบาทของตนเองมีขอบเขตอย่างไร ในขณะที่แง่มุมของการเป็นผู้ช่วยเหลือคือสิ่งที่ทำให้มองเห็นว่านักจิตวิทยาการปรึกษาสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนอย่างไร)
.
ในการอธิบายถึงความช่วยเหลือของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คน ผมจะขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
.
1. การสร้างความกระจ่างของเส้นทาง
.
ในส่วนแรกนี้ผมคิดว่าจะต้องเป็นการย้อนกลับมาทำความเข้าใจถึง “เส้นทางของจิตใจที่แข็งแรง” กันก่อน
.
อย่างในข้างต้นที่ว่าการมีจิตใจที่แข็งแรงนั้นดูเหมือนจะไม่ได้มีเป้าหมายที่เหมือนกันสำหรับทุกคน การมีจิตใจที่แข็งแรงนั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับประสบการณ์รอบๆ ตัวของเราพอสมควร ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยู่ที่บ้านเราอาจคิดว่าตัวเองมีความสุขดีและนั่นคงสะท้อนว่าเรามีจิตใจที่แข็งแรงแน่ๆ แต่เมื่อต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่หรือพบเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ความรู้สึกของเราก็สามารถเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วราวกับกระแสน้ำเชี่ยว ดังนั้น นี่คือสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าจิตใจที่แข็งแรงของเราก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย และบางครั้งคนอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมก็ตัดสินเราด้วยเช่นกันว่าตอนนี้เรามีจิตใจที่แข็งแรงแล้วหรือไม่ เช่น การร้องไห้ในสภาพแวดล้อมหนึ่งอาจแสดงถึงความอ่อนแอ ในขณะที่อีกสภาพแวดล้อมหนึ่งคือความเข้มแข็งในการแสดงออก
.
นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมแล้ว ทัศนคติหรือการให้คุณค่าของเราก็เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับจิตใจที่แข็งแรงของเราไม่ต่างกัน (และอาจถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ใหญ่กว่าปัจจัยก่อนหน้าด้วยซ้ำ) นั่นเพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความหมายของชีวิต (Meaning of life) ที่คล้ายเป้าหมายในเส้นทางของจิตใจที่แข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเผชิญกับการตัดสินใจที่ตึงเครียดอย่างมาก การรับรู้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เราให้คุณค่ามากกว่าคือสิ่งใดก็จะสามารถสร้างการตัดสินใจได้ดีขึ้น และสามารถบรรเทาความรู้สึกเสียดายจากอีกทางเลือกหนึ่งได้มากกว่าการตัดสินใจโดยไม่รู้จักตัวเองดีพอ
.
‘การรู้จักตัวเอง’ ของผู้รับบริการ (หรือเรียกว่า ‘รู้จักจิตใจของตัวเอง’ จะถูกต้องมากกว่า) กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการช่วยเหลือของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุด เริ่มด้วยจากความเชื่อพื้นฐานที่พอจะสรุปได้ว่า “ผู้รับบริการเป็นผู้เชี่ยวชาญในประสบการณ์ของตัวเองมากที่สุด และจะเป็นผู้ที่สร้างการตัดสินใจให้เหมาะกับตัวเองได้ดีที่สุดหากพวกเขาสามารถเข้าใจถึงตัวตน (จิตใจ) ของตนเองได้อย่างลึกซึ้งมากพอ”
.
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วผู้รับบริการเป็น ‘เจ้าของชีวิตตัวเอง’ มากกว่านักจิตวิทยาซะด้วยซ้ำ แต่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมีความสำคัญในส่วนนี้ได้ยังไงล่ะ?
.
ความสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนใหญ่จึงไม่ได้อยู่ที่การกำหนดการตัดสินใจหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้รับบริการ แต่เป็นระหว่างทางของการ ‘เข้าถึงตัวตน (จิตใจ) ได้อย่างลึกซึ้ง’ ของผู้รับบริการต่างหาก โดยนักจิตวิทยาการปรึกษาจะให้ความช่วยเหลือผู้รับบริการในการ ‘สำรวจ’ จิตใจของตัวเอง และ ‘จำแนก’ องค์ประกอบของจิตใจของผู้รับบริการออกมาให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนจนสามารถเลือกได้ว่าจะคิดหรือทำยังไงต่อไปดีในเส้นทางของตน (ส่วนนี้คงพอสะท้อนให้เห็นได้ว่านักจิตวิทยการปรึกษาเปรียบเสมือนผู้ร่วมทางอย่างไร)
.
ตั้งแต่เมื่อ Sigmund Freud เริ่มพูดถึงการมีอยู่ของจิตไร้สำนึก (unconscious) และการที่เรากันตัวเองออกจากจิตไร้สำนึกโดยอัตโนมัติ หรือในขณะเดียวกันการศึกษาทางประสาทวิทยาก็ทำให้เราเห็นว่ามีระบบกระแสประสาทที่วิ่งไปมาอย่างอัตโนมัติในหัวของเราได้เอง นั่นก็พอจะทำให้เห็นได้ว่าเราอาจไม่ได้เป็นคนที่จะรู้จักจิตใจของตัวเองได้ดีพอขนาดที่เราคิด แต่การเข้าใจถึงจิตใจของเราเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่มีหวังเมื่อนักจิตวิทยาเป็นคนที่พยายามศึกษามัน และนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้ในการช่วยเหลือผู้คนให้เข้าถึงจิตใจของตัวเองได้มากขึ้น ผมจึงถือว่านี่เป็นการช่วยเหลือด้วยการสร้างความกระจ่างชัดให้กับเส้นทางของจิตใจที่แข็งแรงของผู้รับบริการ พร้อมกันกับเดินไปบนเส้นทางนั้นด้วยกัน (ในบางกรณีการเดินบนเส้นทางนี้ยาวนานแทบจะตลอดทั้งชีวิต และกลายเป็นกัลยาณมิตรที่พบเจอได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง)
.
นักจิตวิทยาการปรึกษาช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความกระจ่างในเส้นทางของตัวเองจากการ ‘จำแนก’ องค์ประกอบทางจิตใจในลักษณะต่างๆ ตามแต่ละแนวคิดทฤษฎี เช่น นักจิตวิทยาแบบ Psychodynamic ที่ช่วยสืบค้นความปรารถนาในจิตไร้สำนึก, นักจิตวิทยาแบบ CBT ที่ช่วยระบุความคิดอัตโนมัติ, นักจิตวิทยาแบบ Person-centered ที่ช่วยสำรวจตัวตนแท้จริง (real self) ฯลฯ โดยการช่วยเหลือเหล่านี้คือการช่วยให้ผู้รับบริการได้มองเห็นถึงจิตใจของตัวเองได้ลึกซึ้งขึ้น ชัดเจนขึ้น และรู้สึกว่าตนสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้นกลายการอยู่บนเส้นทางที่มองไม่เห็นอะไรเลย
.
2. การก้าวเดินไปยังพื้นที่สว่าง
.
ผมคิดว่าคงจะแปลกไปหากเราจะไม่พูดถึงในส่วนที่สอง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในการพูดถึงผลลัพธ์ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนของการปรึกษาเชิงจิตวิทยา และอาจเป็นผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับการประเมินของผู้รับริการด้วยว่าคุ้มค่าจะเสียเงินหรือไม่ แม้ว่าในข้อแรกจะเป็นอะไรที่พอจะสร้างความคุ้มค่าให้สำหรับบางคนแล้วก็ตาม
.
ที่ผมต้องบอกแบบนั้นว่าสำหรับบางคน ข้อแรกนั้นก็อาจจะเพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา นั่นเป็นเพราะคุณอาจมองเห็นเส้นทางที่ชัดเจนขึ้น และตัดสินใจก้าวเดินต่อไปได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องการเพื่อนร่วมทางอีกต่อไป
.
ในทางตรงกันข้าม บางคนหรือบางประเด็นของความทุกข์นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเดินต่อไปด้วยตัวคนเดียวได้ และรวมไปถึงการที่ไม่สามารถตัดสินใจก้าวเดินต่อไปได้อีกเช่นกันแม้ว่าจะมองเห็นถึงเส้นทางที่ชัดเจนขึ้น
.
ลองนึกภาพว่าคุณรู้ว่าวิธีการไหนจะช่วยให้คุณลดความอ้วนได้ แต่คุณก็ไม่เลือกจะทำมันอยู่ดี นั่นไม่ใช่เพราะว่าคุณขาดความรู้ แต่เป็นเพราะคุณขาดแรงจูงใจ (motivation) ต่างหาก ซึ่งหากเราย้อนกลับมาที่การจ้างเทรนเนอร์ซักคน นอกเหนือจากความรู้ที่คุณจะได้แล้ว คุณก็อาจจะได้คนที่ช่วยดึงคุณออกจากเตียงไปออกกำลังกาย และบางทีคุณก็สามารถที่จะรู้สึกสนุกไปกับมันได้เพราะมีคนที่เดินเคียงข้างคุณอยู่ (นี่คงเทียบได้กับบทบาทในแง่มุมกัลยาณมิตรของเทรนเนอร์)
.
การที่บางคนสามารถก้าวเดินต่อไปเองได้กับการที่บางคนอาจยังคงต้องการเพื่อนร่วมทางต่อไปอยู่ อาจจะพอสรุปได้ถึงความสำคัญของ ‘แรงจูงใจภายใน’ และ ‘แรงจูงใจภายนอก’
.
ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าแรงจูงใจไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกนั้นไม่สำคัญเลยว่าแบบใดดีกว่าในการก้าวเดินบนเส้นทางของจิตใจที่แข็งแรง นั่นเพราะแรงจูงใจทั้งสองส่วนนี้เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน และก็ย้อนกลับไปในช่วงต้นของข้อแรกว่าจิตใจที่แข็งแรงนั้นสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ดีพอ หรือในความเชื่อของ Carl Roger ที่พอสรุปได้ว่า “คนเรามีศักยภาพมากพอจะแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ หากสภาพแวดล้อมเอื้อให้เราได้พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของตนเอง”
.
นักจิตวิทยาการปรึกษาถือได้ว่าเป็นหนึงในสภาพแวดล้อมของผู้รับบริการ และการช่วยเหลือในข้อแรกรวมถึงข้อที่สองนี้ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของผู้รับบริการจนสามารถก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางของตัวเองได้
.
ในข้อแรกเป็นการเอื้อให้ผู้รับบริการเข้าถึงจิตใจของตนเองได่้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน การก้าวต่อไปกลับต้องมีความกระจ่างชัดในแง่มุมของแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้นไปอีก หรือพูดให้ง่ายได้ว่า ผู้รับบริการบางคนอาจเกิดคำถามว่า ‘การมองเห็นว่าตัวเองเป็นใครหรือมีความคิดยังไง แล้วมันช่วยให้แก้ปัญหาได้ยังไง?”
.
จากข้อแรกที่ว่าการ ‘สำรวจ’ และ ‘จำแนก’ องค์ประกอบของจิตใจที่ชัดเจนมากขึ้นอาจนำไปสู่การเกิดความรู้สึกควบคุมตัวเองได้มากขึ้น ในกรณีนี้บางคนอาจไม่เกิดความรู้สึกเช่นนั้นเนื่องจากการติดอยู่กับแนวทางเดิมหรือหลอมรวมตัวเองเข้ากับสิ่งที่คิดหรือเชื่อไปแล้ว (ego-syntonic) ในขณะที่การเกิดความรู้สึกว่าสามารถควบคุมตัวเองได้เป็นการแยกตัวเองออกมาจากสิ่งที่ค้นพบคล้ายการมองแบบบุคคลที่สาม (ego-alien) ดังนั้น การที่เราจะก้าวเดินต่อไปได้ในเส้นทางของจิตใจที่แข็งแรงคือนอกจากการมองเห็นเส้นทางที่หลากหลายแล้ว ยังต้องประเมินเส้นทางเหล่านั้นเพื่อที่จะก้าวต่อไปได้ด้วย
(ผมนึกถึงการที่ผู้รับบริการจะสามารถเอาชนะอาการซึมเศร้าได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับ ‘มัน’ อยู่มากกว่าการยอมจำนนและถูกกลืนกิน)
.
การมาถึงจุดนี้คล้ายกับการตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปทางไหนดี โดยถึงแม้นักจิตวิทยาการปรึกษาจะไม่ได้เป็นคนที่สั่งให้ผู้รับบริการของตนเองเดินไปทางไหน แต่ผู้ร่วมทางเหล่านี้ก็ยังคงช่วยสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นให้คุณสามารถตัดสินใจได้มากขึ้นไปอีก เช่น นักจิตวิทยาแบบ Psychodynamic อาจชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจแบบในอดีตก็จะนำมาซึ่งผลลัพธ์แบบเดิม, นักจิตวิทยาแบบ CBT อาจชี้ให้คุณเห็นว่าความคิดแบบเดิมทำให้เกิดความรู้สึกและพฤติกรรมที่เป็นทุกข์อย่างไร หรือในทางตรงข้าม พฤติกรรมของแบบเดิมส่งผลต่อความรู้สึกทุกข์ใจอย่างไร, นักจิตวิทยาแบบ Person-centered อาจชี้ให้คุณเห็นว่าการตัดสินใจหรือพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นสัมพันธ์กับตัวตนที่ไม่สอดคล้องกันกับตัวตนที่แท้จริงอย่างไร ฯลฯ ซึ่งแนวทางต่างๆ เหล่านี้ของนักจิตวิทยาคือการช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการเลือกเส้นทางต่อไปของผู้รับบริการโดยไม่ตัดสินว่าเส้นทางใดเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง แต่ช่วยประเมินถึงผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้เพื่อให้ผู้รับบริการเลือกได้ง่ายขึ้น
.
ทิ้งท้าย
.
ผมคิดว่าการเขียนที่ยืดยาวขนาดนี้อาจพอเป็นประโยชน์๋ไม่มากก็น้อยต่อผู้ที่ได้อ่านจนจบ โดยผมคาดหวังว่าอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมองหาหรือสนใจการปรึกษากับนักจิตวิทยาแต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะได้รับแลกกับเงินที่เสียไปคืออะไรกันแน่ หรือแม้แต่นักจิตวิทยาการปรึกษาที่ได้อ่านบทความนี้ก็อาจพบความกระจ่างได้มากขึ้นว่าบทบาทของเรามีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของผู้คนในสังคม ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ขายบริการและการเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้คนจากความทุกข์ และอาจนำมาสู่การมองในภาพที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการบาลานซ์ระหว่างความคาดหวังของตนเองและความคาดหวังของผู้รับบริการ
.
สุดท้ายนี้ผมขอทิ้งท้ายด้วย Gestalt prayer ของ Fritz Perls ซึ่งผมชอบคำกล่าวนี้เป็นการส่วนตัว
.
“ฉันทำส่วนของฉัน และคุณทำส่วนของคุณ
ฉันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อความคาดหวังของคุณ
และคุณก็ไม่ได้มีชีวิตเพื่อความคาดหวังของฉัน
คุณคือคุณ และฉันก็คือฉัน
และถ้ามีโอกาสให้เราได้พบกัน มันเป็นเรื่องที่สวยงาม
ถ้าไม่ นั่นก็คงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้”
.
[I do my thing and you do your thing.
I am not in this world to live up to your expectations,
And you are not in this world to live up to mine.
You are you, and I am I,
and if by chance we find each other, it's beautiful.
If not, it can't be helped.]
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
_____________________________________________________
'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service)
.
รายละเอียดการบริการ
.
การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/...)
Comments