top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

นักจิตวิทยาการปรึกษามีความสำคัญอย่างไร?


. อาจารย์คนหนึ่งของผมเคยบอกไว้ว่า “counselor (นักการปรึกษา) เป็นเหมือนคนที่ร่วมเดินทางไปกับผู้รับบริการ และนำผู้คนจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง” แต่ผมพบว่าการอธิบายแบบนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งที่เป็นรูปธรรมของตัวผมได้ และในขณะเดียวกันผมก็พบว่ามีนักจิตวิทยาการปรึกษาอีกหลายคนที่ติดอยู่กับความไม่ชัดเจนของคำตอบเช่นนี้ ซึ่งส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า การได้รับความช่วยเหลือนั้นมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย . เพื่อนคนหนึ่งเคยถามผมว่า “ถ้าเป็นตัวเองจะยอมจ่ายเงินเพื่อได้พูดคุยกับนักจิตวิทยา 1 ชั่วโมงมั้ย?” คำถามนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่การถามถึงการตีมูลค่าของการให้/รับบริการเป็นตัวเงิน แต่กลับเป็นคำถามที่สะท้อนถึงความสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาว่ามีความแตกต่างจากการพูดคุยตามปกติอย่างไร? . จาก 2 พารากราฟข้างต้นมีความสัมพันธ์กันอยู่ แรกเริ่มในมุมมองของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มองว่าบทบาทของตัวเองคือคนที่ร่วมเดินทางและนำพาผู้รับบริการผ่านความทุกข์ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือมุมมองของผู้รับบริการที่ต้องจ่ายเพื่อให้ตนเองได้รับสินค้าบางอย่าง ทั้งสองมุมมองนั้นไม่ได้มีส่วนไหนเลยที่ผิดหรือถูก แต่การมองหาจุดที่ประสานกันนั้นกลายเป็นสิ่งที่เริ่มยากเมื่อฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าตัวเองกำลังพยายามช่วยเหลืออีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าตนเองกำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่ควรจะมีราคาที่คุ้มค่า การบอกว่าสินค้าดังกล่าวเป็นการบริการอาจเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะประสานรอยแยกนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ผลลัพธ์เชิงบวกของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะเป็นบริการที่น่าประทับใจ (บางครั้งการปรึกษาเชิงจิตวิทยาก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดสำหรับผู้รับบริการ) . ผมจำได้ว่าคำตอบที่ผมให้กับเพื่อนของผมไปคือการเปรียบเทียบของนักจิตวิทยาการปรึกษาเหมือนเทรนเนอร์ในฟิตเนส (คงเพราะนี่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุดที่ผมพอจะนึกออกจากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยจ่ายค่าเทรนเนอร์มาก่อน) . ในเวลาที่เราตั้งใจจะลดความอ้วน การสวมรองเท้าออกไปวิ่งในสวนสาธารณะหรือเดินเข้าไปสมัครสมาชิกฟิตเนสด้วยตัวเองก็สามารถทำได้แล้ว รวมไปถึงการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วเพียงไม่กี่คลิ๊กคุณก็สามารถค้นหาความรู้ที่พอจะทำมันได้ด้วยตัวเองจนแทบเป็นผู้เชี่ยวชาญ (ของตัวเอง) ได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราเกิดคำถามเช่นกันว่าเราจะจ่ายเงินเพื่อจ้างเทรนเนอร์ไปเพื่ออะไร? แต่สำหรับใครที่เคยจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับบริการจากเทรนเนอร์ซักครั้งคุณก็จะรู้ดีว่าสิ่งที่ได้นอกเหนือจากความรู้เฉพาะทางแล้ว นั่นก็คือคนที่ร่วมเดินทางไปกับคุณบนเส้นทางของร่างกายที่แข็งแรง! . ถึงแม้จะเทียบกับการเป็นคนที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกัน แต่นั่นก็ไม่เหมือนกับ ‘เพื่อน’ ของคุณ แน่นอนว่าถ้าคุณออกกำลังกายกับเพื่อคุณก็อาจจะไม่เสียเงินซักบาท แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือความรู้เฉพาะบางอย่างที่สามารถพาคุณไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่าการพยายามศึกษากันด้วยตัวเอง (นี่ยังไม่รวมการที่คุณอาจจะต้องรู้สึกเหนื่อยและทรมานกับคำสั่งหรือคำแนะนำที่ได้รับจากเทรนเนอร์ให้งดของหวานและวิ่งเพิ่มอีก 10 รอบเมื่อคุณเผลอตัวไปกินชานมไข่มุกหรือบุฟเฟ่) . เมื่อกลับมาที่ความสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาแล้ว ถ้าจะบอกว่าเทรนเนอร์คือคนที่ร่วมเดินทางและนำพาคุณไปสู่จุดหมายบนเส้นทางของร่างกายที่แข็งแรง นักจิตวิทยาการปรึกษาก็คงเทียบได้กับคนที่ร่วมเดินทางและนำพาคุณไปถึงจุดหมายของจิตใจที่แข็งแรงเช่นกัน อีกทั้งความเหนื่อยล้าหรือความไม่สบายตัวจากการออกกำลังกายไปพร้อมกับเทรนเนอร์ก็อาจเทียบได้กับความเหนื่อยล้าทางใจหรือความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญกับความตึงเครียดในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา . นักจิตวิทยาการปรึกษาจึงอาจเทียบได้กับเทรนเนอร์ทางใจ และสินค้าที่มาพร้อมกับบริการก็คือความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในทุกๆ การกระทำเพื่อช่วยเหลือลูกค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อถึงจุดนี้คงพอเห็นภาพได้มากขึ้นว่านักจิตวิทยาการปรึกษามีความสำคัญกับผู้รับบริการอย่างไร . นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงราคาที่ต้องจ่าย (ค่าจ้าง) ผมคิดว่าเราคงหนีไม่พ้นการคิดถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย แต่ความคุ้มค่าดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองความคาดหวังของผู้ซื้อซะมากกว่าจะประเมินเป็นตัวเลขได้ เช่นเดียวกัน เมื่อเทียบจากประสบการณ์ของผมในการเห็นเทรนเนอร์ที่ดูจะมีแนวทางมากมายแตกต่างกัน คาแรกเตอร์ของเทรนเนอร์ที่ดูเข้ากันได้กับเราก็ดูจะเป็นหนึ่งในการคิดถึงความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ (รวมทั้งการมีลักษณะทางร่างกายที่คล้ายกันด้วย) . ในแง่มุมของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเองก็เช่นกัน ความเข้ากันได้ (fit in) ระหว่างนักจิตวิทยาและผู้รับบริการก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญพอสมควรต่อประสิทธิภาพของการปรึกษา ซึ่งในงานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าความสัมพันธ์หรือสัมพันธภาพระหว่างนักจิตวิทยาและผู้รับบริการดูจะเป็นสิ่งที่ทำนายผลลัพธ์ของการปรึกษาได้มากกว่าเทคนิคและวิธีการซะด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปคงเป็นสิ่งที่ประเมินก่อนไม่ได้จนกว่าจะได้ทดลองด้วยตัวเอง . ในอีกด้านหนึ่ง นักจิตวิทยาการปรึกษาที่มองเห็นถึงจุดนี้ว่าผู้รับบริการจะสามารถมองเห็นถึงความสำคัญของตนได้อย่างไรบ้าง แต่การมองภาพเพียงแง่มุมของการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็ยังคงทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษาบางคน (รวมถึงผู้รับบริการบางคน) ติดอยู่กับความคลุมเครือไม่ชัดเจนของสินค้าแบบนามธรรมเมื่อเทียบกับเงินที่ได้รับหรือเสียไปซึ่งเป็นรูปธรรม . บางครั้งนั่นอาจเป็นเพราะนักจิตวิทยาการปรึกษาบางคนตกหลุมของความปรารถนาในการช่วยเหลือผู้คนของตนหรือติดอยู่กับภาพแฟนตาซีว่าตนเองคือผู้ที่จะมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในจิตไร้สำนึก (ทำให้ในบางครั้งนักจิตวิทยาการปรึกษาต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากเกินจริงและข้อจำกัดของตนเอง) . เมื่อนักจิตวิทยาการปรึกษาได้มองเห็นถึงความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของตนเองนอกเหนือจากบทบาทในการเป็นผู้ช่วยเหลือแล้ว (บทบาทของการเป็นผู้ขายสินค้า/บริการ) มุมมองนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงจะเริ่มเปิดกว้างเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นของค่าใช้จ่ายหรือราคาของบริการที่ผู้รับบริการต้องเสียให้กับนักจิตวิทยา และนั่นก็รวมไปถึงการที่นักจิตวิทยาต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของเงินที่จะได้รับกับการลงแรงของตัวเองในการทำงานที่บางครั้งก็เป็นการเผชิญหน้ากับความตึงเครียดที่ผู้รับบริการนำพาเข้ามา . โดยสรุปอาจบอกได้ว่า ทั้งผู้รับบริการและนักจิตวิทยาการปรึกษาก็คำนึงถึงความคุ้มค่าของตนเอง (ความคุ้มค่าของบริการที่จะได้รับ vs ความคุ้มค่าของเงินที่จะได้รับ) จนเรียกได้ว่า ในขณะที่นักจิตวิทยาอาจมีความสำคัญกับผู้รับบริการในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้รับบริการจากความทุกข์ (“ไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นนักวิชาชีพที่มีหน้าที่คอยรับฟังและช่วยเหลือ”) ผู้รับบริการเองก็มีความสำคัญกับนักจิตวิทยาในการช่วยประเมินคุณค่าความสามารถของนักจิตวิทยาหรือช่วยให้นักจิตวิทยาต้องหันกลับมามองแฟนตาซีในการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือของตน (“ไม่ใช่พระผู้มาโปรด แต่เป็นผู้ขายสินค้าและบริการ”) . บางทีเนื้อหาทั้งบทความนี้อาจสรุปได้ด้วยประโยคเพียงประโยคเดียวจาก Nancy McWilliam ที่สะท้อนให้เห็นการพึ่งพาอาศัยกันของนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้รับบริการได้ว่า

“นักจิตวิทยาช่วยซัพพอร์ตอารมณ์ของผู้รับบริการ ในขณะที่ผู้รับบริการซัพพอร์ตการเงินของนักจิตวิทยา” . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล _____________________________________________________ 'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service) . รายละเอียดการบริการ . การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/...)

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page