.
หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ที่มีงานวิจัยออกมาใหม่ว่า ‘จากการรวบรวมงานวิจัยจำนวนมากพบว่าหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องโรคซึมเศร้ากับสารเซโรโทนินในระดับต่ำมีอยู่น้อยมาก’ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งยอมรับว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายอย่างน่าประหลาดใจเท่าไร เพราะมันก็จริงอยู่ที่ว่างานวิจัยนี้ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องนี้กันยกใหญ่ แต่นี่มันก็อาจเป็นเพียงการสรุปให้เห็นถึงความลับที่ถึงเวลาถูกเปิดเผยในวงการสุขภาพจิตให้คนทั่วไปได้รับรู้ก็เท่านั้น
ความเชื่อเรื่อง “สารเคมีในสมองไม่สมดุล” (chemical imbalance) เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ปี 70s หรือ 80s แล้ว โดยมันเป็นความพยายามของจิตแพทย์ที่ต้องการเข้าใจความเจ็บป่วยทางจิตใจในมุมมองทางชีววิทยาเป็นหลัก หรือก็คือการพยายามเข้าใจว่ามีความเบี่ยงเบนในโครงสร้างทางสมอง ระบบประสาทเคมี และพันธุกรรมใดบ้าง และเมื่อยาต้านเศร้าในกลุ่ม SSRI (selective serotonin reuptake inhibitors) เวอร์ชั่นแรก เช่น Prozac ถูกนำเสนอขึ้นมาบนโลกใบนี้ มันก็ทำให้ความเชื่อนี้กลายเป็นคีย์สำคัญทางการตลาดที่พุ่งเป้าไปยังเรื่องสารเคมีในสมองไม่สมดุลมากขึ้น
ยังไงก็ตาม จริงๆ แล้วจิตแพทย์ในปัจจุบันก็อาจมีความสนใจในปัจจัยอื่นๆ ที่กว้างขึ้นกว่านั้น เช่น เรื่องพันธุกรรม แบคทีเรียในลำไส้ อิทธิพลของสภาพแวดล้อม ปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ และ ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การตลาดเรื่องยาจิตเวชก็ถูกควบคุมมากขึ้นในปัจจุบันด้วย แต่น่าเสียดายที่จุดเริ่มต้นของเรื่องสารเคมีในสมองไม่สมดุลก็คลืบคลานเข้ามาจนกระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ตแล้ว
.
จากสถิติในปีที่ผ่านมา มีคนจำนวน 8.3 ล้านคนใน U.K. ที่กินยาต้านเศร้า (ประมาณร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด) และข้อมูลที่เก็บระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมใน US ก็พบเช่นกันว่า มีผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 23 ที่ถูกแนะนำให้กินยาจิตเวชเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขา
เรายังสามารถพบได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่คนจำนวนมากที่กินยากลุ่ม SSRI จะเชื่อว่ามันได้ผล เพราะคนเหล่านี้ก็ยังเชื่อว่ายาคงไปเพิ่มระดับของสารเซโรโทนินในสมอง ดังนั้นมันก็ยิ่งไปเพิ่มการสนันสนุนอีกว่าระดับของสารเซโรโทนินที่ต่ำผิดปกติมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าแน่นอน
แต่ยังไงก็ตาม งานวิจัยล่าสุดที่พบว่าหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ยังมีไม่เพียงพอกลับทำให้คนจำนวนหนึ่งลังเลขึ้นมาแล้วว่าการกินยาต้านเศร้าควรเป็นทางเลือกแรกๆ หรือไม่
ความลังเลนี้คงเป็นรีแอคชั่นทั่วไปของคนที่เห็นข่าวเรื่องงานวิจัยล่าสุด และก็อาจทำให้คนจำนวนมากเริ่มบอกว่าอยากจะหยุดยา แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจพบได้ว่าเราต่างมีรีแอคชั่นด้วยกัน 2 รูปแบบ โดยแบบแรกคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจพยายามขุดคุ้ยช่องโหว่วของงานวิจัยนี้ขึ้นมาตอบโต้ หรือไม่ก็เป็นในแบบที่สอง คือ การบอกว่าเรายังไม่รู้ว่ายากลุ่ม SSRI และยาจิตเวชอื่นๆ ทำงานอย่างไรกันแน่ และคิดว่าเรามีเหตุผลที่ควรเชื่อว่ามันได้ผลอยู่!
.
ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วการรักษาด้วยยาจิตเวชเป็นสิ่งที่ได้รับการทดสอบในช่วงแรกๆ ว่ามีประสิทธิภาพผ่านการใช้การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (randomized controlled trials หรือ RCTs) มาโดยตลอด แต่มันเป็นการเลือกวิจัยแบบเปรียบเทียบมากกว่าจะมาศึกษาว่าทำไมยาถึงได้ผล
แต่ด้วยหลายๆ เหตุผล นี่มันก็เป็นสิ่งที่เมกเซนต์อยู่แล้ว (การเลือกดูว่ากินยาแล้วดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือ ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่กินยาหรือไม่) เพราะเมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างแรกที่เราควรทำก็คือการแก้ปัญหามากกว่าการมัวมาถามหาว่าทำไมวิธีการนี้ถึงได้ผลเฉพาะกับกรณีนั้นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ในความจริงแล้วมันแทบจะเป็นเรื่องทั่วไปในวงการยาและการบำบัดรักษาที่เราไม่เคยมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทำไมมันถึงได้ผล ซึ่งนั่นรวมไปถึงประสิทธิภาพของยากลุ่มพาราเซตามอลด้วย!
.
ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่ออกปากว่ายากลุ่ม SSRI หรือยาต้านเศร้าทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และการศึกษาแบบทบทวนวรรณกรรมก็พบประสิทธิภาพของมันอีกด้วย ซึ่งหากมองบนฐานของการศึกษาวิจัยเหล่านี้แล้ว มันก็เป็นยาที่ได้รับการแนะนำสำหรับรักษาโรคซึมเศร้าเป็นหลักจากองค์กร U.K.’s Natioanl Health Service และ the American Psychological Association เช่นกัน
แต่ยังไงก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คงต้องยอมรับว่างานวิจัยเหล่านี้มีข้อกังขาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น
- ความล้มเหลวในการเผยแพร่ผลลัพธ์ทางลบ (ผลการศึกษาที่ไม่ได้ผล)
- ความจริงที่ว่าการทดลองเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทยา
- การตัดกลุ่มคนไข้ซึมเศร้าแบบรุนแรงออกไปจากการทดลอง
เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในเวลาต่อมาก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากการนำเอาผลการทดลองเหล่านี้มาขยายวงกว้างกับกลุ่มประชากรหรือกลุ่มคนมากเกินไปอีกด้วย
.
“ฉันไม่คิดว่ามีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามว่าใครควรกินยา SSRIs ฉันสามารถจินตนาการได้เลยว่าหากใครบางคนที่จะมาใส่รองเท้าคู่เดียวกันกับฉัน เขาอาจมีอาการที่รุนแรงกว่า และอาจจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกอื่นแทน แต่การคงอยู่ของความเชื่อผิดๆ ว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง กลับทำให้การตัดสินใจเหล่านี้ต้องยุ่งเหยิง และถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและนักวิจัยจะเข้าใจอยู่แล้วถึงความแตกต่างระหว่าง การรักษาที่ได้ผล กับ สาเหตุที่การรักษานี้ได้ผล แต่สองสิ่งนี้ก็ควรถูกส่งต่อให้คนไข้ด้วย และการไม่บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้นถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ” - Ratnayake, S. (ผู้เขียนบทความต้นฉบับ)
การไม่บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่อาจทำให้ผู้ป่วยหลายคนหัวเสียหรือไม่สบายใจเมื่อพบเจองานวิจัยแบบนี้ (งานวิจัยล่าสุดที่หักล้างความเชื่อเรื่องสารเซโรโทนิน) นั่นก็เพราะมันอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความคลางแคลงใจสงสัยมากขึ้นและต้องจมอยู่กับคำถามมากมายเกินรับไหว เช่น “ถ้าฉันไม่ได้ซึมเศร้าเพราะระดับเซโรโทนินล่ะ?”, “ฉันจะเข้าใจได้ยังไงว่าอะไรทำให้ฉันมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า?”, “มันมีอย่างอื่นหรอที่ผิดปกติในสมองของฉัน?” และ “หรือนี่เป็นเพราะพันธุกรรม?” เป็นต้น
สิ่งที่น่าใจสลายที่สุดอาจเป็นการที่ผู้ป่วยเริ่มคิดสงสัยไปเองว่า “มันเกิดขึ้นเพราะพวกเขาแค่อ่อนแอมากเกินไปใช่หรือไม่” นั่นก็เพราะการเลือกกินยาต้านเศร้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพวกเขาเอง การกินยาต้านเศร้ามาโดยตลอดจึงทำให้พวกเขามีความคิดแบบนี้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น
“ฉันใช้เวลาหลายปีในการกัดลิ้นตัวเองไม่ให้พูดกับเพื่อนหรือคนรู้จักในเรื่องโรคซึมเศร้ากับสารเคมีในสมองไม่สมดุล ฉันได้แต่ลังเลเพราะว่าฉันกลัวว่ามันจะส่งผลการรักษาของพวกเขา และบางครั้งฉันก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีคุณสมบัติที่เชี่ยวชาญมากพอจะพูดเรื่องนี้ได้ แต่ความกลัวที่ใหญ่หลวงของฉันคือกลัวว่าจะไปลุกล้ำหนทางที่พวกเขาเข้าใจตัวเองและการใช้ชีวิตของพวกเขาเอง” - Ratnayake, S. (ผู้เขียนบทความต้นฉบับ)
.
“การบำบัดรักษาที่แตกต่างกันมีไว้สำหรับคนแต่ละคนที่แตกต่างกัน”
กลายเป็นเหมือนคำพูดที่เราต้องพูดกันซ้ำซากในเวลานี้ แต่ก็ยังคงต้องพูดถึงอยู่
หนึ่งในเหตุผลที่งานวิจัยเรื่องเซโรโทนินกับโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดสำหรับบางคนเพราะมันเบี่ยงเบนความหลากหลายของประสบการณ์ของผู้ป่วย โดยสำหรับบางคนที่เลือกจะไม่กินยาต้านเศร้ามาโดยตลอดต้องรู้สึกขุ่นเคืองใจมาเป็นเวลาหลายปีเพราะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกทางที่ไม่รู้สึกสบายใจมากนักและไม่ใช่ทางของตัวเอง
แต่สิ่งที่น่าสลดใจมากกว่าคือการที่ใครบางคนกลับต้องมาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับทางเลือกของตัวเองและแนวทางที่พวกเขาใช้เข้าใจตัวเองในเวลานี้ (แทนที่จะถูกแนะนำให้เริ่มคิดพิจารณาด้วยตนเองได้มาตั้งนานแล้ว)
ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังอาจต้องเจอกับผลในทางลบจากยาต้านเศร้าและทนอยู่กับมันมาหลายปีเพื่อให้จิตแพทย์ยอมรับว่านี่แค่เป็นความเชื่อตามๆ กันมา (the myth) และยอมรับว่ามันมีข้อแลกเปลี่ยนที่หลบซ่อนอยู่ของการกินยาต้านเศร้าและยาจิตเวชอื่นๆ ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่อาจใช้ยากลุ่ม SSRI โดยเชื่อว่ามันเกิดประโยชน์ไปพร้อมๆ กับมีความกลัวว่าคนอื่นจะไม่ใส่ใจตนเองอีกหากเลือกเปลี่ยนวิธีการรักษา
.
“ฉันไม่ได้บอกว่าการกินยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI จะกีดกันคนจากการทำความเข้าใจว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า หรือไม่ได้มาบอกว่าต้นเหตุทั้งหมดของโรคซึมเศร้าคือสถานการณ์ที่พบเจอ แต่เมื่อเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยผู้มีอำนาจที่ทำตัวเหมือนเป็นการอธิบายอย่างขาวสะอาดว่าทำไมบางคนจึงรู้สึกแบบที่พวกเขากำลังรู้สึกและสิ่งที่สามารถทำได้คืออะไรขึ้นมา ผู้คนก็มีแนวโน้มที่จะไม่มองหาคำอธิบายอื่นๆ หรือหนทางแก้ไขอื่นๆ อีกแล้ว เช่นเดียวกับที่ความเชื่อเรื่องสารเคมีในสมองไม่สมดุลกำลังบดบังการสร้างทางเลือกเกี่ยวกับทางรักษา ซึ่งมันยังเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้คนใช้ในการทำความเข้าใจตัวเองและชีวิตของตัวเองอีกด้วย” - Ratnayake, S. (ผู้เขียนบทความต้นฉบับ)
.
แปลและเรียบเรียง:
เจษฎา กลิ่นพูล
นักจิตวิทยาการปรึกษา
อ่านความคิดเห็นของผมได้ที่: https://www.facebook.com/k.therapeutist/posts/559584282628343
เกี่ยวกับงานวิจัยล่าสุด: https://www.facebook.com/peera.wongupparaj/posts/10160423443916458
.
บทความต้นฉบับ:
Ratnayake, S. (2022, August 4). Why has the misleading “chemical imbalance” theory of mental illness persisted for so long?. https://slate.com/.../ssris-chemical-imbalance-depression...
Comments