top of page
ค้นหา

“ทำไมเราต้องรู้สึกผิดกับการทำสิ่งที่ถูกด้วยนะ?”: ศีลธรรมของ Superego และการสำนึกดีของ Conscience

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

ผมคิดว่าคำถามข้างต้นเป็นสิ่งหลายคนคงเคยพบเจอมาหลายครั้งในชีวิตเมื่อเราต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำความดีหรือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าหากจะตอบคำถามนี้ได้โดนง่ายคงต้องบอกว่านั่นเป็นเพราะ “สำนึกดี (conscience) ไม่ได้มาจากการใช้เหตุผล แต่มาจากความรู้สึก” ต่างหาก

.

แต่ว่า มันมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากกว่านั้นมั้ยว่าทำไมเราถึงยังคงรู้สึกผิดอยู่กับการตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกหรือเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง? ผมคิดว่านั่นคงทำให้เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า “ศีลธรรม” (Moral) กับการสำนึกดี (Conscience) นั้นอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

.

หากใครเคยได้อ่านหรือได้ยินเกี่ยวกับแนวคิดของ Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ในเรื่อง id - ego - superego ความเข้าใจที่คุ้นเคยกันคงเป็นการเทียบทั้ง 3 องค์ประกอบทางจิตนี้กับภาพของ id คือ “ซาตาน”, superego คือ “เทวดา”, และ ego คือ “ตัวคุณเอง” ที่อยู่ตรงกลางซึ่งต้องทำหน้าที่แบกรับการตัดสินใจว่าจะทำตามใจตัวเองแบบที่ซาตานบอกหรือจะทำสิ่งที่ตรงกับศีลธรรมอันดีตามที่เทวดาบอกในเวลานั้นๆ (ต่อให้คุณไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับแนวคิดนี้มาก่อน คุณก็คงพอนึกภาพตามได้จากหนังหรือการ์ตูนหลายๆ เรื่องที่มีภาพแบบนี้ปรากฏให้เห็น)

.

แต่ถ้าแนวคิดเรื่องการปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมมันง่ายแบบนั้นเลย เราคงไม่รู้สึกผิดกับการทำสิ่งที่เราคิดว่าถูก หรือเราอาจจะไม่รู้สึกว่าการทำสิ่งที่คนอื่นบอกว่า “ไม่ดี” กลับทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังทำสิ่งที่ “ดี” ได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อสิ่งที่ถูกบอกว่าดีและการสำนึกดีของเรานั้นเป็นคนละอย่างกัน ความดีจึงถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

.

Donald L. Carveth เป็นนักจิตวิเคราะห์คนหนึ่งที่อาจช่วยเราในการตอบคำถามนี้ได้ ซึ่งทำให้เราต้องย้อนกลับไปที่การพยายามเปรียบเทียบแนวคิด id, ego, superego กับ ซาตาน, ตัวฉัน, และเทวดากันซะก่อน โดยจริงๆ มันเหมือนเป็นการลองคิดง่ายๆ ว่า “เทวดาน่ะดีจริงหรอ? แล้วใครคือเทวดาที่บอกให้เทวดาทำดีกันล่ะ?”

.

สิ่งที่ Carveth พยายามนำเสนอ คือการชี้ให้เราเลิกสับสนอยู่กับเรื่องของการเชื่อว่า superego คือ เทวดา เพราะถึงแม้ว่าในแนวคิดทางสังคมของ Freud จะบอกว่า id เหมือนกับสัญชาตญาณสัตว์ป่าอันดุร้าย และ superego เป็นสิ่งที่พัฒนามาจากการคิดด้วยเหตุผลของ ego และกลายมาเป็นกรอบศีลธรรมที่กดสัญชาตญาณของ id เอาไว้ จนเรียกได้ว่าเป็นหนทางสู่ความเป็นอารยะ (civilization) แต่ในแนวคิดของ Freud ด้านการบำบัดคนไข้ทางจิตของเขากลับพบว่า superego ต่างหากที่หลายครั้งกลายเป็นตัวปัญหา มันกลายเป็นสิ่งที่กดให้คนเก็บกดความปรารถนาตามธรรมชาติของตนเองเอาไว้และรู้สึกผิดกับธรรมชาติของตัวเอง

.

ผมคิดว่าตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือการพูดถึงเรื่อง LGBTIQ+ นั่นเพราะเป็นสิ่งที่มักถูกโยงเข้ากับเรื่องศีลธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของคนเราเสมอ ในยุคสมัยก่อนที่ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมีไม่มากนัก การเบี่ยงเบนจากเพศกำเนิดกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น “บาป" แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง LGBTIQ+ มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ก้ำกึ่งเกินจะบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติหรือผิดธรรมชาติ และหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่มักเข้ามาร่วมด้วยเสมอคือการคำนึงถึง “สิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง”

.

ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยนี้ทำให้การมองเรื่อง LGBTIQ+ เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นการมองว่าเป็น “บาป” หรือ “สิ่งไม่ดี” ไป ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายๆ เรื่องเช่นกันที่นิยามของ “ความดี” และ “ความชั่ว” เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น เรื่องของการเหยียดผิว การค้าทาส การทำแท้ง หรือแม้แต่ในเรื่องของสิทธิ์ในการเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง (ผมคิดว่าประเด็นสุดท้ายถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด เพราะในฐานะนักจิตวิทยาก็ยังคงเลือกข้างของชีวิต แต่ก็ยังคงต้องเข้าใจความปรารถนาที่จะตายของหลายๆ คน)

.

การเปลี่ยนแปลงในนิยามของความดีความชั่วนี้คงเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ถ้าการพูดถึงเรื่องนี้มีแค่เทวดาและซาตานเท่านั้น อีกทั้ง Carveth ยังบอกอีกว่าการเปรียบเทียบ id กับสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ใจร้ายกับพวกสัตว์มากเกินไป เพราะพวกมันกลับมีความเห็นอกเห็นใจกัน และพึ่งพาอาศัยดูแลกันมากกว่าจะเห็นแก่ตัวแบบมนุษย์ด้วยซ้ำ

.

สัญชาตญาณของสัตว์ใน id นั้นจึงไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้าย แต่มันประกอบไปด้วยทั้งพลังงานของชีวิต (Eros) และความตาย (Thanatos) พอๆ กัน พูดง่ายก็คือ มันคือส่วนที่มีทั้งความเกลียดชังและดุร้ายเพื่อเอาตัวรอด (Thanatos) แต่มันก็มีความรักที่จะมอบให้อย่างอ่อนโยนด้วยสัญชาตญาณ (Eros)

.

ในขณะเดียวกัน นักจิตวิเคราะห์หลายคนก็มองเห็นว่าบางครั้ง superego เองก็ทำสิ่งที่ดูจะไร้ศีลธรรม (immoral superego) หรือแสดงให้เห็นว่ามันอาจกลายเป็น “ศีลธรรมที่ล้าหลัง” ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นในเรื่อง LGBTIQ+ ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้

.

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เหล่าทหารที่เกิด PTSD หรือบาดแผลทางใจจากสงคราม ทหารเหล่านี้มักเชื่อว่าตนเองทำสิ่งที่ถูกในการกำจัดฝั่งตรงข้ามเพื่อประเทศชาติของตน แต่พวกเขากลับต้องเกิดบาดแผลทางใจเมื่อระลึกได้ว่าตนเองได้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ไปมากในสงครามนั้น พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ลงโทษพวกเขาอยู่ซ้ำๆ จนบางคนก็ฝันร้ายแทบทุกคืน

.

ถ้าเรากลับมาที่เรื่องของ superego จะบอกได้ว่า superego นั้นพัฒนามาจาก ego อีกที โดยมันเป็นการที่ ego พยายามเรียนรู้และเลียนแบบ (identification) ตัวเองเข้ากับคนอื่นๆ ในสังคม (มันจึงชื่อว่า super-ego เพราะมันอยู่เหนือ ego ได้ในบางครั้ง) คราวนี้ลองนึกภาพว่าหากคุณเป็นทหารที่ต้องไปรบ คุณก็คงได้รับแนวคิดเรื่องการรับใช้ชาติมามากมาย และเชื่อว่าการฆ่าคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณไม่ทำตามคำสั่งนั้นคุณก็อาจรู้สึกผิดต่อการละเลยหน้าที่ของตนเองได้ต่อให้ไม่ได้รับการลงโทษใดๆ ในความเป็นจริงเลยก็ตาม

.

superego นั้นกลายเป็นสิ่งที่มักยึดอยู่กับเรื่อง “ศีลธรรม” หรือ “สิ่งที่ถูกสอนว่าดี” เสมอ และมันมักจะนำมาซึ่งความรู้สึกผิดแบบที่ทำให้เราต้องตำหนิตัวเองซ้ำๆ หากเราไม่ทำตามคุณค่าความดีของสังคม ซึ่ง Carveth มองเห็นในจุดนี้และเชื่อว่าเราควรแยกเรื่อง “conscience” (การสำนึกดี) ออกมาจาก superego

.

แนวคิดของ Carveth จึงกลายเป็น id, ego, superego และ conscience เนื่องจากเขามองเห็นว่าการ “สำนึกดี” นั้นไม่ได้สิ่งที่มาจากเหตุผลของ ego และไม่ได้มาจากการถูกสอนแบบ superego

.

Carveth มองว่าการสำนึกดีหรือ conscience สัมพันธ์กับพลังงานของความรักและความผูกพันมากกว่า superego ที่ยึดตัวมันเองอยู่กับการทำตามคำสั่งสอนและศีลธรรม และอาจนำไปสู่ความเกลียดชังมากกว่าความรู้สึกรัก ซึ่งเขาได้เทียบ conscience กับ capacity for concern ในแนวคิดของ D.W. Winnicott ซึ่งพูดได้ง่ายๆ ว่า “การสำนึกดีเป็นสิ่งที่มาจากความรักและการคิดถึงคนอื่นมากกว่าการยึดติดอยู่กับเรื่องศีลธรรมที่ถูกสอนมา”

.

สิ่งที่ Carveth นำเสนอจึงทำให้เราเห็นว่า แนวคิดเรื่องความดีความชั่วแบบบอกต่อๆ กันสามารถกลายเป็นสิ่งที่ล้าหลังและส่งผลร้ายต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกันได้ และยิ่งไปกว่านั้น การยึดโยงอยู่กับเหตุผลอาจไม่ใช่แนวทางที่นำพาไปสู่การกำหนดความดีได้จริงๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับทางแยกทางศีลธรรม (moral dilemma) ซึ่งไม่ว่าจะทางใดก็มีเหตุผลสนับสนุนเสมอ อย่างเช่นในเรื่องของการทำแท้ง เป็นต้น (ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวอ่อนในครรภ์และการเลี้ยงดูที่ไม่พร้อม)

.

ยิ่งไปกว่านั้น การยืนยันว่าเรื่องของการสำนึกดีนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุผล แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกนั้น ก็อาจพูดถึงได้จากงานวิจัยของ Emory University ที่ได้ทำการศึกษาสมองของหนูนาที่อยู่คนละถิ่นกัน (ที่ราบ vs ภูเขา) นักวิจัยพบว่าหนูนาที่อยู่ในที่ราบจะมีการเปลี่ยนแปลงของสมองทำให้ oxytoxin receptor มากกว่าในสมองส่วนเดียวกัน และหนูนาในที่ราบกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมพึ่งพาอาศัยกันดีกว่าหนูนาที่เติบโตในระบบนิเวศภูเขา งานวิจัยนี้จึงสรุปว่าอาจมีความสัมพันธ์ของพฤติกรรมช่วยเหลือกันทางสังคมในสมองที่แตกต่างกัน ซึ่งนักปรัชญาประสาทวิทยาอย่าง Patricia Churchland ก็มองว่า นี่อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการสำนึกดี (conscience) หรือการคำนึงถึงคนอื่นนี้ฝังอยู่ในสมองของเราที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผล

.

ผมคิดว่าสมมติฐานของ Churchland นั้นน่าสนใจ และงานวิจัยนี้อาจจะช่วยสนับสนุนความเชื่อของ Carveth ในก่อนหน้านี้ได้ว่า เหล่าสัตว์นั้นมีพฤติกรรมที่พึ่งพาอาศัยกันดีเกินกว่าจะมองว่าพวกมันมีแต่ความป่าเถื่อน

.

ยังไงก็ตาม ในการสรุปบทความนี้เพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมเรายังต้องรู้สึกผิดกับการทำสิ่งที่รู้สึกว่าถูกต้อง?” นอกเหนือจากการบอกว่ามันเป็นเพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลแล้ว ยังรวมไปถึงว่า ความสำนึกดี (conscience) ของเราไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับสิ่งที่ถูกสอนว่าดี นิยามของความดีที่ถูกสอนมาจึงถูกตั้งคำถามได้เสมอ และความดีที่ถูกสอนอาจกลายเป็นสิ่งที่ล้าหลังในเวลาต่อมา แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมีอิทธิพลให้เรารู้สึกผิดได้ เพราะการใช้เหตุผลของเราได้สร้างกรอบ (superego) ให้กับตัวเราเองจากการเลียนแบบเพื่อให้เข้ากับคนอื่นๆ ในสังคม

.

เราจึงอาจรู้สึกผิดได้เมื่อทำสิ่งที่ดีจากสำนึกดีของเราแต่กลับขัดกับสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี และในทางตรงข้าม เราก็อาจรู้สึกผิดได้จากการทำสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี แต่สำนึกดีหรือใจของเรากำลังบอกว่าเรากำลังทำร้ายคนอื่นอยู่

.

.

Reference

Carveth, D. L. (2015). The immoral superego: Conscience as the fourth element in the structural theory of the mind. Canadian Journal of Psychoanalysis, 23(1), 206-223.

CBC Radio, (2020, Feb 21). Neurophilosopher argues morality is rooted in brain science: Patricia Churchland explains the origins of conscience evolved in our mammalian ancestors, not reason. Retrived from https://www.cbc.ca/radio/ideas/neurophilosopher-argues-morality-is-rooted-in-brain-science-not-reason-1.5470360?__vfz=medium%3Dsharebar&fbclid=IwAR1H3Bie_zxKBYLoeNqKA3g9siDj9gyeNdpsmfrJJM_g9fXlOBmzFmO3ijM

ดู 179 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page